สวนผักถาวร ปลูก-ปัน-วันละมื้อ @ ปากเกร็ด นนทบุรี

จากพื้นที่ร้าง สู่ พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่อาหาร พื้นที่ปันความสุข

สวนผักแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการร่วมแรง ร่วมใจของพนักงาน และผู้บริหาร หจก.ถาวรเมดไลน์ ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) มีพนักงานรายเดือนและรายวันรวมกัน 25 คน มีรายได้เฉลี่ยวันละ 300-400 บาท/คน/วัน ครึ่งหนึ่งของพนักงานเป็นเสาหลักในการดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆของครอบครัว ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พนักงานจะมีรายได้เสริมจากการทำงานล่วงเวลาอีกวันละ100 -200 บาท แต่เมื่อเกิดโควิด ทำให้บริษัทเกิดปัญหาการระบายสินค้า มีสินค้าคงเหลือจำนวนมาก ยอดการสั่งงานลดลง ซึ่งส่งผลต่อสภาพคล่องต่างๆ แต่ผู้บริหารไม่ต้องการใช้มาตรการปลดพนักงาน จึงทำให้ต้องลดชั่วโมงการผลิต ลดการทำงานล่วงเวลา ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ของพนักงานลดลงเฉลี่ย 200 – 2,000 บาท/คน/เดือน นอกจากรายได้ที่ลดลงแล้ว วิกฤตราคาอาหาร ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อค่าครองชีพของพนักงาน และแน่นอนว่าผลกระทบดังกล่าวขยายไปกระทบต่อความมั่นคงของครอบครัวพนักงานด้วยเช่นกัน

จากจุดนี้เองที่ทำให้ผู้บริหารของบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญในการพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะด้านการกินอยู่ การมีแนวทางช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารของพนักงาน น่าจะเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ก่อน และมีโอกาสลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และสร้างโอกาสในอนาคตได้ จึงร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองและความมั่นคงทางอาหารเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารในพื้นที่เมือง สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างในบริษัท ขนาด 1.5 ไร่ ซึ่งเดิมเตรียมการสำหรับการขยายโรงงาน มาพัฒนาเป็นพื้นที่อาหาร แหล่งผลิตอาหารสด สะอาด ปลอดภัยให้กับพนักงานและคนในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิด

ทว่ากว่าจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ให้กลายเป็นพื้นที่อาหารปลอดภัย ให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตนำไปบริโภค และแบ่งปันให้กับพนักงานได้นั้น ก็อาศัยต้องการเรียนรู้ การลงมือทำ ความเอาจริงเอาจัง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างผู้บริหาร พนักงาน และวิทยากรพี่เลี้ยง เพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกันหลายเดือน เนื่องจากสมาชิกที่มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่อาหารแห่งนี้ ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ด้านการทำเกษตรมาก่อนเลย การเริ่มนับ…หนึ่ง ภายในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งในเรื่องการแพร่ระบาดของโรค มาตรการป้องกันความเสี่ยง และวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ จึงยิ่งเพิ่มความยากของการเริ่มต้น แต่ด้วยการมีพื้นที่พูดคุยกัน การวางแผนการทำงานแบบมีส่วนร่วม การสนับสนุนด้านความรู้ และงบประมาณ ทำให้การดำเนินงานสามารถเดินหน้าได้ โดยมีแนวทางน่าสนใจ และอยากนำมาแบ่งปัน ดังนี้

