พลังกลุ่ม กับการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ถ้าพูดถึงกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหา ทั้งเรื่องพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มเครือข่าย Transition Town ถือเป็นเครือข่ายหนึ่งที่เชื่อมั่นในพลังของคนตัวเล็กๆ และเกิดกลุ่มสมาชิกขึ้นมากมาย กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ที่ช่วยกันทำงานในมิติต่างๆเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้พร้อมปรับตัว และเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนผ่านมากมาย

อย่างไรก็ตาม การสร้างกลุ่มที่จะช่วยกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆได้นั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยปาฎิหาริย์  ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่มีรูปแบบ แนวทาง กระบวนการสร้างกลุ่มให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งทางเครือข่าย Transition Town เขาได้รวบรวม และแบ่งปันเอาไว้อย่างน่าสนใจ

 

เขาบอกว่าหัวใจสำคัญของการทำงานขับเคลื่อนโครงการต่างๆเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลดี คือ การสร้างกลุ่มที่มีสุขภาพดี หรือเขาใช้คำว่า Healthy Group กล่าวคือ เป็นการทำงานกลุ่มที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆด้วยความสุข สามารถรักษาความสัมพันธ์ของสมาชิกเอาไว้ได้ยาวนาน

เข้าใจธรรมชาติของกลุ่ม

การจะสร้างกลุ่มได้ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือ ธรรมชาติของกลุ่ม ซึ่งBruce Tuckman ได้กล่าวถึง 4 ลำดับขั้นของการเกิดกลุ่มไว้ว่า

ขั้นที่ 1 เป็นขั้นของการก่อตัว หรือ Forming  เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นที่ทุกคนรู้สึกดี รู้สึกตื่นเต้นกับการคิดทำอะไรใหม่ๆด้วยกัน เขาบอกว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ที่สมาชิกจะได้พบปะ พูดคุย รับฟัง ได้รู้จัก และแบ่งปันความคิดหวัง ในขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่สมาชิกได้ทำความเข้าใจกับโครงสร้างการทำงานไปด้วยกัน มีการทำข้อตกลงร่วมกัน ขั้นตอนนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก และควรให้เวลากับช่วงเวลานี้ให้กลุ่มได้ค่อยๆก่อตัวขึ้น

ขั้นที่ 2 เป็นขั้นของการเกิดพายุ หรือ Stroming เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มได้ทำงานร่วมกันไปสักระยะ และมักจะต้องเผชิญกับปัญหา มีความเครียด ความขัดแย้ง ความท้าทายต่างๆเข้ามา จนบางคนอาจจะรู้สึกผิดหวัง ไม่สบายใจ หลายกลุ่มก็อาจจะล้มเลิกไปในขั้นนี้  อย่างไรก็ตามเขาบอกว่า ขั้นนี้เป็นช่วงที่สำคัญมากที่หากกลุ่มสามารถที่จะเปิดใจ เรียนรู้ และร่วมกันก้าวผ่านปัญหาไปได้ กลุ่มก็จะมีความแข็งแรง และเป็นกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นสูงมากขึ้นด้วย

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเดินหน้า ก้าวข้ามปัญหาในช่วงนี้ได้ก็คือ

  • การเป็นผู้ฟังที่ดี
  • การมีผู้นำกลุ่มที่เป็นกลาง
  • ความอดทน
  • การแบ่งปันเป้าหมายร่วมกัน และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
  • การสื่อสารกันอย่างจริงใจ แทนการต่อว่า คิดเองเออเอง ก็ควรจะถามย้อนกลับเพื่อตรวจสอบความเข้าใจว่า ฉันได้ยินคุณพูดว่าอย่างนี้ใช่มั้ย แล้วค่อยๆเปิดใจ ทำความเข้าใจกัน

อย่างไรก็ตาม ในขั้นนี้ อาจจะมีบางคนที่ออกจากกลุ่มไปบ้าง ก็ขออย่าได้กังวล เพราะเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้

ขั้นที่ 3 คือขั้นการสร้างระบบแบบแผน หรือ Norming ในขั้นนี้กลุ่มจะมีการทำความเข้าใจ มีข้อตกลง ระบบแบบเผนในการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น สมาชิกจะรู้ว่าตัวเองรับบทบาทไหน แต่ละคนก็จะรู้สึกมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบงานให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่มมากขึ้น และก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไปด้วยกัน ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกก็จะแนบแน่น สนิทสนมกันมากกว่าช่วงขั้นแรกด้วย

 

 

