Fuzhou, an ecological-friendly city

“ต้นไม้ ธรรมชาติ และเกษตรกรรมไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม แต่เป็นส่วนหนึ่งของเมือง”

ปัจจุบันนี้ ที่เมืองฝูโจวเพียงเมืองเดียว มีสวนสาธารณะเล็ก-ใหญ่มากถึง 1,400 แห่ง ยังไม่นับรวมถึงพื้นที่สีเขียวริมน้ำอีกกว่า 5,000 เมตร เลยทีเดียว ซึ่งโดยรวมๆแล้วเมืองนี้มีพื้นที่สีเขียวปกคลุมถึง 58.36% ติดอันดับเป็นเมืองเอกที่ปลูกต้นไม้มากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศจีนเลยทีเดียว

ฝูโจว (福州) เมืองหลวงของมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน มีชื่อเล่นว่า หรงเฉิง ซึ่งแปลว่า “เมืองแห่งต้นไทร” ที่มาของชื่อเล่นนี้ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 900 ปีที่แล้ว ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ในขณะนั้นเมืองประสบปัญหาน้ำท่วมและร้อนจัดอยู่เนืองๆ เพื่อจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน จาง โปหยู ผู้ว่าการท้องถิ่นได้สนับสนุนว่า “เมืองควรเป็นสีเขียว และไม่จำเป็นต้องใช้ร่มกันแดดในฤดูร้อน” จึงมีนโยบายส่งเสริมให้แต่ละครอบครัวในเมืองปลูกต้นไทร ปัจจุบัน ต้นไทรที่ใหญ่ที่สุดในฝูโจวอยู่ในอุทยานแห่งชาติฝูโจว ว่ากันว่าต้นไทรนี้มีอายุประมาณ 900 ปี มีความสูงถึง 20 เมตร และพื้นที่ยื่นของเรือนยอดมากกว่า 1,330 ตารางเมตร ชาวบ้านเรียกว่า “ราชาแห่งต้นไทร”

ก่อนหน้านี้เมืองฝูโจว กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการขยายตัวของเมืองในพื้นที่ใจกลางเมืองฝูโจวมีความชัดเจนมากตั้งแต่ปี 2000 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมการรุกล้ำพื้นที่สีเขียวของการพัฒนาเมือง แต่ก็ไม่บรรลุเป้าหมาย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กับเป้าหมายในการคุ้มครองพื้นที่สีเขียวของภาครัฐ  การขยายตัวของเมืองส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของพื้นที่สีเขียวในเมือง  การมีแยกพื้นที่สีเขียวแบบกระจัดกระจายไม่เพียงแต่ลดสุขภาพของระบบนิเวศในเมืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมการทำงานของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นด้วย จึงคุกคามความยั่งยืนของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความแออัดสูง

แนวทางสำคัญของนโยบายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของฝูโจว จึงเริ่มมุ่งเน้นนโยบายการพัฒนาเพื่อสร้างเครือข่ายระบบนิเวศ ที่จะเพิ่มความซับซ้อนของรูปร่างของพื้นที่สีเขียวและการเชื่อมต่อของภูมิทัศน์ ลดการกระจายตัวของภูมิทัศน์ ทำให้พื้นที่สีเขียวสามารถขยายตัวได้ ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของเมืองและเอื้อต่อความยั่งยืนของพื้นที่สีเขียวในเมือง

รวมถึงการออกแบบบทางสถาปัตยกรรม ที่จะเป็นตัวประสานเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์ พื้นที่สีเขียวและธรรมชาติได้อย่างลงตัว ยกตัวอย่าง Fuzhou forest walkway ทางเดินเท้าลอยฟ้าซึ่งพาดผ่านพื้นที่ป่าของจีนตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อสะพาน “Fudao” ซึ่งเป็นทางเดินที่คดเคี้ยวทำจากเหล็ก กินพื้นที่ยาวขนาด 19 กิโลเมตร Fudao ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อพื้นที่ในเมืองและธรรมชาติ โดยผ่านแม่น้ำ 2 สายในขณะที่เชื่อมทางเดินไปยังเนินเขาด้านนอกใจกลางเมืองฝูโจว และสามารถเข้าถึงทางเดินนี้ด้วยวิธีที่แตกต่างกันได้ถึง 10 ทาง  ซึ่งโปรเจกต์นี้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้พื้นที่นี้ เพราะทำให้เกิดการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกของภูมิภาคอีกมากมาย เช่น ป้ายรถเมล์ Xikezhan ก็ถูกเปลี่ยนเป็นศูนย์นักท่องเที่ยว ส่วนบ่อปลาในสวนสาธารณะ Meifeng ก็กลายเป็นทะเลสาบที่เอาไว้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ทางชีวภาพ และสะพานเหล็กเหนือผืนน้ำแห่งนี้ทำให้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดริมทะเลสาบมากยิ่งขึ้น รวมถึงการอนุรักษ์ต้นไม้ในเมือง การปลูกต้นไม่ในเมืองเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ตามต้องบอกว่าประเทศจีนมีนโยบายที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องเกษตรกรรม การผลิตอาหารให้พอเพียงกับความต้องการของคนในประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเตรียมความพร้อมของชุมชนชานเมืองและชนบท เพื่อเตรียมรับคนรุ่นใหม่ เตรียมรับลูกหลานกลับบ้านเพื่อไปวางรากฐานของเกษตรกรรมที่เข้มแข็งของประเทศ และฟาร์มในเมืองจำนวนมากกลายเป็นพื้นที่เตรียมความพร้อมทั้งในด้านแนวคิด ความรู้ เทคนิค ทักษะ การบริหารจัดการ การตลาดให้กับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนและทำงานในเมือง เตรียมพร้อมกลับไปยังชุมชนของตนเอง  ซึ่งเห็นได้ชัดว่า China Development Bank ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารนโยบายของประเทศ ได้จัดตั้งโครงการเงินกู้พิเศษสำหรับการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกในประเทศ ภายในปี 2573 โครงการพิเศษจะให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับที่ดินกว่า 40 ล้านหมู่ (ประมาณ 2.67 ล้านเฮกตาร์) ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่ามีอุปทานของผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญ และเร่งการพัฒนาการเกษตรให้ทันสมัย

ธนาคารระบุ “เงินทุนจากโครงการจะใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกใหม่ที่มีมาตรฐานสูงและปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่ และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในภาคส่วนเหนือสิ่งอื่นใด ธนาคารยังให้คำมั่นว่าจะพยายามอย่างต่อเนื่องในการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่มุ่งเน้นการพัฒนาและออกนโยบายสินเชื่อที่เอื้ออำนวยมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกในอนาคต”

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

http://www.xinhuanet.com/english

https://board.postjung.com/1464701

www.buildernews.in.th/archdesign-cate/36959

www.facebook.com/ChinaFuzhou

https://english.www.gov.cn/news