สวนผัก ‘มีชีวิต’ @ สวนผักคนมืองชุมชนปิ่นเจริญ 1

เวลามีคนมาขอสัมภาษณ์เรื่องการขับเคลื่อนงานเกษตรในเมือง ทั้งด้านงานวิจัย งานสังคม รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ ก็มักจะมีคำถามว่า

☑️อะไรคือปัจจัยความสำเร็จของสวนผักชุมชนในแต่ละแห่ง ?

☑️อะไรคือคือตัวชี้วัดว่าสวนผักชุมชนจะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน?

☑️อะไรคือแรงบันดาลใจหรือความมุ่งหวังของคนทำงานที่เกาะติดประเด็นมากกว่า 10 ปี ?

ในฐานะคนทำงานโครงการสวนผักคนเมืองตั้งแต่เริ่มแรก เห็นทั้งการเติบโต การย่อ/ขยายส่วน และการสูญหายไปของสวนผักชุมชนมามากมาย แต่หากจะประเมินถึงตัวชี้วัดสำคัญ ว่าอะไรที่ทำให้สวนผักชุมชนหลายแห่งที่เริ่มต้นทำงานมาด้วยกันตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ (ปี 2553 – 2555) ปัจจุบันก็ยังดำเนินกิจกรรมอยู่ แม้จะไม่เคยได้รับทุนสนับสนุนอีกเลยก็ตาม บางแห่งเจออุปสรรคมากมาย ทั้งน้ำท่วม เจ้าของที่ดินขอคืนพื้นที่ แต่ก็ยังพยายามทำสวนผักชุมชนมาเรื่อยๆ

ตัวชี้วัด หรือปัจจัยสำคัญ ที่เราพอสรุปได้ว่าทุกสวนมีเหมือนกัน คือ ต้องเป็น “พื้นที่ที่มีชีวิต” หรือที่เราคนทำงานขับเคลื่อนงานเกษตรในเมืองเรียกว่า “ต้องทำให้เป็นวิถีชีวิต” นั่นเอง ซึ่ง “พื้นที่ที่มีชีวิต” มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ส่วน

❤️องค์ประกอบที่ 1 คือ สมาชิก หรือผู้คนที่อยู่ในสวนผักชุมชนแห่งนั้น ต้องทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันด้วยความมีชีวิตชีวา มีความสุข สนุกสนาน เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม มีการแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น ทั้งเรื่องเกษตร ไปจนถึงเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การทำอาหาร สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เรื่องในครอบครัว ที่สามารถพูดคุยกันได้ในพื้นที่แห่งนี้

❤️องค์ประกอบที่ 2 คือ ความมีชีวิตชีวาของพืชผัก ที่กำลังเติบโตงอกงาม ให้คนปลูก คนดูแล และคนที่เดินเข้ามาภายในสวนผักชุมชนได้ชื่นชม รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนั้นๆ และยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งชัดเจนว่าเวลาที่เราเดินเข้าไปในสวนที่เต็มไปด้วยผักที่กำลังเติบโต อวดความแข็งแรง ความสมบูรณ์ จิตใจของเราก็จะรู้สึกสดชื่นเบ่งบาน แต่ถ้าเข้าไปในสวนที่แห้งแล้ง พืชผักเหี่ยวเฉา จิตใจเราก็จะหดหู่ตามไปด้วย นอกจากจะสดชื่นแล้ว ผลผลิตที่งอกงามก็คือสิ่งตอบแทนแรงกาย แรงใจของคนปลูกผักที่สำคัญ ยิ่งปลูกยิ่งงาม ก็อยากทำกันไปเรื่อยๆ และแน่นอนว่าการจะมีพืชผักที่แข็งแรงสมบูรณ์ก็ต้องอาศัยการเรียนรู้จากวิทยากร การค้นคว้าหาข้อมูล เทคนิคต่างๆ นำมาทดลอง ปรับใช้ จนได้สูตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง

❤️องค์ประกอบที่ 3 คือ สวนผักชุมชนนั้น จะต้องไม่เพียงตอบแทนหรือให้ประโยชน์เฉพาะกับคนปลูก คนดูแลหลักเท่านั้น แต่จะต้องสามารถเชื่อมโยง กระจายประโยชน์ไปยังคนอื่นๆ ในชุมชนด้วย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกหลักในการดูแลสวนผัก แต่ก็ยังสามารถได้รับการแบ่งปันประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทั้งผักสดๆ เอาไปทำอาหาร การมีพื้นที่สีเขียวในชุมชนให้ได้เดินออกกำลังกาย เดินชื่นชมสูดอากาศบริสุทธิ์ เป็นพื้นที่เรียนรู้ของลูกๆ หลานๆ หรือบางแห่งก็ช่วยลดพื้นที่เสี่ยงของชุมชนอีกด้วย ซึ่งส่วนนี้เองจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่คนในชุมชนเห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้สวนผักชุมชนสามารถทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของคนในชุมชนทุกคน

และหากจะถามว่า มีตัวอย่างสวนผักชุมชนไหนบ้างที่สะท้อนให้เห็นทั้ง 3 องค์ประกอบสำคัญที่กล่าวมา จริงๆ ก็มีหลายแห่ง แต่วันนี้ขอพูดถึง สวนผักคนมืองชุมชนปิ่นเจริญ 1 เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

สวนผักชุมชนปิ่นเจริญ 1 เริ่มต้นดำเนินกิจกรรมในปี พ.ศ.2554 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ชุมชนแห่งนี้จมน้ำนานกว่า 2 เดือน หลังน้ำลดคณะกรรมการชุมชนได้เริ่มลงมือพัฒนาพื้นที่สวนผักชุมชนทันที เพราะก่อนน้ำท่วมมีการประสานงานกับโครงการสวนผักคนเมืองไว้แล้ว น้ำท่วมเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญเรื่องการทำสวนผักชุมชน เพื่อจะได้มีแหล่งอาหารสำหรับพึ่งตนเองได้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ความพิเศษของสวนผักชุมชนปิ่นเจริญ 1 คือ เป็นสวนผักที่รวมผู้สูงอายุในชุมชนอย่างแท้จริง สมาชิกที่มาช่วยกันทำอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน ทั้งชายและหญิงมาช่วยกันพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของเอกชนที่อนุญาติให้ใช้ประโยชน์ ขนาด 800 ตารางเมตร บางคนช่วยขุดดิน ยกร่องแปลงผัก เตรียมดิน บางคนถนัดหว่านเมล็ด ย้ายกล้า รดน้ำผัก บางคนถนัดเรื่องทำสารไล่แมลง บางคนถนัดเก็บเกี่ยวผลผลิตไปส่งให้ร้านอาหาร ตลาดนัดในชุมชน บางคนก็ถนัดเตรียมอาหารมาให้เพื่อนกินเมื่อเหนื่อยจากงานสวน บางคนก็เป็นฝ่ายสร้างเสียงหัวเราะ แวะมาพูดคุย สร้างรอยยิ้มในสวนผักให้มีมากขึ้น

ความมีชีวิตชีวานี้เอง ทำให้สมาชิกขาดสวนผักไม่ได้ เพราะสวนผักชุมชน เป็นเสมือนพื้นที่นัดพบกัน ตื่นเช้ามาก็อยากมาสวน มากินกาแฟด้วยกัน ทำสวน รดน้ำผัก มากินกาแฟ กินข้าวเช้าด้วยกัน พอแดดร้อนก็กลับบ้านไปพักผ่อน ไปทำงานส่วนตัว พอบ่ายๆ ก็กลับมาเจอกันอีก มารดน้ำ เก็บผักแบ่งปันกัน บางครั้งถ้ามีคนมาสั่งซื้อก็จะช่วยกันมัดผักไปส่งลูกค้า

ผลผลิตจากสวนผักชุมชนนี้ จะเน้นแบ่งปันให้สมาชิกได้นำกลับไปกินที่บ้าน อีกส่วนก็จะมีคนในชุมชน ร้านอาหาร รวมถึงแผงขายผักในตลาดชุมชนมาสั่งจองไว้ ผลผลิตในสวนจึงไม่ได้เดินทางไปไหนไกล ก็หมุนเวียนอยู่ในจานอาหารของสมาชิกในชุมชนนี่เอง สวนแห่งนี้จึงเน้นปลูกผักที่คนในชุมชนชอบทาน หลักๆ คือ ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง พริก กะเพรา โหระพา แมงลัก ผักชี ต้นหอม

ในสวนผักชุมชนปิ่นเจริญ 1 มีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยสีสันความสุขของผู้คนที่เติบโตพร้อมๆ กับพืชผักในแปลงมาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อปลายปี 2562 เราทราบข่าวว่า เจ้าของที่ดินขอคืนพื้นที่เพื่อนำไปสร้างอาคารที่พักอาศัย หลังจากให้ใช้ประโยชน์มานานหลายปี สมาชิกตัดสินใจหาพื้นที่ปลูกผักแห่งใหม่ โดยย้ายไปใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ริมบึงน้ำ และเริ่มค่อยๆ พัฒนาพื้นที่ทีละเล็กทีน้อยตามแรงกาย และทุนทรัพย์ที่ระดมกันเองในกลุ่มสมาชิก จึงยังไม่สามารถทำได้เต็มรูปแบบ และพัฒนาได้เต็มพื้นที่

ปี 2565 นี้โครงการสวนผักคนเมืองได้เข้าไปทำงานสนับสนุนสวนผักชุมชนแห่งนี้อีกครั้ง ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเน้นให้สมาชิกสามารถพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิตให้ได้มากที่สุด ทำดินหมัก ปุ๋ยหมัก เพาะต้นกล้า น้ำหมัก ฮอร์โมนต่างๆ ไว้ใช้สำหรับการทำเกษตร ที่สำคัญปีนี้เราอยากเน้นให้สวนผักชุมชนปิ่นเจริญ 1 สามารถปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ มีความอุดมสมบูรณ์ และมีการวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่องของผลผลิต

