ปาฐกถา เรื่อง “เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายเมืองยั่งยืน”

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพงษ์  บุษบงก์

สถาบันนโยบายสาธารณะ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องเกษตรในเมือง คงไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในปัจจุบัน ค่อนข้างมีความก้าวหน้าพอสมควรแล้ว  ดูจากสื่อทีวี เกษตรในเมืองชอบโผล่ขึ้นมาให้รับรู้ ให้เห็นในสายตา ดาษดื่นมากผ่านภาพยนตร์ที่ตัวละครทำงานอยู่สวนดาดฟ้า ในมหานครนิวยอร์ก หรือแม้กระทั่งซีรี่เกาหลี ก็มีการไปสุมหัวกันที่เกษตรดาดฟ้า หรือแม้จะเป็นการ์ตูน ซึ่งเป็นการ์ตูนล้อเลียนสังคมก็ยังมีการพูดถึงเรื่อง farmer market ซึ่งตัวละครเอกในเรื่องก็ทำเกษตรในบ้านของเขา

หลักการเกษตรในเมืองทุกวันนี้มีอยู่ 3 แบบหลักๆ  แบบแรก คือ เกษตรในเมืองที่ movement ในเรื่องของการพึ่งตนเองด้านอาหาร ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อที่จะบริโภคเอง  เหลือจึงวางจำหน่าย ซึ่งจะเป็น scale ในระดับชุมชนเมืองเป็นหลัก นอกจากพึ่งตนเองแล้วอาจจะรวมไปถึงการผลิตเพื่อจะรับมือร่วมกับภัยพิบัติ หรือวิกฤติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย แบบที่สอง เป็นแบบ social enterprise หรือผู้ประกอบการเน้นการทำ CSA มีการทำ block delivery ส่งผลผลิตไปถึงหน้าบ้าน door to door ในประเทศไทยยังมีไม่มาก แต่ก็เป็นทิศทางที่เราพยายามส่งเสริมอยู่  ในทำนองเดียวกันนี้อาจจะรวมถึงการใช้แนวทาง smart farming คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการออเดอร์ออนไลน์ รวมถึงการ contact ในระยะยาวกับผู้บริโภคเน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค  และแบบที่สาม คือ การใช้สวนผักคนเมืองเพื่อเป็นงานอดิเรก เป็นกิจกรรมสันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ ของครัวเรือนรวมไปถึงของชุมชน  ตลอดจนรวมทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ  การเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นภาพรวมขอเกษตรเมืองจะมีอยู่ 3 รูปแบบใหญ่ๆ และบางรูปแบบก็ซ้อนกันเป็นหลายอย่างในคราวเดียว

คำว่า “เมือง” มีการพูดถึงย้อนไปในปี 1969 หลายคนคงรู้จัก Jane Jacobs เป็นนักคิด  นักปฏิบัติ       นักออกแบบ นักสร้างความเปลี่ยนแปลงเมืองที่โด่งดัง ข้อคิดของเธอน่าสนใจเสนอมาตั้งแต่ปี 1969 ก่อนที่พวกเราหลายคนในห้องนี้จะเกิดด้วยซ้ำไป เธอได้เล่าว่าที่เกษตรมันเกิดหลังจากเกิดเมือง เป็นผลต่อเนื่องจากการเกิดเมือง เมืองนั่นแหละที่นำไปสู่การสร้างเกษตรและเกษตรก็สามารถเรียกว่าเป็นกิจกรรมที่ไปเจือจุนการขับเคลื่อนเมือง มันทำให้เราได้นึกภาพย้อนกลับไปไกลและคิดใหม่ว่า การที่เราพูดเรื่องเกษตรในเมืองอันที่จริง คือ การนำเรื่องเกษตรกลับคืนมาสู่เมือง มากกว่าการที่จะไปคิดว่าเกษตรเป็นสิ่งแปลกปลอมไม่ควรที่จะอยู่ในเมือง  และกิจกรรมที่เราเห็น เช่นเรื่อง productivity ทั้งหลาย มันมาจากการสั่งสมองค์ความรู้ ซึ่งเกิดจากในเมือง เพราะฉะนั้นไม่มีเมืองก็ไม่มีเกษตร เกษตรก็ควรกลับเข้ามาสู่เมือง  ในฐานะสิ่งที่เกิดคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร

และอีกคนคือ Ebenezer Howard ใน 1902 เขาเป็นนักผังเมือง ได้เสนอความคิดที่ท้าทายในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก  โดยได้เสนอผังเมืองที่เรียกว่า garden city ซึ่งท้าทายการแยกกันระหว่างชนบทกับเมืองอันเป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม  โดยผังเมืองที่ดีไม่ได้แยกว่าเกษตรต้องออกไปจากเมืองหรืออยู่แค่ชานเมืองเท่านั้น แต่ว่าเกษตรหรือพื้นที่สีเขียวอื่นๆ  ควรจะถูกผนวก รวมอยู่อย่างสมดุล กับพื้นที่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ตลอดจนที่อยู่อาศัย  มีการนำแนวคิดผังเมือง garden city ไปสร้างเมืองจริงหลายแห่ง  แรกๆ คือ ที่เลทซ์เวิร์ท และแฮมสตรีทฮีต ประเทศอังกฤษ หรือแม้แต่สิงโปร์ ลีกวนยูประกาศชัดว่า We will build the city in the garden คือ จะสร้างเมืองอยู่ในสวน ที่สำคัญต้องเอาพื้นที่สีเขียวลงก่อน  ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ก้าวหน้ารวมถึงเรื่องเกษตรในเมือง

สำหรับฝรั่งเศส Henry Lefebvre เสนอมามานานตั้งแต่ปี 1974  โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้วชนบท เป็นเพียงแค่ระหว่างทางของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เมือง โดยที่ภาคชนบทและการเกษตร ถูกมองว่าเป็นเสื้อคลุมของเมือง (urban fabric) ชนบทไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากการอยู่ระหว่างทาง (the pathway) ของเส้นทางที่จะเดินไปสู่การเป็นเมือง ดังนั้นเกษตรกับเมืองจึงแต่งงานกันมาตั้งนานแล้ว

ที่ประเทศอังกฤษในช่วงปี 1649-1650 ประวัติศาสตร์ตอนนั้นเริ่มมีการแบ่งสิทธิในเรื่องกรรมสิทธิ์ของที่ดิน ซึ่งกรรมสิทธิ์เป็นจุดเริ่มต้นของการมีเมืองและชนบทกระทั่งปัจจุบัน กรรมสิทธิ์เป็นฐานของทุนนิยม โดยคิดว่าเราไม่จำเป็นต้นต้องผลิตอาหาร ปล่อยให้ภาคชนบทที่ห่างไกลนั้นเป็นคนผลิต ปรากฏว่าในช่วงที่สงครามกลางเมืองยุติลง มีกลุ่มคนจนเมืองรวมตัวกันเคลื่อนไหวด้วยการกลับมาขุดดินทำเกษตร เรียกว่า “นักขุดดิน (Diggers)”  เขาไม่เรียกตนเองว่า farmer เขาถือว่าพวกเขาเป็นคนเมืองที่ต้องการผลิตอาหาร  นับเป็นการเรียกร้องอธิปไตยทางอาหารหรือสิทธิทางอาหารครั้งแรกๆ ของโลก ในประเทศไทยก็น่าคิดเหมือนกันเพราะในกทม.หรือในเมืองใหญ่หลายแห่ง มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเต็มไปหมดเลย น่าจะมี Diggers เกิดขึ้น

ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงสุกงอมของการปฏิวัติอุตสาหกรรม  มีการเกณฑ์แรงงานในภาคชนบทเข้ามาอยู่ในเมืองที่มีศักยภาพในการเติบโตในเชิงอุตสาหกรรม พอดึงคนเข้ามาเยอะๆ ก็นำไปสู่ปัญหาการมีอาหารไม่พอเพียง คือ ค่าใช้จ่ายทางอาหารที่สูง  อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรในเมือง ทำให้เกิดการแย่งกันกินแย่งกันใช้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ในยุโรป วิธีการที่คนมาอยู่เมืองที่จะทำให้ค่าแรงเพียงพอต่อค่าอาหารคือการเข้ามาช่วยในเรื่องอาหาร เกิดสิ่งที่เรียกว่า allotment culture หรือวัฒนธรรมในการแจกพื้นที่เล็กๆ  เท่ากับโรงศพ  ให้คนจนเมืองได้ปลูกอาหารกินเองในพื้นที่เมืองที่อังกฤษและเยอรมัน บางส่วนในออสเตรเลีย   ดังเช่นโบสถ์เซนต์ปอลที่ดังมาก กลางกรุงลอนดอน มีการทำเกษตรอยู่ในเมือง หรือในเมืองเบอร์ลินและเมืองในออสเตรเลียก็จะพบการทำเกษตรในเมือง เพื่อสร้างอาหารให้คนจนเมือง ในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม

มาที่ประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี 2481-2487 (ช่วงระหว่างและหลัง WW2/ สงครามอินโดจีน – ไทยกับฝรั่งเศส) มีการส่งเสริมเรื่องเกษตรในเมืองเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ ในขณะที่เราเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจและน้ำท่วม  จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งเสริมให้คนเมืองทำเกษตรในครัวเรือน มีการให้เหรียญรางวัลสำหรับคนที่ทำเกษตร เรียก เหรียญรางวัลสวนครัวสมัย สำหรับคนที่ทำสวนครัว ในยุคนั้นได้มีการส่งเสริมจริงจังโดยได้ตราพระราชบัญญัติการทำสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน  ขึ้นในวันที่  20  ตุลาคม พ.ศ.  2482  มีการแต่งตั้ง  “คณะกรรมการส่งเสริมการทำสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์” ตลอดจนจัดให้มีตลาดนัดและการประกวดการทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ อย่างน้อยเดือนละ  1 ครั้ง   และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลัง 2487 ก็ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยการปลูกผักที่ อ.ลำลูกกา ก่อนที่จะกลับมาดำรงนายกครั้งที่2 ในปี 2491 ซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดที่ทันสมัย ทำให้เห็นว่าเรื่องอาหารเป็นสิ่งสำคัญอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งแรกในฐานของการดำรงชีวิตของพวกเรา

เรื่องเกษตรในเมืองกลับมาได้รับความสำคัญอีกครั้งในช่วงที่กระแสชีวจิตเข้ามา และบทบาทของเลมอนฟาร์ม ซึ่งมีการนำที่ดินกลางเมืองกรุงย่านพระรามเก้ามาให้คนเมืองเช่าทำเกษตร กับในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยเฉพาะหลังจากกระแสพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งตนเอง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ประกอบกับการรณรงค์และสนับสนุนเรื่องการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ของภาครัฐ และในช่วงปี 2543 ร่องรอยที่พบอีกคือการส่งเสริมเรื่องสวนผักชุมชนและสวนผักโรงเรียนโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกับสถาบันการพัฒนานานาชาติของแคนาดาที่เขตบางกะปิและบางกอกน้อย

กระทั่งในปี 2553 เป็นต้นมา เกิดโครงการสวนผักคนเมือง ในช่วงหลังมีการขยายเครือข่ายการส่งเสริมเรื่องนี้ออกไป เช่น ในจังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ฯลฯ  กระทั่งปัจจุบันประเด็นเกษตรในเมืองได้ขยายตัวคู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวทั่วทุกมุมโลกเชื่อมโยงประเด็นระบบอาหารใกล้บ้าน  ระบบอาหารทางเลือก   ความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่น   การลดการเดินทางของอาหาร   ห่วงโซ่อาหารที่เป็นธรรม ความเกื้อกูลและรับผิดชอบต่อกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค  รวมถึงเชื่อมโยงประเด็นงานพัฒนาต่างๆ

อย่างไรก็ตามมายาคติ ของสังคมไทยยังคงอยู่  ก็คือ ความคิดที่ว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์มากอยู่แล้ว จะไปสนใจเรื่องเกษตรในเมืองทำไม   ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคำกล่าวที่ถูก แต่ถูกต้องเฉพาะอดีตกับปัจจุบัน แต่ไม่เป็นจริงกับอนาคต ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากฉากทัศน์ต่างๆ โดยฉากทัศน์แรก คือสัญญาณการเสื่อมพลังภาคเกษตรในชนบท คือ ชนบทหดตัวลงและแปลงเปลี่ยนไปเป็นเมืองมากขึ้น อาจจะไม่ได้อุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต ไม่ได้เป็นภาพชนบทที่โรแมนติกอย่างที่เราจินตนาการ  อีกทั้ง เกษตรกรในชนบทที่เหลืออยู่มีแต่ผู้สูงอายุ และถูกกดทับหลายชั้นจากโครงสร้างแห่งความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม   มีแนวโน้มเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารหรือเป็นเพียงอาหารสัตว์มากขึ้น  ต่อมาฉากทัศน์ที่สอง ในวันข้างหน้านี้ คือ เราต้องอยู่กับ climate change  จะเกิดภัยพิบัติถี่และนานมากขึ้นราวกับเป็น new normal คือ ภาวะ ความปกติแบบใหม่

