Eco-Village & Transition Town: เรือชูชีพท่ามกลางวิกฤต

ชุมชน คน เมือง เราจะอยู่กันอย่างไรท่ามกลางวิกฤตต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ วิกฤตเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อว่าปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ดูเหมือนว่าแทบจะมองไม่เห็นหนทางใดที่จะช่วยทำให้อุณหภูมิโลกลดลงได้เลยProf. Dr. Frank Fischer จาก Environmental Policy Research Centre, Department of Political and Social Sciences , Berlin Universityผู้สนใจเรื่องการเมืองสิ่งแวดล้อมโลก และเคยจัดงานเวทีระดับโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมาแล้วนั้น เขาเริ่มรู้สึกว่า ไม่มีข้อตกลงร่วมของรัฐใดที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เขาจึงเริ่มมองหาว่ามีโอกาสใดที่เป็นไปได้บ้าง ที่มนุษย์จะอยู่รอดได้อย่างแท้จริงบ้างท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น และจากการพยายามเดินทาง ลงพื้นที่ ศึกษาวิจัย หลายประเทศทั่วโลก เขาก็พบว่ามีแนวทางปฏิบัติ  หรือระบบการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันของผู้คนที่น่าสนใจ มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลกที่พยายามช่วยกันขับเคลื่อน และสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ขึ้น แนวทางที่ว่านี้ก็คือ Transition Town หรือเมืองเปลี่ยนผ่าน และ Eco Village หรือชุมชนนิเวศน์  

2 แนวทางที่ว่านี้อาจจะฟังดูเป็นศัพท์ใหม่ของใครหลายคน อย่างไรก็ตาม หากใครเป็นแฟนของเวปสวนผักคนเมือง www.thaicityfarm.com ก็คงจะเคยอ่านบทความที่ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ เคยเขียนแบ่งปันเกี่ยวกับเรื่อง Transition Town กันบ้างแล้ว ใครยังไม่เคยอ่าน ลองกลับไปย้อนอ่านกันได้ที่ https://thaicityfarm.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=632&auto_id=39&TopicPk= นะคะ

มาคราวนี้อาจารย์ปิยะพงษ์ ก็เป็นบุคคลสำคัญ ที่แนะนำให้เราได้รู้จักกับ Prof. Dr. Frank Fischer และให้ความกรุณาเชิญ Prof. Dr. Frank ท่านนี้มาร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์จากการเดินทางไปศึกษาชุมชนต่างๆที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ให้กับผู้ที่สนใจ ในงาน “Eco-Village & Transition Town: Lifeboats in Climate Crisis” ที่โครงการสวนผักคนเมืองจัดขึ้น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ที่สวนโมกข์กรุงเทพ งานนี้อาจารย์ปิยะพงษ์ก็มาช่วยดำเนินรายการและช่วยแปลให้พวกเราได้ เป็นเวทีที่ทำให้เราได้เรียนรู้ เปิดมุมมอง และได้ทบทวน พร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับความท้าทายของแนวทางปฏิบัติรูปแบบต่างๆ รวมถึงสิ่งที่พวกเราพยายามกำลังทำอยู่ด้วย มีเรื่องอะไรบ้าง เราลองค่อยๆมาเรียนรู้ ไปด้วยกันนะคะ

Prof. Dr. Frank ได้เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงแนวคิด และแนวทางปฏิบัติของ Transition Town หรือเมืองเปลี่ยนผ่านให้เราฟังว่า แนวทางปฏิบัตินี้ มีเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มความยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ แม้ในยามที่เกิดวิกฤต โดยแต่ละชุมชนก็ต้องมองหาสิ่งที่สมดุลและเหมาะสมของตัวเอง  แม้ว่า Rob Hopkins ผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้จะมีการเขียนแนวทางปฏิบัติไว้ 12 ขั้นตอนอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นแนวทางที่ยืดหยุด กระโดดไปมาได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเริ่มจากจุดเล็กๆ และเน้นความพยายามสร้างสรรค์ โดยการมีส่วนร่วมของเพื่อนบ้าน เป็นการมองเห็นพลังของปัจเจกบุคคลทุกคน และใช้การสร้างการมีส่วนร่วมโดยการเคาะประตูบ้านชักชวนมาร่วมกันลงมือทำสิ่งที่เป็นรูปธรรม ไม่หวังพึ่งพารัฐ

เรื่องหลักๆ ที่กลุ่มเมืองเปลี่ยนผ่านพยายามทำคือ การสามารถผลิตอาหารของตัวเองได้ เช่นการทำสวนผักหลังบ้าน การทำสวนผักชุมชน , การมีพลังงานทางเลือก เช่นมีบริษัทของชุมชนที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แจกจ่ายให้กับชุมชนเอง ,การมีอัตราแลกเปลี่ยนของชุมชน เช่นมีธนบัตรเงินตราของตัวเอง ตลอดจนการมีระบบการจัดการของเสีย การมีระบบขนส่งทางเลือก หรือการมีตลาด หรือการลงทุนร่วมกันของชุมชน ที่สร้างระบบเศรษฐกิจเศรษฐกิจท้องถิ่น มีการซื้อขาย หรือจ้างงานในชุมชนที่ทำให้เกิดระบบหมุนเวียนเงินในชุมชน เป็นต้น

