เมืองที่มีความฉลาดอย่างแท้จริง

Mundraub’ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่แสดงพื้นที่กินได้สาธารณะทั่วโลก

ทุกวันนี้ ทุกๆ เมืองก็ต่างเคลมว่าตัวเองเป็นเมืองที่ฉลาด หรืออย่างน้อยก็กำลังจะเป็น ด้วยการลงเม็ดเงินอย่างมาก ไปกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ชั้นสูงและข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อที่จะดึงดูดเหล่านักธุรกิจมากมายให้มาลงทุนในประเทศของตนเอง และทำให้ประเทศของตนเองเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่เมื่อโฟกัสของเราไปตกอยู่กับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว และเพิกเฉยต่อพลเมืองในประเทศนั้นๆ เมืองที่ฉลาดก็ย่อมกลายเป็นเมืองที่โง่ได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่ได้ใส่ใจต่อสังคมและคนในเมือง อาจส่งภัย คุกคาม ต่อความไม่เสมอภาคและการแบ่งแยกที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความร่วมมือของคนในเมือง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในความสำเร็จของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

จากการวิจัยหลายๆ เมืองทั่วโลก มีหลายเสียงสรุปว่าเมืองที่มีการนำใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการแบ่งปันบนพื้นที่ของเมือง คือเมืองที่มีความฉลาดอย่างแท้จริง ดังจะยกตัวอย่างเคสจากประเทศเยอรมัน Mundraub’ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่แสดงพื้นที่กินได้สาธารณะทั่วโลก เพียงแค่คุณพบต้นไม้ผลหรือพืชผักที่คนทั่วไปสามารถมาเด็ดกินได้ คุณก็ปักหมุดลงไปในแผนที่ของเว็บไซต์ Mundruab (www.mundraub.org)

จุดเริ่มต้นแนวคิดแพลตฟอร์มแบ่งปันพื้นที่กินได้นี้เกิดจาก ในปี 2009 คุณ Kai Gidhorn ผู้ซึ่งชอบเก็บแอปเปิลระหว่างปั่นจักรยานไปตามทางชนบทในกรุงเบอร์ลิน และด้วยความที่เขาอยากจำตำแหน่งต้นผลไม้ดีๆ ไว้ได้ เขาจึงจดมันไว้ในแผนที่ และเพราะเขาอยากจะแบ่งปันตำแหน่งต้นผลไม้เหล่านี้กับเพื่อนๆ เขาจึงทำแผนที่ออนไลน์ขึ้นมา ซึ่งใครก็สามารถมาเพิ่มพิกัดต้นผลไม้ในแผนที่นี้ได้ ไม่นานแผนที่นี้ก็เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ เพราะมีคนคอยเข้ามาเพิ่มตำแหน่งต้นผลไม้ในพื้นที่สาธารณะกันมากขึ้น และในที่สุด Mundraub ก็เกิดขึ้น โดยขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเพื่อปักหมุดบนแผนที่พื้นที่กินได้นี้แล้วมากกว่า 40,000 คน

แผนที่นี้อาจเปิดโอกาสให้คนบางคนสามารถดำเนินชีวิตได้อีกวันจากความช่วยเหลือจากแหล่งอาหารฟรีบนแผนที่นี้ หรืออาจเปิดทางให้คนบางคนหยิบฉวยโอกาสเข้าถึงต้นผลไม้เหล่านี้และเก็บไปเกินควร สิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลังจากที่แผนที่ Mundraub ได้เติบโตขึ้น คือ เดือนธันวาคม ปี 2016 ในเขต Pankow ของกรุงเบอร์ลิน กลุ่มคนเมืองที่หาต้นผลไม้และแหล่งอาหารกินได้ในเขตนี้ ได้ยื่นข้อเสนอกับเทศบาลเพื่อขออนุญาตในการปลูกและดูแลรักษาเหล่าต้นผลไม้ในสวนสาธารณะ แม้ในเขตพื้นที่นี้จะมีต้นผลไม้เพียง 12 ต้น แต่ก็ถือว่านับเป็นก้าวสำคัญหากพิจารณาถึงขนบธรรมเนียมการทำงานแบบบนลงล่างของเจ้าหน้าที่บริหารเมืองในเยอรมัน และในที่สุดในเขต Pankow ประชาชนไม่เพียงแค่สามารถเก็บผลไม้จากต้นไม้ต้นไหนก็ได้ในสวนสาธารณะ แต่พวกเขายังได้สิทธิ์ในการดูแลรวมไปถึงการตัดแต่งกิ่งต้นไม้เหล่านั้นด้วย

สิ่งที่เราได้เรียนรู้อย่างหนึ่งจากเคสตัวอย่างของ Mundraub คือ การออกแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีนั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างมากคือ “ตัวผู้มีส่วนร่วม” นั่นเอง สองคุณลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดจากกลุ่มพลเมืองในเขต Pankow ได้แก่ “ความตั้งใจดี” ที่จะช่วยรักษาดูแลต้นผลไม้ในสวนสาธารณะของเขต แสดงให้เห็นถึงการให้คืนกลับสู่สังคมจากการที่พวกเขาได้มีโอกาสเก็บผลไม้เหล่านั้นมารับประทาน อีกหนึ่งคุณลักษณะ ซึ่งสำคัญมากในการสร้างการเปลี่ยนแปลง คือ “ความกระตือรือร้น” ของทุกคนที่จะมีส่วนร่วมบนพื้นที่สาธารณะ เพราะมันคือกลุ่มพลังเสียงที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย

ดังที่พลเมืองในเขต Pankow ได้รับสิทธิ์จากหน่วยงานเทศบาลในการเก็บผลไม้และดูแลรักษาต้นผลไม้ในพื้นที่สาธารณะของเขต ในทุกวันนี้ที่สังคมมีความซับซ้อนและคุกคามทั้งสภาวะกายและใจ การแก้ปัญหาด้วยความฉลาดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ สิ่งที่สังคมต้องการเห็นอย่างแท้จริงอาจเป็นน้ำใจจากคนในเมืองกันเอง “เมืองที่ฉลาดควรจะเป็นเมืองที่เปี่ยมไปด้วยพลังการแบ่งปันอันงดงาม ที่พร้อมจะช่วยเหลือใครก็ตามที่ขาดแรงและกำลังใจในสังคม และคนในเมืองมีการแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กันเสมอ เพื่อที่โลกของเราจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและสวยงาม”

เครดิตข้อมูลและรูปภาพ:

http://time.com/3446050/smart-cities-should-mean-sharing-cities/

https://www.shareable.net/blog/sharing-cities-using-urban-data-to-reclaim-public-space-as-a-commons

https://www.mundraub.org/

https://www.facebook.com/mundraub.org