สำหรับทางออกของปัญหาที่กล่าวมานั้น คิดว่า เกษตร  เมือง และความยั่งยืน สามารถเป็นสมการสำหรับอนาคตได้เลย และคนที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรในเมืองจึงเป็นคนที่คิดถึงอนาคต หรือ “นักอนาคต” (Futurists)  โดยที่ไม่ไปจมอยู่กับอดีตและโรแมนติกอยู่กับปัจจุบัน  นอกจากนั้นยังเป็นการมองที่ล้อไปกับทิศทางของโลก โลกกำลังชวนให้เรามองอนาคตมากขึ้น  คลื่นการพัฒนาและทิศทางนโยบายโลกที่เด่นชัดในจุดยืนเช่นนี้ก็คือ UN’s Sustainable Development Goals (SDGs)  โดยเฉพาะเรื่องของเมืองยั่งยืน (Sustainable city) เป็นเป้าหมายที่ 11 คือ ทำให้เมืองไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน (Make cities inclusive, safe, resilient and sustainable)  พูดถึงเมืองยั่งยืนเป็นการพูดถึงอนาคตที่ทุกเมืองต้องมุ่งไปให้ถึง (เป้าหมายในเบื้องต้นคือภายใน 2030) มากกว่าการแสวงหาบทเรียนจากปัจจุบันและอดีตมารำลึก

สาระสำคัญที่สุดของเรื่องเมืองยั่งยืน คือ การเชื่อมมนุษยชาติกลับเข้ามาสู่ธรรมชาติ (humanity’s relations with nature)  ทุกวันนี้ผมคิดว่าคนเมืองหย่าขาดกับธรรมชาติไปนานแล้ว แต่ยังคงมีสายสัมพันธ์ มาเชื่อมโยงกันใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่า ดังนั้น เมืองยั่งยืน คือ การดึงเมืองให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น จุดตั้งต้นพื้นฐานเลยคือกลับมามองให้เห็น “Soil” มากกว่า “Land”  ทุกวันนี้เวลาเรานึกถึง land จะนึกถึงมูลค่า แต่ไม่ได้มองในฐานความเป็น soil หรือความเป็นเม็ดดิน ถูกมองข้ามไปเลยในบริบทของทุนนิยม และความเป็นเมืองสมัยใหม่  ดังนั้นจึงมองให้เห็น soil มากขึ้น เห็นความอุดมสมบูรณ์ของ Soil ในฐานะเป็นสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าที่จะสร้างอาหาร สร้างพลังงาน สร้างชีวิต สร้างระบบนิเวศ และอื่นๆ ในระบบวิวัฒนาการที่สมดุลต่อไป อันเป็นแก่นแท้ของคำว่ายั่งยืน

Charles Darwin นักวิวัฒนาการคนสำคัญ ในปี 1881 ได้กล่าวว่า  ดินเป็นรากฐานของวิวัฒนาการทั้งปวง จากที่มันเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับโลก และที่น่าสนใจในช่วงปั้นปลายของ Darwin ใช้บั้นปลายชีวิตในสวนหลังบ้านของเขาด้วยการเฝ้าดูหนอนในดินต่างๆ และอีกคนคือ Karl Marx  ในปี ค.ศ. 1857 ได้กล่าวว่า พอคิดแบบทุนนิยม การเกษตรจึงไม่ใช่การผลิตอาหารที่ใส่ใจระบบนิเวศ หากแต่คือวิถีการผลิตแบบหนึ่งเฉกเช่นเดียวกันกับการผลิตอื่นๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าอาหาร ซึ่งการมุ่งให้เกิดเม็ดเงินทำลายเม็ดดินในที่สุด

