วางแผนการผลิต การจัดการโรคและแมลง

วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 66 ที่ผ่านมา โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จัดอบรมพัฒนาศักยภาพให้กับสมาชิกโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ เกี่ยวกับ ‘การวางแผนการปลูกและการจัดการศัตรูพืช’ โดยอาจารย์เติ้ล เกศศิรินทร์ แสงมณี เป็นวิทยากรหลัก และสมาชิกนักปลูกผักของสวนผักถาวร ปลูกปันวันละมื้อ เป็นผู้ช่วยวิทยากรในการพื้นที่

ซึ่งก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของเนื้อหาการเรียนรู้นั้น ต้องขออนุญาตพามารู้จักสวนผักถาวร ปลูกปันวันละมื้อ ก่อน เพราะในสวนผักแห่งนี้มีอะไรให้ว้าวววววมากมาย สวนผักถาวร ปลูกปันวันละมื้อ อยู่ในพื้นที่ของ หจก.ถาวรเมดไลน์ ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) มีพนักงานรายเดือนและรายวันรวมกัน 26 คน มีพื้นที่ว่างประมาณ 1.5 ไร่ ซึ่งเดิมต้องการนำไปสร้างอาคารเพื่อขยายกิจการ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของพนักงานลดลงเฉลี่ย 200 – 2,000 บาท/คน/เดือน นอกจากรายได้ที่ลดลงแล้ว วิกฤตราคาอาหาร ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อค่าครองชีพของพนักงาน

.

💚จากจุดนี้เองที่ทำให้ผู้บริหารของบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญในการพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะด้านการกินอยู่ การมีแนวทางช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารของพนักงาน น่าจะเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ก่อน และมีโอกาสลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และสร้างโอกาสในอนาคตได้ จึงร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองและความมั่นคงทางอาหารเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารในพื้นที่เมือง สำนักนักสร้างสรรค์โอกาส(สสส.) ใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างในบริษัท มาพัฒนาเป็นพื้นที่อาหาร แหล่งผลิตอาหารสด สะอาด ปลอดภัยให้กับพนักงาน การทำเกษตร ในปี 2564 มุ่งเน้นการปลูกผักสวนครัวที่ใช้ในการประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาด ผักสลัด ถั่วฝักยาว บวบ แตงกวา ฯลฯ มีการพัฒนาพื้นที่ประมาณ 800 ตารางเมตร ทำแปลงปลูกขนาด 1x 3 เมตร เริ่มต้น 12 แปลง และพื้นที่ทำค้างปลูกผักเลื้อยขนาด 1x 12 เมตร จำนวน 3 แถว ทำการปรับปรุงดินเดิมในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญเป็นดินเหนียวมีความเป็นกรดสูง ปรับสภาพดินตามความรู้ที่ได้รับให้พร้อมเพาะปลูกมากขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกดินยังมีความเป็นกรดสูง ทำให้ได้ผลผลิตแคระแกร็น และมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการแบ่งปันสมาชิก แต่ตลอดระยะเวลา 10 เดือน สมาชิกได้ร่วมกันปรับปรุงดินหลายครั้ง ทำให้ในช่วงหลังดินมีสภาพเป็นกลางมากขึ้น และเริ่มได้ผลผลิตมากขึ้นสามารถแบ่งปันสมาชิกได้อย่างทั่วถึง สามารถลดรายจ่ายด้านอาหารได้ 200 บาทต่อเดือน/ครอบครัว ขึ้นอยู่กับผลผลิตที่ได้ในแต่ละรอบการปลูก โดยมีแนวโน้มผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับเวลา ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารโดยรวมให้กับกลุ่มสมาชิกได้ประมาณ 2,000 -3,0000 ต่อเดือน

