ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนผักริมคลอง เขตสายไหม กรุงเทพฯ

ทำความรู้จักศูนย์เรียนรู้ฯ  สวนผักริมคลอง ชุมชน กสบ.พัฒนา ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในการพัฒนาคลองลาดพร้าวที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและการปรับปรุงที่อยู่อาศัย จำนวน 56 ครัวเรือน  สวนผักชุมชนแห่งนี้ เกิดขึ้นบนพื้นที่ส่วนกลาง ขนาด 400 ตารางเมตร ซึ่งชุมชนวางแผนจะทำเป็นสวนสาธารณะและที่ตั้งสหกรณ์ชุมชน แต่เนื่องจากยังขาดงบประมาณในการพัฒนา พื้นที่ดังกล่าวจึงถูกปล่อยทิ้ง กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงของเด็กๆ แกนนำชุมชนกว่า 10 คน รวมตัวกันพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นสวนผักชุมชน ช่วยกันปรับปรุงดินจากที่คุณภาพต่ำมากให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ตามชุดความรู้ และวิทยากรพี่เลี้ยงที่ลงไปคลุกคลีทำงานร่วมกับชุมชน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน สวนผักแห่งนี้ก็ผลิตผักจำนวนมากกระจายให้กับสมาชิกในชุมชนได้นำไปบริโภค ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนในชุมชนพูดคุยกันมากขึ้น ทำงานร่วมกันมากขึ้น ความขัดแย้งเบาบางลงจากกิจกรรมทำอาหารที่ได้จากผลผลิตรับประทานร่วมกัน

สวนผักริมคลอง เข้าร่วมในการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ปี2565 -2566) อีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาระบบการผลิตอาหารให้เพียงพอกับการบริโภค ยกระดับไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ตกงาน เนื่องจากนายจ้าง สถานประกอบการปิดกิจกรรม และด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้ไม่สามารถกลับเข้าสู่การจ้างงานได้ และยังต้องแบกรับภาระในการดูแลบุตรหลาน และการมีตลาดชุมชนริมน้ำ เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชน จึงเปลี่ยนการทำสวนผักจากการปลูกบนดินมาเป็นแปลงผักยกพื้น เพื่อให้เหมาะกับการทำสวนของผู้สูงอายุ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังไปในตัว ทำปัจจัยการผลิต เช่น ดินหมัก ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ฮอร์โมน และต้นกล้าเองให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนเกี่ยวกับปัจจัยการผลิต การทำเกษตร การดึงเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมในสวนผัก ทั้งเรียนรู้เรื่องการเตรียมดิน ปลูกผัก ให้เด็กๆได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เรียนรู้ทักษะการพึ่งตนเองให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเด็กๆในเมืองไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ กลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการดึงเด็กๆ เข้ามาเรียนรู้ในสวน คือ ต้องเลือกกิจกรรมที่ไม่ยากเกินไป เด็กๆทำได้ และมีค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ให้กับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเงินค่าขนมจากการช่วยเพาะกล้า รดน้ำผัก หรือขนมและอาหารอร่อยๆ หลังจากทำงานในสวนเรียบร้อยแล้ว

สวนผักริมคลอง จัดแบ่งโซนการเพาะปลูกออกเป็น 2 โซนหลัก ได้แก่

1.โซนปลูกพืชยืนต้นและสมุนไพร เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ พืชผักท้องถิ่นหายากไว้ให้ลูกหลานได้รู้จัก เป็นผักที่ดูแลง่าย ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ยิ่งตัดยิ่งแตก ปลูกครั้งเดียวเก็บกินได้ตลอด จึงสามารถแบ่งปันให้สมาชิกในชุมชนทั้ง 56 ครอบครัวได้ตลอดทั้งปี เช่น มะนาว มะกรูด สะเดา ยอ ตะลิงปิง พุทรา มะม่วง มะยม มะกอก มะกอกน้ำ ชะอม มะรุม มะม่วงหิมพานต์ ข่า ตะไคร้ ขิง เก๊กฮวย มะตูมแขก มะเขือพวง กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า

2.โซนพืชอายุสั้น ผักกินใบ ผลผลิตที่มีราคา เช่น ผักสลัด กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว ผักชี ต้นหอม พริก ขึ้นฉ่าย กุยช่าย เคล มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือเทศ เห็ดนางฟ้า โซนนี้ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุในชุมชน 5 ครอบครัว ที่เข้ามาทำงานสวนและมีรายได้จากการเก็บผักจำหน่ายให้กับสมาชิกในชุมชน เพาะต้นกล้าจำหน่าย ขายผลผลิตแปรรูปอื่นๆ เป็นต้น

ที่ตั้ง ชุมชน กสบ.พัฒนา บ้านมั่นคง  7ถนนพหลโยธิน54/1แยก 2-2 แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร

ช่องทางการติดต่อ *หากต้องการเข้ามาเยี่ยมชม* กรุณาโทรนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ 083-279-0340

การให้บริการ ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนผักริมคลอง  มีความโดดเด่นเรื่องการออกแบบพื้นที่ให้สามารถปลูกผักได้หลากหลาย ทั้งผักกินใบ ผักอายุสั้น ผักยืนต้น และไม้ผล การทำแปลงผักยกพื้น  การทำดินหมัก ปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ การเพาะต้นกล้า การปลูกและการดูแล ตลอดจนการแปรรูปและถนอมอาหาร อาทิ ผักดอง กิมจิ  เป็นต้น  

*อาจมีค่าใช้จ่าย สำหรับกิจกรรมศึกษาดูงาน, การจัดอบรม, และการให้บริการใช้สถานที่ เป็นต้น  ขอรายละเอียดจากศูนย์เรียนรู้ฯ