ถ้าเรามองแค่ดินเป็นปัจจัยการผลิต ปัจจัยการผลิตก็ไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ สะสมทุนได้ สุดท้ายมันไม่เห็นสิ่งที่อยู่ข้างในมันอีกทีหนึ่ง นั่นคือ ความเป็นเม็ดดินของมัน  ที่เราควรมองดินในวิถีอย่างกว้าง นั่นคือ วิถีธรรมชาติ  ถ้าเรามองว่าความยั่งยืน คือ การที่เราโน้มไปหาธรรมชาติมากขึ้น  แต่ขณะเดียวกันด้วยความที่ธรรมชาติทุกวันนี้ มันถูกกดทับหลายชั้น ดังนั้นต้องรับมือกับความเหลื่อมล้ำด้วย และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย  ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ของ คำว่า เมืองยั่งยืน  และการขับเคลื่อนเกษตรในเมืองจะมีคุณูปการต่อเมืองยั่งยืนอย่างไร หากมีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง

  1. ช่วยเชื่อมเมืองเข้ากับธรรมชาติมากขึ้น เชื่อมโยงการพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ สร้างภูมิทัศน์ที่เหมาะสมของเมืองขึ้นมา
  2. เกษตรในเมืองดึงให้เมืองออกมาจากการคิดเรื่องที่ว่าเมืองสามารถครอบงำหรือควบคุมธรรมชาติได้ (dominating or ‘mastering’ nature) มาสู่การโน้มหรือกลืนเข้าหาธรรมชาติ
  3. ดึงให้เมืองคิดเชิงกลไกที่แข็งทื่อและเป็นเส้นตรงตามกรอบสมัยใหม่นิยมให้น้อยลง เช่น การมองเรื่องห่วงโซ่อาหารที่มีเมืองอยู่ในติ่งของห่วงโซ่มาเป็นการคิดเรื่องระบบอาหารของเมือง และมองทะลุ Land ไปถึง Soil ได้
  4. เกษตรในเมืองช่วยทำให้ระบบนิเวศของเมืองเกิดความสมดุลมากขึ้น อาทิ ช่วยให้การใช้ประโยชน์ในที่ดินของเมือง (โดยเฉพาะที่รกร้างว่างเปล่า) มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยจัดการของเสียของเมือง ช่วยรับมือกับมลภาวะ ช่วยนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ ช่วยพัฒนาภูมิทัศน์ของเมือง และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว
  5. เชื่อมเมืองสู่ธรรมชาติในความหมายของธรรมชาติของคนที่เป็นสัตว์สังคม (เชื่อมคนเมืองเข้าหากัน) รวมถึง ทำให้คนในแต่ละห่วงโซ่อาหารรับผิดชอบต่อกันจากที่อยู่ใกล้กันและมีโอกาสรู้จักกันมากขึ้น
  6. ฐานสำคัญของการเข้าใกล้ธรรมชาติคือการเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ (In nature, everything is about interactions) การส่งเสริมเกษตรในเมืองช่วยยกระดับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้ด้วย อาทิ เกิดเครือข่ายการผลิตและการกระจายอาหาร สร้างความสนิทสนม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และการพึ่งพากันและกันได้
  7. ช่วยรับมือความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ คุณขีดเส้นเมือง กับชนบท และให้คนชนบทปลูกผักไป เราอยู่ในเมือง เราเป็นภาคอุตสาหกรรม อาหารแพงไม่ได้ ถ้าแพง แล้วแรงงานในเมืองจะลำบาก ซึ่งแรงงานในเมืองก็เป็นลูกหลานของคนชนบททั้งนั้น ฉะนั้นความเหลื่อมล้ำที่เห็นชัดที่สุด คือ การแยกชนบทกับเมือง ซึ่งมันเป็นทวิภพที่ถูกสร้างแบบปลอมๆ ภายใต้ภูมินิเวศที่โลกสร้างให้พื้นที่ต่างๆ กลืนกัน  ซึ่งการแบ่งแยกที่น่ากลัวที่สุด คือ เมืองกับชนบท และเป็นโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำ นอกจากทำให้จนโอกาส ยังถูกเบียดขับทรัพยากร  จากอีกที่หนึ่งมาอีกที่หนึ่ง
  8. เกษตรในเมืองท้าทายโครงสร้างความเหลื่อมล้ำนั้น (ชนบทคือพื้นที่เกษตรกรรมที่มีคนล้าหลังอาศัยอยู่ (ถูกทำให้ด้อยกว่าทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง) ในขณะที่เมือง คือพื้นที่อุตสาหกรรม พาณิชย์ และเต็มไปด้วยความทันสมัย ทวิภพที่ถูกสร้างในระบบภูมินิเวศซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน)  ตัวอย่าง ที่เมือง Almere ใน Amsterdam ประเทศเนอร์เธอแลน เขาให้วัวมาเดินในเมืองได้ โดยไม่แยกชนบทจากเมือง สร้างเมืองที่มีชนบทอยู่ด้วยกัน  เกื้อกูลกัน  วัวทำไม ไม่มีสิทธิเดินในเมือง คนเมืองทำไมจะต้องไปดูวัวข้างนอกด้วย อากาศบริสุทธิ์ทำไมต้องออกไปข้างนอก อยากกินอาหารจากไร่ ก็ไปเก็บจากภายในเมืองได้
  9. ในขณะเดียวกันเกษตรในเมืองช่วยลดภาวะแปลกปลอม (alienation) ให้กับคนจนและคนด้อยโอกาสในเมืองที่พยายามพึ่งตนเองทางอาหาร รวมถึง ไม่สร้างความเป็นอื่น (otherness) ให้กับคนชนบทที่ถูกเบียดขับออกไปอันเป็นเหตุมาจากการพัฒนาที่ลำเอียงของเมือง เช่น การต้องทิ้งท้องไร่ท้องนาที่ถูกขูดรีดมาทำงานรับจ้างในเมืองที่เลี้ยงดูครอบครัวได้มากกว่า ปัจจุบันพอเห็นพื้นที่สลัมมีการปลูกผัก เราอยากจะลงไปเหยียบ ไปสัมผัส ไม่เหมือนเมื่อก่อนในสลัมเป็นพื้นที่น่ากลัว ชุมชนดูน่ารักขึ้นมาทันที
  10. เกษตรในเมืองยังช่วยย่นย่อการเดินทางของอาหาร (food miles) ซึ่งช่วยทำให้ห่วงโซ่อาหารสั้นลงและเป็นธรรมมากขึ้น จากการตัดห่วงโซ่ที่ไม่จำเป็นของผู้แสวงหาประโยชน์ (rest seekers) ออกไป
  11. ช่วยสร้างระบบอาหารท้องถิ่นเพื่อคานกับระบบโมเดิร์นเทรด อันนี้เป็นประเด็นที่ท้าทาย ในระยะยาวมองว่าเกษตรในเมืองจะมีศักยภาพในฐานะเป็นการสร้างอาหารทางเลือก
  12. หากพิจารณาเฉพาะเจาะจงไปที่มิติเกษตรและอาหาร ไม่มีสงครามใดที่จะนำไปสู่ความอดอยากได้เท่าสงครามกับภูมิอากาศ (Climate wars) โดยเฉพาะสำหรับผู้คนในเมือง เกษตรในเมืองช่วยเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ คือ “War of all against all”  ในความหมาย เป็นภาวะที่ระบบกลไกต่างๆ ที่ถูกวางไว้ อาทิ ในเรื่องการกระจายอาหารและนำพลังงานจากชนบทมาสู่เมือง และการขับของเสียจากเมืองออกไปสู่ชนบท เพราะระบบกลไกเหล่านี้มีโอกาสที่จะถูกทลายตลอดเวลา (disrupt) เมื่อเกิดวิกฤติ  ทำให้ไม่สามารถไว้ใจระบบอะไรได้เลย  ดังนั้นเกษตรในเมืองหรือความหมายอย่างกว้าง คือ การพยายามที่จะพึ่งตนเองด้านอาหาร อย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นการทำประกันความเสี่ยงด้านอาหารเมื่อเกิดเหตุขึ้น อย่างน้อยที่สุดชุมชนเรา ครัวเรือนเรา พอที่จะประทังตัวเองไปได้ ในภาวะวิกฤต เช่น เข้าไป ห้าง Big C ไม่เหลืออะไร

