เราจะอยู่กันยังไงในวันข้างหน้าท่ามกลางวิกฤติพลังงานและภัยธรรมชาติ?: โจทย์ในการสร้าง ‘เมืองที่พร้อมจะเปลี่ยนผ่าน’

แม้ที่ผ่านมาเราพูดเรื่องภาวะโลกร้อนและวิกฤติที่น้ำมันเหลือแค่ก้นบ่อ (peak oil) กันมาก แต่คำถามสำคัญก็คือเราจริงจังกับการรับมือกันแค่ไหน ที่ผ่านมา มักเป็นเพียงการวิเคราะห์ว่านี่เป็นภัยคุกคามที่มีโอกาสเกิด ขึ้นได้ในอนาคต มากกว่าการมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ และเป็นที่ประจักษ์ว่าเกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมุมมองแบบหลังโน้มเอียงทำให้หลายคนเริ่มมอง “Climate Change” เป็น “Climate Normal” กล่าวคือ คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงจนมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการตั้งรับปรับตัว

ในระดับสากล โจทย์และความตระหนักนี้ นำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่เรียกว่าการสร้างเมืองที่พร้อมจะเปลี่ยนผ่าน (Transition Town) กระจายตัวไปทั่วโลก โดยเฉพาะในทศวรรษที่ผ่านมา โดยผุดขึ้นแบบดอกเห็ด กล่าวคือ ไม่มีแบบแผนและความเชื่อมโยงในเชิงพื้นที่ที่ชัดเจน ทว่า มีการแลกเปลี่ยนบทเรียนจากกัน ตั้งต้นจากเมืองเล็กๆ ชื่อ Tunes ที่ตอนตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ก่อนจะมีกลุ่มโผล่ขึ้นที่ Bristol, Lewes และมากระจายตัวในเมืองเล็กเมืองน้อยในกรุงลอนดอน อาทิ ที่ Brixton, Crystal Palace, Highbury, Tooting, Finsbury Park, Belsize ฯลฯ ภายหลังการเผยแพร่เรื่องราวจากกลุ่มเหล่านี้ การขับเคลื่อนในลักษณะเดียวกันได้ไปโผล่ที่เยอรมัน ออสเตรีย อิตาลี เชค ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา แคนาดา ฯลฯ โดยไม่มีกระบวนการจัดตั้งหรือศูนย์กลางร่วมกันใดๆ นอกเหนือจากการตระหนักร่วมกันว่าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนผ่านแล้ว และเห็นด้วยกับแนวทางที่ Transition Towns ก่อนหน้าริเริ่ม

ทั้งนี้ ปัจจุบันมี Transition Towns กระจายตัวในมุมต่างๆ ของโลกไม่น้อยกว่า 479 แห่ง (ข้อมูลจาก Transition Network) จนกล่าวได้ว่าในยุคที่แนวคิดเรื่องความยั่งยืน การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้รับความสำคัญทุกมุมโลก พลังการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม และผุดขึ้นในหลายๆ จุด เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ การขับเคลื่อนเพื่อสร้างเมืองที่พร้อมจะเปลี่ยนผ่านนี้เอง

ประเด็นต่อเนื่องคือ พวกเขาคิดและทำอะไรกัน? ในเบื้องต้นพวกเขาเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะสร้างการเปลี่ยนผ่านเพื่อวันพรุ่งนี้ที่จะไม่หลงเหลือน้ำมันและเผชิญกับภูมิอากาศวิปลาสทุกเมื่อเชื่อวัน รวมถึงเกิดภัยพิบัติถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงกันและหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว นอกจากนั้น พวกเขาเชื่อว่ากลไกการจัดการเรื่องพลังงานและภัยธรรมชาติทั้งในระดับระหว่างประเทศและในประเทศล้วนไม่สามารถฝากความหวังเอาไว้ได้ เพราะวิกฤติเคลื่อนตัวไปไกลเกินกว่าพลังอำนาจองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาลใดๆ หรือเทคโนโลยีล้ำหน้าแค่ไหนจะทำอะไรได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้จริงเสียแล้ว