Prof. Dr. Frankท่านได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของหลายชุมชนให้ฟัง เช่นที่ Brixton ที่มีบริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของชุมชนเอง มีการปันผลให้ผู้ร่วมหุ้นในชุมชน มีการจ้างงาน และมีการฝึกงาน และทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออย่างที่ Bristol ที่มีธนบัตรของตัวเอง มีการติดป้ายต่อต้านห้างอย่างเทสโก้ มีการทำ App ที่บอกร้านค้าท้องถิ่นที่ร่วมใช้ธนบัตรนี้ได้

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ท่านตั้งคำถามเกี่ยวกับ Transition Town คือ โดยพื้นฐานแล้วการขับเคลื่อนนี้ มองว่าการเปลี่ยนแปลงของรัฐไม่สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ปรารถนาได้ พวกเขาจึงลุกขึ้นมาทำกันเอง โดยเพิกเฉยต่อระบบการเมือง ประเด็นคือ ถ้าเราไม่สนใจการเมือง ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างใหญ่ เราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในฐานรากอย่างยั่งยืนแท้จริงได้จริงหรือ

นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่า แม้แต่ในชุมชนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการขับเคลื่อนเรื่องเมืองเปลี่ยนผ่าน กิจกรรมที่เขาทำก็อยู่ในคนเฉพาะกลุ่ม คนในชุมชนจำนวนไม่น้อยก็ไม่รู้จักสิ่งที่เขาทำกัน แถมตัวสำนักงานที่ต้องเช่า ก็ไม่สามารถที่จะยืดหยัดอยู่ได้  นอกจากนี้ กิจกรรมส่วนใหญ่ของหลายชุมชน ก็มักจะเป็นกิจกรรมเน้นความคิด ไม่ค่อยได้ลงมือทำนัก หรือคนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในระบบทุนนิยมตามปกติ เพียงแต่ไปร่วมกิจกรรมที่กลุ่มจัดขึ้นแค่ 1 วันเท่านั้น เช่นมีนัดรวมตัวกันทุกวันศุกร์ ก็ไปทำกิจกรรมร่วมกัน แต่วันอื่นๆ ก็ใช้ชีวิตตามปกติเหมือนคนทั่วไปในระบบทุนนิยม แล้วอย่างนี้ในยามวิกฤต จะสามารถอยู่รอดได้จริงหรือ

ด้วยคำถามที่เกิดขึ้นในใจProf. Dr. Frankจึงออกเดินทางเพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจอื่นเพิ่มขึ้น และเขาก็พบเรื่องของ Eco Villageหรือชุมชนนิเวศน์ ที่เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นเรือชูชีพ หรือ Lifeboat ในยามเกิดวิกฤตได้อย่างแท้จริง

เขามีโอกาสได้ไปเยือนและใช้ชีวิตอยู่กับผู้คนในชุมชนนิเวศน์หลายแห่ง และเขาก็พบว่า ในขณะที่เมืองเปลี่ยนผ่าน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม (practical movement) ชุมชนนิเวศน์ ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและถึงราก (radical practical movement) คือเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างแท้จริงด้วย หลายชุมชนเกิดขึ้น ด้วยการออกจากเมือง และไปซื้อที่ดิน ทำเกษตรกรรมยั่งยืน และใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนนั้นบนวิถีแห่งความยั่งยืน เป็นการกลับไปสู่ผืนดิน กลับไปสู่ความเป็นชุมชนท้องถิ่น กลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิมที่ไม่พึ่งเทคโนโลยี

Prof. Dr. Frank บอกว่า สิ่งที่ชุมชนนิเวศน์พยายามทำก็คือการนำทักษะความรู้ หรือทักษะการใช้ชีวิตเดิม ที่เราหลงลืม หรือทำสูญหายไปท่ามกลางความเจริญทางวัตถุนั้นกลับมา เป็นการนำความรู้มาลงมือปฏิบัติ และถ่ายทอดสิ่งที่ค้นพบให้ผู้อื่นต่อไป ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เราอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤต

นอกจากการออกจากเมือง ไปซื้อที่ดิน สร้างชุมชนใหม่แล้ว ที่น่าสนใจคือ เขายังพบว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะทำ Eco Village ในเมืองด้วยเช่นกัน เช่นในเมือง Los Angeles  ก็มีคนเมืองที่รวมตัวกัน มาใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนเดียวกันในบริเวณ 2blocks ถนน และใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เข้าใจธรรมชาติ และรับผิดชอบต่อสังคม และโลกมากขึ้น