รูปธรรมการยกระดับเมืองยั่งยืนด้วยเกษตรในเมือง จากตัวอย่าง นิวยอร์ก และลอนดอน  พบว่าเกษตรในเมืองได้มีการกระจายไปหมดในเมือง และเชื่อมโยงในหลายประเด็น   คนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ในจุดต่างๆ ที่มีการส่งเสริมและเป็นพื้นที่เรียนรู้เกษตรในเมือง รัฐมีนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจ ที่ลอนดอนมีการส่งเสริมเรื่องเมืองเปลี่ยนผ่านหนุนเสริมการขับเคลื่อนด้วยชุมชนเมืองในเรื่องการพึ่งตนเองทางอาหารและพลังงานที่ชื่อว่า “เมืองเปลี่ยนผ่าน” (transition towns)  จนเมืองนี้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะสำคัญของแนวทางดังกล่าว

ตอนนี้คนในเมืองได้หย่าร้างกับธรรมชาติไปนาน (Divorce of human in the city and the nature) จนถึงเวลาที่จะต้องกลับมาเชื่อมกันใหม่ได้แล้ว (reconnect) โดย “เกษตร – เมือง – ยั่งยืน” เป็นทางแยกที่มาบรรจบกันเพื่อมุ่งสู่อนาคต

การส่งเสริมเกษตรในเมืองช่วยสร้างผลสะเทือนอย่างน้อย 4 มิติ

(1) เกษตรในเมืองทำให้เราตั้งคำถามกับเส้นแบ่งเรื่องเมืองกับชนบทที่ “ถูก” ขีดขึ้น

(2) ในขณะที่เราคิดตั้งคำถามเรื่อง “ปริมาณ (volume)” และ “ขนาด (scale)” ของการผลิตแบบนี้ใน “ระบบใหญ่” เราได้ฉุกคิดว่า ฐานคิดแบบนั้นทึกทัก (assume) ว่าระบบต่างๆ มันจะ “ปกติ” ไปตลอด กลุ่มคนที่อยู่ในขบวนของการส่งเสริมเกษตรในเมืองเป็น “นักอนาคต (Futurists)” ของจริง ในขณะที่หลายๆ คนยังเป็น “นักปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate denier)” ในโลกแบบ “หลังความจริง (Post-truth)” อยู่ ถ้าลองจินตนาการโลกในวันข้างหน้าที่ภัยพิบัติเกิดถี่ขึ้น นานขึ้น ระบบต่างๆ รวนไปหมด เราจะเห็นพลังของพวกเขา

(3) ในโลกที่ถูกทำให้ซับซ้อน กลุ่มคนที่อยู่ในขบวนของการส่งเสริมเกษตรในเมืองชวนตั้งคำถามเรื่อง “ความเป็นมนุษย์” พวกเขาชวนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีวิชาและทักษะแห่งการอยู่รอด (รื้อฟื้นวิชามนุษย์) แม่จะถูกเหน็บว่าเป็นแค่รสนิยมชนชั้นกลางโลกสวย

(4) พวกเขา “ธำรงรักษา (save)” รากฐานของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือแม้แต่การเกื้อกูลของมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นความยั่งยืนที่ “ข้ามพ้น (beyond)” ตัวชี้วัด และนั่นก็ซ่อน “คุณค่าของประชาธิปไตย (democratic value)” อย่าง “สิทธิและเสรีภาพ (right & freedom)” ไว้ในเนื้อในด้วย โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพในการออกมาทำอะไรสักอย่างเพื่อ “สร้างการเปลี่ยนแปลง (transform)” ตัวเองและคนรอบข้าง มีคนเรียกว่าเป็น “ลงมือทำธิปไตย (do-mocracy)” ซึ่งชวนให้เราขยายจินตภาพของการมองโลกและสังคมที่พอจะหลุดออกไปจากกล่องแคบๆ ที่มีอยู่ได้บ้าง

และทั้งหมดที่กล่าวมา คือ คุณูปการ ของเกษตรในเมืองที่สามารถเชื่อมโยงในมิติต่างๆ และกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง…ขอบคุณครับ

Download เอกสารประกอบการบรรยายได้ที่ 

http://www.mediafire.com/file/qpop6ed06h6gznt/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A2+%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%99.pdf

และ

http://www.mediafire.com/file/jkpqpym0tms7lpv/UA-and-Sustainable-City..pdf/file