มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

ประวัติความเป็นมา

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ตั้งขึ้นในปี 2541 จากฐานของงานพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย ด้วยเล็งเห็นว่าการคิดค้นแนวทางการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรและกลุ่มองค์กรชุมชนด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืนนั้น มีฐานของแนวคิดการพัฒนาที่แตกต่างกันตามวัฒนธรรมที่หลากหลาย และกำลังดำเนินไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีพลวัต ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาระบบเกษตรกรรม เพื่อสร้างการยอมรับจากสาธารณะและการยอมรับแนวทางการพัฒนารูปแบบนี้ในระดับนโยบาย ซึ่งจะช่วยยกระดับให้เกษตรกรรมยั่งยืนมีสถานะไม่เพียงเป็นระบบเกษตรกรรมสำหรับเกษตรกรและชุมชนเท่านั้น แต่เชื่อมโยงสู่การพัฒนาระบบอาหารที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารและเสริมสร้างอธิปไตยด้านอาหารให้เกิดขึ้นในประเทศด้วย

วัตถุประสงค์

1.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งงานศึกษาด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมยั่งยืน
2.เผยแพร่กิจกรรมที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค
3.ประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรการเกษตร องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน
4.พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของถาบันและองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย

กิจกรรมสำคัญ

  • พ.ศ. 2541 ได้รับบทบาทในการบริหารโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ผลักดันโดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกร่วมกับสมัชชาคน จนได้รับงบประมาณในการบริหารโครงการจากรัฐบาลผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินงานโครงการ 4 ปี (ตุลาคม 2543-ตุลาคม 2547) เป็นโครงการต้นแบบการผลักดันให้มีการนำนโยบายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาปฏิบัติจริง โครงการนำร่องฯ มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างเหมาะสม อันจะนำมาสู่การพึ่งตนเองของเกษตรกรและชุมชนในด้านเศรษฐกิจ อาหาร ที่ดินทำกิน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและการจัดการ ทรัพยากรต่อไป ทำให้มูลนิธิฯ มีต้นทุนของการดำเนินงานขับเคลื่อนการสร้างรูปธรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนกับองค์กรชาวบ้าน ความรู้ในการขับเคลื่อนงานดังกล่าวปรากฏทั้งในรูปงานวิจัย งานรูปธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เกษตรกรต้นแบบซึ่งต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • พ.ศ. 2549 มูลนิธิฯ มีมติให้จัดตั้งสถาบันเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้น เพื่อให้สถาบันมีบทบาทในการบริหารงานตามนโยบายของมูลนิธิฯ และดำเนินงานขับเคลื่อนความรู้ร่วมกับองค์กรชาวบ้าน และภาคีต่างๆ ในสังคม อันเป็นเจตนารมณ์ในการก่อตั้งมูลนิธิฯ ซึ่งจะทำให้ความรู้และกระบวนการเรียนรู้งานเกษตรกรรมยั่งยืนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยกระดับภูมิปัญญาสู่การผลักดันเชิงนโยบาย
  • พ.ศ. 2553 เริ่มทำโครงการสวนผักคนเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบเกษตรในเมืองที่เชื่อมโยงกับมิติการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมุ่งสร้างระบบอาหารทางเลือกที่เชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค เมืองกับชนบท และสร้างวิถีชีวิตที่เกื้อกูลกัน
  • พ.ศ. 2560 สร้างพื้นที่เรียนรู้ ณ ตำบลไทรม้า จังหวัดนนทบุรี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนและเรียนรู้เทคนิคทางการเกษตร สำหรับทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และบุคคลทุกกลุ่มที่มีความสนใจ และเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการเพาะปลูก การปรุง และการกินอย่่างยั่งยืน และนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบอาหารยั่งยืนต่อไป
  • ให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน วิถีปฏิบัติ และเทคนิคทางการเกษตร สำหรับเกษตรกร ผู้บริโภค และประชาชนที่สนใจทุกคน เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการเพาะปลูก การปรุง การกิน และได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการฟื้นฟูพันธุกรรมพืช ทรัพยากรชีวภาพ และระบบนิเวศของเมือง เพื่อความมั่นคงยั่งยืนของผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
  • พ.ศ. 2541 – ปัจจุบัน มูลนิธิฯ ได้ขับเคลื่อนการสร้างรูปธรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรม ยั่งยืนกับองค์กรชาวบ้าน เมื่อประกอบกับการวิเคราะห์ถึงความสำคัญของการทำงานด้านความรู้และงานเขียน ทำให้ในปัจจุบันมูลนิธิฯ ปรับบทบาทมาสู่การเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานวิชาการโดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้งและสร้างปัจจัยที่นำไปสู่การพึ่งตนเองและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่กับการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการยอมรับความสำคัญของแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน และการยอมรับในสิทธิและศักดิ์ศรีของเกษตรกรและชุมชน ร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันของคนในสังคม