เส้นทางอาหาร ผลิต-เชื่อมโยง-บริโภค

ขอพาทุกคนไปทำความรู้จัก 15 พื้นที่อาหาร จากโซนเมืองผลิตอาหาร ในเทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 8 ‘พื้นที่อาหารของเมือง’

#เมืองที่ผลิตอาหารได้

สร้างประชากรที่มีความมั่นคงในวิถีชีวิต ท่ามกลางสภาวะวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม ที่นำมาสู่ความเสี่ยงต่อผลผลิตการเกษตร อีกทั้งความไม่มั่นคงด้านอาชีพ รายได้ ของคนในชุมชนเมืองจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารเป็นค่าครองชีพก้อนใหญ่ ที่คนเมืองต้องแบกรับ และอาจซื้อได้เพียงอาหารที่ไม่ปลอดภัย

เมืองก็ผลิตอาหารได้ เป็นแนวคิดการพึ่งตัวเองด้านอาหารที่แพร่หลาย และเกิดรูปธรรมมากมาย เช่น ชุมชนเครือข่ายของโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมือง เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2565 เป็นต้นมา เกิดพื้นที่อาหาร 38 แห่ง คิดเป็นพื้นที่กว่า 32 ไร่ ที่ผลิตได้ทั้งผัก ผลไม้ ไข่ อาหารแปรรูปต่าง ๆ รวมทั้งสามารถผลิตปัจจัยการผลิต เช่น ดินปลูก ปุ๋ยหมักชีวภาพต่าง ๆ รวมถึงต้นกล้าพันธุ์ นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ ในระยะเวลา 6 เดือน เกิดรายได้ 939,898 บาท ลดรายจ่ายมากถึง 365,834 บาท นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการออมเพิ่มขึ้น และภาระหนี้สินลดลงอย่างอีกด้วย

#สวนผักคนเมือง ศักยภาพของเมืองผลิตอาหาร

เมืองผลิตอาหารได้ และมีศักยภาพที่จะผลิตอาหารได้อย่างแน่นอน น่าจะเป็นสิ่งที่ อ.เติ้ล เกศศิรินทร์ แสงมณี จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ยืนยันกับเหล่าชาวสมาชิกสวนผักคนเมืองทุกคน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ตั้งแต่วางแผนการใช้ที่ดิน เตรียมปัจจัยการผลิต ปลูก ดูแลรักษา และคอยเป็นพี่เลี้ยงเคียงข้างการลองผิดลองถูกของผู้ผลิตมือใหม่ทุกคน จนได้เวลาเก็บเกี่ยวความภาคภูมิใจไปเป็นมื้ออร่อยมีคุณค่า ทั้งครอบครัว ทั้งชุมชน ทั้งเมือง

#เมืองจะผลิตอาหารได้ ต้องมีพื้นที่ผลิตอาหารของตัวเอง

ชุมชนเมืองมีพื้นที่ว่างที่มีศักยภาพในการผลิตจำกัด การจะปลูกพืชผักได้ ต้องมีแสงแดดเพียงพอ มีน้ำ และพื้นที่สำหรับทำแปลงปลูกหรือตั้งกระถาง เบื้องต้นการประสานงานกับรัฐเพื่อขอใช้พื้นที่สาธารณะซึ่งยังว่างเปล่า แม้กระทั่งขอความอนุเคราะห์ใช้ประโยชน์ที่ว่างของเอกชน เพื่อผลิตอาหารเป็นแนวทางหนึ่งที่เมืองจะผลิตอาหารเองได้ในปริมาณเพิ่มขึ้น

นอกจากจะเพิ่มโอกาสที่คนเมืองจะได้บริโภคอาหารสดใหม่ ลดภาระการขนส่งแล้ว ยังจะเกิดผลกระทบเชิงบวกตามมาอีกหลายด้าน เช่น เกิดภูมิทัศน์กินได้ ลดพื้นที่รกร้างที่เสี่ยงเกิดอาชญากรรม เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ลดมลพิษฝุ่นควัน และสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ จากการที่เมืองหันมาผลิตอาหารเอง เป็นต้น เหล่านี้อาจสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้พื้นที่ ในเมืองเพื่อทำการผลิตเพิ่มขึ้น

#พื้นที่อาหารของเมือง สร้างชุมชนจัดการอาหารที่เกื้อกูล เพื่อการโอบรับผู้เปราะบาง

หลายชุมชนที่เริ่มต้นด้วยการผลิตอาหาร สามารถยกระดับการจัดการด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ยกระดับการผลิตจากปลูกพืชผัก เพิ่มการเลี้ยงไก่ ปลา บริหารจัดการผลผลิตอย่างเป็นระบบ เกิดตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนผลผลิตกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตอาหารในเมือง และกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคที่ต้องการอาหารปลอดภัย