หลังจากไม่ได้ลงพื้นที่นี้มานาน 2 ปี มีเพียงการโทรศัพท์พูดคุย ถามข่าวคราวกันเรื่อยๆ เมื่อสัปดห์ที่แล้วมีโอกาสลงไปร่วมในงานอบรมหลักสูตรการปลูกและการดูแล กับอาจารย์เติ้ล วิทยากรหลักของเรา สวนผักชุมชนแห่งนี้ก็ยังเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และความสุขของลุงๆ ป้าๆ ที่เป็นสมาชิกเก่าๆ ก็ยังอยู่ทำงานด้วยกัน และมีสมาชิกเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันเพิ่มอีกหลายคน รวมแล้วเกือบ 20

พอเราไปถึง ลุงๆ ก็รีบคว้ามือ พาไปดูถั่วฝักยาว ที่มีความยาวถึง 78 เซนติเมตร ชี้ให้ดูผักกาดขาวต้นใหญ่ พาไปดูโรงหมักปุ๋ยที่สมาชิกช่วยกันเตรียมไว้กองใหญ่ เก็บแตงกวามาใช้ชิม พร้อมบอกแผนงานอีกมากมายที่สมาชิกเตรียมการจะพัฒนาพื้นที่สวนผักชุมชนแห่งนี้ให้เต็มไปด้วยพืชผัก และจะมีผลผลิตจำนวนมากให้กับคนในชุมชนที่เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ

เรานั่งฟังไป ยิ้มไป เพราะสิ่งที่ลุงๆ ป้าๆ บอกเล่านั้น มันไม่ใช่ความเพ้อฝัน แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น และจะยิ่งเห็นชัดขึ้นๆ ในวันข้างหน้า

ไม่ว่าจะกลับมากี่ครั้ง สวนผักคนเมืองชุมชนปิ่นเจริญ 1 ก็ยังคงเป็น “พื้นที่ที่มีชีวิต” ครั้งนี้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องสวนผักเป็นวิถีชีวิตของสมาชิกชาวชุมชนปิ่นเจริญ 1 หรือไม่ พี่สันติ พี่ณรงค์ พี่เรืองฤทธิ์ พี่ประสงค์ และสมาชิกหลายคนบอกกับเราว่า …

“เป็นวิถีชีวิต ไม่ได้หมายความว่า ทั้งวันเราต้องทำแต่สวนผัก หรือสวนผักต้องเป็นอาชีพหลักของเรา แต่เรารู้สึกว่าในวันหนึ่งๆต้องมาสวนผักให้ได้ มันขาดกันไม่ได้ เช้าต้องมารดน้ำ เย็นต้องมาเก็บผัก ไม่ต้องอยู่ทั้งวัน แต่รู้สึกอยากมาทุกวัน

“พวกเราชินกับรสชาติ และความเชื่อมั่นของผักที่เราปลูกเอง อย่างถั่วฝักยาวนี่ ตั้งแต่กินที่ตัวเองปลูก ก็ไม่กินของตลาดอีกเลย มันรู้สึกเหม็นสารเคมี ตอนนี้ถ้าไม่มีถั่วฝักยาวจากสวนก็ไม่กินกันเลย”

“เราเน้นปลูกผักที่คนในชุมชนต้องการ ชอบกิน หลายคนมาสั่งจองผักล่วงหน้า ถั่วฝักยาวนี่หลายคิวแล้ว คนปลูกผักก็มีกำลังใจทำสวน เพราะลูกค้าเรียกร้องผักจากสวน ชื่นชมว่าผักที่สวนอร่อยที่สุด และปลอดภัย”

“นี่บอกตรงๆนะ ถ้าไม่ได้ทำสวน ไม่มีสวนผักให้มาพบปะกัน พวกเราหลายคนคงป่วยติดเตียงไปแล้ว ดีที่ตื่นเช้ามาก็ได้เดินมาสวน ได้หัวเราะ ได้เจอเพื่อน ได้กินอาหารดีๆ”

นี่คือข้อความสั้นๆ จากผู้คนที่มีชีวิต มีความสุข และผูกพันธ์กับสวนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สวนผักได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นวิถีชีวิตของพวกเขาที่ขาดไม่ได้

และยังส่งต่อมาถึงคนทำงานอย่างเรา ให้รู้สึกมีชีวิตชีวาไปด้วย รับรองว่าปีหน้าโครงการสวนผักคนเมืองจะพาผู้อ่านไปสัมผัสความมีชีวิตชีวาถึงที่กันเลย โปรดติดตามมมมมมมม

#สวนผักคนเมือง #ปลูกเมืองปลูกชีวิต #ความมั่นคงทางอาหาร