🟢เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ เปิดใจ พูดคุยอย่างเข้าใจสถานการณ์ของผู้คนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมไปจนถึงผู้คนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานดังกล่าว เชื่อว่าหลายคนอาจจะสนใจปลูกผักจากความต้องการเข้าถึงอาหารปลอดภัย หรือเป็นกิจกรรมยามว่าง แต่ในสถานการณ์วิกฤตเช่นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นช่วงเวลาและโอกาสที่เหมาะสมที่สุด สำหรับผู้จะเริ่มต้นทำเกษตรในเมือง ที่มีเป้าหมายไปสู่ การฟื้นฟูทักษะชีวิต ทักษะพื้นฐานสำคัญในการพึ่งตนเองด้านอาหาร เรียนรู้การเพาะปลูก/ผลิตอาหาร ซึ่งในวิกฤตนี้ จะช่วยหนุนเสริมให้เกิดช่องทางในการเข้าถึงอาหาร ลดภาวะขาดแคลนอาหาร ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร/ค่าครองชีพ ไปจนถึงอาจจะช่วยยกระดับไปถึงการเป็นรายได้เสริม เป็นช่องทางอาชีพใหม่ๆ ในสถานการณ์วิกฤตและมีความไม่มั่นคงหลายอย่างในชีวิต ดังนั้นการทำเกษตรในเมือง หรือการสร้างพื้นที่อาหารของ หจก.ถาวรเมดไลน์ จึงไม่ใช่เพื่อเป็นกิจกรรมยามว่าง ไม่ใช่เพื่อสร้างสวนสวยๆ ให้กับบริษัท หรือให้คุณค่าเพียงแค่อาหารปลอดภัย แต่พื้นที่อาหารที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการอยู่รอดของพนักงานทุกคน เพราะเมื่อทุกคนรายได้ลดลง ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเข้าถึงอาหาร การทำงานในพื้นที่อาหารนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนอาหาร ที่สำคัญยังช่วยให้พนักงานมีทักษะชีวิตมากขึ้น มีโอกาสสร้างรายได้เสริมนอกจากการทำงานล่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอน

🟢นโยบายของผู้บริหารที่จริงจัง จริงใจ และเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน อาจจะด้วยความโชคดีของบริษัทขนาดเล็ก ที่มีพนักงานไม่มาก พนักงานและผู้บริหารมีความใกล้ชิด มีความเป็นครอบครัวสูง และชัดเจนว่านโยบายการทำเกษตรในเมืองนี้ ผู้บริหารวางความสำคัญไว้ที่ “การเป็นพื้นที่อาหารสำหรับพนักงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของพนักงาน เพิ่มพูนทักษะชีวิตให้กับพนักงาน และหากพนักงานสามารถทำเป็นอาชีพ อยากสร้างรายได้ ผู้บริหารก็สนับสนุนเต็มที่” การพัฒนาพื้นที่อาหารของบริษัทแห่งนี้ จึงมีทิศทางการพัฒนาที่เอื้ออำนวยให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติอย่างเต็มที่ ผู้บริหารก็ลงมือขุดดิน ปลูกผัก และเก็บเกี่ยวผลผลิตไปพร้อมๆ กับพนักงาน ดังนั้นนโยบายหรือการสนับสนุนจากผู้บริหารถือว่ามีบทบาทสำคัญของการขับเคลื่อนงานพื้นที่อาหารในองค์กร นโยบายที่ผนวกเรื่องการปลูกผัก/การทำเกษตรกรรมเป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพนักงานในบริษัท เป็นรูปธรรมสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มพูนทักษะชีวิต ยกระดับความสามารถของพนักงานทุกคน อย่าทำให้นโยบายเป็นคำสั่งการ หรือ เป็นแค่ประโยชน์ขององค์กร แต่จะต้องทำให้นโยบาย เป็นความจริงใจ ความเอาใจใส่ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกๆ ส่วน ทั้งร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์

