กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สมาชิกสวนผักคนเมือง

เก็บตกบรรยากาศแสนอบอุ่น อบอวลด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความรู้  ประสบการณ์ และพลังใจ Support ระหว่างกัน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา เรามีกิจกรรมสำคัญของเหล่าสมาชิกโครงการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครึ่งทางแล้วสำหรับการเคลื่อนงาน การพบกันวันนี้เป็นพื้นที่ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพสมาชิก” เพื่อให้มีแนวทาง ตัวอย่างการดำเนินงาน กิจกรรมดีๆ เรื่องราวเด่นๆ และบทเรียนจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลากหลายพื้นที่ หลากหลายกลุ่ม หลากหลายรูปแบบการบริหารจัดการของเครือข่าย ถือเป็นชุดข้อมูล ความรู้สำคัญ ที่สมาชิกจะสามารถนำไปใช้ในการพัฒนางานในพื้นที่อาหารของแต่ละพื้นที่หลังจากนี้

กิจกรรมในวันนี้โครงการสวนผักคนเมือง ได้มอบภารกิจการจัดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ การอบรมเทคนิคการทำเกษตรในเมือง กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอดบทเรียนการทำงานระยะแรกของสมาชิกโครงการน้องใหม่ 28 โครงการ ให้สมาชิกโครงการรุ่นพี่ในชุดโครงการปีที่ผ่านมาเป็นผู้มาดูแลทั้งกระบวนการ

โดยมีโจทย์สำคัญว่า “ขอเป็นกิจกรรมที่จะช่วย Support ให้สมาชิกรุ่นน้องปีนี้ทั้ง 28 โครงการ มีความมั่นใจ เชื่อมั่นในการขับเคลื่อนงานพื้นที่อาหาร สวนผักชุมชนเพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 และวิกฤตอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้น จากประสบการณ์ ชุดบทเรียน และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง”

กิจกรรมในช่วงแรกครึ่งวันเช้า Support กันว่าด้วยเรื่องเทคนิคการทำเกษตรในเมือง ซึ่งรุ่นน้องหลายๆ โครงการยังประสบปัญหาเรื่องการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ การเพาะปลูกที่พบว่าพืชผักแคระ แกร็น ใบเหลือง มีแมลง ศัตรูพืช และโรคพืชรบกวน ทำให้ได้ผลผลิตที่ยังไม่เป็นที่พอใจนัก  โดยเราเลือกมาจัดกิจกรรมในพื้นที่ของ โครงการ “ห้องเรียนร้าง สู่ห้องเรียนรู้” สวนผักชุมชนหมู่บ้านสินสมบูรณ์ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โครงการรุ่นพี่ที่ได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนในปีนี้ สมาชิกในกลุ่มกว่า 10 คน มีความสามารถในการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกผักจากประสบการณ์การลงมือทำจริง เรียนรู้จากปัญหาและความผิดพลาด จนได้ชุดความรู้ เทคนิคที่เหมาะสมกับสวนผักของชุมชนตนเอง มาถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ แบ่งเป็นเส้นทางการเรียนรู้เพื่อทำเกษตรในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เส้นทางการเรียนรู้ที่ 1 : ว่าด้วยเรื่องการเตรียมปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในการปลูกผักในพื้นที่ชุมชนเมือง อาทิ การหมักดินจากใบไม้แห้ง การหมักดินด้วยแหนแดง การทำปุ๋ยหมักกากถั่วเหลือง น้ำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ฮอร์โมนไข่ น้ำหมักผลไม้ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะแนะนำวิธีการทำแล้ว รุ่นพี่ยังช่วยอธิบายวิธีการใช้ ช่วงเวลาที่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ และเมื่อใช้แล้วจะส่งผลดีหรือช่วยในเรื่องการเพาะปลูกอย่างไร