มากไปกว่านั้นพวกเขายังเชื่อด้วยว่าในวินาทีนี้ เราไม่ต้องมาพูดเรื่องปฏิวัติสังคม (Revolution) แล้ว ไม่ว่าจะหยุดการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เอาเปรียบโลก หยุดการคอร์รัปชั่น หรือแม้แต่หยุดความมือระหว่างรัฐกับนายทุนในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เพราะการขาดพลังงานและเกิดภัยธรรมชาติต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ ในสังคมได้ (ยากที่จะหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างสังคมได้ทัน เพราะไม่เห็นสัญญาณใดๆ ว่าจะทำได้ ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก รัฐกับทุนก็กอดกันแน่นเสมอ) และมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลต่างๆ ในโลกมีจะทำได้แค่ชะลอและบรรเทาผลกระทบกับคนบางส่วนและบางกลุ่มเท่านั้น ทว่า เมื่อขาดพลังงานและเกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าชนชั้นไหนก็อยู่ไม่ได้ โครงสร้างใดๆ ก็ไม่เหลือให้ปฎิวัติ เพราะเรากำลังจะล้มครืนกันหมด สิ่งที่มีพลังที่สุด ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่อำนาจทางการ แต่เป็นความร่วมไม้ร่วมมือของเพื่อนบ้าน ผู้คนธรรมดาๆเพราะถึงวันหนึ่งที่เกิดวิกฤติ ตำแหน่งนายกก็ไม่มีความหมาย เขาก็จะกลายเป็นคนธรรมดา ที่ต้องรับมือ และปรับตัวเหมือนกัน

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.azquotes.com/author/45783-Rob_Hopkins

 การขับเคลื่อนเพื่อสร้างเมืองที่พร้อมจะเปลี่ยนผ่าน เกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ จากกลุ่มคนเล็กๆ น้อยๆ พวกเขามักถูกปรามาสว่าเป็นแค่แมงหวี่แมงวันไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และมีความไร้เดียงสาต่อการเมือง ผลประโยชน์และอำนาจ โดยเฉพาะจากนักคิดที่ใช้เวลาคิดไปคิดมาแทบทั้งชีวิตในห้องสมุดและร้านกาแฟแต่ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง เพราะมัวแต่โทษโครงสร้างความไม่ยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โทษประเทศมหาอำนาจที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าที่ควร โทษการที่รัฐบาลกอดกับนายทุน โทษบรรษัทขนาดใหญ่ที่ไร้ความรับผิดชอบ และเชื่อว่าถ้าไม่ขุดรากหรือถอนต้นตอก็แก้อะไรไม่ได้ เลยไม่ต้องทำอะไรกันพอดี และอยู่แบบสิ้นหวังและโทษคนอื่นไปวันๆ ทว่า กลุ่มคนเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ไม่เชื่อว่าความเทอะทะของระบบและกลไกของรัฐหรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จะเป็นคำตอบพวกเขาเชื่อในความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ โดยพวกเขาเสนอว่าเรามีทางเลือกเพียงไม่กี่ทาง คือ (ก) ปล่อยให้มันเป็นไปและหลอกตัวเองว่าภัยคุกคามยังอยู่อีกไกลหรือคงไม่เกิดขึ้นกับเราหรือรัฐบาลคงเตรียมรับมือไว้แล้ว (ข) รอการคิดค้นเทคโนโลยีสุดล้ำที่สามารถคืนน้ำแข็งให้ขั้วโลก (ค) รอปาฏิหาริย์ หรือ สุดท้ายคือ (ง) จะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเท่าที่คนๆ หนึ่งจะทำได้  เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด 

หลักการสำคัญของการสร้างเมืองที่พร้อมจะเปลี่ยนผ่านคือ การเพิ่มความยืดหยุ่น (Resilience) และการทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง (Localization)โดยยอมรับให้ได้ว่าไม่มีชุปเปอร์ฮีโร่ที่ไหนที่จะมาช่วยเราได้แล้วมีแค่คนบ้านใกล้เรือนเคียงที่จะเกื้อหนุนและสร้างภูมิคุ้มกันให้กันและกันได้ พวกเขาค่อยๆ ทำอะไรเท่าที่ทำได้แต่เน้นความยั่งยืนและสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ (Permaculture) เช่น พัฒนาทักษะการเอาตัวรอด (หันกลับไปหาวิชามนุษย์) สร้างอาหารร่วมกัน (ปลูกผักและเลี้ยงไก่) สร้างตลาดที่เน้นผู้ผลิตและผู้บริโภคในท้องถิ่น สร้างระบบแลกเปลี่ยนของตนเอง (ธนบัตรของชุมชนเอง) และสร้างแหล่งพลังงานของชุมชนเอง โดยมองว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่กระบวนการม้วนเดียวจบ มันต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน มันคือการเดินทาง (Transition is a journey) ทว่า มันจะเกิดผลให้ได้เฉลิมฉลองทีละเล็กทีละน้อย และที่สำคัญมันสร้างการเรียนรู้ที่ปรับเปลี่ยนตัวเราเองได้ด้วย ทั้งนี้ แม้สิ่งที่พวกเขาทำจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พวกเขาได้สร้างตลาดใหม่ที่ไม่ได้มีสินค้ามาขายแต่เป็นตลาดแห่งความหวัง (Market of hope) พวกเขาได้เปิดพื้นที่ให้ตัวเองและเพื่อนบ้านได้รู้ว่าพวกเขาเองที่เป็นขุนศึก (We are the cavalry) ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน พวกเขายึดมั่นในแนวทางสังคมธิปไตย (Sociocracy) เปิดประตูรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ  เห็นพลังอำนาจของการทำอะไรสักอย่างขึ้นมา และมีความกล้าที่จะฝัน (Hopkins, 2013)