และในปี 2565 สวนผักถาวรยังคงร่วมงานกับสวนผักคนเมือง มีเป้าหมายเพื่อวางระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มผลผลิตผักให้เพียงพอกับความต้องการในการนำไปปรุงอาหารกลางวันให้กับพนักงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 6 มื้อ พร้อมกับการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับโรงงาน สถานนประกอบการขนาดเล็กที่สนใจ การดำเนินงานในปีนี้ ‘พี่นิ่ม’ ในบทบาทของผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บริหารองค์กร บอกกับเราว่า “นอกจะจะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบ การวางแผนการเพาะปลูก การทำปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกแล้ว ปีนี้พี่นิ่มยังเน้นการพาสมาชิกกลุ่ม พนักงานในบริษัทไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนสมาชิกโครงการอื่นๆ ทั้งใกล้และไกลอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสการเรียนรู้จากบทเรียนพื้นที่สวนผักของเพื่อนๆ ที่มีอยู่หลายรูปแบบ มีเทคนิค วิธีการที่แตกต่างกันไป เพื่อนำมาทดลอง ปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่สวนผักของโรงงาน”

เน้นให้ความสำคัญกับการวางแผน การวางระบบ และการทำฐานข้อมูล เนื่องจากโครงการเป็นสถานประกอบการ สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ประจำ มีงานหลักของตนเอง เรามอบ 1 ชั่วโมงช่วงเย็น เพื่อมาทำงานสวนร่วมกัน และด้วยว่าพอขอแรงกันมาทำสวน คนมาพร้อมกันเยอะถ้าเราไม่มีระบบข้อมูล หรือแผนงานที่ชัดเจนเราก็จะไม่สามารถให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นที่สวนจึงให้ความสำคัญกับการทำระบบฐานข้อมูลว่าในแต่ละวันจะต้องทำงานอะไรบ้างในสวน เมื่อถึงเวลาก็สามารถกระจายงานให้ได้อย่างทั่วถึง โดยในแต่ละเดือนจะมีการประกาศปฎิทินตารางการทำสวน ว่าในแต่ละวันจะมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีฝ่ายไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำอะไรในวันไหนบ้าง และในแต่ละวันก็จะมีการประกาศกิจกรรมในกลุ่ม Line อีกด้วย

สำหรับการแบ่งหน้าที่และการวางแผนการเพาะปลูกทาง มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มเบาหวิว ทำหน้าที่สำรวจความต้องการในการบริโภคผักของสมาชิก ดูแลเรื่องการเพาะเมล็ด ตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะเมล็ดในตะกร้า การย้ายเมล็ดลงถาดหลุม การอนุบาลต้นกล้า จนสามารถนำลงดินในแปลงปลูก

2. กลุ่มเข้มแข็ง ทำหน้าที่ในการเตรียมดินเพื่อใช้ในการปลูกผักในแปลง ทำการหมักดิน ดูแลเรื่องการทำแปลงทั้งหมด

3. กลุ่มเครื่องปรุง ทำหน้าที่ในการทำน้ำหมักเพื่อบำรุงผักในสวน อาทิเช่น น้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย ไตรโครเดอร์มา ฮอร์โมนนมสด จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง เป็นต้น

4. กลุ่มปลูก/เก็บเกี่ยว ทำหน้าที่ในการปลูกลงต้นกล้าที่อายุพร้อมปลูกในแปลง รวมทั้งดูแลผัก พรวนดิน ถอนหญ้า ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ปีนี้สวนผักถาวร สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกผักจาก 800 ตารางเมตร เป็น 1,600 ตารางเมตร มีแปลงปลูก 43 แปลง รวมแปลงผักขึ้นค้างอีก 3 ค้าง และพื้นที่ปลูกผักยืนต้น ไม้ผลอีกจำนวนหนึ่ง มีการปรับภูมิทัศน์รอบสวนให้เอื้ออำนวยต่อสภาพการปลูกผัก เพิ่มโรงเรือนสำหรับพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์และมูลสัตว์สำหรับหมักดินเพิ่มพื้นที่ตั้งกองปุ๋ยหมัก และจัดเก็บปุ๋ยหมักที่สามารถนำมาใช้งานได้ พื้นที่สำหรับการจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้

