16 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญคือ “วันอาหารโลก (World Food Day)”


เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อความสมบูรณ์เติบโตของประชากรโลก และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อรักษาแหล่งอาหารไว้ วันอาหารโลก (World Food Day) ก่อตั้งมาแล้วกว่า 76 ปี โดย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO

.
วิกฤตการณ์โควิด-19 สะท้อนให้เห็นความสำคัญของ “อาหาร” และตั้งคำถามกับ “ความมั่นคงทางอาหาร” ของผู้คนบนโลกใบนี้ แม้แต่ในประเทศไทยเอง ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” ก็ยังต้องเผชิญหน้ากับการขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง
.
โครงการสวนผักคนเมือง เครือข่ายสวนผักคนเมือง และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) เห็นความสำคัญของ“วันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อร่วมตระหนักถึงความสำคัญของการสร้าง “Our Action are Our Future” ร่วมพลิกโฉมระบบอาหารที่ดีและยั่งยืนในอนาคต เพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนของโลกเรา
.
จึงขอนำ ปาฐกถา เรื่อง “เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายเมืองยั่งยืน” ในงานสัมมนาวิชาการเกษตรในเมือง ครั้งที่ 1 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ชี้ชวนให้เราหันมาทบทวนอดีต วิเคราะห์ปัจจุบัน เพื่อออกแบบอนาคต ที่ให้เชื่อมโยงความสำคัญของ เกษตร – เมือง – ยั่งยืน : ทางแยกที่มาบรรจบกันเพื่อมุ่งสู่อนาคต
🎯https://thaicityfarm.com/…/%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8…/
.
และยังได้รวบรวมมุมมอง ความคิด ของบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนงานเกษตรในเมือง ที่ร่วมขับเคลื่อนรูปธรรม ความรู้ เทคนิค นวัตกรรม เพื่อผลักดันบทบาทเเละความสำคัญของเกษตรในเมือง ให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก
.

วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นช่วงบททดสอบสำคัญเกี่ยวกับศักยภาพของเกษตรในเมืองในระดับสากล การสังเคราะห์ประสบการณ์ร่วมกันในช่วงของการรับมือกับ โควิด-19 ในระดับเมือง ซึ่งได้สรุปว่า บทบาทเด่นของเกษตรในเมือง มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ตัวของเกษตรในเมือง ไปเชื่อมโยงกับระบบอาหารของเมืองได้ หรือ พูดในอีกแง่หนึ่ง คือ เกษตรในเมืองไม่ใช่เรื่องของการผลิตอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของ Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน ที่เชื่อมโยงเกื้อกูลระหว่างการผลิตที่อยู่ในเมือง อยู่ในชานเมือง และเชื่อมโยงไปสู่ขอบเมืองหรือปริมณฑลเดียวกัน เพื่อที่จะทำให้เกิดตัวระบบอาหารทางเลือกขึ้นมา ซึ่งถ้าไม่เกิดระบบอาหารแบบนี้ขึ้นมา โอกาสที่เกษตรในเมืองจะเป็นแค่การผลิตอาหารขึ้นมา หรือเกษตรในเมืองมองแค่เรื่องเมืองผลิตอาหารเท่านั้น มันก็จะไม่มีพลังพอที่จะรับมือกับวิกฤตได้
.
เกษตร เมือง และความยั่งยืน สามารถเป็นสมการสำหรับอนาคตได้เลย และคนที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรในเมืองจึงเป็นคนที่คิดถึงอนาคต หรือ “นักอนาคต” (Futurists) โดยที่ไม่ไปจมอยู่กับอดีตและโรแมนติกอยู่กับปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเป็นการมองที่ล้อไปกับทิศทางของโลก โลกกำลังชวนให้เรามองอนาคตมากขึ้น คลื่นการพัฒนาและทิศทางนโยบายโลกที่เด่นชัดในจุดยืนเช่นนี้ก็คือ UN’s Sustainable Development Goals (SDGs) โดยเฉพาะเรื่องของเมืองยั่งยืน (Sustainable city) เป็นเป้าหมายที่ 11 คือ ทำให้เมืองไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน (Make cities inclusive, safe, resilient and sustainable) พูดถึงเมืองยั่งยืนเป็นการพูดถึงอนาคตที่ทุกเมืองต้องมุ่งไปให้ถึง (เป้าหมายในเบื้องต้นคือภายใน 2030) มากกว่าการแสวงหาบทเรียนจากปัจจุบันและอดีตมารำลึก
: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์

จากการขับเคลื่อนโครงการสวนผักคนเมือง ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของเกษตรเมืองกับมิติต่างๆ ทั้งมิติการสร้างความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร มิติด้านสุขภาพ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านการสร้างความสัมพันธ์กับคน และการเรียนรู้ของผู้คนในเมือง มิติความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ ทำให้ได้เห็นบทบาทของเกษตรในเมืองที่มีต่อการพัฒนาเมืองและผู้คนในสังคมเมืองอย่างมีพลวัต : สุภา ใยเมือง

การปลูกผัก ไม่ใช่เป็นเพียงงานอดิเรก หรือเป็นเพียงการทำเพื่ออาชีพเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของชีวิต เป็นเรื่องของสิทธิปากท้อง ที่เราสามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง ตัวเองเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรต้องทำการผลิต การไม่ผลิตเอง และคิดว่าหน้าที่การผลิตเป็นของคนอื่น มันทำให้เกิดการแบ่งแยก ทำให้คนเมืองอาชีพเกษตรกรในมุมมองที่ด้อยกว่า ถ้าทุกคนมีหน้าที่ในการผลิตของตัวเอง พร้อมกับทำงานอื่นควบคู่ไปด้วย ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมก็จะลดน้อยลง และเมื่อเกิดวิกฤตเราก้ยังมีความรู้ มีทักษะ มีภูมิปัญญาที่จะช่วยเหลือตัวเองได้บ้างด้วย
: คมสัน หุตะแพทย์

เรากำลังทำภารกิจเพื่อมนุษยชาติ การปลูกผักเหมือนเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้เราเรียนรู้ วิถีทางของการสร้างอนาคตที่ดีกว่าของคนรุ่นถัดไป ซึ่งต้องอาศัยการทำงานด้านในที่ละเอียดอ่อน และลึกซึ้งมากขึ้นด้วย เป็นความท้าทายที่เราต้องการการเปลี่ยนแปลงจากภายในมาสู่ภายนอกมากกว่าเดิม และต้องเป็นการก้าวเดินต่อไปพร้อมกับเส้นทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติของเกษตรกรรมเชิงนิเวศ อาหาร สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต เพื่อนำไปสู่การหลอมรวม และช่วยกันถักทออนาคตที่ใหญ่ยิ่งขึ้นต่อไป
: นคร ลิมปคุปตถาวร

การปลูกผักเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้เองที่บ้าน ไม่มีข้อจำกัด ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีเงิน คนที่มีเวลาเหลือ แต่ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาทำได้ ถึงจะมีพื้นที่น้อย มีแสงน้อย มีเวลาน้อย ก็เลือกปลูกผักที่มันสอดคล้องกับพื้นที่ และวิถีชีวิตที่ตัวเองเป็น เราแค่ต้องเข้าใจมัน ตัวเองพยายามทำสวนให้ง่าย และเอาของที่มีอยู่มาทำให้เป็นตัวอย่างเสมอ เชื่อว่า ถ้าเราได้ช่วยกันผลิตเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละครัวเรือน พอรวมกันมันก็จะเยอะ เราก็จะมีอาหารดีๆ ในเมืองกินมากขึ้น และมันไม่ใช่แค่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่มันหมายถึงกิจกรรมในครอบครัว หมายถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม หมายถึงการเห็นคุณค่าของอาหารที่กิน และเหลือทิ้งน้อยลงด้วย
: ชูเกียรติ โกแมน

เพราะเราเชื่อว่า “เมื่อเริ่มปลูกผัก คนเมืองได้สัมผัสพื้นดิน คุณค่า ที่มาของอาหาร และเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงความรักในธรรมชาติ เชื่อมระหว่างคนเมืองกับชนบทได้ ทำให้คนเข้าใจ เข้าถึง วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ มากกว่าการปลูกผัก คือ การปลูกเมือง และปลูกชีวิต คนเมืองรู้ว่า พวกเขาสามารถผลิตอาหารได้ สร้างพื้นที่อาหารได้ และเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง พัฒนาเมืองและผู้คนในสังคมเมืองอย่างมีพลวัต และเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมืองให้เกิดขึ้นได้”

เกษตรในเมือง คือการปลูกหรือการเลี้ยงดู การทำให้เพิ่มพูน การนำเข้าสู่กระบวนการที่เกี่ยวข้อง และการกระจายผลผลิตที่เป็นอาหารอย่างเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ รวมถึงผลผลิตที่ไม่ใช่อาหารอย่างพืชที่เป็นยาสมุนไพร รวมถึงการใช้และนำกลับมาใช้ใหม่ของทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ และการบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นและมีอยู่ในและรอบๆพื้นที่เมือง กล่าวคือ พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมและย่านพาณิชย์ตั้งอยู่ หรือในขอบเขตของพื้นที่ที่ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง โดยที่กิจกรรมเหล่านั้นมุ่งเน้นดำเนินไปเพื่อตอบสนองคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นเป็นสำคัญ (ที่มา Urban Agriculture: definition, presence, potentials and risks โดย L.J.A Mougeot2000) 


มาเริ่มต้น “Our Action are Our Future” ร่วมพลิกโฉมระบบอาหารที่ดีและยั่งยืนในอนาคต เริ่มจากมื้ออาหารเพื่อสุขภาพของคุณ เพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนของโลกเรา
.
16 ตุลาคม 2564

วันอาหารโลก #WorldFoodDay #สวนผักคนเมือง #สสส