เรื่องเล่า สถานการณ์ “(ไม่)มั่นคง” จากพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนคนทามแห่งลุ่มน้ำมูนตอนกลาง

เราอยากชวนพี่น้องคนเมือง – เครือข่ายผู้บริโภค-เครือข่ายเกษตรกร ร่วมปันน้ำใจ ช่วยฟื้นฟูพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรรายย่อยที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม ด้วย #ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์

หากจะพูดถึงวิถีชีวิตของพี่น้องในสังคมเกษตร ถ้านำปฏิทินการผลิตมากางดู ช่วงเวลานี้ในท้องนาของภาคอีสานคงเต็มไปด้วยต้นข้าวที่กำลังออกรวง และจะค่อยๆ สุกเหลือง เตรียมให้ได้เก็บเกี่ยวเมื่อย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนข้ามไปจนถึงช่วงปีใหม่ และแน่นอนว่าคนเมืองในฐานะผู้บริโภคอย่างเรา ก็เฝ้ารอการมาถึงของเทศกาลข้าวใหม่ เพื่อที่จะได้ลิ้มลองรสชาติความหอม นุ่ม ละมุนลิ้น พร้อมด้วยความหลากหลายของข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงผลผลิตผัก ผลไม้ ปลา และอาหารการกินอันหลากหลาย ที่พี่น้องเกษตรกรได้แบ่งปันมาให้ผู้บริโภคได้รื่นเริงและร่วมเฉลิมฉลองไปด้วยกัน

แต่ปีนี้เทศกาลข้าวใหม่คงต้องเลื่อนออกไป หรืออาจจะไม่มีข้าวใหม่ให้กินก็เป็นได้ เพราะในตอนนี้พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ผลิตอาหาร และที่อยู่อาศัยพี่น้องเกษตรกรที่ได้ลงทุนแรงกาย แรงใจ และเงินทุนในการผลิตอาหาร กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ กลาง อีสาน และตะวันออก ซึ่งวิกฤตการณ์นี้เกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

มาถึงวันนี้ #การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะวิกฤตภูมิอากาศที่เข้ามาคุกคามพื้นที่อาหารและความมั่นคงทางอาหาร เพราะภาคการเกษตรมีความสัมพันธ์กับภูมิอากาศเป็นอย่างมาก หากภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบตรงต่อระบบนิเวศ เผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย จากความผันผวนของฝนที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ฝนตกน้อย ฝนตกหนักกว่าปกติ อุณหภูมิที่ร้อนจัด หรือฤดูหนาวที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มเสียหายมากขึ้น ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพราะชาวนาหลายครัวเรือนต้องหว่านข้าวหลายรอบต่อฤดูกาล พืชติดดอกออกผลน้อย ไม่ว่าไม้ผล ข้าว รวมไปถึงพืชหัว ในขณะที่โรคและแมลงศัตรูพืชระบาดมากขึ้น รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากน้ำท่วม ภัยแล้งและพายุ แน่นอนว่า การปรับตัวของเกษตรกร เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีส่วนสำคัญ และตลอดเวลาที่ผ่านมาเครือข่ายเกษตรกรจำนวนไม่น้อย ได้มีการปรับตัว เพื่อรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนวันเพาะปลูกโดยการสังเกตฤดูกาลและเลือกวันที่เหมาะสม การสังเกตฝน- ฟ้า- อากาศในแต่ละปี การคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม การสร้างความหลากหลายพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในแปลงเกษตรเพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินและรักษาความชุ่มชื้นให้ดิน การจัดการดิน การสร้างระบบน้ำขนาดเล็กในแปลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงนี้ การปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยในหลายพื้นที่ ก็ยังไม่อาจทัดทานและรับมือกับปัญหาได้ ยกตัวอย่างพื้นที่ของ #เครือข่ายชุมชนคนทามแห่งลุ่มน้ำมูนตอนกลาง

ด้วยมีลักษณะพื้นที่แบบ #ภูมินิเวศทาม เป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นรอยต่อระหว่างผืนดินกับผืนน้ำ มีป่าที่เรียกว่า “ป่าทาม” เป็นระบบนิเวศในเขตลุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูฝน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ตรงแอ่งกลางตามแนวลำน้ำหลัก 3 สาย คือ ลำน้ำมูล ลำน้ำชี และลำน้ำสงคราม มีนิเวศย่อย คือพื้นราบ ห้วย ดอน หนอง/บึง ดอน วังและแม่น้ำ ในส่วนที่เป็นพื้นที่ราบนั้นจะติดกับภูมินิเวศทุ่งและภูมินิเวศโคกบางส่วน ช่วงเวลาน้ำท่วมจะมีพื้นที่ดอนที่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ จึงเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศภาคอีสาน เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน เป็นแหล่งสร้างเศรษฐกิจสำคัญของชุมชน เป็นแหล่งก่อกำเนิดวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ด้วยลักษณะของภูมินิเวศทาม หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ วิถีการดำรงชีวิต การผลิต และการหาอยู่ หากินกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแต่ละฤดูกาล ก็เป็นวิถีชีวิตปกติ และภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมา รวมไปถึงการเรียนรู้และปรับตัวครั้งสำคัญของพี่น้องในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ก็เป็นอีกหนึ่งการปรับตัวครั้งสำคัญ ที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วิถีการผลิตของชาวบ้าน

