สวนผักบ้านสีเขียวสร้างเสริมความมั่นคงด้านอาหาร ณ บางด้วน


กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสีเขียว ณ บางด้วน ก่อตั้งเมื่อ มกราคม 2565 ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ มีมีสมาชิก 17 คน เนื่องด้วยตำบลบางด้วน เป็นพื้นที่ในเขตเมือง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ 3,264 ครัวเรือน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ซึ่งการระบาดของ Covid-19 ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน ทำให้รายได้ลดลง ในขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลให้ประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารที่ไม่เพียงพอ ในปี 2564 เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางด้วน ได้เข้าร่วมศึกษาวิจัยในโครงการสมุทรปราการโมเดล เพื่อศึกษาโครงข่ายการตลาดเพื่อสร้างรายได้แก่วิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ทำให้เกษตรกรได้รับการเสริมสร้างและพัฒนาในด้านการเกษตร จนต่อยอดการพัฒนาเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสีเขียว ณ บางด้วน” มีวัตถุประสงค์ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการผลิตผักปลอดภัย เพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยที่ผ่านมาเป็นการทำเกษตรแบบรายเดี่ยว ในพื้นที่บ้านของตนเอง และยังเป็นเพียงการทำเกษตรแบบปลอดภัยเท่านั้น


แต่ด้วยผลกระทบของ Covid-19 และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้สมาชิกกลุ่มตระหนักถึงความสำคัญของการสร้าง “พื้นที่ความมั่นคงด้านอาหาร” ที่จะเป็นฐานทรัพยากรให้กับคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบในภาวะวิกฤตครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงและพัฒนา “พื้นที่ว่างใต้ทางด่วน” ให้เป็นพื้นที่ทำเกษตรแปลงรวมของกลุ่ม เป็นการต่อยอดกิจกรรมให้สมาชิกกลุ่ม อีก 13 รายที่ มีความพร้อมและสมัครใจมาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตอาหารตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรปลอดภัยสู่ระบบเกษตรอินทรีย์


จึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ดำเนินงานโดยโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) โดยมีเป้าหมายเพื่อการปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรปลอดภัยสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เมือง โดยใช้รูปแบบการสร้างพื้นที่เกษตรแปลงรวมของกลุ่ม เพื่อการผลิตผักแบบอินทรีย์ที่มีความหลากหลาย เน้นการใช้ทรัพยากรของชุมชนอย่างคุ้มค่า การผลิตอาหารและการทำตลาดชุมชนเพื่อแบ่งปันผลผลิต กระจายผลผลิตผักอินทรีย์ รวมถึงปัจจัยการผลิตต่างๆ ขยายให้เกิดการเข้าถึงการบริโภคผักอินทรีย์ของคนในชุมชน และชุมชนรอบๆ ให้มากขึ้น โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสมุทรปราการ มาช่วยประสานงาน และร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการกับชุมชนตั้งแต่เริ่มต้น
.
อาจารย์เติ้ล เกศศิรินทร์ แสงมณี วิทยากรด้านการทำเกษตรในเมือง ลงพื้นที่จัดอบรม ให้คำแนะนำสมาชิกกลุ่มในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เมืองให้ได้ผล ซึ่งจะเน้นการเรียนรู้และลงมือทำไปพร้อมๆ กัน โดยเริ่มจาก


หลักสูตรที่ 1 การออกแบบและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อทำเกษตรในเมือง การเปลี่ยนพื้นที่ทั้งพื้นที่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รกร้าง พื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ที่เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยว เกษตรแบบใช้สารเคมีมาก่อน เพื่อปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยใช้หลักการวางแผนการใช้ที่ดิน การวางแผนการผลิตพืชให้ถูกต้องตามฤดูกาล การจัดการพื้นที่เพื่อผลิตสัตว์ ประมง และการทำปัจจัยการผลิตพืชที่เกี่ยวข้อง


หลักสูตรที่ 2 การจัดการดินและเตรียมปัจจัยการผลิต เรียนรู้ลักษณะของดินในพื้น การจัดการดินให้เหมาะสมกับการทำเกษตร การเตรียมปัจจัยในการผลิตพืช ได้แก่ การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ที่ส่งเสริมและป้องกันโรคและแมลง ซึ่งผลิตจากวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อเป็นการจัดการขยะอีกทาง


หลักสูตรที่ 3 การปลูกและดูแลรักษา เน้นการรู้จักลักษณะนิสัยของพืช ระยะปลูก ระยะเวลาเก็บเกี่ยว การปลูกพืชแบบผสมผสาน ผักคู่หู-คู่อริ การจัดการน้ำที่เหมาะสม โรคและแมลงที่พบในแต่ละฤดูกาล การป้องกัน การทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ

ซึ่งทางกลุ่มก็ได้นำความรู้ที่ได้รับ ไปดำเนินการสร้างพื้นที่อาหารที่สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มและชุมชน อาทิ

1️⃣เลือกใช้รูปแบบแปลงผักที่หลากหลาย เพื่อศึกษาว่ารูปแบบแปลงแบบไหนที่เหมาะสม ใช้วัสดุที่หาได้ในชุมชน สวนผักแห่งนี้จึงมีทั้งการปลูกผักบนแปลงดินที่ใช้ไม้ไผ่มาทำขอบแปลงเพื่อความสวยงาม การปลูกผักในภาชนะ และเพิ่มรูปแบบแปลงผักยกพื้น เพราะสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเกิดปัญห่น้ำท่วมขังในพื้นที่หากมีฝนตกหนัก การทำแปลงผักยกพื้นจึงง่ายต่อการทำงานของคนทุกกลุ่มวัย และแก้ปัญหาน้ำท่วมขังแปลงได้อีกด้วย


2️⃣การปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ มีธาตุอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของผัก โดยการหมักดินในแต่ละครั้งนั้น จะเรียกรวมสมาชิกในกลุ่มและคนในชุมชนที่สนใจมาลงแรงหมักดินด้วยกัน มีการทะยอยทำดินหมักเป็นรอบๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการเปลี่ยนรอบการปลูกผัก


3️⃣การทำน้ำหมักชีวภาพ ฮอร์โมน สารบำรุงพืชผักต่างๆ ไว้ใช้บำรุงรักษาพืชผักในแปลง ช่วยในการเจริญเติบโต


4️⃣การวางแผนการผลิตผักในแต่ละรอบ ก็จะมีการประชุมหารือร่วมกันของสมาชิก เลือกชนิดผักที่จะปลูกจากความเหมาะสมของฤดูกาลเป็นหลัก เน้นการปลูกที่หลากหลาย และสอดคล้องกับความชอบ ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคด้วย


5️⃣การจดบันทึกข้อมูลการผลิต ผลผลิตต่างๆ เนื่องจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสีเขียว ณ บางด้วนมีเป้าหมายที่จะพาสมาชิกอีก 13 ราย เข้าสู่โครงการการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS จึงใช้การดำเนินโครงการนี้เป็นแบบฝึกหัดในการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดทำข้อมูลอีกด้วย


6️⃣การเก็บเกี่ยวและการใช้ประโยชน์จากผลผลิตในแปลงรวมแห่งนี้ ส่วนหนึ่งจะแบ่งปันให้กับสมาชิกกลุ่มนำไปรับประทานที่บ้าน จัดจำหน่ายผักอินทรีย์ให้กับสมาชิกในชุมชน รวมถึงตลาดอื่นๆ ที่ทางกลุ่มได้ไปเชื่อมโยงการขายผลผลิต ทั้งนี้ผลผลิตอีกจำนวนหนึ่งก็จะนำมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการเรียนรู้เรื่องการแปรรูป ถนอมอาหาร สร้างการเรียนรู้เรื่องการบริโภคผักให้กับเด็ก เยาวชน และคนที่มาเรียนรู้ ศึกษาดูงานในพื้นที่

เพราะอีกหมุดหมายของสมาชิก ในการสร้างพื้นที่อาหารแปลงรวมแห่งนี้ คือ #การสร้างนิเวศการเรียนรู้ ให้กับคนในชุมชน จากรูปธรรมและการลงมือทำจริงของคนในชุมชนเอง เพื่อถ่ายทอดแนวคิด วิธีการพึ่งพาตนเองในด้านอาหาร เสริมสร้างศักยภาพของชุมชน เติมเต็มความยั่งยืนของความมั่นคงด้านอาหาร ให้คนในชุมชนให้มีความรู้ในการปฏิบัติ สามารถพึ่งตนเองได้ของคนในชุมชน

จากความมุ่งมั่น และประสบการณ์ของสมาชิกกลุ่ม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้สวนผักบ้านสีเขียวสร้างเสริมความมั่นคงด้านอาหาร ณ บางด้วน สามารถพัฒนาพื้นที่อาหารของชุมชน ด้วยการรูปแบบเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เมือง ที่สามารถผลิตผักอินทรีย์ได้อย่างต่อเนื่อง สมาชิกมีความรู้ ความเข้าใจ ที่มาจากการเรียนรู้และลงมือทำ จนสามารถนำความรู้ เทคนิคต่างๆ ที่ได้ฝึกฝน ทดลองทำ นำมาเผยแพร่ จัดอบรม ถ่ายทอดให้กับคนที่สนใจ รวมถึงกลุ่มคน ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี