สวนผักคนเมืองเสวนา “ผลไม้ป่ายืนต้น ในระบบสวนป่าสมรม”

งาน City Farm Market วันที่ 21กันยายน 2562 ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ไทรม้า ที่ผ่านมา เครือข่ายสวนผักคนเมืองมีวงแลกพูดพูดคุยระหว่างเมืองและชนบท ในกิจกรรม สวนผักคนเมืองเสวนา “ผลไม้ป่ายืนต้น ในระบบสวนป่าสมรม”

 

 

การทำงานขับเคลื่อนด้านเกษตรในเมืองของสวนผักคนเมือง มีเป้าหมายว่า “เกษตรในเมืองจะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการพึ่งตนเองด้านอาหาร และการสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมือง” ที่อยู่บนฐานของการเกื้อกูลระหว่างกัน การเกื้อกูลและเข้าใจธรรมชาติ สร้างสังคมการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือผู้อื่น สำนึกถึงชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ เมืองกับชนบทอาจจะสามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจนในทางกายภาพ แต่ในมิติของการพัฒนา การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเมืองยั่งยืนนั้น เมืองและชนบทต้องทำงานร่วมกันบนฐานของความเข้าใจ การเกื้อกูลระหว่างกัน

กิจกรรม สวนผักคนเมืองเสวนา “ผลไม้ป่ายืนต้น ในระบบสวนป่าสมรม” โดยมีพี่จ๋า ณฐา ชัยเพชร  และ พี่แมว ณัฑฐวรรณ อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จังหวัดสงขลา นำผลไม้ป่ายืนต้น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นทางภาคใต้ มาชวนให้คนเมืองได้รู้จักความหลากหลายของผลไม้ป่า ลิ้มลองรสชาติ และคุณค่าของการกิน ที่ช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายของผลไม้ป่า ผลไม้พื้นบ้าน ฟื้นฟูความอุดมบูรณ์ของระบบนิเวศ และความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน  ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น  ไปฟังวิทยากรทั้ง 2 ท่านบอกเล่าเรื่องราว และทำความรู้จักพร้อมกันเลยค่ะ

เมื่อถามว่า… ทำไมถึงต้องเอาผลไม้ป่าเข้าเมือง ?

……เพราะอยากให้คนเมืองรู้จักผลไม้เหล่านี้ ซึ่งมีความหลากลายมาก มีผลไม้และพืชพันธุ์อีกมากที่คนเมืองไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติ และมากไปกว่าการได้รู้จัก คือ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ รักษาความหลากหลายของผลไม้ ความหลากหลายของพันธุกรรมท้องถิ่น ซึ่งก็คือความมั่นคงทางอาหารนั่นเอง

เพราะผลไม้ป่าที่กำลังจะพูดถึง และแนะนำให้พวกเราได้รู้จักนี้ จะสามารถเกิดและเติบโตได้ในพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ พี่น้องทางภาคใต้เรีอกพื้นที่เหล่านี้ว่า “สวนป่าสมรม” สวนป่าสมรมคืออะไร? คือ ป่าที่มีครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้  ผลไม้  พืชพรรณอาหาร  และสมุนไพร  ถ้าเดินเข้าป่า เราก็จะมีครบทุกอย่างของการดำรงชีวิต หรือ ปัจจัยสี่ นั่นเอง

ลูกหยี  ผลไม้ป่าชนิดนี้จะขึ้นในพื้นที่ลักษณะที่เป็นป่าเชิงเขา พบมากในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบริเวณเทือกเขา บูโด มีลำต้นสูงใหญ่  ลูกหยีนอกจากจะทานผลที่รสชาติอร่อยแล้ว เนื้อไม้ของต้นลูกหยีจะมีความเหนียว แข็ง และเนื้อสวย ชาวบ้านนิยมเอาไปต่อเรือ สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ปัจจุบันต้นลูกหยี 1 ต้น ราคาประมาณ 40,000 บาท วันนี้ นำลูกหยี พันธุ์ทองบึ้ง มาแนะนำ ซึ่งให้สังเกตโดย ผลโต มีขนเล็กเหมือนกำมะหยี่ สีน้ำตาลทองบนเปลือก จึงเรียกว่า “ทองบึ้ง” ลักษณะเป็นพวง ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกเปลือกจะมีสีดำ เนื้อในเป็นสีน้ำตาล ฟูนิ่ม รสหวานอมเปรี้ยว ลูกหยีมีสพรรพคุณช่วย บรรเทาอาการเจ็บคอหรือแก้ไอ