เส้นทางการเรียนรู้ที่ 2 : ว่าด้วยเรื่องการออกแบบพื้นที่ การวางผังแปลง การวางระบบการเพาะปลูกให้หมุนเวียน การปลูก การดูแล จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เส้นทางการเรียนรู้นี้ทีมรุ่นพี่จากโครงการห้องเรียนร้างสู่ห้องเรียนรู้ พารุ่นน้องไปเดินสำรวจและแนะนำวิธีการออกแบบพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชผักแต่ละชนิด เช่น ผักใบ ผักอายุสั้น ผักสวนครัว ผักที่ต้องขึ้นค้าง ต้องดูแดดแบบไหน โรงเรือนเพาะกล้า จุดเตรียมปัจจัยการผลิต ตลอดจนแนะนำวิธีการดูแลพืชผักแต่ละชนิดที่สำคัญๆ

ในช่วงท้ายยังเปิดพื้นที่ให้เพื่อนสมาชิกทั้งหมดได้บอกเล่าเทคนิคอื่นๆ ที่ทดลองทำแล้วได้ผล เช่นบ้านสวนอาจารย์พีท แนะนำวิธีการปรับปรุงดินสูตร 3 ขี้ คือ ขี้ไก่ ขี้วัว และขี้แพะ รวมถึงแนะนำเทคนิคการปลูกคะน้าให้ได้ผลผลิตดี คือ รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ถ้าช่วงฝนตกไม่ต้องรดน้ำ ใช้วิธีแกล้งดิน ให้ผักขาดน้ำ กระตุ้นให้ผักต้องสู้ จะช่วยให้ผักเติบโตได้ดี  สวนผักชุมชนปิ่นเจริญ แนะนำวิธีการปลูกถั่วฝักยาวให้ได้ผล คือ ต้องปลูกให้ห่างกัน ได้ระยะที่เหมาะสม ถ้าแน่นไปก็ต้องถอนออก ถั่วฝักยาวไม่ชอบน้ำ ก็แนะนำให้รดน้ำแค่รอบเช้าครั้งเดียว

ช่วงบ่าย เป็นกิจกรรมการถอดบทเรียนการทำงานในระยะแรก ร่วมกันของสมาชิกโครงการ ซึ่งมีโครงการรุ่นพี่ นำโดย

อาจารย์พีท น้องปุ้ย จากบ้านสวนอาจารย์พีท มาเป็นวิทยากรกระบวนการ และ

ไลลา หนุ่ย กฤติ จากเซฟติสท์ ฟาร์ม (SAFETist FARM)

น้องจ๋า ปละแม่ๆ จากห้องเรียนร้าง สู่ห้องเรียนรู้

พี่ตุ่ม ป้าอ้อย จากสวนผัก ฅน.ปทุมธานีโมเดล

พี่นิ่ม และน้องๆ จากสวนผักถาวร ปลูกปันวันละมื้อ

มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดการดำเนินโครงการในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา

จาก 4 คำถามสำคัญที่ชวนให้ทุกคนได้ร่วมกันทบทวน และมองถึงอนาคตข้างหน้า

1.ถ้าเราจะชวนเพื่อน หรือชุมชนอื่นๆ มาร่วมโครงการ เราอยากจะบอกถึงข้อดี ข้อสำคัญอะไรบ้างที่เราได้พบจากการทำโครงการนี้ ให้เพื่อนที่ยังไม่สนใจ มาทำกิจกรรมลักษณะนี้

2.มีปัญหา อุปสรรค ความท้าทายอะไรบ้าง ที่เขาจะต้องพบเจอเมื่อมาทำกิจกรรม/โครงการนี้

3.สิ่งที่อยากให้โครงการสวนผักคนเมือง สนับสนุนเพื่อให้เพื่อนสมาชิกก้าวข้ามปัญหา อุปสรรค และความท้าทายนั้นได้

4.ภาพอนาคตที่สวนผักชุมชนจะสามารถพัฒนาต่อยอดให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น

ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่อาหารของชุมชน ว่ามีความสำคัญ เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยให้สมาชิก ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้มาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีความเปราะบางมากๆ อย่างคนตกงาน คนที่ไม่มีคนดูแล เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้มาทำงานร่วมกัน มีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาชุมชน ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ได้พัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญคือ เป็นเพิ่มทักษะชีวิต ทักษะการพึ่งตนเอง เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน แต่ถึงอย่างไรก็พบว่าการดำเนินงานด้านนี้ จะต้องพบเจอกับปัญหาเรื่องการบริหารจัดการคน การมีส่วนร่วมในการดูแลพืชผัก การเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ รวมถึงการจัดการด้านเอกสารและข้อมูลต่างๆ ซึ่งในการแลกเปลี่ยนบทเรียนรู้ ทางโครงการรุ่นพี่ก็ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน และ Support กำลังใจให้กับรุ่นน้อง

น้องจ๋า ได้แลกเปลี่ยนแนวทางของการทำงานห้องเรียนร้างสู่ห้องเรียนรู้ ว่าก็เริ่มทำงานจากความไม่รู้มาก่อน ไม่รู้ว่าต้องปลูกผักอย่างไรถึงจะได้ผลดี ที่นี่มีสมาชิกกว่า 20 คน และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เรื่องทะเลาะ เรื่องความคิดเห็นไม่ตรงกันเกิดขึ้นทุกวัน แต่เกิดแล้วต้องจบปัญหาให้ได้ ต้องแยกย้ายด้วยความเข้าใจกัน โดยใช้หลักการ 4 H ในการทำงานร่วมกัน H-Head คือการทำงานด้วยกันด้วยการคิด การวางแผน และต้องมีผู้นำที่ดี และมีผู้ตามที่ดี H- Heart ต้องทำงานด้วยหัวใจ และการเข้าใจด้วยหัวใจกับเพื่อนร่วมงาน เมื่อไหร่ที่เราทำงานด้วยความรัก ทำงานที่เรารัก หรือทำงานเพื่อคนที่เรารัก หลายๆ ปัญหา หลายๆ ข้อจำกัดมักผ่านไปได้โดยง่าย และพูดด้วยภาษาของความรักแบบเดียวกัน H-Hand สำคัญมากคือการลงมือทำอย่างตั้งใจ และมีความมุ่งมั่น เพราะต่อให้คิดดี วางแผนดีแค่ไหน ถ้าไม่ลงมือทำด้วยความมุ่งมั่นก็ไม่ประสบความสำเร็จ ที่นี่เราเน้นการลงมือทำ ทดลอง ลองผิดลองถูก แล้วก็ได้ชุดความรู้ วิถีปฏิบัติที่เหมาะกับกลุ่มและพื้นที่ของตนเอง H- Health กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะทางกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีเจตคติที่ดีต่อการดูแลสุขภาพ

พี่นิ่ม เน้นให้ความสำคัญกับการวางแผน การวางระบบ และการทำฐานข้อมูลว่ามีความสำคัญ เนื่องจากโครงการของตนเองเป็นการทำงานในสถานประกอบการ สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ประจำ มีงานหลักของตนเอง แต่ถ้าหากเราวางเป้าหมายว่าพื้นที่อาหารนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน อย่างแรกคือ ผู้บริหารต้องเอาด้วย ผู้บริหารต้องเข้าใจและเอื้อให้พนักงานสามารถทำงานเรื่องนี้ได้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของตารางงานในแต่ละวัน เช่น เรามอบ 1 ชั่วโมงในการทำงานเพื่อมาทำงานสวนร่วมกัน และด้วยว่าพอขอแรงกันมาทำสวน คนมาพร้อมกันเยอะถ้าเราไม่มีระบบข้อมูล หรือแผนงานที่ชัดเจนเราก็จะไม่สามารถให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นที่สวนจึงให้ความสำคัญกับการทำระบบฐานข้อมูลว่าในแต่ละวันจะต้องทำงานอะไรบ้างในสวน เมื่อถึงเวลาก็สามารถกระจายงานให้ได้อย่างทั่วถึง การจัดบันทึกข้อมูลผลผลิตก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่นี่ไม่ได้มองว่าเป็นแค่ข้อมูลส่งรายงานเท่านั้น แต่เราวางเป้าหมายว่า สวนแห่งนี้จะต้องสามารถผลิตผักเพื่อเป็นอาหารให้พนักงานได้อย่างนน้องคนละ 1 มื้อต่อวันการจดบันทึกข้อมูลจึงทำให้เรารู้ว่าตอนนี้เราทำได้ถึงไหนแล้ว ห่างจากเป้าหมายเท่าไหร่ เพื่อเอามาวางแผนพัฒนางานต่อ