ผลผลิตจากสวน จะนำไปประกอบอาหารกลางวันพนักงานในทุกวันเสาร์ได้ทานฟรี เป็นสวัสดิการอาหารกลางวันสำหรับพนักงาน ซึ่งผักที่นำมาทำอาหารกลางวันในแต่ละครั้งสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30-40 % ของเมนูที่ทำในแต่ละครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารให้พนักงานได้ 50 บาท/คน/วัน ผลผลิตอีกส่วนจะนำไปแบ่งปันให้กับพนักงานที่ทำอาหาร ปรุงอาหารทานที่บ้านได้นำกลับไปปรุงอาหารกับครอบครัวอีกด้วย ประมาณ 12 ครอบครัว โดยผลผลิตที่ได้นำไปปรุงอาหารนั้นเฉลี่ยน คนละ 8 ครั้ง/เดือน

วันนี้สมาชิกกลุ่ม พาเราไปเดินดูสวนผักถาวร ที่เห็นแล้วก็ต้องร้องว้าวววววว เพราะนี่ปาเข้าไปเดือนมีนาคมแล้ว สวนผักแห่งนี้ยังมีกะหล่ำปลีหัวใหญ่ๆ แน่นๆ ให้เราได้ชื่นชม ปกติก็ปลูกได้ยากในพื้นที่เมือง แต่นี่ยังห่อหัวอีกด้วย พร้อมกับผักอีกหลายชนิดที่กำลังงอกงามให้ได้เก็บเกี่ยว อาทิ ถั่วฝักยาว แตงกวา บวบ มะเขือ ผักสลัด เคล บร็อคโคลี่ และแน่นอนว่าอาหารกลางวันมื้อนี้ของผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 50 คน ก็ล้วนเป็นผลผลิตจากสวนทั้งสิ้น

เป้าหมายต่อไปของสวนผักถาวร คือ การไปสู่การเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ บรรลุการมีสวัสดิการอาหารกลางวัน 6 มื้อต่อสัปดาห์ พนักงานสามารถนำผลผลิตกลับไปทำอาหารทานกับครอบครัวได้ทุกวัน ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร มีรายได้เสริมจากการทำทำเกษตร พนักงานมีทักษะอาชีพ และมีศัยภาพจากการใช้การทำสวนผักเป็นเครื่องมือ

ซึ่งแน่นอนว่าประสบการรืการทำสวนผัก สวนเกษตรในเมืองดข้าสู่ปีที่สองของสมาชิกโครงการ แม้ว่าจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากพอสมควร แต่ในเกือบๆ ทุกสวนยังต้องเจอกับปัญหาท้าทายเกี่ยวกับโรคพืชและแมลง วันนี้ทางอาจารย์เติ้ลจึงชวนสมาชิกมาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์

เติมความรู้การวางแผนการผลิต และการจัดการโรคและแมลง

1.สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับพืช

1.1 ลักษณะนิสัย ได้แก่ ชอบดินแบบไหน ส่วนใหญ่ pH 5.5 – 6.2 ดินร่วน ทราย เหนียว// ชอบแสงเท่าไร ส่วนใหญ่ ชอบแสง 100 % // ชอบแห้งหรือชื้นหรือแฉะ ส่วนใหญ่ ชอบความชื้น 50 – 60 %

1.2 อายุและการเก็บเกี่ยว พืชฤดูเดี่ยว คือ ปลูกรอบเดียว เก็บผลผลิตแล้วไม่แตกใหม่ หรือตาย// พืช 2 ฤดู คือ เก็บผลผลิตและสามารถเก็บต่อได้อีก อายุนาน 3 – 6 เดือน// พืชหลายฤดู คือ สามารถเก็บผลผลิตได้หลายฤดู หรือบางพืชเก็บได้หลายปี

1.3 ฤดูที่ควรปลูก ฤดูหนาว : ต้องการ Temp. ต่ำ ติดดอก ผล ห่อหัว// ฤดูร้อน : ต้องการ Temp. สูง ความชื้นต่ำ// ฤดูฝน : ต้องการความชื้นสูง ๆ หรือปลูกได้ทุกฤดู

1.4 ศัตรูพืช ต้องรู้โรคและแมลงในแต่ละพืช ต้องรู้วิธีการป้องกันก่อนเกิดและการจัดการหลังเกิดให้ถูกวิธี

