ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองเปิดใหม่  13 แห่ง

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่เมืองมีความเปราะบางสูงมากในด้านความมั่นคงทางอาหาร  วิกฤตโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนหันมาเห็นความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารของเมือง หรือการพัฒนาเมืองให้มีความยืดหยุ่นและสามารถรับมือกับวิกฤตอาหารได้มากขึ้น และเกษตรในเมืองเป็นคำตอบสำคัญของความยืดหยุ่นและสามารถรับมือกับปัญหานั้น ด้วยรูปธรรมเกิดขึ้นจริงแล้วทั่วโลกและจากประสบการณ์การทำงานของสวนผักคนเมือง พบว่า เกษตรในเมือง ช่วยเพิ่มความสามารถในการอยู่ร่วมกับวิกฤตต่างๆ ได้ และทิศทางการทำเกษตรก็เพื่อยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และสร้างเศรษฐกิจรายได้ของคนจนและกลุ่มคนเปราะบางจึงเป็นโอกาส  และจุดคานงัดสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีคนเมืองและการสร้างความมั่นคงทางอาหารจากการทำเกษตรในเมือง

โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)  ได้ยกระดับการขับเคลื่อนงานสวนผักคนเมือง หรือเกษตรในเมือง ผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งกระจายอาหารของชุมชน การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายสวนผักคนเมือง เครือข่ายพื้นที่อาหารของเมือง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านอาหารของกลุ่มคน/ชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหาร และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

การเกิดขึ้นของพื้นที่รูปธรรมเกษตรในเมือง จากการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะ พื้นที่รกร้างว่างเปล่า มาสู่สวนผักชุมชน ด้วยการเรียนรู้และลงมือทำตามแนวคิด เทคนิค ทักษะการทำเกษตรในเมือง และการมีส่วนร่วมของชุมชน ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการ การออกแบบและวางแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการ งบประมาณ และประโยชน์ที่เกิดขึ้น จนสามารถยกระดับพื้นที่รูปธรรม สวนผักชุมชน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการทำสวนผักคนเมืองในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สวนผักชุมชน,  สวนผักในองค์กร, สวนผักในโรงงาน, สวนผักบำบัด, สวนผักเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เป็นต้น

โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ขอแนะนำศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง 13 แห่ง ที่มาจากการยกระดับสวนผักชุมชนสู่ศูนย์เรียนรู้ฯ ที่พร้อมเปิดให้บริการแก่ชุมชนเมือง หน่วยงาน/องค์กร ตลอดจนประชาชนที่สนใจ

“เมื่อเริ่มปลูกผัก คนเมืองได้สัมผัสผืนดิน คุณค่า ที่มาของอาหาร
และเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงความรักในธรรมชาติ
เชื่อมระหว่างคนเมืองกับชนบทได้ ทำให้คนเข้าใจ เข้าถึง
วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ มากกว่าการปลูกผัก คือ
การปลูกเมือง และปลูกชีวิต คนเมืองรู้ว่า พวกเขาผลิตอาหารได้
สร้างพื้นที่อาหารได้ และเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน
เพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง และเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคง
ทางอาหารของเมืองให้เกิดขึ้นได้”

1.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองบ้านสวนอาจารย์พีท เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ

2.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองเซฟติสท์ฟาร์ม เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ

3.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล เขตคลองเตย กรุงเทพฯ

4.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองชุมชนอรุณนิเวศน์ เขตสายไหม กรุงเทพฯ

5.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนผักริมคลอง  เขตสายไหม กรุงเทพฯ

6.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนพอเพียงชุมชนมหาโชค เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ

7.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองชุมชนบูรพา 7 เขตดอนเมือง  กรุงเทพฯ

8.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ฅน.ปทุมธานีโมเดล คลองหลวง จ.ปทุมธานี

9.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนผักถาวร อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

10.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองชุมชนทรัพย์สินมั่นคง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

11.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนผักชุมชนสินสมบูรณ์(ที่ร้าง ไม่ห่างรัก) อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

12.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนบำบัดสีชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

13.ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนสนุกในสวนลับ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี