ปลุกพลัง นักปลูกเมือง ตอนที่ 3 : ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ในเมือง

สวนผักบนดาดฟ้า มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ปัจจุบัน สวนผักในเมืองกรุงเทพได้เกิดขึ้นหลายแห่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะคนเมืองได้ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยของผักที่วางขายตามท้องตลาด ซึ่งผักที่วางขายตามตลาดล้วนปนเปื้อนยาฆ่าแมลงและสารตกค้างจำนวนมาก และพื้นที่สีเขียวในเมืองได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการพัฒนาและขยายตัวของเมือง ทำให้คนเมืองเกิดแรงจูงใจที่อยากจะปลูกผักในพื้นที่เมืองมากขึ้น

สวนผักบนดาดฟ้าจึงเป็นรูปแบบที่เหมาะสมต่อการปลูกผักในพื้นที่เมือง เพราะที่อยู่อาศัยหลักเป็นตึกแถวหรือคอนโด อีกทั้งค่าเช่าที่ในเขตกรุงเทพก็มีราคาแพง และพื้นที่ดาดฟ้ามีเนื้อที่ถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ในเมือง อย่างไรก็ตามการทำเกษตรบนดาดฟ้าเองก็มีข้อจำกัดต่อการปลูกผักอยู่พอสมควร เนื่องจากพื้นที่บนดาดฟ้าส่วนมากเป็นพื้นปูนทำให้พื้นที่สวนบนดาดฟ้ามีความร้อนสูงกว่าสวนที่ปลูกลงในดิน อ.เติ้ล (เกศศิรินทร์ แสงมณี) และคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จึงเกิดความคิดริเริ่มที่จะทำสวนผักบนดาดฟ้าเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรในเมือง

สวนผักบนดาดฟ้าที่ราชภัฏพระนครได้แบ่งพื้นที่ใช้สอยไว้หลายส่วน อาทิ พื้นที่หมักปุ๋ยอินทรีย์ โรงเรือนเพาะต้นกล้า แปลงปลูกผัก โรงเรือนไม้ดอกไม้ประดับขนาดเล็ก ไปจนถึงสวนผักกินได้แบบสวยงาม สวนผักแห่งนี้สามารถปลูกผักได้หลายชนิด อาทิ ผักสลัด คะน้า แครอท มันญี่ปุ่น ตะไคร้ มิ้น ต้นหอม ผักชีฝรั่ง และเลี้ยงแหนแดงไว้สำหรับทำปุ๋ยไนโตรเจน การหมักดินของที่นี้ใช้วัสดุอยู่ 6 ชนิดด้วยกันได้แก่ กาบมะพร้าวสับ (1 ส่วน) ขุยมะพร้าว (1 ส่วน) แกลบดำ (1 ส่วน) ถ่านชีวภาพ หรือ biochar (1/2 ส่วน) ปุ๋ยหมัก (1 ส่วน) และดิน (2 ส่วน) จากนั้นผสมให้เข้ากัน ทิ้งไว้จนกว่ากระบวนการหมักจะเสร็จสิ้น

การปรับปรุงดิน

นอกจากการหมักดินแล้ว ที่นี้ยังมีสูตรปุ๋ยหมักสำหรับปรับปรุงดินอยู่ 3 สูตร ซึ่งแต่ละสูตรทำได้โดยการนำส่วนผสมวัสดุให้เข้ากัน และรดน้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วยทุกๆ 7 วัน โดยทิ้งกองปุ๋ยไว้ในที่ร่ม ไม่มีน้ำท่วมขัง และกลับกองปุ๋ยทุก 1 สัปดาห์ หมักทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน และสามารถนำปุ๋ยหมักมาใช้ได้

  • สูตรปุ๋ยปรับปรุงดินเหนี่ยว มีส่วนผสมดังนี้ มูลวัวหรือควาย (2 ส่วน) มูลม้า (1 ส่วน) แกลบดิบ (2 ส่วน) น้ำหมักจากหน่อกล้วย (20 มิลลิลิตร ต่อ น้ำ 10 ลิตร) สามารถนำไปใช้หมักดินก่อนปลูก 15 ถึง 30 วัน อัตรา 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ 2 ตันต่อไร่
  • สูตรปุ๋ยปรับปรุงดินร่วนปนทราย มีส่วนผสมดังนี้ มูลวัว (2 ส่วน) มูลนกกระทา (1 ส่วน) ดินก้ามปูหรือดินขุยไผ่ (2 ส่วน) น้ำหมักจากหน่อกล้วย (20 มิลลิลิตร ต่อ น้ำ 10 ลิตร) สามารถนำไปใช้หมักดินก่อนปลูก 15 วัน อัตรา 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ 2 ตันต่อไร่ เหมาะสำหรับผักกินใบ
  • สูตรปุ๋ยปรับปรุงดินทุกชนิด มีส่วนผสมดังนี้ มูลไก่แหลบหรือมูลม้า (2 ส่วน) ก้อนเชื้อเห็ดที่ผ่านการเพาะเห็ดแล้ว (1 ส่วน) น้ำหมักจากหน่อกล้วย (20 มิลลิลิตร ต่อ น้ำ 10 ลิตร) สามารถผสมมูลไส้เดือน (1/2 ส่วน) สามารถนำไปใช้หมักดินก่อนปลูก 7 วัน อัตรา 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ 2 ตันต่อไร่ มูลไส้เดือนจะช่วยเพิ่มผลผลิตของเมล่อนได้

เจ้าชายสัตว์ ก้องเกียรติ ถาดทอง (พี่อั้น)

หากเราอยู่ในเมืองกรุงเทพ คงไม่มีใครนึกว่าจะมีฟาร์มปศุสัตว์ที่เลี้ยงทั้งไก่ เป็ด วัว ควาย แม้กระทั้งม้า ซึ่งฟาร์มแห่งนี้ตั้งอยู่แถวย่านบางเขน พื้นที่ข้างวัดพระศรีมหาธาตุ ดูแลโดยพี่อั้น (ก้องเกียรติ ถาดทอง) และมีฉายานามว่า “เจ้าชายสัตว์” พี่อั้นเป็นอดีตข้าราชการที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรโดยการเลี้ยงสัตว์ในเมืองหลวง พี่อั้น เป็นคนที่ชื่นชอบการเลี้ยงสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่นิยมเลี้ยงในเมือง เช่น ไก่ เป็ด แพะ วัว ควาย และม้า

ในขณะพี่อั้นยังเป็นวัยรุ่น ได้ใฝ่ฝันว่าอยากมีฟาร์มสัตว์เป็นของตัวเองและอยากมีม้าไว้ขี่ในเมือง แรกเริ่มพี่อั้นได้แอบเลี้ยงลูกไก่ไว้ตามซอกบ้าน และหากดูแลได้ก็จะเลี้ยงสัตว์ทีละหลายๆ ตัว เพราะพี่อั้นชอบเลี้ยงสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ ถึงขั้นที่ขับรถมอเตอร์ไซด์ออกไปตามชานเมืองเพื่อไปซื้อไก่ชนจากเกษตรกรมาเลี้ยงในบ้าน (ในอดีตเกษตรกรมักจะเลี้ยงไก่หรือเลี้ยงวัวควายตามท้องไร่ท้องนา) แต่เมื่อขับผ่านที่นาแห่งหนึ่ง พี่อั้นได้เห็นเกษตรกรที่เป็นอิสลามเลี้ยงแพะตามท้องนา พี่อั้นจึงเปลี่ยนใจซื้อแพะไปเลี้ยงที่หลังบ้านแทน ในขณะที่ยังเป็นวัยรุ่น พี่อั้นได้หารายได้พิเศษจากการทำงานศิลปะ รับเขียนรูปขาย เขียนป้ายตามงานต่างๆ ทำให้มีเงินไปซื้อสัตว์ราคาแพงไปเลี้ยงในบ้านได้

พี่อั้นได้ให้มุมมองอีกด้านของการเลี้ยงสัตว์ที่ต่างจากการปลูกผักไว้หลายแง่มุม ยกตัวอย่างเช่น หากเราไม่อยู่บ้าน 2-3 วัน เราสามารถวางระบบน้ำหยดให้รดน้ำและปุ๋ยน้ำแทนเราได้ เทียบกับการเลี้ยงสัตว์แล้ว ต้องใส่ใจทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารไปจนถึงความผิดปกติตามอวัยวะต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรค เพราะหากสัตว์เป็นโรคจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น พี่อั้นจะให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค โดยทั่วไปเมื่อสัตว์ป่วยตาย พี่อั้นจะจัดการซากด้วยวิธีการฝังกลบ และหากสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องจัดการซากด้วยวิธีการเผาเท่านั้น