พี่ปราณี มรรคนันท์ ตัวแทนชุมชนคนทามแห่งลุ่มน้ำมูนตอนกลาง บอกเล่าข้อมูลให้ฟังว่า “พื้นที่นี้จะเจอกับปัญหาน้ำท่วมหนักทุกๆ 10 ปี แต่โดยปกติก็จะท่วมเฉพาะพื้นที่ลุ่ม พื้นที่นา ไม่เคยท่วมถึงบ้านสักที แต่ปี 65 นี้น้ำท่วมหนัก ท่วมสูง ท่วมเร็ว และไหลแรงมาก บ้านเรือนจมอยู่ใต้น้ำแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้เราจะเรียนรู้การปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่การสร้างเขื่อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง แต่น้ำท่วมปีนี้ต้องยอมรับเลยว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นมันเกินกว่าภูมิปัญญาเดิมที่เรามี การสังเกตและความรู้ที่ชาวบ้านมีอยู่ จะสามารถใช้กับการคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเตรียมรับมือได้ทัน”

ปีนี้สถานการณ์ในแม่น้ำมูนได้เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปลายเดือนกันยายน 2565 ถึงแม้ว่าเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาซึ่งเป็นเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำมูลตอนกลางช่วงจังหวัดศรีสะเกษถึง 2 เขื่อน จะพยายามระบายออกจากเขื่อนในปริมาณที่เยอะมากในแต่ละ แต่ด้วยน้ำต้นทุนที่เขื่อนกักเก็บไว้ก็เต็มความจุของเขื่อน สมทบรวมกับปริมาณน้ำฝน รวมถึงพายุโนรูที่พัดกระหน่ำ ตั้งแต่วันที่ 26-29 กันยายน 2565 ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำมูนเอ่อท่วมที่นา ทุ่งหญ้าและที่อยู่อาศัยเป็นบริเวณกว้าง ข้อมูลจากการประสานงานในเครือข่ายพี่น้องชุมชนคนทาม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ระบุชัดเจนว่า นาข้าว ที่อยู่อาศัยของพี่น้องเครือข่ายชุมชนคนทาม ท่วม 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งสิ้น 260 หมู่บ้าน (เขื่อนหัวนา 139 หมู่บ้าน, เขื่อนราษีไศล 121 หมู่บ้าน) หรือประมาณ 50,000 ครอบครัว

น้ำหลากท่วมครั้งนี้ (2565) พี่น้องหลายคนขาดการเตรียมการในการรับมือน้ำท่วม ต่างคนต่างคาดคะเนว่า “บ่คิดว่าน้ำจะท่วมขนาดนี้ เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยท่วมถึงขนาดนี้ถือเป็นการท่วมใหญ่ในรอบ 44 ปี” การใช้ความรู้เดิมในการสังเกตการณ์ คาดการณ์และวางแผนการจัดการทรัพย์สิน จึงไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ หลายครอบครัวต้องขนย้ายข้าวของแบบพะรุงพะรัง บางครอบครัวเก็บข้าวของไม่ทันก็ต้องยอมปล่อยให้ลอยไปกับกระแสน้ำ คนแก่ คนชรา รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง หากใครมีญาติพี่น้องที่อยู่บ้านโคก(หมู่บ้านที่อยู่ที่สูง) ก็ต้องย้ายไปฝากไว้กับญาติ ครอบครัวที่พอมีเงินก็ย้ายไปอยู่ในเมืองในพื้นที่ที่ใกล้โรงพยาบาล

การขนย้ายสัตว์เลี้ยงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะทุกคนคิดว่าน้ำจะมาไม่มาก การย้ายจึงเป็นการย้ายค่อยๆ ขยับตามระดับน้ำที่มากขึ้น แต่สถานการณ์น้ำในช่วงวันที่ 3-7 ตุลาคม 2565 น้ำในแม่น้ำมูลได้เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้าง ทำให้การจัดเก็บข้าวของ การขนย้ายเป็นไปอย่างชุลมุน สัตว์เลี้ยงตื่นกลัวเพราะไม่เคยเห็นน้ำมากขนาดนี้ คนในหมู่บ้านต้องออกแรงช่วยกันต้อนวัวควายกันทั้งหมู่บ้านเอาไปไว้ที่สูง🐂
จากสถานการณ์ปัจจุบันอาจบอกไม่ได้ว่าหมู่บ้านไหนหนักสุด เพราะทุกหมู่บ้านในเครือข่ายชุมชนคนทามท่วมทั่วทุกหมู่บ้าน และเดินทางไปมาหาสู่กันไม่ได้ หากจะไปมาหาสู่กันก็ต้องทางเรืออย่างเดียว ซึ่งน้ำไหลเชี่ยวมาก ชาวบ้านบอกว่า “อย่าไปเลยเพราะอันตราย” เราจึงได้เพียงการถามข่าวคราวกันทางโทรศัพท์
ข้อมูลความยากลำบากของพี่น้อง ณ ปัจจุบัน คือ

