แปลงผักอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารเพื่อชุมชนโมราวรรณ2

ชุมชนโมราวรรณ 2 ตั้งอยู่ในซอยอ่อนนุช 66 เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ เป็นชุมชนขนาดกลาง มีบ้านเรือนหนาแน่น เป็นสังคมเมืองแบบต่างคนต่างอยู่ไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ทำให้มีปัญหาสะสมในชุมชนอยู่มาก ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อาทิ ถนนในชุมชนมีต้นไม้/วัชพืชขึ้นรก มีหอพักและโรงงานจำนวนมากในชุมชน และขาดการจัดระเบียบที่ดี ทำให้มีขยะตกค้างจำนวนมาก ส่งผลให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในชุมชนด้อยคุณภาพกว่าที่ควรจะเป็น

และในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยวิถีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่มาก่อน ทำให้ช่วงที่มีวิกฤตเกิดขึ้น สมาชิกในชุมชนที่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้มีรายได้น้อย ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะส่วนใหญ่ไม่สามารถออกไปทำงานได้ การรวมกลุ่ม รวมตัวเพื่อดูแลช่วยเหลือกันก็เกิดขึ้นได้ยากมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหาร

หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คณะกรรมการชุมชนจึงเริ่มปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถมีการจัดการอาหารของตนเองได้ เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างการมีส่วร่วมของสมาชิก ให้กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อีกทั้งควรเป็นกิจกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนได้มากขึ้น

แปลงผักอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารเพื่อชุมชนโมราวรรณ 2 จึงเป็นตัวเลือกแรกที่คณะกรรมการชุมชนให้ความสนใจ เนื่องจากโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ภายใต้การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีเป้าหมายเพื่อ ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดพื้นที่อาหารของเมืองในกลุ่มคนเปราะบางและชุมชนในพื้นที่เมือง สามารถยกระดับความมั่นคงทางอาหารจากการทำเกษตรในเมือง ตลาดอาหารท้องถิ่น รวมถึงการได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพื้นที่อาหารของเมือง สามารถขยายผลความคิดและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่อาหารของเมืองและสามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ โดยกำลังเปิดรับข้อเสนอโครงการที่ร่วมสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนร่วมกัน

ซึ่งคณะทำงาน และสมาชิกที่มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่อาหารของชุมชนนี้ ไม่มีความรู้เรื่องการทำเกษตร การปลูกผักมาก่อนเลย จึงเริ่มต้นด้วยการ

1️⃣ประสานขอใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้างว่างเปล่าจากสมาชิกในชุมชน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มและคณะกรรมการชุมชนด้วย พื้นที่ดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งมาเป็นเวลานาน และยังไม่มีแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า พื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นที่ทิ้งขยะ และมีความเสี่ยงจากสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ หากสามารถนพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ทำสวนผักชุมชน นอกจากจะสามารถสร้างอาหาร ผักปลอดสารให้กับชุมชนได้แล้ว ก็ยังมีส่วนช่วยในการปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่อีกด้วย ทำให้ชุมชนมีสวนผักสวยๆ ให้ได้เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับคนที่สนใจ เพราะตั้งอยู่กลางชุมชน

2️⃣การรับสมัครสมาชิกสมาชิกที่สนใจในการพัฒนาพื้นที่อาหารร่วมกัน โดยเลือกคนที่สนใจเรื่องทำเกษตร อยากเรียนรู้เรื่องการปลูกผัก อยากพัฒนาชุมชนร่วมกัน อยากมีอาหารปลอดภัยรับประทาน ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้ ก็ต้องอาศัยการพูดคุย การทำความเข้าใจ และเน้นให้เกิดความสบายใจของคนที่จะเข้ามาร่วมกันทำงาน ไม่รู้สึกกดดัน ทางกลุ่มจึงเลือกใช้การทำงานร่วมกันตามความสนใจ ความถนัด และสอดคล้องกับเวลาว่างของสมาชิก โดยหน้าที่ความรับผิดชอบแบ่งเป็นแต่ละฝ่าย

  • ฝ่ายโครงสร้าง-แก้ว เม่น ต้า วัฒ บี
  • ฝ่ายต้นกล้า-ภูมิใจ แต๊ก หนึ่ง แมว นุช
  • ฝ่ายน้ำหมักปุ๋ยหมัก-ภูมิใจ แต๊ก พร ต้า วัฒ
  • ฝ่ายดิน-ภูมิใจ แต๊ก แก้ว เม่น หนึ่ง ต้า วัฒ
  • ฝ่ายการเงิน-นุช แมว
  • ฝ่ายบันทึกข้อมูล-นุช แมว แต๊ก หนึ่ง
  • ฝ่ายอาหาร-พร นุช แต๊ก
  • ฝ่ายการตลาด-ภูมิใจ หนึ่ง
  • ฝ่ายประชาสัมพันธ์-แต๊ก หนึ่ง