ยิ่งกว่านั้นชุมชนได้ริเริ่มจัดระบบสวัสดิการอาหารให้กับสมาชิกในชุมชนและองค์กร เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารด้วยผลผลิตจากพื้นที่อาหารของชุมชน อาทิ อิ่มละ 10 บาท อิ่มวันละ 1 มื้อฟรีให้พนักงาน สวัสดิการผักปลอดสารพิษสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

ในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สมาชิกโครงการและผู้สนใจ กว่า 3,860 ราย ได้นำองค์ความรู้ในการผลิต แปรรูปอาหาร ไปใช้ ทำให้สามารถผลิตอาหารสำหรับบริโภคเอง และแปรรูปเพื่อจำหน่ายจ่ายแจก ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในภาวะวิกฤติ และร่วมกันทำกิจกรรมแบ่งปันผลผลิตผักและผลไม้ปลอดสาร ตั้งแต่ กันยายน 65 – พฤษภาคม 66 น้ำหนักรวม 12,540 กิโลกรัม ผลิตไข่ไก่อินทรีย์เพื่อบริโภคและจำหน่าย 15,020 ฟอง สัตว์น้ำ 750 กิโลกรัม ช่วยกระจายการเข้าถึงอาหารปลอดภัยจากพื้นที่อาหารของเมืองไปยังกลุ่มสมาชิก กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางในเมือง รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจและต้องการสนับสนุนผลผลิตของชุมชนเมือง ประมาณ 5,560 คน

#พื้นที่อาหารชุมชนรายได้น้อย สวนผักชุมชนบ้านมั่นคง

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ชุมชนทรัพย์สินมั่นคง สมาชิกชุมชนได้เรียนรู้เทคนิคการผลิต ตั้งแต่จัดการแปลง เตรียมดิน เพาะกล้า ผลิตไตรโครเดอร์มา จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ปลูกผัก ตลอดจนแปรรูป สามารถลดรายจ่ายในการซื้ออาหาร และมีรายได้เสริมจากการขายผลผลิต

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ฅน.ปทุมธานีโมเดล ผลผลิตของกลุ่มเป็นผักสวนครัว ผักกินใบ เกือบ 20 ชนิด ผักยืนต้นและผลไม้อีก 10 กว่าชนิด พัฒนาถนนหลักในชุมชนเป็นถนนสายอาหาร มีการปลูกผักไม้ผลให้สมาชิกและคนที่ผ่านไปผ่านมาในชุมชนสามารถเก็บกินได้ นอกจากนั้นสมาชิกยังได้ทดลองเลี้ยงไก่ไข่ และทำน้ำหมักไล่แมลง การผลิตอาหารเองในชุมชนทำให้สมาชิกสามารถลดรายจ่ายในการซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารอย่างเป็นรูปธรรม

– สวนผักคนเมืองชุมชนคลองลัดภาชี แม้ชุมชนจะมีพื้นที่ผลิตอาหารไม่มากนัก แต่ก็ปลูกพืชผักสวนครัวมากกว่า 20 ชนิด เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับสมาชิกและครอบครัว มีตู้ปันผักเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงการผลิตและการบริโภคร่วมกันของสมาชิก ไม่ว่าใครก็สามารถมาเก็บผลผลิตไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ขอให้ช่วยนำมาชั่งน้ำหนัก จดบันทึกข้อมูลชนิดผัก จำนวน และการใช้ประโยชน์ไว้ให้ทางกลุ่มด้วย เพื่อให้เป็นว่าสวนผักชุมชนมีศักยภาพการผลิตและกระจายสู่ชุมชนมากน้อยเพียงใดจากการทำกิจกรรมร่วมกัน สมาชิกเกิดความมั่นใจว่าตนสามารถปลูกผักจนมีผลผลิตและชุมชนเมืองก็สามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้

– สวนผักคนเมืองบ้านมั่นคงสวนพลู มีพื้นที่ผลิตอาหารเพียง 140 ตร.ม. ที่ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ปลูกพืชผักกว่า 20 ชนิด ที่สามารถนำไปบริโภคในครัวเรือนสมาชิกที่ร่วมกิจกรรม เกิดความมั่นใจและมีความรู้ในการผลิต

#พื้นที่อาหารในชุมชนแออัด

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล สมาชิกเรียนรู้การปลูกผักเพื่อบริโภค ตั้งแต่เตรียมดิน ทำแปลง ผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ เพาะกล้า ฯลฯ ในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน 800 ตร.ม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีร่มไม้ใหญ่ปกคลุม ทำให้การผลิตยังไม่เต็มศักยภาพ แต่ก็มีการเพาะเห็ดร่วมด้วย ผลผลิตที่ได้แจกจ่ายแก่สมาชิกและเหลือจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ทำให้สมาชิกได้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและรายได้เพิ่มจากการขายผักและเห็ด