ทั้งนี้ Rob Hopkins (2008) ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยถูกเชิญไปเป็นวิทยากรและกระบวนกรในที่ต่างๆ มากมาย ได้สร้างคู่มือการเปลี่ยนผ่านขึ้นมา (Transition Handbook) เพื่อให้ผู้กล้าเปลี่ยนทั้งหลายได้ใช้เป็นแนวทาง เขาเสนอว่าต้องเริ่มจากก้าวให้พ้น “เจ็ดแต่” (7 Buts) กล่าวคือ (1) แต่เราไม่มีทุนจากไหนเลย (2) แต่เราคงไปสร้างความร่วมมือกับใครไม่ได้ (3) แต่ว่ามีกลุ่มอื่นพยายามทำอะไรอยู่แล้ว เราไม่อยากไปเหยียบเท้าพวกเขา (4) แต่ว่าในเมืองนี้ไม่มีใครหน้าไหนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงจังเลยสักคน (5) แต่มันน่าจะสายเกินไปที่จะทำอะไรได้แล้ว (6) แต่เราคงไม่มีน้ำยาพอที่จะออกมาทำอะไรได้ และ (7) แต่เราไม่มีเวลาและพลังพอที่จะทำสิ่งเหล่านี้

ในขณะเดียวกัน Hopkins ได้เสนอแนวทางที่เขาเรียกว่า “สิบสองก้าว” (12 Steps)ซึ่งประกอบไปด้วย (1) ตั้งกลุ่มที่จะมาเป็นหัวหอกขึ้นให้ได้ก่อน (2) สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในวงกว้าง (3) ริเริ่มคิดเรื่องกองทุน เพื่อมีงบมาทำกิจกรรม (4) ออกตัวด้วยการจัดกิจกรรมเปิดตัว (5) ตั้งกลุ่มย่อยๆ แยกกันขับเคลื่อนในมิติที่หลากหลาย (6) ใช้พื้นที่สาธารณะสรรค์สร้างกิจกรรม รวมถึง พื้นที่ออนไลน์ (7) สร้างคำประกาศของกลุ่มถึงแนวทางที่สามารถขับเคลื่อนได้จริงและมองเห็นเป็นรูปธรรม (8) จัดกิจกรรมพัฒนาหรือรื้อฟื้นทักษะสำคัญๆ ในการเอาตัวรอด (วิชามนุษย์) เช่น การปลูกผัก สร้างพลังงานเอง ฯลฯ (9) สร้างสะพานเชื่อมไปถึงหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่น (เช่น สำนักงานเขต เทศบาล อบต. ฯลฯ) (10) ให้เกียรติผู้สูงอายุ / ถอดประสบการณ์ผู้อาวุโส ผู้ที่ผ่านอะไรมามาก (และมีเวลา รวมถึงกำลังแสวงหากิจกรรมทำ) (11) ปล่อยให้มันเป็นไป แล้วแต่เพลงจะพาไป และ (12) ควรมีแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับพลังงานยั่งยืนของตนเอง เพราะพลังงานเป็นบ่อเกิดของทุกสรรพสิ่ง

อนึ่ง ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมลงพื้นที่วิจัย Transition Towns หลายแห่งที่ประเทศอังกฤษกับศาสตราจารย์จาก Environmental Policy Research Centre (FFU) เพื่อเรียนรู้ความเป็นไปได้ที่ Transition Towns จะสามารถสร้างเรือชูชีพ (Lifeboats) ที่พอจะทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤติ และสามารถสร้างโลกในป้อมปราการ (Fortress World) ขึ้นได้ (เช่น เอาตัวรอดได้ในภาวะน้ำท่วมขังติดต่อกันยาวนาน) พบว่ามีรูปธรรมของการสร้างเมืองที่พร้อมจะเปลี่ยนผ่านในอังกฤษอยู่มาก และแม้สิ่งที่ Transition Towns ทำ อาจจะไม่ได้รับประกันว่าพวกเขาจะมีชีวิตนิรันดร์ในยามที่เกิดวิกฤติ แต่พวกเขาคือผู้ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนและการปรับตัวต่อวิกฤติเกิดขึ้นในทางปฏิบัติได้ชัดที่สุดเช่น ที่ Brixton มีบริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของชุมชนเอง โดยสมาชิกชุมชนมาร่วมกันถือหุ้น มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในอพาร์ตเมนต์สำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีอาสาสมัครดูแลและได้รับการอบรมให้สามารถซ่อมบำรุงได้เอง มีสวนผักของชุมชน และมีแปลงผักกระจัดกระจายอยู่ในย่านต่างๆ ของชุมชน เช่น ในตลาด และบริเวณป้ายรถเมล์ นอกจากนั้น พวกเขายังมีแปลงผักสาธิตที่ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรมทักษะการทำเกษตรในเมือง และที่สำหรับพบปะพูดคุยกัน

