ปลุกพลัง นักปลูกเมือง ตอนที่ 1 : ทำความรู้จักเกษตรเชิงนิเวศ (Introduction to Agroecology)

นิยามของเกษตรกรรม

เป็นสิ่งที่น่าทึ่งที่ความหมายของคำว่า “เกษตรกรรม หรือ Agriculture” ล้วนมีรากศัพท์ที่เหมือนกัน “เกษตร หรือ agri” หมายถึง ดิน แผ่นดิน “ธรรม” หมายถึง การกระทำ ซึ่งตัว culture ซึ่งแปลว่าวัฒนธรรม หมายถึง การกระทำในสิ่งที่ดีงาม เมื่อนำ 2 คำเข้าผสมรวมกัน เกษตรกรรม หรือ Agriculture หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทำที่ทำกับดิน ดังนั้น การเกษตรแบบดังเดิมที่กันหลายร้อยปีจึงเน้นที่การปลูกลงดิน ปลูกพืชท้องถิ่นให้หลากชนิดและดำเนินตามวิถีธรรมขาติ ซึ่งต่างจากปัจจุบัน ที่การทำเกษตรได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปหลังจากการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) จากเกษตรดังเดิมไปสู่เกษตรแผ่นใหม่ที่เน้นการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปลูกพืชเชิงเดียว ใช้พืชพันธุ์ต่างถิ่นหรือผ่านการตัดต่อพันธุกรรม ไปจนถึงการปลูกโดยไม่ใช้ดินอย่างไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่า hydroponics เป็นการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ ดังนั้น เกษตรกรรมดังเดิมหรือพื้นบ้านจึงเน้นที่การดำรงอยู่รวมกันกับระบบนิเวศในธรรมชาติอย่างยั่งยืนเป็นหลัก ซึ่งแบ่งได้หลายแขนง เช่น เกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture) เกษตรธรรมชาติ (Natural farming) วนเกษตร (Agroforestry) เกษตรชีวพลวัติ หรือ เกษตรพลังชีวิต (Biodynamic agriculture) หรือ เกษตรเชิงนิเวศ (Agroecology) ทั้งหมดล้วนมีเทคนิคและวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ยังคงเน้นที่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกทั้งส่งเสริมผสานสัมพันธ์กับผู้คนให้เกื้อหนุนซึ่งกันและกันในชุมขนให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

สัมผัสสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว

เกษตรเชิงนิเวศ คือ การทำเกษตรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งการทำเกษตรในอดีตไม่ได้มีตำรับตำราหรือมีหลักสูตรให้เรียนรู้เช่นปัจจุบัน เกษตรกรในอดีตก็สามารถเพาะปลูกพืชให้งอกงามและได้ผลผลิตเยอะจนเป็นสินค้าส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของสยาม อาทิ ไม้ผล เครื่องเทศและสมุนไพร ซึ่งเป็นความโชคดีของเมืองไทยก็ตั้งอยู่ในภูมิประเทศเขตร้อน มีทรัพยากรธรรมชาติ มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์สูง ดังนั้น การทำเกษตรในอดีตจึงให้ความสำคัญกับการปลูกพืชให้หลากหลายและไม่เบียดเบียนธรรมชาติ การสังเกตสิ่งมีชีวิตรอบหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัว อย่างเช่น ทำไมข้าวถึงเติบโตได้ดีเมื่อปลูกในช่วงระหว่างข้างขึ้นข้างแรม หรือ ศัตรูพืชหรือวัชพืชมักไม่มารบกวนพื้นที่เกษตรกรรม หรือ ทำไมถึงไม่ปลูกพืชเพียงแค่ชนิดเดียว หรือ ทำไมถึงไม่ปลูกพืชต่างถิ่น เป็นต้น การทำเกษตรเชิงนิเวศจึงเป็นการทำเกษตรหรือเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ดังนั้น การเรียนรู้จากการสังเกตหรือการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสธรรมชาติอันประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม และไฟ จึงมีความสำคัญต่อการทำเกษตรเชิงนิเวศ

ดิน น้ำ ลม ไฟ : สัมผัสธรรมชาติทั้ง 4 ที่ขาดไม่ได้ในเกษตรเชิงนิเวศ

ทั้งพืชและสัตว์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นต้องอาศัยองค์ประกอบของดิน น้ำ ลม ไฟ ในดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ พืชถือเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนสสารหรือพลังงานในธรรมชาติให้เป็นอาหารแก่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่นเดียวกับผู้ย่อยสลายสารอินทรีย์เช่น แบคทีเรียและเชื้อราที่เปลี่ยนสสารหรือพลังงานในสิ่งมีชีวิตกลับเข้าสู่ธรรมชาติผ่านการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ดังนั้น พืชจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องดำรงอยู่กับปัจจัยทั้ง 4 เหล่านี้มากที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์หรือมนุษย์ เนื่องจากพืชไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองเพื่อหาอาหารในพื้นที่อื่นได้ พืชแต่ละชนิดจึงมีการวิวัฒนาการให้ตัวเองสามารถหาอาหารและกระจายเผ่าพันธุ์ไปตามพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายและเป็นแหล่งอาหารให้แก่สัตว์นานาชนิด ดังนั้น การมีความเข้าใจสัมผัสของดิน น้ำ ลม ไฟ จะช่วยให้เราเข้าใจพืชที่เราเพาะปลูกและจัดการกับระบบนิเวศการเกษตรได้ดีมากขึ้น

ดิน ตัวแทนแห่งการก่อรูปร่าง เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีต้นกำหนดมาจากดิน โดยพืชเป็นผู้นำธาตุอาหารในดินมาพัฒนาเป็นต้นอ่อนจนออกใบ ออกดอก และออกผลให้สัตว์ทั้งหลายกินเป็นอาหาร ซึ่งหากสัตว์ขาดพืช ก็หมายถึงการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ อีกทั้งดินเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ในดินหรือหน้าดิน เช่น ไส้เดือน ตัวกะปิ กิ้งกือ หนอนด้วง แมงมุม รวมถึงแบคทีเรียและเชื้อรา สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ช่วยในการย่อยสารอินทรีย์จนเกิดเป็นอินทรียวัตถุในดินและทำให้ดินมีความชุ่มชื้นและมีชีวิต ดังนั้น ดินที่มีแต่ความแห้งแล้ง ไม่มีสิ่งมีชีวิตหรือสัตว์ในดินเข้ามาอาศัย หมายถึง ดินที่ไม่มีชีวิต และเป็นดินที่ทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่และอ่อนแอต่อโรคและแมลง

น้ำ ตัวแทนแห่งการหลอมรวม น้ำเป็นวัตถุดิบหลักที่พืชต้องใช้ในการสร้างอาหารโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง น้ำเป็นอีกปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ดินยังคงมีความชุ่มชื้นและมีชีวิต น้ำจะถูกพืชดูดซึมผ่านรากไปจนถึงยอดและมีผลต่อเจริญเติบโตของยอดพืช ซึ่งมีข้อสังเกตคือ ความอวบหรือความอ้วนของลำต้นพืชจะลดลงเมื่อความสูงของลำต้นมากขึ้น ดังนั้น ยอดใบพืชจึงความอ้วนน้อยที่สุดเพื่อช่วยลดแรงดันน้ำในส่วนยอดให้น้อยที่สุดและช่วยให้น้ำลำเลี้ยงจากรากขึ้นสู่ใบได้ดีมากขึ้น ดังนั้น พืชจึงอาศัยน้ำเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโตของพืช การขาดการรดน้ำจึงส่งผลให้พืชหยุดชะงักการเจริญเติบโตได้

ลม ตัวแทนแห่งการพลิ้วไหว

ลมจะเกิดจากการเคลื่อนที่ของอากาศโดยเริ่มต้นจากอากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้น เมื่ออากาศร้อนลอยตัวขึ้นลมก็จะพัด และอาหาศเย็นเข้ามาแทนที่ หรือบริเวณที่มีความชื้นสูงไปต่ำ ดังนั้น บริเวณที่มีความร้อนหรือความชื้นใกล้เคียงกันจึงมักไม่เกิดลม ลมเป็นสิ่งที่พืชใช้ในการขยายเผ่าพันธุ์ เช่น พืชกลุ่มหญ้า ไผ่ หรือ ข้าวใช้ลมในการกระจายละลองเกสร พืชบางชนิดใช้ลมในการพัดพากลิ่นของดอกไม้เพื่อดึงดูดให้สัตว์ เช่น ผีเสื้อ ผึ่ง แมลง นก หรือ ค้างคาว เอามาช่วยผสมเกสร หรือส่งกลิ่นของผลไม้ผ่านลมเพื่อชวนให้เข้ามากินและกระจายเมล็ดผ่านอุจจาระที่สัตว์ทิ้งในขณะไปตามพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งลมก็มีส่วนในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคพืช เมื่อฝนตกลงมากอย่างหนัก ลมจะพัดพาเชื้อราก่อโรคที่ติดอยู่ตามใบไม้ไปกับน้ำ ดังนั้น การปลูกพืชให้มีลมพัดผ่านและไม่ให้แน่นจนเกินไปจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยควบคุมการเกิดโรคพืชได้อีกทางหนึ่ง

ไฟ ตัวแทนแห่งความอบอุ่นและพลัง แสงแดดเป็นตัวแทนของธาตุไฟที่พืชใช้ในการสร้างอาหารเช่นเดียวกับน้ำ จึงไม่แปลกที่เวลาเราปลูกผักในที่ร่มหรือมีแสงแดดน้อย ผักที่เราปลูกมักเจริญเติบโตได้ไม่ดี แสงแดดช่วยน้ำในดินที่แฉะเกินไประเหยไปในอากาศและช่วยลดความเสี่ยงในเกิดโรคพืช เพราะเชื้อราที่ก่อโรคมักชอบที่มืดและที่ชื้น รวมถึงศัตรูพืชเช่นหอยทากที่ชอบอยู่ตามหน้าดินที่มีความชุ่มชื้น แต่ไม่ชอบแดด ดังนั้น การปลูกพืชให้มีระยะห่างกัน มีแสงแดดส่องลงมาสู่พื้นดินบ้าง ก็จะช่วยให้พืชไม่ต้องเผชิญกับโรคและศัตรูพืช

