ยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารในพื้นที่จำกัด @สวนผักคนเมืองชุมชนลำสาลีพัฒนา

แม้จะมีพื้นที่จำกัด และมีน้ำท่วมขังในช่วงฝนตก แต่ไม่ใช่ข้อจำกัดของพี่น้องกลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มชุมชนลำสาลีพัฒนา ที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่การทำสวนผักชุมชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร เสริมทักษะชีวิต และอาชีพใหม่ๆ ให้กับสมาชิก

ชุมชนลำสาลีพัฒนา ส่วนใหญ่เป็น ‘แรงงานนอกระบบ’ เช่น กลุ่มผู้รับงานมาทำที่บ้าน มอเตอร์ไซด์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย ช่างตัดผม มีอาชีพแบบหาเช้ากินค่ำ เมื่อไม่ได้ทำงานก็ไม่มีรายได้เพียงพอที่ดูแลคนในครอบครัว ซึ่งถือเป็น ‘กลุ่มเปราะบาง’ เกือบในทุกวิกฤตและภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม, โควิด-19, และเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำงานรับจ้าง เมื่อเกิดความมั่นคงด้านการจ้างงาน ก็ส่งผลต่อความมั่นคงทางรายได้ และความมั่นคงทางอาหาร ตามลำดับ

การทำเกษตรในเมือง หรือการทำสวนผักชุมชน จึงมีความสำคัญ และน่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของการอยู่รอดในสถาการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และการจ้างงานในปัจจุบัน เพราะสมาชิกในกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันว่า

❤️การทำเกษตรในเมืองจะช่วยยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหาร ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนอาหารในช่วงวิกฤตต่างๆ

❤️การทำเกษตรในเมือง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารในครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ การลดค่าใช้จ่ายจึงเป็นการแก้ปัญหาสำคัญของกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพราะข้อมูลจากการศึกษาวิจัย พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านอาหารมีสัดส่วนมากถึง 35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับคนทั่วไป และมากกว่า 50% สำหรับคนจนและผู้มีรายได้น้อย

❤️การทำเกษตรในเมือง เป็นช่องทางโอกาสของการเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพใหม่ๆ ให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพราะที่ผ่านมาทำอาชีพรับจ้างอย่างเดียว เกษตรกรรมสามารถเป็นอาชีพทางเลือก

❤️การทำเกษตรในเมืองจะช่วยส่งเสริมสวัสดิการทางสุขภาพและสังคมให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มาจากการทำกิจกรรมเกษตร อาทิ การเข้าถึงการบริโภคอาหารปลอดภัย การผ่อนคลายความเครียด ความกังวลใจ และการปฎิสัมพันธ์กันในกลุ่ม

แต่การเริ่มต้นทำสวนผักชุมชนของกลุ่มลำสาลีพัฒนานั้น ก็มีข้อจำกัด และอุปสรรคจากปัจจัยภายใน ได้แก่ พื้นที่ที่อยู่อยู่จำกัดและไม่เหมาะสมกับการทำเกษตร, ประสบการณ์ ความรู้เรื่องเกษตรของสมาชิก, แรงงาน หรือสุขภาพร่างกาย เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เคยทำแต่งานเย็บผ้าอยู่ในบ้าน ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมขังนานในช่วงฤดูฝน, สัตว์เลื้อยคลานและหอยเข้ามาทำลายสวนผักเพราะอยู่ติดคลอง, ปัจจัยการผลิตมีราคาสูงและเดินทางไกล รวมถึงหากมีงานเข้ามาสมาชิกส่วนใหญ่ก็จะต้องกลับไปทำงานก่อนเพื่อให้มีรายได้ ซึ่งสำหรับกลุ่ม/ชุมชนที่กำลังจะเริ่มต้นทำสวนผักชุมชน ขาดประสบการณ์และความเชื่อมั่น หากเจอกับข้อจำกัด และอุปสรรคมากขนาดนี้ ก็อาจจะเกิดความท้อแท้ หรือล้มเลิกเรื่องปลูกผักไปเลย

แต่การเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างเพื่อนสมาชิก พี่เลี้ยง วิทยากร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสวนผักคนเมืองชุมชนลำสาลีพัฒนา เป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ข้อจำกัด และอุปสรรคหลายข้อ กลายเป็นแรงผลักดันให้ชุมชนมุ่งมั่นในการสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนอย่างเข้าใจ และถูกต้อง ซึ่งสวนผักคนเมืองขอสรุปบทเรียนของกลุ่ม เพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน ดังนี้

✅มีเป้าหมาย และความฝันร่วมกัน จากการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อกังวล ศักยภาพและความสามารถในการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเปิดใจ ชัดเจนว่าการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนไม่ใช่หน้าที่ หรือความชอบ หรือความเสียสละของใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะต้องมาจากการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ของผู้คนส่วนใหญ่

✅รู้สถานการณ์ และข้อจำกัดร่วมกัน เพื่อให้สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ว่าการทำสวนผักชุมชนจะเกิดในรูปแบบไหนได้บ้าง เช่น น้ำท่วมเป็นประจำ มีพื้นที่จำกัด มีแต่แรงงานผู้หญิง ปัญหาและข้อจำกัดเหล่านี้ ต้องนำไปสู่การวิเคราะห์ และวางแผนให้เหมาะสม เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมมีความเป็นไปได้ สอดคล้องกับบริบทของกลุ่ม/ชุมชน

✅มีความรู้พื้นฐานเรื่องการทำเกษตรในเมือง เช่น การปลูกผักในเมือง ต้องมีความรู้เรื่องดิน น้ำ แสงแดด ลม และฤดูกาลเพาะปลูก เป็นพื้นฐานสำคัญก่อนจะเริ่มลงมือทำ ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก่อน หลังจากนั้นก็ต้องนำความรู้ไปลงมือทำ ช่างสังเกต เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรเหมาะกับพื้นที่สวน และปรับเปลี่ยน พัฒนาให้เหมาะสม

✅การบริหารจัดการกลุ่ม ซึ่งมีความสำคัญและถือปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จและความยั่งยืนเลยก็ว่าได้ การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนั้นจำเป็นต้องอาศัยการพูดคุย การเปิดโอกาสให้ได้ทำงานร่วมกัน การแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความสนใจ ความถนัดของแต่ละคน การแบ่งปันประโยชน์จากผลผลิตที่เกิดขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงกิจกรรมการปลูกผักไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ไม่ได้มองการปลูกผักเป็นเพียงเรื่องอาหารปลอดภัยเพียงอย่างเดียว

✅‘รอให้เป็น’ สิ่งนี้เป็นอีกเรื่องสำคัญที่อาจารย์เติ้ล วิทยากรประจำสวนผักคนเมืองมักพูดถึงบ่อยๆ เพราะคนเมืองชอบอะไรที่เร็วๆ ปลูกแล้วก็อยากเห็นผักโตเลย ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติของการปลูกผักโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง คำว่า รอให้เป็น หมายถึง ต้องเข้าใจธรรมชาติพื้นฐานของการทำเกษตร การเจริญเติบโตของพืชผักว่าต้องอาศัยเวลาตั้งแต่การเพาะกล้า การย้ายลงแปลง อายุการเก็บเกี่ยว การเตรียมดินที่ดี ต้องมีกระบวนการหมักดิน ใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ถึงจะได้ดินที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการปลูกผัก ดังนั้นการรอให้เป็น จะต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความอดทน และนำไปสู่การบริหารจัดการเวลา การบริหารจัดการแปลงที่ถูกต้อง เช่น ต้องมีเวลาเตรียมดิน มีเวลาเพาะกล้า มีการในการลงแปลง จนถึงช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวผลผลิต

สวนผักคนเมืองชุมชนลำสาลีพัฒนา จึงดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมยาวนานเกือบ 2 เดือน โดย

1️⃣ใช้รูปแบบการปลูกผักในภาชนะ และแปลงผักยกพื้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง และพื้นที่จำกัด เพราะการปลูกผักในภาชนะสามารถเคลื่อนย้ายได้ และขยายพื้นที่ปลูกผักได้ง่าย สะดวก อีกทั้งยังเป็นการเติมดินใหม่เข้าไป ทำให้สามารถเตรียมดิน กำหนดคุณภาพของดินได้ง่ายกว่า

2️⃣ช่วงน้ำท่วม คือ เวลาของการเตรียมดิน หมักดินจากเศษอาหารในชุมชน จากเดิมที่การปลูกผักของสมาชิกเป็นการซื้อดินสำเร็จมาปลูกผัก ซึ่งก็มักเจอกับปัญกาเรื่องปลูกผักแล้วไม่ค่อยโต ได้ผลผลิตดีรอบเดียว รอบต่อไปผักไม่โต ดินแน่นน้ำไม่ระบาย ไม่มีเนื้อดินมีแต่แกลบเผา การเรียนรู้เรื่องการเตรียมดินที่ดีของชุมชน จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้สมาชิกได้เข้าใจเรื่องพื้นฐานสำคัญของการทำเกษตรในเมือง

3️⃣เพาะกล้าให้แข็งแรง ด้วยมีพื้นที่จำกัด นอกจากการเตรียมดินให้ดีแล้ว การเพาะกล้า และเลือกต้นกล้าที่แข็งแรงนำไปลงปลูก ก็ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยให้การปลูกผักมีประสิทธิภาพ และได้ผลผลิตที่แข็งแรงสมบูรณ์ และการดูแล บำรุงไปจนถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว

4️⃣แบ่งปันความสำเร็จ และความภูมิใจ จากการลงมือทำ ผลผลิตที่ได้นอกจากจะสร้างสนใจให้กับคนในชุมชนแล้ว แต่พืชผักที่เติบโตงอกงาม ยังได้ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ และความภูมิใจให้กับเหล่ามือปลูกหน้าใหม่อีกด้วย ที่สะท้อนให้แห็นว่า การลงมือทำอย่างเข้าใจ และอดทนให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเพียงใด

เตรียมดิน การเพาะกล้าจากวิทยากร โดยนำขยะอาหารจากครัวเรือนของสมาชิกมาหมักร่วมด้วย ใช้เวลา 1 เดือน ก็นำดินดีลงกระถาง ย้ายต้นกล้าลงปลูก เดือนพฤศจิกายน สมาชิกสามารถเก็ยเกี่ยวผลผลิตรอบแรกได้ 15 กิโลกรัม สามารถแบ่งปันให้กับผู้คนในชุมชนได้ 22 คน เริ่มจากการมีพื้นที่ปลูกผักเพียง 20 ตารางเมตร

และเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขามีความเชื่อมั่นในการทำเกษตรในเมืองว่า สามารถทำได้ มีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ รสชาติอร่อย และมีแผนจะกระจายการปลูกผักไปยังบ้านของสมาชิกอื่นๆ ในชุมชนอีกด้วย

🎯วางเป้าหมายให้ชัด เรียนรู้ ลงมือทำ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม และทำอย่างต่อเนื่อง

#สวนผักคนเมือง #ปลูกเมืองปลูกชีวิต #พื้นที่อาหารของเมือง #แรงงงานนอกระบบ