พี่ตุ่ม พูดถึงประสบการณ์ของการเริ่มงานจากไม่มีอะไรเลย ไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยขอทุน ไม่เคยเขียนโครงการ ชุมชนก็เป็นบ้านมั่นคงที่เพิ่งสร้างเสร็จ พื้นที่ปลูกผักก่อนหน้านี้ก็เต็มไปด้วยขยะ แต่ด้วยความมุ่งมั่นของคณะทำงานที่อยากจะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้านอาหาร จึงลงแรงช่วยกันพัฒนาพื้นที่จากที่ทิ้งขยะ จากมุมมองที่คนข้างนอกมองว่าเราคือขยะ มาเป็นชุมชนที่สามารถสร้างพื้นที่อาหารของตนเองได้ มีผลลิตแบ่งปันให้กับสมาชิกและชุมชนรอบข้าง แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ การสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชนเอง ว่าพวกเขาสามารถพัฒนาได้ มีศักยภาพและคุณค่าที่คนภายนอกเริ่มมองเห็น ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคน เริ่มมาช่วยกันปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ปลูกผลไม้ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นลูก รุ่นหลานได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต

ไลล่า พูดถึงการเริ่มต้นของกลุ่มในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง สมาชิกในกลุ่มกว่า 20 ชีวิต ตระหนักว่าแม้ทุกคนจะมีความมั่นคงทางด้านรายได้ แต่วิกฤตดังกล่าว พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า พวกเราไม่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร การมีพื้นที่อาหารของตนเอง หรือการมีคลังอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่กลุ่มยอมรับและเริ่มลงมือสร้างทันที แต่สิ่งสำคัญของการทำเรื่องนี้ ต้องอาศัยการพูดคุย การวางเป้าหมาย หรือที่กลุ่มแรกว่า “ภาพฝัน” ร่วมกัน เอาภาพฝันมาวางแผนทีละขั้นตอน แบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม และที่สำคัญต้องกลับมาทบทวนการทำงานกันเรื่อยๆ ที่ เซฟติสท์ ฟาร์ม (SAFETist FARM) จึงมีการวางภาพฝันที่ขยับไปข้างหน้าเรื่อยๆ ที่ทำสำเร็จแล้ว ก็จะวางภาพฝันต่อไป เช่น จากที่เราสามารถมีคลังอาหารปลอดภัยของตนเองแล้ว ก็ขยับไปดูแลเรื่องอาหารให้กับเพื่อนๆ คนรอบๆข้างมากขึ้น จากปลูกผักเพื่อบริโภคเอง ก็ขยับมาปลูกผักเพื่อทำตะกร้าผักให้สมาชิก 30 – 50 ครอบครัว สามารถมีผักปลอดสารรับประทานช จากที่ขายผักสร้างรายได้ให้กลุ่มแล้ว ก็ขยับไปส่งเสริมให้คนเปราะบางรอบๆ ชุมชนมีความรู้ มีเครื่องมือไปปลูกผักส่งมาขายให้กลุ่ม ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้คนอื่นด้วย ตอนนี้หลายคนในกลุ่มลาออกจากงานประจำมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เพราะมีภาพอนาคตของตนเองว่า การทำงานควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นเมื่อรู้ว่าอยากมีชีวิตแบบเกษตรกร อยากมีอาหารดีๆ ไว้บริโภค จึงเลือกมาทำงานเกษตรอย่างจริงจังให้ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลย

ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในบรรยากาศแสนอบอุ่น อบอวลด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความรู้ ประสบการณ์ และพลังใจ ที่ Support ระหว่างกัน