ซาเล้ง ขยะ ร้านค้า สวนผักเชื่อมโยงถึงกันเพื่อพึ่งตนเอง

เมื่อสวนผักคนเมืองมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมเยือนสมาชิกโครงการเกษตรในชุมชนใต้สะพาน โซน 2-3 เขตประเวศ กรุงเทพฯ หรือที่คนทั่วไปจะรู้จักในนาม “ร้าน0บาทพลัส”  สวนผักชุมชนแห่งนี้ถือเป็นสมาชิกสวนผักคนเมืองตั้งแต่ปี 2553 นับเป็นรุ่นบุกเบิกเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องสวนผักชุมชน มาจากฐานงานการขับเคลื่อนในชุมชนดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กิจกรรมปลูกผักเพื่อพึ่งตนเองได้รับการตอบรับ ด้วยฐานกิจกรรมที่ขับเคลื่อนภายในชุมชนนี้ถือว่ามีความเข้มแข็งเป็นทุนรอนอยู่แล้ว เพราะพี่น้องที่ร่วมกันต่อสู่เรียกร้องพื้นที่อยู่อาศัย หลังจากโดนไล่รื้อออกจากใต้สะพานใหญ่ฝั่งพระนครทั้งหมด เมื่อได้ย้ายมาอยู่ที่เขตประเวศ ก็มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

เดิมพี่น้องในชุมชนเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ใต้สะพาน เลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะขาย กระทั่งปี 2536-2537 กทม. มีนโยบายไล่รื้อชุมชนใต้สะพานในกรุงเทพฯ พวกเขาจึงรวมตัวเรียกร้องที่อยู่ใหม่ กระทั่งปี 2544  รัฐบาลได้จัดสรรที่อยู่อาศัยให้ในที่ดินของการเคหะแห่งชาติ 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่

ด้วยคนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพ “รถซาเล้งเก็บขยะ” อยู่แล้ว จึงมีเรื่องของสหกรณ์ธนาคารคนจนที่เกิดจากการนำวัสดุรีไซเคิลขึ้นมา มีกิจกรรมโรงแยกขยะ กิจกรรมแลกสินค้ากับขยะรไซเคิลในบ้านเรือน ระบบประกันชีวิตด้วยขยะในบ้าน เมื่อมีความแน่นแฟ้นกันในชุมชน คิดร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนเช่นนี้ กิจกรรมที่จะช่วยพึ่งตนเองอย่างโครงการสวนผักคนเมืองจึงได้รับความสนใจจากสมาชิกในชุมชน และเกิดความตั้งใจในการทำกันอย่างเข้มข้น

ตามปรกติคนทำอาชีพเก็บของเก่าขายมีรายได้ต่อวันไม่มากนัก ดังนั้นการทำสวนผักจึงช่วยให้ชาวชุมชนประหยัดค่าใช้จ่าย ได้บริโภคผักสดที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้สุขภาพดีขึ้นอีกด้วย

ชาวชุมชนช่วยกันปรับปรุงที่ดินซึ่งเคยเป็นสนามฟุตบอลกลางชุมชนที่ไม่มีใครมาใช้งาน เนื้อที่ราว 72 ตารางวา ให้กลายเป็นสวนผัก โดยผู้ที่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและดูแลก็คือสมาชิกกลุ่มขยะรีไซเคิลฯ ทั้ง 70 ครอบครัวนั่นเอง

หลังจากแต่ละคนตระเวนขับรถซาเล้งหาของเก่าตามที่ต่าง ๆ เมื่อกลับสู่ชุมชนก็จะเจียดเวลาว่างในช่วงเย็นผลัดกันมาช่วยรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ดูแลพืชผักต่าง ๆ ที่ปลูกในสวน

นอกจากปลูกผักแล้วพวกเขายังขุดบ่อเลี้ยงปลาไว้กลางสวน ทั้งยังขุดบ่อบาดาลสำหรับสูบน้ำมารดผัก ช่วยให้ประหยัดกว่าใช้น้ำประปา

จุดเด่นอย่างหนึ่งที่เห็นจากสวนผักของชุมชนคนเก็บของเก่าก็คือ การนำเศษวัสดุเหลือทิ้งต่าง ๆ นานาที่หาได้มาใช้ประโยชน์ เช่น ถุงกระสอบทรายจากช่วงน้ำท่วมนำมาเป็นถุงใส่ดินปลูกต้นไม้  ตะกร้า กะละมัง หรือกระเบื้องลอนทิ้งแล้วก็ทำเป็นภาชนะปลูกผักได้ ส่วนแผ่นไม้หรืออิฐบล็อกนำมากั้นเป็นแปลงผัก

ส่วนการบริหารจัดการสวนผักของชุมชน นายพีรธรบอกว่า เป็นแบบกันเองและเรียบง่าย ทุกคนสามารถเก็บผักไปกินได้ แต่ต้องนำเงินไปหยอดลงในกระป๋องส่วนกลาง ใช้เหรียญ 5 บาท หรือ 10 บาท ก็ช่วยให้ครอบครัวก็ได้กินผักสวนครัว 1 มื้อแล้ว ซึ่งถูกกว่าไปซื้อพืชผักตามท้องตลาดหรือซื้อกับรถพุ่มพวงขายผักมาก  หรือจะนำวัสดุเหลือใช้ (ขยะ) มาแลกเปลี่ยนกับผักที่ต้องการ ซึ่งเงินนี้จะนำไปใช้ซื้อเมล็ดพันธุ์ผักมาปลูกในครั้งต่อไป และส่วนหนึ่งจะนำไปทำบุญในนามของชุมชน นอกเหนือจากการได้บริโภคผักปลอดสารพิษแล้ว สวนผักยังเป็นสถานที่สร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับชุมชนอีกด้วย

มาถึงตอนนี้ก็ร่วม 13 ปีแล้ว ที่สวนผักชุมชนของพี่น้องซาเล้ง อ่อนนุช 14 ไร่ ยังคงยืนหยัดเป็นพื้นที่อาหารปลอดภัย สดใหม่ ราคาย่อมเยาให้กับสมาชิกในชุมชน 

เมื่อถามพีรธร เสนีย์วงศ์ แกนนำกลุ่มสวนผักและงานพัฒนาอีกหลายๆ ส่วนของชุมชน ว่าเพราะเหตุใดสวนผักชุมชนจึงยังคงเป็นกิจกหรรมและงานที่ดำเนินการอย่างต่อเนนื่องมาได้จนถึงปัจจุบันนี้  พี่ธรก็อธิบายกับสวนผักคนเมืองว่า

“เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องปัจจัยสี่ ถ้าเราสามารถพึ่งตนเองเรื่องปัจจัยสี่ได้แล้ว เรื่องอื่นๆ คุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ก็จะสามารถเชื่อมโยงได้”

“เราสนใจและมุ่งเน้นการดูแลคนในชุมชน ให้คนในชุมชนเข้าถึงอาชีพ รายได้ เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย การดูแลสุขภาพที่ดีก่อน เพราะเรื่องเหล่านี้คือ พื้นฐานสำคัญของการดูแลชีวิต คุณภาพชีวิต เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นพื้นฐานของคนในชุมชนทุกคน  เพราะถือว่าเรากำลังทำงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ถือเป็นปัจจุบันและอนาคตสำคัญของการขับเคลื่อนชุมชน”

“มีการขยายผลการพึ่งตนเองจากเรื่องอาหาร อาชีพ รายได้ ไปสู่เรื่องการดูแลสุขภาพทางเลือกให้กับคนในชุมชน เพราะจากสภถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงนั้นการเช้าถึงยาและการรักษาเป็นเรื่องที่ลำบากมากสำหรับคนในชุมชน ทางกลลุ่มจึงเริ่มนำความรู้จากการเรียนรู้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร มาใช้ในการดูแลสุขภาพ รักษาเบื้องต้นให้กับคนในชุมชน ซึ่งในวิกฤตดังกล่าวก็สามารถนำพาให้ชุมชนรอดมาได้  จึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องสามารถพึ่งตนเองด้านอาหารดูแลสุขภาพได้ด้วย”

จึงนำความรู้ พื้นฐาน และรูปธรรมของการทำสวนผักชุมชนมาพัฒนาต่อยอดเป็นสวนสมุนไพรทั้งที่ปลูกในแปลงรวมของชุมชน และการกระจายไปให้สมาชิก ผู้สูงอายุในชุมชนเอาไปปลูกที่บ้าน แล้วนำผลผลิตมาส่งให้กับกลุ่มเพื่อนำไปทำเป็นสมุนไพรดูแลสุขภาพ อาทิ ยาดม ยาหม่อง น้ำมันนวด ลูกประคบ ชาสมุนไพรอบแห้ง  ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้นอกจากจะช่วยดูแลสุขภาพของคนในชุมชนได้แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ขยะสวัสดิการ “เพราะเรามาคิดว่าถ้าเราจะดูแลคนในชุมชนของเรา เราก็ควรจะดูแลเขาตอนที่ยังมีชีวิตอยู่จะดีกว่า เราก็เลยทำสวัสดิการบางอย่างขึ้นมาเพื่ออย่างน้อยก็เป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องในชุมชนของเรา โดยที่ใช้ขยะเป็นตัวเชื่อมเหมือนเดิม”

ใครที่ต้องการได้รับสวัสดิการนี้ขอเพียงนำขยะมูลค่า 1 บาท มาส่งที่ร้านศูนย์บาทพลัสทุกวัน โดยจะส่งเป็นรายวัน วันละ 1 บาทหรือจะส่งเป็นรายเดือน เดือนละ 30 บาทก็ได้ เพียงเท่านี้ก็จะมีสิทธิในสวัสดิการของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ทันที

สวัสดิการที่ทำขึ้นมาก็จะมี

1.ในกรณีที่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วต้องนอนที่โรงพยาบาล เรามีค่าห้องให้คืนละ 200 บาท

2.เรามีค่ารถให้ไปหาหมอครั้งละ 100 บาทแต่กำหนดว่าต้องห้ามเกิน 7 ครั้งต่อปี

3.สำหรับเด็กๆ ในชุมชนที่เรียนดีเรามีค่าทุนการศึกษาให้ 500 บาทต่อเทอม

4.ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ไม่มีคนดูแล ทุกเดือนเราจะมีข้าวสารให้จำนวน 5 กิโลกรัม และ

 5.ในกรณีเสียชีวิต เราก็จะมีพวงหรีด โลงศพ และของชำร่วยให้ รวมทั้งช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวเขาที่ยังอยู่ด้วยการอาสาเป็นเจ้าภาพในงานศพให้อีก 1 คืน โดยเราจะบอกพี่น้องในชุมชนไว้เลยว่าเงินส่วนนี้หากใครยังไม่ได้ใช้หรือหากไม่อยากส่งต่อ จะไม่สามารถถอนคืนหรือนำออกมาใช้ได้ คือให้แล้วต้องให้เลย ถือเป็นเงินที่เรานำมาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้กับคนในชุมชน

ซาเล้ง ขยะ ร้านค้า สวนผักเชื่อมโยงถึงกันเพื่อการพึ่งตนเอง