 

จำปูลิง เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับมะไฟ มีหลายชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นทางใต้ เช่น จำปูริ่ง จำหรี จำไหร  เป็นต้น ลักษณะของจำปูลิง จะเป็นพวงมีแบบยาวและแบบสั้น เปลือกสีเหลือง เมื่อสุก แล้วเปลือกจะมีผิวคลำ้หน้าตาขี้เหร่ไม่น่ากิน แต่เมื่อแกเปลือกออกมาจะพบ เนื้อข้างในสีส้มใสสวยน่ากิน เปรียบเหมือนเงาะถอดรูปก็ว่าได้ รสชาติหวานอมเปรี้ยว เมล็ดสามารถเคี้ยวกลื่นได้ นอกจากจะสามารถกินเนื้อในของผลไม้ป่าชนิดนี้แล้ว เปลือกที่แกะออกมายังนำไปต้มเป็นน้ำสมุนไพรได้อีกด้วย เพราะมีรสเปรี้ยวถ้านำไปต้ม เติมน้ำตาล เติมเกลือก็จะได้น้ำสมุนไพรรสชาติกลมกล่อมจิบได้เรื่อยๆ แถมยังมีสรรพคุณ ทั้งเป็นยาระบาย และช่วยเพิ่มพลังให้กระชุ่มกระชวย สดชื่น

 

มะขามคางคก แค่ฟังชื่อก็ดูไม่น่ากินแล้ว มะขามคางคกมีต้นกำเนิดจากยะลา เป็นผลไม้รสเปรี้ยว มีเนื้อมีเปลือกหยาบ สีน้ำตาล ผลมีลักษณะเป็นก้อนๆ นูนๆ คล้ายผิวคางคก รสเปรี้ยวของมะขามชนิดนี้ นิยมทำไปแกงส้ม และแกงอื่นๆ ที่ต้องการรสเปรี้ยว เมื่อปี 2553 มะขามคางคกถูกพบที่อัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร ที่นั่นเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า ลูกอัมพวา พี่จ๋าเล่าให้ฟังว่าเมือตอนที่พบ ได้สอบถามว่าเหตุใดจึงเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า “อัมพวา”  ซึ่งทางใต้เรียกว่ามะขามคางคก ก็ได้รับคำตอบว่าครั้งนึงได้ไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่จังหวัดยะลาเพื่อนได้ให้ต้นไม้ชนิดนี้มาปลูกแล้วจำชื่อต้นไม้นั้นไม่ได้ก็เลยเรียกว่า “ลูกอัมพวา” เป็นต้นมา เพราะปลูกที่อัมพวา นี่เป็นข้อพิสูจน์อย่างนึงว่า ต้นไม้ต่างถิ่นก็สามารถปลูกได้ในดินที่เหมาะสม แม้ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดของมัน

ลูกกอ ลูกกอจะขึ้นตามป่าดิบเขา ตามที่ลาดชันสูง ลูกกอมีเปลือกแข็งสีนำตาล มีขนทองๆ อ่อนๆ เมื่อนำมาคั่ว และกระเทาะเปลือก รับประทานจะได้รสชาติเหมือนเกาลัด ลูกกอจึงได้รับฉายาว่าเกาลัดเมืองไทย อีกด้วย