การฝึกสัตว์ก็เป็นสิ่งที่มีความเฉพาะและต่างจากการเลี้ยงสัตว์ให้ เพราะตัวสัตว์เองไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อันไหนถูก อันไหนผิด หรือ รับรู้ความผิดชอบ ชั่วดี ดังนั้น การฝึกสัตว์ต้องใช้วินัยและความกลัวเป็นเครื่องมือในการฝึก หากสัตว์แสดงถึงการไม่เชื่อฟังคำสั่งหรือแสดงถึงความก้าวร้าว ผู้ฝึกก็ต้องทำการลงโทษและห้ามยอมสัตว์ที่ไม่เชื่อฟังเด็ดขาดจนสัตว์เกิดความกลัวและเชื่อฟังคำสั่ง ในทางตรงกันข้าม หากสัตว์เชื้อฟังคำสั่งหรือทำในสิ่งที่ถูกก็ต้องให้รางวัล แต่จะไม่มีการลงโทษพร่ำเพรื่อหรือทำโทษโดยไม่มีเหตุผล เพราะจะทำให้สัตว์ไม่สามารถแยกแยะคำสั่งหรือความถูกผิดได้ ซึ่งวิธีการฝึกสัตว์อาจจะดูโหดร้ายสำหรับคนที่ชื่นชอบหรือรักสัตว์ แต่ในแง่การออกคำสั่งจะใช้การส่งเสียงเฉพาะ จะไม่ใช้คำทั่วไป เช่น หยุด!!! ไป!!! คำเหล่านี้ใช้กันในหมู่คนทั่วไปและอาจทำให้สัตว์ตกใจและเตลิดได้เมื่อถูกคนที่ไม่ใช้เจ้าของออกคำสั่ง ดังนั้น หัวใจหลักของการฝึกสัตว์ คือ วินัย

ปัจจุบัน ฟาร์มของพี่อั้นอยู่ได้ด้วยตนเองการขายพันธุ์ไก่ เพราะสร้างรายได้ดี เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่น้อย และพี่อั้นมีความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ไก่ได้เอง ไม่ว่าจะเป็นไก่ชน ไก่เนื้อ ไก่ไข่ หรือไก่สวยงาม ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์พันธุ์ไก่ของพี่อั้น อาหารไก่ก็มักจะเป็นเศษข้าวแกง อาจใช้อาหารเม็ดบ้างในกรณีที่ออกนอกบ้านเป็นเวลานาน โดยพี่อั้นจะพยายามไม่เปลี่ยนอาหารบ่อย เพราะจะทำให้ไก่หรือเป็ดไม่ชินกับอาหารใหม่ ส่งผลให้สัตว์ปีกไม่ออกไข่  รายได้อีกส่วนมาจากการขายนมแพะ เหมาะสำหรับลูกค้าที่แพ้นมวัวและเป็นภูมิแพ้  ปัจจุบัน นมแพะก็ไม่พอขาย

พี่อั้นก็ได้ให้แง่มุมต่างๆ ของการเลี้ยงแพะพันธุ์นม โดยทั่วไปแพะจะให้นมหลังคลอด แพะจะใช้เวลาในการตั้งท้องประมาณ 5 เดือน โดยเฉลี่ยแพะจะออกลูกอยู่ที่ 2 ถึง 4 ตัว ต่อ ครั้ง แพะพันธุ์นมสามารถให้นมได้ถึง 1 ปีเต็ม ปัจจุบันการเลี้ยงแพะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นสัตว์ที่ขี้เล่นและเลี้ยงดูง่าย ขณะเลี้ยงจะมีการปล่อยแพะออกจากคอกให้แพะวิ่งเล่นตามที่กว้างเพื่อลดความเครียดจากการเลี้ยงในกรงขัง (หากแพะที่ตั้งท้องแก่ ยังไม่ปล่อยให้ออกไปวิ่งนอกกรง เพราะขณะวิ่งอาจเป็นอันตรายต่อครรภ์ได้) ในธรรมชาติแพะจะกินหญ้าเป็นอาหารและกินดินโป่งเพื่อเสริมแร่ธาตุในร่างกาย เมื่อเรานำแพะมาเลี้ยงในฟาร์ม กรงเลี้ยงต้องยกสูงจากพื้น และมีความโปร่งและระบายอากาศได้ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่มากับยุงหรือแมลง