#พื้นที่อาหารของเมือง พื้นที่สุขภาวะสังคมสูงวัย

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองชุมชนบูรพา 7 ในพื้นที่ผลิตอาหาร 1,200 ตร.ม. ประกอบด้วยแปลงผักหลายรูปแบบ คอกไก่ไข่ โรงเพาะเห็ด พื้นที่เตรียมปัจจัยการผลิต และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ กิจกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สมาชิกสามารถมีอาหารปลอดภัยบริโภค คิดเป็นรายได้ถึง 3,000 บาท/คน/เดือน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้เพิ่มการออม

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนผักชุมชนสินสมบูรณ์ (ที่ร้าง ไม่ห่างรัก) รร.อนุบาลร้างกลางชุมชนที่กลายเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่อัดแน่นด้วยผักนับสิบชนิด ซึ่งเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงชุมชน ทั้งปากท้องและสร้างความแน่นแฟ้นให้กับคนที่นี่ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด19 ที่เห็นได้ชัดว่าผักจากแปลงกระจายสู่ คนเปราะบางในพื้นที่รอบ ๆ และช่วยเหลือพวกเขาได้จริง ๆ

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสวนผักริมคลอง มีพื้นที่อาหาร 1,200 ตร.ม. กิจกรรมการผลิตเริ่มตั้งแต่ ผลิตดินปลูก ปุ๋ยชีวภาพ ต้นกล้า ปลูกผัก และเพาะเห็ด มีพืชผักสวนครัวหลากหลายรวมถึงผักยืนต้น ผลไม้ การผลิตอาหารเองทำให้เกิดความเข้าใจในการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย สวนผักชุมชนยังแบ่งพื้นที่ปลูกผักให้กับผู้สูงอายุในชุมชนมาปลูกผัก สร้างอาชีพและรายได้เสริมหลังจากหลุดจากระบบงาน จำนวน 5 คน

#พื้นที่อาหารในโรงงาน

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สวนผักถาวร เป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่ดูแลโดยกลุ่มพนักงานของ หจก.ถาวรเมดไลน์ ที่ปรับพื้นที่ว่างให้พนักกงานปลูกผักและนำผักมาปรุงอาหารกลางวัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายทั้งของโรงงานและของพนักกงานในช่วงวิกฤติโควิด19 นอกจากนั้นสวนผักถาวรเห็นความสำคัญกับการจัดการอาหารและการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์แก่ผู้ที่สนใจ

#พื้นที่อาหารของเมืองพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กท่ามกลางธรรมชาติ/วิชาชีวิต

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านสวนอาจารย์พีท เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในการผลิตอาหารและการถ่ายทอดความรู้กว่า 1,600 ตร.ม. ประกอบด้วยสวนผลไม้ สวนผัก และพื้นที่ทำกิจกรรม จึงเป็นพื้นที่เรียนรู้วิชาการจัดการอาหารสำหรับผู้สนใจทุกเพศทุกวัย เกิดเป็นชุมชนทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ มีตลาดในไลน์ไว้แลกเปลี่ยนซื้อขายผลผลิตซึ่งกันและกัน

#พื้นที่อาหารพื้นที่สร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองเซฟติสท์ฟาร์ม เป็นพื้นที่สร้างอาหารที่ปลอดภัย และส่งต่อความรู้การผลิต บริโภคอย่างมีคุณค่าให้กับชุมชน ผ่านกิจกรรมการผลิต บริโภคที่หลากหลาย จากการสร้างธุรกิจสีเขียวพัฒนาเป็นตะกร้าผักส่งให้กับผู้บริโภคในเมืองกว่า 50 ครอบครัว ตะกร้าผักยังช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนเปราะบางรอบ ๆ พื้นที่กว่า 10 ครอบครัว เพาะต้นอ่อนส่งเข้าตะกร้าผัก ทำให้มีรายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 500 บาท ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้าง เกิดชุมชนผู้บริโภคที่ไม่จำกัดอยู่ในพื้นที่ แต่เป็นชุมชนผู้บริโภคในเมืองที่ต้องการผลิตและเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ

– สวนผักคนเมืองชุมชนลำสาลีพัฒนา พื้นที่อาหารของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานที่ไม่สม่ำเสมอ รายได้ไม่แน่นอน พื้นที่อาหารของกลุ่มแรงงานนอกระบบจึงเป็นเหมืองฟองน้ำที่ช่วยรับแรงกระแทกจากค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ค่าครองชีพของแรงงานนอกระบบ ในพื้นที่เพียง 120 ตร.ม. สมาชิกสามารถปลูกพืชผักได้มากกว่า 30 ชนิด อีกทั้งยังใช้เป็นพื้นที่ใน การพักผ่อนหย่อนใจร่วมกัน ความหลากหลายของผลผลิตที่ชุมชนผลิตได้ นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักมาประกอบอาหาร จึงเกิดการออมจากเงินที่เหลือในส่วนนี้

– สวนผักบ้านสีเขียวสร้างเสริมความมั่นคงด้านอาหาร ณ บางด้วน พื้นที่อาหาร สร้างมาตรฐานสู่การเชื่อมโยงและกระจายอาหารของเมือง จากพื้นที่รกร้าง สู่การผลิตผักปลอดภัยหลากหลายชนิดภายใต้ มาตรฐาน GAP ร่วมกับสำนักงานเกษตร จ.สมุทรปราการ เพื่อเพิ่มโอกาสช่องทางการกระจายอาหารปลอดภัยไปยังผู้บริโภคได้มากขึ้น ทั้งตลาดสีเขียวในพื้นที่และตลาดออนไลน์ เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นต้นแบบ ให้กับหน่วยงานหรือกลุ่มเกษตรกรที่สนใจ

#พื้นที่อาหารกับการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง

– สวนผักคนเมืองชุมชนโมราวรรณ 2 มีพื้นที่อาหารที่ได้รับการพัฒนาแล้ว 200 ตร.ม. ปลูกพืชผักสวนครัวทั้งแบบอายุสั้นและยืนต้น ระยะเริ่มต้นสมาชิกเรียนรู้จัดการปลูกผัก และได้มีพืชผักปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน และแบ่งขายให้ร้านอาหารในชุมชนด้วย สวนผักชุมชนแห่งนี้ยังท้าทายปัญหาสำคัญของชุมชนเมือง โดยการนำขยะอาหารในบ้านมาแปลงเป็นปุ๋ยหมักเศษอาหาร มาใช้ปลูกผักในชุมชนและจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่มเติมอีกด้วย

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ชุมชนอรุณนิเวศน์ มีพื้นที่ผลิตอาหารของชุมชน 1,200 ตร.ม. ผลิตอาหารได้หลากหลาย เช่น ผักสวนครัว สลัดชนิดต่าง ๆ ชุมชนสามารถผลิตปัจจัยการผลิตได้เอง ทั้งกล้าผักและปุ๋ยชีวภาพ มีการแปรรูปผลผลิต เช่น ผักกาดดอง โดยสมาชิกที่ร่วมกิจกรรมมีรายได้จากการขายผลผลิตมากถึง 4,000-5,500 บาทต่อเดือน และสามารถลดรายจ่ายในการซื้ออาหารได้ 4,800 บาทต่อเดือน พื้นที่อาหารยังช่วยจัดการขยะอินทรีย์กว่าเดือนละ 1 ตัน มาเป็นปุ๋ยหมักคุณภาพดีเพียงพอต่อการปลูกผักในชุมชน ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน

#ลานสวนผักบำบัด พื้นที่อาหาร พื้นที่สบายใจ

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สวนบำบัดสีชา พื้นที่กว่า 3,200 ตร.ม. เต็มไปด้วยพืชผักหลากหลาย ผลไม้ คอกปศุสัตว์ เรือนเพาะเห็ด มีตลาดนัดผักผลไม้อินทรีย์จำหน่ายทุกสัปดาห์ นอกจากผลิตอาหารดูแลต้นไม้แล้ว ที่นี่ใช้การทำสวนอยู่กับธรรมชาติเพื่อดูแลสุขภาพกายใจของผู้คน

– ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สวนสนุกในสวนลับ ในพื้นที่ผลิตอาหาร 450 ตร.ม. นอกจากผลิตปัจจัยการผลิตพื้นฐาน ปลูกผัก และมีพื้นที่ปศุสัตว์แล้ว พื้นที่ถึง 200 ตร.ม. ถูกทำเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ทั้งของสมาชิกและผู้ที่สนใจ นอกจากนั้นยังมี ชิว (Children) มาร์เก็ต เพื่อนำผลผลิต ของแปรรูป ตลอดจนศิลปะ งานประดิษฐ์ มาจำหน่าย

#ลานกิจกรรมเด็ก เรียนรู้จากอาหารและธรรมชาติ

– สวนผักหฤหรรษ์ปันยิ้ม ครูโฉ ใช้งานศิลปะ การละเล่นเป็นสื่อในการสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ซึมซับและใกล้ชิดธรรมชาติรอบตัว ทดลองทำครัวอย่างสนุกสนาน

วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ.2566 เวลา 09.00-17.00 น.

ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี

.