ทุเรียนใต้  เป็นที่ขึ้นชื่อมากเรื่องรสชาติที่แสนอร่อยมีทุเรียนชนิดนึง ซึ่งบางทีคนใต้เองก็อาจไม่รู้จัก พี่แมวเล่าว่า ปกติแล้วดอกของทุเรียนมันจะเป็นสีครีม แต่ทางภาคใต้ฝั่งบ้านพี่จ๋า ฝั่งเทพาจะมีทุเรียนชนิดนึงมีชื่อเรียกว่า “ไอ้ดอกแดง” ชื่อจะแปลกๆ อาจไม่คุ้นหูนัก เพราะว่าเพิ่งค้นพบในปีนี้นี่เอง ทุเรียนพันธุ์จากทางภาคใต้ เขาจะตั้งชื่อพันธุ์ ตามลักษณะพื้นที่ที่พบ  เช่นพันธุ์ “ลากขา” ถูกพบในพื้นที่กลางหุบเขา ต้นสูงใหญ่ ซึ่งกว่าจะนำทุเรียนขึ้นมาได้ก็เหนื่อยจนขาลาก เหนื่อยและยากลำบากจนลากขากว่าจะขึ้นมาได้ จึงตั่งเป็นชื่อพันธุ์ว่า “ไอ้ลากขา” ผลเล็ก น้ำหนักประมาณ1 กิโลกรัม และพิเศษตรงที่เปลือกนิ่มสามารถแกะได้โดยไม่ต้องใช้มีดผ่า ผลสุกจะมีกลิ่นคล้ายแป้งข้าวหมาก มีกลิ่นแอลกอฮอล์นิดๆ เวลากินทุเรียนจะคล้ายๆกับกินไวน์หากรับประทานเข้าไปมากๆ อาจเกิดอาการเมาได้  ส่วนที่มาของทุเรียน“ไอ้ดอกแดง” คือมีลักษณะดอกเป็นสีแดงและเป็นทุเรียนป่า ผลมีขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่ที่สุดที่ เคยพบ คือ 4 กิโลกว่าๆ เนื้อหอมหวานเหมือนทุเรียนพันธุ์หมอนทองมาก

เรียนรู้จากป่า เข้าใจอาหาร เข้าใจระบบนิเวศ ความมหัศจรรย์ที่ได้ค้นพบ

พี่จ๋าได้บอกเล่าประสบการณ่จากการเฝ้าสังเกต และเรียนรู้อาหารจากป่าในพื้นที่ ทุเรียน 1 ลูก อาจจะมี 6 – 10 เม็ด แต่ละเม็ดรสชาติไม่เหมือนกัน ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของทุเรียน ความมหัศจรรย์ของทุเรียนที่ธรรมชาติสร้างมา รสชาติของทุเรียนที่อร่อย  คือเราจะต้องปล่อยให้สุกจนร่วงเอง และเมื่อร่วงกระทบพื้นด้วยน้ำหนักและความแรง กลับไม่ทำให้เนื้อข้างใจของทุเรียนแตก ช้ำ นั่นเป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์มาให้

พี่แมวยังบอกเทคนิกการดูทุเรียนอีกด้วยว่า เมื่อเราจะดูทุเรียนว่าลูกไหนสุกลูกไหนดิบ ให้ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้บีบหนามทุเรียนสองอันเข้าหากัน ถ้าทุเรียนดิบจะบีบไม่เข้า ถ้าทุเรียนสุกหนามจะเอนเข้าหากัน

ส่วนเทคนิคการกินลูกหยีให้อร่อยนั้น  เมื่อหยิบลูกหยีเข้าปากแล้วให้อมไว้ก่อนแล้วค่อยๆดูดเนื้อมันออกมาทีละนิดรสชาติจะกลมกล่อมพอหมดแล้วจะอยากกินต่อ

ผลไม้ทางภาคใต้ไม่ได้มีประโยชน์แค่ทานผลของมันอย่างเดียวคนใต้ใช้ทุกส่วนของมันอย่างคุ้มค่า ผล เปลือก ใบ ลำต้น ทุกส่วนจะใช้มัอย่างคุ้มค่าถือว่าเป็นวิถีและวัฒนธรรมการกินของทางภาคใต้

คุณค่าของป่า คุณค่าของความหลากหลาย คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ที่ต้องร่วมกันปกป้อง

พี่จ๋า เป็นลูกหลานคนใต้ ได้รับรู้ ได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยทั่วไปแล้วทางภาคใต้ฝั่งควน (เนิน เขา) ชาวบ้านจะนิยมปลูกยาง ซึ่งเป็นต้นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และเช่นกันในสมัยนั้นครอบครัวของพี่จ๋า คุณพ่อก็ปลูกยางเช่นกัน รัฐบาลสมัยนั้นส่งเสริมให้ปลูกยางและสนับสนุนเงินทุนด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ต้นกล้า หรือยาฆ่าหญ้า และให้ความรู้แก่เกษตรกรว่า ในสวนยางต้องไม่มีต้นไม้อื่นนอกจากยาง เพราะมันจะแย่งดิน แย่งน้ำ ทำให้ยางโตช้า ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร และในคำสอนนี้ก็ทำให้ผลไม้และต้นไม้ต่างๆที่ไม่ใช่ยางถูกตัดทิ้ง พ่อและแม่พี่จ๋าก็รับรู้มาแบบนั้นเช่นกัน แต่ด้วยความโชคดีของพี่จ๋า ที่พ่อเป็นคนมีไหวพริบ พ่อเกิดความคิดว่า พ่อมีลูกหลายคนถ้าหากจะต้องเสียเงินไปซื้อผลไม้มาให้ลูกๆกินก็คงต้องเสียเงินมากมาย เกิดอุบายขึ้น คุณพ่อแอบปลูกผลไม้ไว้ในสวนยาง เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาตรวจยาง ก็แอบโน้มกิ่งผลไม้ที่ปลูกไว้ลงดินราบกับพื้นทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ทันสังเกตุเห็นพ่อทำแบบนี้ 5 – 6ปี เมื่อหลังจาก 6 ปี ไปแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ได้มาตรวจสวนยางอีกผลไม้เหล่านั้นก็รอดและโตขึ้น ผลไม้ที่พ่อพี่จ๋าปลูกไว้ให้ลูกๆ มีจำปาดะ ลูกกอ ลูกเนียง ส้มแขก เมื่อพี่จ๋าโตขึ้นก็เดินทางเข้าสู่เส้นทางเกษตรกร ก็ถูกสอนแบบเดียวกับที่พ่อและแม่ถูกสอนมาว่า “ในสวนยางต้องไม่มีอะไรนอกจากต้นยาง” ก็เชื่ออย่างนั้นและสุดท้ายผลไม้ที่พ่อเก็บไว้ให้ก็ถูกถอดราบ ด้วยเหตุผลที่ว่า เกษตรกรความรู้น้อย เจ้าหน้าที่เขามาให้ความรู้อะไรมา เราก็เชื่อหมดเพราะเขาเป็นผู้ให้ทุน(เงินทุน) ให้ปุ๋ย ให้พันธุ์ ให้ยาฆ่าหญ้า ให้ทุกอย่างโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ ตอนนั้นพี่จ๋าชื่นชมรัฐ(ในยุคนั้น) พูดติดตลกว่า “รัฐใจดีช่วยปราบหญ้าให้” พี่จ๋าใช้ยาฆ่าหญ้ามาเรื่อยๆในขณะที่หญ้าถูกถอนรากถอนโคนอย่างซะใจแต่สุขภาพของพี่จ๋าก็แย่ลงๆ ไม่ต่างจากหญ้าที่ค่อยๆเปลี่ยนจากสีเขียวและกลายเป็นสีน้ำตาลเหี่ยวโรยราลงจนหมดแรงที่จะยืนต้น จนถึงจุดที่พี่จ๋ารู้สึกว่าต้องหยุด…และจากนั้นก็ล้มป่วยลง ปี2536 พี่จ๋าป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยโต ต้องกินยาตามแพทย์สั่งอยู่ 3 ปี ผลจากการกินยาเพื่อรักษาเพื่อรักษาโรค 1 โรค ทำให้พี่จ๋าได้โรคมาเพื่ม เพราะยาที่กินเข้าไปรักษาโรคที่เป็นอยู่แต่ในขณะเดียวกันก็ไปทำลายส่วนอื่นให้เสียหายจนเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นถึง7 โรค ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางโรคที่รุมเร้าและบรรเทาด้วยยา 1 มื้อ 13 เม็ด 1  วัน 39 เม็ด ฟังแล้วดูน่ากลัวมาก ตับ ไต เราจะรับยาปริมาณขนาดนี้ได้นานแค่ไหน พีจ๋าเล่าแกมยิ้มอ่อนๆ ว่า โชคดีมากๆที่ได้เจอพี่แมวและชักชวนกันมาอยู่ในเครือข่าย พี่จ๋าเข้าอบรมธรรมชาติบำบัดโดยใช้ “ผลไม้” ปัจจุบันพี่จ๋าหยุดทานยามาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข พี่จ๋าบอกต่ออีกว่ามีความสุขกับงานที่ตัวเองทำกับการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ มีสุขภาพที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งยารักษาโรค  “สุขทางใจ สุขทางกาย”