อีกตัวอย่างคือBristol ซึ่งนับว่ามีการขับเคลื่อนสร้าง Transition Town ที่ใหญ่ที่สุด นอกจากจะมีแปลงเกษตรชุมชนกระจายตัวอยู่หลายแห่งแล้ว ที่โดดเด่นและเป็นต้นแบบของที่อื่นๆ คือ การมีธนบัตรของตนเอง (Bristol Pound) ซึ่งใช้สำหรับชื้อขายในธุรกิจห้างร้านต่างๆ ที่เจ้าของเป็นคนเมืองนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน ทำให้เงินไหลเวียนภายใน(เงินไม่ไหลออก เพราะธนบัตรนี้นำไปใช้ที่อื่นไม่ได้) ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกหรือของประเทศตกต่ำ ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจของเมืองไม่มาก ซึ่งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการตั้งรับปรับตัวต่อวิกฤติต่างๆ ได้ (ในลักษณะเดียวกันกับที่เคยมีการส่งเสริมเบี้ยกุดชุมที่จังหวัดยโสธรเมื่อหลายปีที่ผ่านมา) นอกจากนั้น ที่นี่ยังมีการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นผ่านงานศิลปะต่างๆ เช่น ภาพวาดบนกำแพง

สำหรับกรณีอื่นๆ คือ Crystal Palaceซึ่งมีการจัดตลาดชื้อขายผลผลิตของคนในชุมชนด้วยกันเองในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ มีการส่งเสริมให้มีสวนผักในบริเวณรอบโบสถ์ สวนผักในบริเวณผักชุมชน สวนผักในที่ของพิพิธภัณฑ์ชุมชน และที่โดดเด่นที่สุดคือสวนผักในสถานีรถเมล์ (Edible Bus Station) ส่วนกรณีของ Tooting มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์และมีการสร้างสวนผักชุมชนที่เชื่อมโยงเยาวชนในโรงเรียนเข้ามาร่วม ในขณะที่ ที่ Belsize มีการสร้างสวนผักชุมชนที่ลานจอดรถของโรงแรมเล็กๆ ที่สมาชิกในชุมชนเป็นเจ้าของ เป็นต้น

จากข้างต้น เมื่อย้อนกลับมาดูการขับเคลื่อนในบ้านเมืองของเรา ที่หลายมุมของเมืองไทยทำอยู่ก็คงเรียกได้ว่าเป็น Transition Towns ได้เช่นกัน (ในแบบของเราที่อาจจะเหมือนบ้าง แตกต่างบ้างจากที่อื่น) ทว่า ขบวนการคงเข้มแข็งขึ้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับที่อื่นในมุมต่างๆ ของโลกมากกว่านี้ สำหรับผู้สนใจเพิ่มเติม แนะนำว่าให้เริ่มจากดูคลิปวีดีโอนี้ https://www.youtube.com/watch?v=r3L9n20myqk เข้าไปดูเว็บ www.transitionnetwork.org แล้วลองดูหนังสารคดีเรื่อง Transition 2.0 จากนั้นควรไปไล่ดูคลิปอื่นๆ ที่แบ่งปันกิจกรรมของ Transition Towns ในที่ต่างๆ ทั่วโลกในยูทูป แล้วลองถามตัวเองดูว่าท่านจะเริ่มต้นทำอะไรได้บ้างหรือไม่ อย่างไร แล้วเรามาเริ่มต้นหรือขยับต่อจากที่ทำอยู่ไปด้วยกันครับ

เรื่องโดย ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์

เอกสารอ้างอิง

Hopkins, R., 2013, The Power of Just Doing Stuff. Cambridge: Green books.

Hopkins, R., 2008, The Transition Handbook: From Oil Dependency to Local Resilience. Cambridge: Green books.

https://www.transitionnetwork.org