🟢เริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ ไม่ต้องใหญ่มาก พื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ เป็นข้อสำคัญของการเริ่มต้นที่ดี เพราะส่วนใหญ่มักต้องการทำสวนผักเต็มพื้นที่ มีพื้นที่เท่าไหร่ก็จะทำทั้งหมด เพราะอยากให้มีพื้นทีเพาะปลูกมากๆ สามารถผลิตอาหารได้เยอะๆ แต่สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ต้องอาศัยช่วงเวลาของการเรียนรู้ การทดลอง การการจัดการที่ต่อเนื่อง ดังนั้นการทำในพื้นที่ขนาดเล็ก เหมาะสมกับการดูแล และวิถีชีวิตของพนักงานที่เข้ามาทำงานร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง แม้ว่าบริษัทแห่งนี้จะมีพื้นที่ว่างขนาด 1.5 ไร่ แต่ในช่วงปีแรกของการทำงาน พวกเขาเริ่มพัฒนาพื้นที่อาหารเพียง 200 ตารางวาเท่านั้น เพื่อเรียนรู้พื้นฐานสำคัญของการทำเกษตรในเมือง และสามารถบริหารจัดการเวลาการทำงานในโรงงาน และเวลาในการทำงานสวนได้ลงตัว เมื่อเรียนรู้ทั้งในด้านการเพาะปลูก การเตรียมปัจจัยการผลิต ฤดูกาลเพาะปลูก การบริหารจัดการพื้นที่ครบรอบหนึ่งปี สมาชิกก็สามารถนำความรู้ไปออกแบบพื้นที่ ขยายพื้นที่การเพาะปลูกอย่างเป็นขั้นตอนเป็นระบบมากขึ้น

🟢สังเกต เรียนรู้ เข้าใจพื้นที่อาหาร และระบบนิเวศในพื้นที่อาหารของตนเอง เพราะด้วยเมืองมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตร คนปลูกผักในเมืองจึงต้องอาศัยการเรียนรู้ การสังเกตระบบนิเวศต่างๆ ในพื้นที่ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศ แสงแดด และผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่อาหาร ในพื้นที่เป็นดินแบบไหน ต้องปรับปรุงดินอย่างไร ทิศทางและปริมาณแสดงแดดในพื้นที่ น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร ผักชนิดไหนที่สมาชิกชอบทาน ฤดูกาลไหนควรปลูกผักอะไร สังเกตลักษณะพืช โรคพืช โรคแมลงที่พบ ซึ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่คนปลูกผักในเมืองต้องเรียนรู้ ตามบริบทพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในแปลง โดยมีทีมวิทยากรพี่เลี้ยงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการเรียนรู้นี้

🟢ยกระดับการทำปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญกับการทำเกษตรกรรมในเมืองด้วยตนเอง จากการหมุนเวียนทรัพยากรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ เช่น นำขยะอาหารมาทำปุ๋ยหมัก นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำน้ำหมักชีวภาพ ฮอร์โมนบำรุงพืช รวมถึงการเพาะกล้า เพราะนอกจากจะได้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการ การใช้สอยในพื้นที่แล้ว การพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิตยังช่วยลดต้นทุนการผลิตของการทำเกษตรในเมืองได้เป็นอย่างมาก แถมหลายๆ เรื่องยังช่วยพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีกด้วย

🟢จดบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่อง หลายคนมักเข้าใจว่าการจดบันทึกข้อมูลผลผลิตมีความสำคัญเฉพาะกับการผลิตเพื่อจำหน่าย แต่จริงๆ แล้วการจดบันทึกข้อมูลนั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการวางแผนที่สำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้พื้นที่ได้เรียนรู้ศักยภาพการผลิตอาหารของตนเอง ได้ทดสอบ เปรียบเทียบข้อมูลความแตกต่างของการเพาะปลูกรูปต่างๆ ฤดูกาลของอาหาร ความสมบูรณ์แข็งแรงของผลผลิต ที่สามารถนำไปพัฒนา แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญข้อมูลนี้จะมีความสำคัญอย่างมากในการนำไปบริหารจัดการแปลง หากมีเป้าหมายไปสู่การพึ่งตนเองด้านอาหารที่มากขึ้น ความพอเพียงของอาหาร หรือเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นพื้นที่อาหารดังกล่าวจะช่วยกระจายอาหารเลี้ยงดูพนักงานได้มากน้อยแค่ไหน และแน่นอนที่สุดการบบันทึกข้อมูลมีความจำเป็นอย่างมากหากจะพัฒนาเป็นอาชีพและรายได้