3️⃣เรียนรู้หลักการพื้นฐานของการทำเกษตรในเมือง และเรียนรู้ลักษณะของพื้นที่ ระบบนิเวศน์ในพื้นที่ของตนเอง ร่วมกับวิทยากรของโครงการที่ลงพื้นที่จัดอบรม และร่วมทำไปพร้อมกับชุมชน เพื่อให้สามารถออกแบบพื้นที่ และทำการเพาะปลูกในสวนผักของชุมชนได้อย่างเหมาะสม โดยเริ่มจาก

  • การออกแบบพื้นที่ จากทิศทางของแดด การวางผังแปลง และเลือกรูปแบบการทำแปลงจากการใช้วัสดุที่หาได้ในชุมชน โดยแปลงผักอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารเพื่อชุมชนโมราวรรณ 2 เริ่มจากการทำแปลงปลูกผัก จำนวน 8 แปลง ขนาด 1 x 3เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขอบแปลงทำจากกระเบื้องหลังคามือสอง และไม้ไผ่
  • การปรับปรุงดิน สวนผักแห่งนี้ใช้สูตรการหมักดินคือ ดิน 1 ส่วน แกลบดิบ 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน มะพร้าวสับ 1ส่วน ปุ๋ยคอก 2 ส่วน และแกลบดำ ½ ส่วน ผสมให้เข้ากัน รดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์พอให้ชุ่มหมักทิ้งไว้ 1 เดือน สังเกตเห็นว่า สภาพดินดีขึ้นจากเดิมที่เป็นดินเหนียว เปลี่ยนเป็นดินที่มีความร่วนซุย สีดำ ไม่มีความร้อน จึงทดลองปลูกผักบุ้งจีน เพื่อทดสอบคุณภาพของดิน โดยแช่เมล็ดผักบุ้งไว้1คืน แล้วนำไปหว่านในแปลงผักทุกแปลง รดน้ำเช้าเย็น การเจริญเติบโตค่อนข้างดี สามารถเก็บผักบุ้งจีน 10 แปลง ได้ผลผลิต 28 กิโลกรัม แบ่งสมาชิกไปบริโภค 30 คน

4️⃣หลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตรอบแรก สมาชิกก็มีความมั่นใจมากขึ้นในการทำเกษตร จึงเริ่มลงมือช่วยกันปรุงดินใหม่อีกครั้ง ให้ดินมีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น เริ่มเพาะกล้าผักที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ คะน้า ผักกาดหอม มะเขือเปราะ แตงกวา ซึ่งพบว่าการเจริญเติบโตของต้นกล้าสมบูรณ์ เมื่อนำลงแปลงปลูกก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี มีผลผลิตผักให้สามารถเก็ยเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่อง

5️⃣วิทยากรประจำกลุ่ม ยังลงพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกมีความเรื่องการทำเกษตรในเมืองที่ยกระดับมากขึ้น และสามารถจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแปลงได้ เช่น การทำน้ำหมัก ฮอร์โมน การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โรคแมลงต่างๆ

6️⃣กิจกรรมส่วนกลางที่นำสมาชิกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสวนผักชุมชนของรุ่นพี่ปีที่ผ่านมา หนุนเสริมความรู้ การบริหารจัดการ และประสบการร์ในการสร้างพื้นที่อาหารร่วมกัน

ทุกวันนี้ แปลงผักอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารเพื่อชุมชนโมราวรรณ 2 มีผลผลิตผักและผลไม้ให้ได้เก็บเกี่ยวอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตส่วนหนึ่งแบ่งปันให้กับสมาชิก บางส่วนจำหน่ายในราคากันเอง เพื่อนำรายได้มาเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ในการดูแลสวน

เหนือส่งอื่นใด สมาชิกกลุ่มเกิดความมุ่นใจมากขึ้นในการทำเกษตรในเมือง มั่นใจว่าตนเองสามารถผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชนได้ มีความภูมิใจที่สามารถแบ่งปันอาหารไปให้กับสมาชิกในชุมชน สวนผักชุมชนกลายเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ของสมาชิกกลุ่ม และคนในชุมชนที่สนใจ ต่างแวะเวียนมาเดินชมสวน เดินออกกำลังกาย และเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของชุมชน จากเดิมที่เป็นพื้นที่เสี่ยง กลายเป็นพื้นที่ที่มีชีวิต และมีผลผลิตสด สะอาด ปลอดภัยให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์

วิกฤตข้างหน้าที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างน้อยชุมชนมีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะสามารถจัดการปัญหาด้านอาหาร การขาดแคลนอาหารของคนในชุมชนได้มากขึ้น จากแปลงผักอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารเพื่อชุมชนโมราวรรณ 2 แห่งนี้