  • ผักกินใบ พืชตระกูลผักกาดหอม ปลูกได้ทุกฤดู// พืชตระกูลคะน้า ปลูกได้ทุกฤดู//โรคพืชและศัตรูพืชที่พบเจอได้ง่าย หนอนเจาะหัว หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก ราน้ำค้าง โรคขาดแคลเซียม โบรอน โรคไส้เน่า
  • ผักกินใบ พืชตระกูลกะหล่ำ ขึ้นฉ่าย ผักชี ปลูกได้ดีฤดูหนาว// ผักบุ้งปลูกทุกฤดู// โรคพืชและศัตรูพืชที่พบเจอได้ง่าย หนอนเจาะหัว หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก ราน้ำค้าง
  • ผักกินหัว ข่า ขมิ้น ขิง กระชาย ปลูกได้ดีในฤดูฝน และพอหมดฝนจะพักตัว หัวอยู่ใต้ดิน// แครอท แรดิช หัวไชเท้า ปลูกได้ทุกฤดู// ชอบดินร่วนซุย ศัตรูพืชที่พบเจอได้ง่าย ด้วงดิน เสี้ยนดิน เป็นศัตรูพืช
  • ผักกินผล พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ทุกพันธุ์ เป็นผักหลายฤดู// มะเขือเทศ ปลูกได้ดีแค่ฤดูหนาว// โรคพืชและศัตรูพืชที่พบเจอได้ง่าย มีเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เป็นศัตรูพืช โรคราน้ำค้าง ราแป้ง
  • ผักกินผล มะเขือเปราะทุกพันธุ์ อายุเก็บเกี่ยว 30 -40 วัน เป็นผักหลายฤดู// พืชตระกูลแตงทุกชนิดอายุสั้น ปลูกได้ 2 – 3 เดือน// พืชตระกูลถั่ว เป็นพืชอายุสั้น ปลูกได้ 2 – 3 เดือน// โรคพืชและศัตรูพืชที่พบเจอได้ง่าย มีเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน ด้วงเต่าแตง เป็นศัตรูพืช โรคราน้ำค้าง ราแป้ง

2.การจัดการแปลง

2.1 การเตรียมดิน ผักกินใบ หน้าดินตื้น ดินร่วนอุ้มน้ำดี// ผักกินหัว หน้าดินลึก ดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำเยอะ

2.2 การคลุมแปลง ฤดูร้อนควรคลุมแปลง// ฤดูฝน ไม่ควรคลุมแปลง//

2.3 ระยะปลูกของพืชแต่ละชนิด ระยะถี่ต้นผอม อ่อนแอ// ระยะกว้าง พืชโตดี โรคและแมลงไม่รบกวน// ระยะปลูกที่เหมาะสม ผักกินใบ เกือบทุกชนิด หัวไชเท้า แครอท แรดิช 20 – 25 cm //ผักกาดขาวปลี ผักกาดขาวใหญ่ ผักกาดเขียวปลี กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ เคล สวิสชาร์ด 50 cm// ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย 10 – 15 cm // พืชตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ต่าง ๆ 35 – 50 cm x 1 – 2 m //พืชตระกูลพริก มะเขือ 50 cm x 75 – 100 cm// กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบแดง 50 x 50 cm// กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า 50 x 50 cm

2.4 การตัดแต่งกิ่ง ผักขึ้นค้าง ควรตัดใบล่างและกิ่งแขนงออกตั้งแต่ข้อที่ 1 – 7 หรือ 12 เด็ดยอดผักขึ้นค้าง ได้แก่ ตระกูลแตง เลี้ยงไว้ 25 ข้อ หรือ ความยาวเถา 2 เมตร ให้ตัดยอด ผักกินผล ควรเด็ดยอดบ่อย ๆ และแต่งกิ่งโคนต้นออกให้มีความสูง 20 เซนติเมตร // ตัดแต่งทรงพุ่ม พวกชะอม กะเพรา โหระพา