ในขั้นนี้ เขาแนะนำว่า ให้เราอย่าลืมให้เกียรติ ชื่นชม รู้สึกขอบคุณคนที่ออกจากกลุ่มไปแล้วด้วย ว่าอย่างน้อยที่ผ่านมา เขาก็ได้ช่วยทำอะไรกับกลุ่มไปบ้าง

ขั้นที่ 4 คือ ขั้นของการทำงานอย่างเต็มที่ หรือ Performing เป็นช่วงเวลาที่คนในกลุ่มจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีประสิทธิภาพในการทำงาน กลุ่มรู้สึกสนุกที่ได้ตัดสินใจและทำงานด้วยกัน สมาชิกจะยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของผู้คน และความคิดเห็นในกลุ่มมากขึ้น เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ รวมไปถึงการคิดต่อไปข้างหน้าด้วยกัน

 

 

นอกจากขั้นที่ 4 ที่กล่าวมาแล้ว จากประสบการณ์การทำงานของเครือข่าย Transition Town เขาก็ได้เพิ่มอีกขั้นหนึ่ง คือ ขั้นของการไว้อาลัย หรือ Mourning  เขาบอกว่า เป็นไปได้เหมือนกันที่เมื่อทำงานไป แล้ว สุดท้ายสมาชิกกลุ่มจะขอลาออก หรือบางกลุ่มที่ตั้งขึ้น ก็จะล้มเลิกไป สิ่งสำคัญคือ การจบโครงการอย่างสวยงาม โดยอาจจะมีการจัดงานเลี้ยงส่งอำลาคนที่ขอลาออก หรือหากกลุ่มทั้งกลุ่มตัดสินใจที่จะหยุดทำต่อ ก็อาจจะมีการจัดงานเลี้ยงส่งท้าย เพื่อแบ่งปันความรู้สึก เรื่องราว สิ่งที่ได้ทำและเรียนรู้ร่วมกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งก็อาจจะมีทั้งความรู้สึกที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป งานเลี้ยงนี้ก็เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้แบ่งปันออกมา รวมไปถึงการคุยเรื่องการส่งต่อข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่ด้วย ว่าจะส่งต่อไปที่ไหนอย่างไรดี

 

 

สิ่งที่เขาย้ำเตือนคือ ลำดับขั้นเหล่านี้เป็นเป็นเส้นทางในเชิงทฤษฎี ที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม เวลาทำจริง การเกิดกลุ่ม สร้างพลัง ก็อาจมีความหลากหลายกันไป บางครั้งก็ไม่ได้เรียงลำดับขั้น บางทีก็อาจเกิดปรากฎการณ์หลายๆขั้นพร้อมๆกัน หรือ บางทีระหว่างทาง อาจมีคนใหม่ๆเข้ามา จนเกิดการก่อรูปกลุ่มอีกครั้ง แต่สิ่งที่เราไม่ควรละเลยคือสิ่งที่สมาชิกเก่าๆได้เคยช่วยกันทำมา

 

 

นอกจาก Healthy Group แล้ว องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกลุ่มไปได้ยังรวมถึง การมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างเครือข่าย การมีโครงการที่สร้างสรรค์สามารถทำได้จริง และสมาชิกเดินไปข้างหน้าอย่างมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน มีหัวใจในการทำงานร่วมกัน มีการสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ และการเฉลิมฉลองความสำเร็จร่วมกัน และที่ขาดไม่ได้เลยคือ มีความสุขที่จะทำงาน ร่วมกันขับเคลื่อนสังคมเป็นส่วนหนึ่งการของสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

กลุ่ม Transition Town นี้ เขาให้ความสำคัญของกระบวนการทำงานในลำดับขั้นตอนต่างๆอย่างมาก และได้เขียนเป็นคู่มือการทำงานออกมาอย่างละเอียด และมีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการประชุม การสร้างเครือข่าย การสร้างการมีส่วนร่วม ไปจนถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ใครสนใจก็สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมกันได้ที่นี่นะคะ  https://transitionnetwork.org/resources/essential-guide-to-transition-v-1/

ส่วนใครที่สนใจเกี่ยวกับการทำงานของ Transition Town ทางสวนผักคนเมืองก็เคยแบ่งปันเรื่องราวไว้ในเวป ลองอ่านกันได้เช่นกันค่ะในเรื่อง “เราจะอยู่กันยังไงในวันข้างหน้าท่ามกลางวิกฤติพลังงานและภัยธรรมชาติ?: โจทย์ในการสร้าง ‘เมืองที่พร้อมจะเปลี่ยนผ่าน’” และ “ Eco-Village & Transition Town: เรือชูชีพท่ามกลางวิกฤต”

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

Do Transition