ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองชุมชนบูรพา 7 เขตดอนเมือง  กรุงเทพฯ

ทำความรู้จักศูนย์เรียนรู้ฯ  ชุมชนบูรพา 7 ชุมชนประเภทจัดสรรในพื้นเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร มีแนวคิดที่จะดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ในชุมขนให้ดูดีไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ตลอดจนพื้นที่ว่างเปล่า พื้นที่รกร้างในชุมชน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ป้องกันไม่ให้ประชาชนนำขยะมาทิ้ง และทำให้ประชาชนในชุมขนมีส่วนร่วม โดยประธานชุมชนและคณะกรรมชุมชนในปี  2553  ซึ่งเป็นที่มาของการทำสวนผักชุมชนบูรพา 7 ดำเนินการปลูกโดยความร่วมของคนในชุมชน ซึ่งเดิมเป็นที่ที่รกร้าง เนื้อที่ 1600 ตารางเมตร ทำเกษตรในเมืองโดยมีการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับการทำเกษตรในเมืองตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งภายในพื้นที่ส่วนให้ปลูกผักร้อยละ 50 และมีสระน้ำเพื่อใช้ทำการปลูกพืชและเลี้ยงปลา ร้อยละ 20 ส่วนอีกร้อยละ 30 ได้จัดสรรเป็นบ้าน เล้าไก่ และโรงเห็ด รวมไปถึงสถานที่เตรียมปัจจัยการผลิต ตลอดระยะเวลาในการทำเกษตรในเมืองนั้น พื้นที่แห่งนี้ได้เป็นแหล่งของครัวให้กับสมาชิก และชุมชน สมาชิกของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุร้อยละ 70 และไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นคนวัยทำงาน ที่ถูกเลิกจ้างงานตอนโควิดในช่วงปี 2564 ทำให้คนกลุ่มนี้หันมาทำเกษตรเพื่อผลิตอาหาร โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ในปี 2563 และ 2564 สวนผักของชุมชนบูรพา 7 ได้รับบทบาทในการทำอาหารไปแจกจ่ายให้กับคนในชุมชนที่กักตัวหลายร้อยคน ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากผัก เห็ด และปลาที่ได้จากสวน และที่นี่ได้จัดกิจกรรมการทำเกษตรในเมืองในรูปแบบแบ่งปัน แจกจ่าย น้อยมากที่จะนำมาขาย เพราะท่านประธานกลุ่มคิดว่า ในเมื่อเราช่วยกันปลูกและดูแล เราก็แจก ไม่เคยหวังผลกำไรที่ได้จากการปลูกผัก แต่สิ่งที่ได้นั้น คือ ความสุขที่ได้ให้กับคนในชุมชน

ความโดดเด่นของศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองแห่งนี้ คือ การวางแผนการใช้ที่ดินคือ ทิศทางแสง และทิศทางลม 2 ปัจจัยนี้ มีผลต่อการเลือกพืชที่จะปลูก เพื่อไม่ให้บังแสง และลม พื้นที่ทำสวนผักบูรพา 7 จะอยู่ด้านหลังของบ้านทางทิศตะวันตก พื้นที่ ¼ ส่วน จะโดนเงาของบ้านบังให้ช่วงเช้า ส่วนพื้นที่ด้านอื่นได้รับแสงเต็มที่ ทางทิศตะวันออกจะเหมาะกับการปลูกพืชมากที่สุด เพราะพืชจะได้รับแสงช่วงเช้า ทิศใต้ เป็นทิศลม ลมจะเข้าทางทิศใต้ไปหาทิศเหนือ ถ้าตั้งโรงปุ๋ยหรือที่เตรียมปัจจัยการผลิตด้านทิศใต้ จะทำให้กินปุ๋ยต่าง ๆ ลอยไปเข้าบ้าน ซึ่งการวางแผนนั้นมีการพัฒนารูปแบบตลอด จนได้รูปแบบที่เหมาะสม การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ การออกแบบและวางผังแปลง จัดโซนตามหลักภูมิศาสตร์ และมีกิจกรรมที่หลากหลายเกิดขึ้นภายในพื้นที่ อีกทั้งที่นี่มีองค์ความรู้เรื่องการทำแบบยก แบบหมุนได้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางของแสง เพื่อให้พืชนั้นเจริญเติบโตที่ดีขึ้น

ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองบูรพา 7 อาจเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความน่าสนใจต่อการศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมการปลูกผักของสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุที่ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อธรรมชาติและต่อเพื่อนสมาชิกในชุมชนทุกวัย การแบ่งปันการสร้างแหล่งอาหารของชุมชน เป็นการสร้างคุณค่าให้ตนเองและผู้อื่น

ที่ตั้ง  ชุมชนบูรพา 7 ซอยวัดเวฬุ 15  แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร  

ช่องทางการติดต่อ *หากต้องการเข้ามาเยี่ยมชม**กรุณาโทรนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ 087- 556-8567

การให้บริการ ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองบูรพา 7 ให้บริการศึกษาดูงาน การเรียนรู้เรื่องการทำสวนผักคนเมือง อาทิ การทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และปุ๋ยหมักจากก้อนเห็ดเก่า การทำแปลงผักยกพื้น การออกแบบพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ การทำแปลงผักแบบหมุนแปลงรับแสงตามฤดูกาล และการเลี้ยงไก่ไข่ในเมือง

*อาจมีค่าใช้จ่าย สำหรับกิจกรรมศึกษาดูงาน, การจัดอบรม, และการให้บริการใช้สถานที่ เป็นต้น  ขอรายละเอียดจากศูนย์เรียนรู้ฯ