เกี่ยวกับเรา

เกี่ยวกับเรา

แนะนำโครงการ

โครงการสวนผักคนเมือง ดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา และศูนย์อบรมเกษตรในเมือง ตั้งแต่เมษายนปี 2553 – ปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ด้วยตระหนักถึงปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร อันเกิดจากอาหารราคาสูง อาหารขาดคุณภาพ และภาวะขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ จนถึงปัญหาเรื่องสุขภาพทั้งกายและใจของคนเมือง บนมุมมองที่ว่าเกษตรในเมืองนั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญซึ่งจะช่วยพัฒนาเมืองให้มีระบบอาหารที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อรับมือกับปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากหลายปัจจัย

เป้าหมาย

1.ยกระดับการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของประชากรในเมืองใหญ่ ผ่านการสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างอาหารขนาดเล็กและขนาดกลางในเขตเมือง อาทิ การเพาะปลูกผัก ผลไม้ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร รวมถึงสนับสนุนการกระจายอาหารและการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชย์สูงสุด

2.เพิ่มพื้นที่อาหารปลอดภัยให้กับเมือง ผ่านการสร้างพื้นที่รูปธรรมเกษตรในเมืองหลากหลายรูปแบบ บนฐานของการมีส่วนร่วมของประชากรในเมือง เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างเปล่าให้เมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรในเมือง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารยั่งยืนในทุกระดับ ภายใต้สโลแกน ‘ปลูกเมือง ปลูกชีวิต’ ที่มีเป้าหมายมุ่งส่งเสริมให้ประชากรในเมืองทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น พัฒนาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาพื้นที่ทางสังคมอื่นๆ

กิจกรรมสำคัญ

1.ขับเคลื่อนแนวคิดเกษตรในเมืองและส่งมอบองค์ความรู้ทั้งเรื่องเทคนิคและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของประชากรในเมือง ผ่านศูนย์อบรม ศูนย์เรียนรู้ และพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรในเมืองจำนวน 9 แห่ง ซึ่งมีหลักสูตรสำหรับการเรียนรู้เรื่องเกษตรในเมืองกว่า 20 หลักสูตร

2.สนับสนุนทุนขนาดเล็กให้กับกลุ่มบุคคน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ สำหรับการทำเกษตรในเมือง อาทิ สวนผักชุมชน สวนผักโรงเรียน สวนผักโรงพยาบาล สวนผักในหน่วยงาน สวนผักบนพื้นที่รกร้าง และบนพื้นที่ที่แบ่งปันกัน หรือ Land Sharing ตลอดจนพื้นที่ที่นำเรื่องสวนผักไปเชื่อมโยงมิติต่างๆ อย่างสวนผักกับการบำบัดเยียวยา สวนผักกับการการสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของสังคม และสวนผักกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยปัจจุบันเกิดพื้นที่อาหารของเมืองกว่า 300 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ชลบุรี ขอนแก่น สงขลา พัทลุง เชียงใหม่

3.สร้างพื้นที่เชื่อมโยงและกระจายอาหารปลอดภัย อาทิ City Farm Market ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 มีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่กระจายอาหารทางเลือกให้กับประชากรในเมือง ผ่านการจัดตลาดกระจายสินค้าอาหารปลอดภัยจากทั้งเครือข่ายสวนผักคนเมือง และเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ทั่วประเทศไทย โดย City Farm Market  จัดขึ้นทุกเสาร์ที่ 4 ของเดือน สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ FB Page: City Farm Market

4.จัดกิจกรรมประจำปีเพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนให้เหนียวแน่นและเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้คนที่สนใจได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จริงในการลงมือทำเกษตรในเมือง ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความร่วมมือและนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายในที่สุด อาทิ เทศกาลสวนผักคนเมือง, งานเสวนาวิชาการเกษตรแขนงต่างๆ, กิจกรรมทัวร์สวนผักคนเมือง, เทศกาลข้าวใหม่ ฯลฯ

5.สร้างความร่วมมือและจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง อาทิ คนจนเมือง ให้เข้าถึงอาหารปลอดภัย ผ่านเครื่องมือการทำงานที่หลากหลาย หนึ่งในนั้น คือ โครงการปันอาหาร ปันชีวิต ซึ่งนำเงินบริจาคมาซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อย และส่งมอบอาหารเหล่านั้นให้กับคนจนเมือง โดยนับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อย และผู้ประกอบการขนาดเล็ก 1,500 ครอบครัว ใน 35 จังหวัด ส่งมอบ ข้าวสารอินทรีย์ 180 ตัน ผักผลไม้อินทรีย์ 120 ตัน ไข่ไก่อินทรีย์ 100,000 ฟอง ปศุสัตว์อินทรีย์ 4 ตัน และสิ่งของจำเป็นอีกมากมาย ที่ช่วยส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในภาวะวิกฤตให้กับกลุ่มเปราะบางกว่า 50,000 คน ใน 25 จังหวัด


“เราเกิดมาพร้อมมือสองข้างสำหรับพรวนดินและเพาะปลูกอาหาร
การทำงานกับดินในสวนสนองความจำเป็นทั้งทางกายและจิตใจ
อุตสาหกรรมการเกษตรได้พรากสิทธิที่เรามีมาแต่กำเนิด
ในการเพาะปลูกอาหารไปจากเรา การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม
ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักร เกิดจากความต้องการที่จะครอบงำดิน
เกษตรธรรมชาติขนาดเล็กที่เพาะปลูกพืชและใช้แรงงานในท้องถิ่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสวน เป็นวิถีแห่งการมีส่วนร่วม
กับจังหวะของฤดูกาล การเพาะปลูกอาหาร การหุงหาอาหาร
และการแบ่งปันแก่สมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง และแขกเหรื่อ
เป็นทั้งกิจกรรมเชิงจิตวิญญาณ เศรษฐกิจ และสังคม”

สาทิศ กุมาร

“เมื่อเริ่มปลูกผัก คนเมืองได้สัมผัสผืนดิน คุณค่า ที่มาของอาหาร
และเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงความรักในธรรมชาติ
เชื่อมระหว่างคนเมืองกับชนบทได้ ทำให้คนเข้าใจ เข้าถึง
วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ มากกว่าการปลูกผัก คือ
การปลูกเมือง และปลูกชีวิต คนเมืองรู้ว่า พวกเขาผลิตอาหารได้
สร้างพื้นที่อาหารได้ และเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน
เพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง และเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคง
ทางอาหารของเมืองให้เกิดขึ้นได้”

สุภา ใยเมือง

ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)