ที่สำคัญนอกจากการปรับวิถีชีวิตของตัวเองแล้ว ชุมชนนิเวศน์ยังพยายามสร้างความเป็นชุมชน พยายามที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วย โดยอาจจะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เช่นมีการทำอาหารกินร่วมกัน มีการจัดงานเฉลิมฉลองร่วมกัน รวมถึงมีการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ โดยมีรูปแบบ วิธีการในการประชุม หาข้อตกลงร่วมกัน อย่างที่ Sieben Linden Ecovillageที่เยอรมัน ก็มีการประชุมหาข้อตกลงแบบฉันทามติ คือให้ความสำคัญกับทุกเสียง อย่างไรก็ตาม เขาก็พบปัญหาเช่นกัน เช่นการเน้นฉันทามติ อาจนำไปสู่การทำให้งานบางอย่างหยุดชะงักไปได้ จึงมีการหาทางออกร่วมกัน เช่นให้มีเสียงคัดค้านได้ 1 เสียง โดยคนที่ไม่เห็นด้วย จะต้องเสนอทางเลือกหรือทางออกให้ด้วย หรือในการประชุม หากมีสัญญาณกระดิ่งดังขึ้น ทุกคนจะต้องหยุดนิ่ง 1 นาที และคิดทบทวนอย่างจริงจังกับตัวเองว่าสิ่งที่จะพูดนั้นมันสำคัญต่อกลุ่มจริงหรือไม่ เป็นต้น

Prof. Dr. Frank กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า เขาไม่ได้คิดว่า Eco Village คือคำตอบของทุกคน หรือไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนควรจะไปอยู่ในชุมชนนิเวศน์ แต่เขาคิดว่ามีคนตระหนักถึงความสำคัญ และพูดถึงเรื่องของชุมชนนิเวศน์นี้น้อยมากๆ โดยเฉพาะในวงการวิชาการ หรือวงการสื่อสารมวลชน ทั้งๆที่เรื่องนี้น่าจะเป็นเหมือนทางออกสำคัญ หรือเป็นเหมือนเรือชูชีพที่จะช่วยให้คนอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตจริงๆ แต่คนส่วนใหญ่กลับมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเป็นอุดมคติที่เป็นไปไม่ได้จริง ทั้งๆที่อันที่จริงแล้ว เรามีชุดความรู้ที่คนรุ่นบรรพบุรุษเราใช้กันอยู่เต็มไปหมด เพียงแต่ว่าเราต้องนาทักษะความรู้ ภูมิปัญญา ประสบการณ์ หรือการใช้ชีวิตแบบเดิมเหล่านั้นกลับคืนมาเท่านั้น  และคนที่ออกไปลงมือทำชุมชนนิเวศน์ เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตอย่างแท้จริงนี้ พวกเขาก็ไม่ได้เป็นพวกที่หนีออกไปใช้ชีวิต แต่เป็นพวกที่กำลังจะช่วยสร้างโลกใหม่เลยทีเดียว  Prof. Dr. Frank ยังกล่าวเสริมอีกว่า สถานการณ์โลกตอนนี้ แม้แต่ NewYorkTime เองก็เขียนเสนอไว้ว่าเราไม่สามารถที่จะคิดถึงแต่การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไปแล้ว

ฟังแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงได้ลองคิดทบทวนถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญ และสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ หรือคิดฝันจะทำ หลายสิ่งอาจจะคล้ายกับสิ่งที่เรียกว่า transition town หรือหลายสิ่งอาจจะคล้ายกับสิ่งที่เรียกว่า eco village หรือบางคนอาจจะยังอยู่ท่ามกลางกระแสทุนนิยม แต่ก็เริ่มตระหนักถึงปัญหา และกำลังคิดหาทางออก ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใด หรือบทบาทไหน ผู้เขียนเชื่อว่าแต่ละคนต่างก็มีหน้าที่ มีความสำคัญ และมีศักยภาพของตัวเอง ที่จะสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตนเองให้มีชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น รวมถึงสรรพสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับชีวิตเราได้ ไม่ว่าสิ่งที่ทำจะเล็กหรือจะใหญ่ แต่หากเราลงมือทำด้วยเจตนาและความตั้งใจที่หวังจะให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริงแล้ว ก็ย่อมส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี และมีส่วนช่วยให้เราอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตต่างๆได้ไม่มากก็น้อย โลกและชีวิตเราจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่เราทุกคน ที่สำคัญอย่าลืมนะคะว่า การใช้ชีวิตของเรา มีผลต่อโลกเช่นกัน

ขอบคุณ Prof. Dr. Frank Fischer และดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ ที่ให้เกียรติมาร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้

ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมฟังและร่วมแบ่งปันประสบการณ์

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก

 http://kindling.org.uk/galleries/sieben-linden-eco-village

http://www.slideshare.net/LoisArkin/los-angeles-eco-village-spring-2008-presentation