  • ข้าวที่มีอยู่เริ่มเหลือน้อยลงและบางครอบครัวข้าวหมดไม่มีกิน เพราะหลายครอบครัวตัดสินใจขายข้าวในเล้าล๊อตสุดท้ายออก เพราะเห็นว่าฝนมาช่วงท้ายฤดูกาลจึงขายเพื่อเอาเงินไปหว่านข้าว ทำนา และคาดการณ์ว่าอีกเดือนกว่าๆ ข้าวใหม่ก็จะมาแล้ว แต่น้ำท่วมใหญ่มาแบบไม่คาดคิด ข้าวที่กำลังใกล้จะเก็บเกี่ยวถูกน้ำท่วมเน่าตาย พืชผัก รวมถึงเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ก็จมน้ำไปหมด
  • น้ำดื่มสะอาด หลายหมู่บ้านเส้นทางเข้า-ออกถูกตัดขาด เพราะน้ำท่วมสูง รถเล็กและปิ๊กอัพวิ่งผ่านไม่ได้ รถส่งน้ำไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทำให้ขาดสะอาดสำหรับใช้ดื่ม
  • อาหาร พี่น้องบอกว่า “ถ้าขยันปลาบ่อึด หลายคักอึดแนแต่ข้าวกับน้ำ” แต่ทั้งหมดก็ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีความสามารถในการหาปลา อาหารก็ยังจำเป็นอยู่เช่นกัน แต่หากเลือกได้พี่น้องบอกว่าขอเป็นข้าวกับน้ำดื่มสะอาด
  • สัตว์เลี้ยง ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาให้ความช่วยเหลือหรือสำรวจเลย ทุกคนให้ความสนใจเฉพาะคน ซึ่งพี่น้องบอกว่าลำบากมาก ไม่มีฟางให้วัวควายกิน หาซื้อก็ไม่มี

ทั้งนี้ทางพื้นที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำท่วมของพี่น้องลุ่มน้ำมูนตอนกลาง ต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมอีกไม่น้อยกว่า 30 วัน เพราะน้ำไม่สามารถจะระบายได้ตามปกติตามธรรมชาติ

สถานการณ์ “(ไม่)มั่นคง” จากพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนคนทามแห่งลุ่มน้ำมูนตอนกลาง ที่เชื่อมโยงสายใยของระบบอาหารถึงผู้บริโภคในเมือง เพราะ “ภูมินิเวศทาม” หรือ “ป่าทาม” ในพื้นที่ดังกล่าว มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศภาคอีสาน เป็นแหล่งผลิตอาหารทั้งพืชและสัตว์ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ที่ต้องพึ่งพาฐานทรัพยากรนี้มากถึง 60 – 100 % ในการดำรงชีพ เป็นแหล่งอาชีพและรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และยังเชื่อมโยงส่งต่ออาหารจากธรรมชาติไปดูแลปากท้อง และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนอื่นๆ อีกกว่า 10 ล้านคน เพราะเป็นพื้นที่สำคัญอีกแห่งในการผลิต ข้าว ผัก ปลาและสัตว์น้ำจากธรรมชาติ หอมแดง กระเทียม แตงโม เห็ด น้ำผึ้ง และยังมีอาหารที่มาจากฐานทัพยากรในพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก

สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ร่วมกับสมาคมคนทาม ขอเชิญชวน #ร่วมปันน้ำใจช่วยฟื้นฟูพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร โดยสามารถร่วม

  • สมทบทุนเพื่อจัดซื้ออาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็น ได้ที่ บัญชี ธ.กรุงไทย 986-1-53790-2 ชื่อ น.ส.ปราณี มรรคนันท์ และ น.ส.วิภาดา ฉุนกล้า และน.ส.นิพาดา ลาดบาศรี
  • ร่วมระดม #ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ครั้งใหญ่ เพื่อแจกจ่ายให้กับพี่น้องในเครือข่ายหลังน้ำลด เพราะ ณ ปัจจุบัน พืชพรรณทุกชนิดจมน้ำเสียหายทั้งหมด เมล็ดพันธุ์จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นในระยะของการฟื้นฟู โดยเฉพาะพันธุ์ข้าว ซึ่งทางพี่น้องอยากได้ข้าวอายุสั้น เพราะแถบลุ่มน้ำจะสามารถทำนาปรังได้หลังน้ำลด และเมล็ดพันธุ์ผัก
  • จัดส่งความช่วยเหลือไปได้ที่ น.ส.ปราณี มรรคนันท์ ที่อยู่ 100 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ รหัสไปรษณีย์ 33160


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 📞 : 089-720-2246 (ปราณี)

การระดม #ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ครั้งสำคัญของเครือข่ายในครั้งนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถกระจาย แบ่งปันความช่วยเหลือไปยังพี่น้องเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยในอีกหลายพื้นที่ในภาคอีสานที่ต่างก็กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก ไม่ว่าจะเป็น อุบลราชธานี มหาสารคาม สุรินทร์ ขอนแก่น🙏🙏

วิดีโอสถานการณ์น้ำ

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=877371609923392&id=100000912927407