2.5 การเลือกปลูกพืชเกื้อกูลระหว่างกัน ผักคู่หู-คู่อริ

3.ปัจจัยที่ก่อให้เกิดศัตรูพืช

3.1 ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต

  • อุณหภูมิ : สูงไป (> 40 องศา) อาจทำให้เกิดใบไหม้ ใบเหี่ยว พืชคายน้ำมาก
  • ความชื้น : ในดินสูง กระตุ้นการเกิดโรครากเน่าโคนเน่า พืชไม่สามารถดูดธาตุอาหารได้ ในบรรยากาศสูง กระตุ้นการเกิดโรคเชื้อราต่าง ๆ และเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝนด้วย
  • แสงแดด : ความเข้มแสง เกี่ยวกับอุณหภูมิ พืชบางชนิดไม่สามารถเจริญเติบโตได้
  • ลม : ทำให้พืชคายน้ำเร็ว ดินแห้ง ส่งผลต่อความชื้นในทรงพุ่มและดิน รวมทั้งพวกแมลงที่ช่วยผสมเกสรด้วย
  • ดิน : ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพืช
  • สภาพภูมิประเทศ : การเลือกพืชให้เหมาะสม

3.2 ปัจจัยที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต

  • มนุษย์ เป็นผู้พาศัตรูพืชมา เช่น ความสกปรก การใส่ปุ๋ยมากเกินไป ขี้เกียจ ความประมาท
  • สัตว์ ได้แก่ หนู นก แมลงต่าง ๆ
  • จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้แก่ เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส

4.แนวทางการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

4.1 ปลูกพืชแบบผสมผสาน เพื่อสร้างระบบนิเวศให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ

4.2 หมั่นทำความสะอาดแปลง กำจัดวัชพืช เศษพืชต่าง ๆ

4.3 ตัด ถอด ทำลายโรคพืชทันทีที่พบ

4.4 ควรใช้จุลินทรีย์กำจัดโรคในช่วงเตรียมดิน หมักปุ๋ย และใช้อย่างต่อเนื่อง

4.5 ควรใช้จุลินทรีย์หรือสมุนไพรกำจัดแมลงก่อนย้ายกล้าหรือหว่านเมล็ด 2 – 3 วัน และใช้อย่างต่อเนื่องทุก ๆ 7 – 15 วัน

4.6 เมื่อดินเป็นกรดควรหว่านวัสดุปูนปรับปรุงดิน เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราก่อโรค

4.7 และสร้างระบบนิเวศให้พึ่งหาอาศัยกัน เช่น รู้จักแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เพราะไม่ใช่แมลงทุกชนิดจะเป็นศัตรูพืชไปเสียหมด ที่ไหนมีแมลงศัตรูพืชที่นั้นก็ย่อมมีแมลงนักล่าหรือแมลงปรสิตอยู่เสมอ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติที่ต้องรักษาสมดุลของระบบนิเวศเพื่อไม่ให้แมลงศัตรูพืชมีมากจนเกินไปนั้นเอง เช่น ตัวห้ำ เป็นแมลงที่กินแมลงด้วยกันเป็นอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต บางชนิดก็เป็นตัวห้ำตั้งแต่ตัวอ่อนจนกระทั่งตัวเต็มวัย บางชนิดเป็นตัวห้ำเฉพาะตัวเต็มวัย บางชนิดเป็นตัวห้ำเฉพาะตัวอ่อน ได้แก่ มวนพิฆาต ด้วงเต่าลาย ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส เป็นต้น ตัวเบียน จะไม่ได้กินแมลงแต่จะใช้วิธีการขยายพันธุ์ โดยจะใช้ไข่และตัวอ่อนของศัตรูพืชเป็นสถานที่ในการเพาะตัวอ่อน โดยที่ตัวเบียนจะฝังไข่ไว้ในไข่และตัวอ่อนของเหยื่อ และเจริญเติบโตจากภายในตัวเหยื่อออกมา และขยายพันธุ์ต่อไป เราสามารถใช้ข้อดีของตัวห้ำ ตัวเบียน เหล่านี้มาใช้ในการควบคุมจำนวนประชากรของแมลงศัตรูพืชได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีกำจัดแมลง ทำให้แมลงไม่สามารถเกิดความต้านทานได้เหมือนการใช้สารเคมี มีความปลอดภัยสูง แต่ใช่ว่าพอปล่อยตัวห้ำ ตัวเบียน แล้วจะเห็นผลได้ทันทีต้องใช้ระยะเวลากว่าแมลงพวกนี้จะตั้งรกรากได้