🟢มีพื้นที่ของการแลกเปลี่ยน สรุปบทเรียน วางแผนพัฒนาต่อ และเชื่อมโยงเครือข่ายอาหารให้กว้างขึ้น

การทำพื้นที่อาหารของสวนผักถาวรฯ ในปีแรก มุ่งเน้นการปลูกผักสวนครัวที่ใช้ในการประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาด ผักสลัด ถั่วฝักยาว บวบ แตงกวา ฯลฯ มีการพัฒนาพื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา ทำแปลงปลูกขนาด 1 x 3 เมตร จำนวน 12 แปลง และมีค้างปลูกผักเลื้อยขนาด 1 X 12 เมตร จำนวน 3 แปลง เรียนรู้การปรับปรุงดินเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว มีความเป็นกรดสูง ในช่วงครึ่งปีแรก แม้จะมีการปรับปรุงดินอย่างต่อเนื่อง แต่ดินยังมีความเป็นกรดสูง ทำให้ได้ผลผลิตแคระแกร็น และมีปริมาณน้อยมากไม่เพียงพอต่อการแบ่งปันให้กับพนักงานทุกคน แต่ในช่วงหลังจากที่ร่วมกันปรับปรุงดินหลายครั้ง ทำให้ดินมีสภาพเป็นกลางมากขึ้น และเริ่มได้ผลผลิตมากขึ้นสามารถแบ่งปันสมาชิกได้อย่างทั่วถึง รวมถึงมีการทำอาหารกลางวันทานด้วยกัน เป็นสวัสดิการอาหารให้กับพนักงานสัปดาห์ละ 1 วัน ที่พนักงานไม่ต้องจ่ายค่าอาหารกลางวัน และยังสามารถนำอาหารกลับไปทานมือเย็นกับครอบครัวได้อีกด้วย

การทำงานในปีแรก พบว่า สามารถลดรายจ่ายด้านอาหารได้ 200 บาท/เดือน/ครอบครัว โดยมีแนวโน้มผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับเวลา ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารโดยรวมให้กับกลุ่มสมาชิกได้ประมาณ 2,000 -3,000 ต่อเดือน

และในปีนี้ ทางสวนผักถาวร มีเป้าหมายร่วมกันว่า จะขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรม พื้นที่ผลิตอาหารให้เต็มพื้นที่ที่ยังว่างอยู่ อาจจะสามารถเพิ่มแปลงปลูกผักได้ถึง 40 แปลง รวมถึงการออกแบบพื้นที่ การจัดการแปลงให้สามารถหมุนเวียนการปลูกผักให้มีความต่อเนื่อง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกสัปดาห์ เพื่อนำมาจัดทำเป็นสวัสดิการอาหารกลางวันให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ละ 1 วัน เป็น 2 – 3 วัน/สัปดาห์ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารให้กับพนักงานได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้สมาชิกยังมุ่งหวังไปถึงการมีผลผลิตมากพอสำหรับการจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับพนักงานอีกด้วย

และแน่นอนว่า การพัฒนาพื้นที่อาหารของสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง ในปี 2565 -2566 นี้ นอกจากจะเพื่อยกระดับการผลิตอาหารของสวนผักในแต่ละพื้นที่แล้ว เรายังมุ่งไปสู่การยกระดับให้พื้นที่อาหารเหล่านี้ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้การสร้างพื้นที่อาหารที่มีความหลากหลายตามบริบทของเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่มคน ชุมชน หน่วยงานต่างๆ ที่สนใจสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายเครือข่ายพื้นที่อาหารของเมือง พร้อมทั้งการเชื่อมโยงพื้นที่การผลิตอาหารทั้งในเมือง ชานเมือง ชนบท และผู้บริโภค ใหเป็นเครือข่ายเพื่อนผู้ปลูก – ผู้กิน ที่ร่วมหนุนเสริมให้เมืองมีระบบอาหารที่ยั่งยืน #สวนผักคนเมือง#พื้นที่อาหารของเมือง#ปลูกเมืองปลูกชีวิต#สสส