ส่วนพี่แมวนั้น ก็ทำงานเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการปลูกข้าว ครั้งนึงได้มีโอกาสไปอยู่บ้านที่ภาคใต้ ในพื้นที่มีปัญหาเรื่องการระเบิดภูเขา ชาวบ้านรอบๆ เดือดร้อนจากมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการระเบิดภูเขา แต่คนในพื้นที่ไม่มีใครกล้าที่ส่งเสียงคัดค้าน จนภูเขาลูกนี้หมดสัมปทานการระเบิดภูเขา พี่แมวและเครือข่ายในพื้นที่จึงเกิดแนวคิดที่อยากจะรักษาภูเขาไว้ เพื่อไม่ให้ถูกนายทุนทำลายจนไม่เหลือให้ลูกหลานได้เห็นในอนาคต จึงปรึกษาหารือกับชาวบ้านและกลุ่มคนที่คิดเห็นไปทางเดียวกัน ช่วยกันระดมเงิน หาเงินทุนลงขันกันเพื่อซื้อนาที่อยู่หน้าภูเขาลูกนี้เอาไว้  ชื่อว่า เขาคูหา อ.รัฐภูมิ จ. สงขลา ตั้งแต่นั้นก็ชวนเครือข่าย พี่น้องในชุมชนมาทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน ลงแขกปลูกข้าว ดำนา เกี่ยวข้าว แต่เป้าหมายการปลูกข้าว การทำนาของเรา ไม่ใช่ผลผลิต แต่เป็นการทำนาเพื่อรักษาภูเขาเอาไว้

เราจึงอยากให้คนเมืองรู้จักผลไม้ป่าและกินมันอย่างรู้ค่าของมัน พี่จ๋ายังให้มุมมองเพิ่มเติมว่าที่จริงแล้วคนเมืองมีส่วนช่วยอนุรักษ์ผลไม้ป่าอย่างมาก เพราะการกิน การซื้อ จะช่วยให้เกษตรกรที่ปลูกมีรายได้จากการขายผลผลิตและทำให้คนเหล่านั้นอยากที่จะมีผลไม้ไว้ขาย เพื่อสร้างรายได้ไปเรื่อยๆ แม้ว่าคนเมืองอาจจะไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นบางคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อผลไม้ป่าเหล่านี้ด้วยซ้ำ แต่คนเมืองสามารถช่วยสร้างคุณค่าสร้างมูลค่าเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ผลไม้ป่าเหล่านี้ไว้ให้อยู่ไปนานๆได้  มีหลายคนซักถามกับพี่จ๋าว่า

แล้วผลไม้ป่ามันจะปลูกในเมืองขึ้นด้วยหรือ? มันจะรอดหรือ? พี่จ๋ายิ้มแล้วตอบสั้นๆว่า

“มันอยู่ที่ใจคนปลูก”

ในวันนี้คนเมืองอย่างเราก็สามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ รักษาความหลากหลายของพันธุกรรมพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น พืชผัก ผลไม้ พันธุ์ไม้ท้องถิ่นได้ ที่อาจจะเริ่มจากการกินของเรา กินให้หลากหลาย กินอย่างรู้ที่มา กินอย่ารู้คุณค่า การกินที่สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ระบบการผลิตที่ดีต่อผู้ปลูก ผู้กิน และสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการเรียนรู้ที่จะนำพาเราไปเข้าใจความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ เมืองและชนบทมากยิ่งขึ้น

และในวันเสาร์ ที่ 26 ตุลาคม 2562 เวลา 9.00 – 15.00 น. พบกับ ความหลากลายของผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง จากทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ในงาน City Farm Market  

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaicityfarm.com