เกษตรเชิงนิเวศเน้นการเต้นตามจังหวะชีวิตของพืชที่ปลูก

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีจังหวะชีวิตในการเจริญเติบโตไล่ไปตั้งแต่ วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ไปจนถึงวัยแก่ชรา การปลูกพืชจึงจำเป็นต้องคำนึงสภาพแวดล้อมหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เหมาะสมต่อพัฒนาการของพืชในแต่ละชนิดและแต่ละวัย เช่น การนำต้นอ่อนหรือต้นกล้าต้องทำในช่วงเวลาเย็น เนื่องจากช่วงเวลาเย็นหรือกลางคืนจะไม่มีความร้อนจากแสงแดด และได้ความชื้นจากน้ำค้างในอากาศ ทำให้ต้นกล้าหยั่งรากลงไปในดินได้ดีและตั้งตัวได้ในวันใหม่ ซึ่งหากลงกล้าผักตอนเช้าหรือกลางวัน แสงแดดจะทำกล้าผักสูญเสียน้ำมากและปรับตัวไม่ทัน เป็นเหตุให้กล้าผักโตได้ไม่เต็มที่ อ่อนแอหรือตายได้ ปรากฏการณ์ข้างขึ้น-ข้างแรมก็อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผักแต่ละชนิดได้เช่นกัน อาทิ ผักที่กินหัว เช่น แครอท หัวไชเท่า กระชาย ขิง ข่า กระเทียม มักชอบน้ำที่ลงไปสู่ใต้ดินที่ต่ำมากๆ ดังนั้น การปลูกพืชเหล่านี้ก่อนกลางคืนจะที่เกิดข้างแรม จะช่วยให้กล้าเหล่านี้หยั่งรากลงไปในดินได้ลึกมากขึ้นและให้ผลผลิตได้ดี ส่วนต้นกล้าของผักกินใบจะงอกรากได้ดีเมื่อน้ำผิวดินมีความชื้นมาก หรือ น้ำขึ้นมาผิวดินสูงสุด การลงกล้าผักกินใบก่อนคืนข้างขึ้นก็จะช่วยให้ได้ผลผลิตดี เป็นต้น ดังนั้น การปลูกผัก สำคัญที่จุดเริ่มต้น หรือ ระยะที่ผักเรายังเด็ก เพราะหากเลี้ยงดูกล้าผักอย่างถูกจังหวะ ถูกสภาพแวดล้อม เมื่อต้นกล้าเหล่านี้โตก็มักจะไม่มีปัญหาโรค แมลงหรือวัชพืชเข้ามารบกวน เนื่องจากต้นพืชแข็งแรงเกินกว่าศัตรูเหล่านี้จะมาทำอันตรายได้ หรือการย้ายต้นพืชโตแล้วมาลงแปลงปลูกก็จะเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าพืชที่ถูกนำลงแปลงปลูกตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า การทำเกษตรเชิงนิเวศจึงต้องเต้นตามจังหวะชีวิต

 

การออกแบบระบบนิเวศการเกษตร

การออกแบบระบบเพาะปลูก ปัจจัยขาดไม่ได้คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การออกแบบพื้นที่จะหมุนเวียนหรือเปลี่ยนธาตุอาหารจากสิ่งมีชีวิตให้กลับสู่ดินก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การทำกองปุ๋ยหมัก การสะสมหน้าดิน การเลี้ยงปศุสัตว์หรือสัตว์น้ำ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงไก่ในฟาร์ม โดยเลี้ยงในพื้นที่ตั้งแต่ยังเป็นลูกเจี๊ยบ และให้อาหารจากเศษพืชผักในแปลงหรือเศษอาหารจากครัวเรือนซึ่งช่วยให้ลูกไก่พัฒนาระบบย่อยอาหารให้สามารถกินอาหารได้หลากหลายและแข็งแรงกว่าไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มระบบปิด และสร้างพฤติกรรมในขุดคุ้ยหาอาหาร ซึ่งไก่เหลือนี้จะช่วยกินแมลงศัตรูพืชในแปลงผักได้ อีกทั้งมูลไก่ก็สามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักบำรุงพืชด้วย หรือ การสะสมหน้าดินด้วยซากพืช ซากสัตว์ให้ทับถมจนกลายเป็นก้องดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกได้ ซึ่งผิวใบพืชหรือสัตว์ก็จะมีจุลินทรีย์ช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์อยู่แล้ว โดยสัดส่วนที่เหมาะสมคือ วัสดุแห่ง 3 ส่วน และวัสดุสด 1 ส่วน หากต้องการให้การย่อยสลายเกิดเร็วขึ้นก็ควรฉีกวัสดุทับถมให้เล็กลง ซึ่งการสะสมหน้าดินควรทำในที่ร่ม เพราะแสงแดดจะทำให้กองปุ๋ยสูญเสียความชื้นและเกิดการย่อยสลายได้ไม่ดีเท่าที่ควร

หลักการเกษตรเชิงนิเวศยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีหลายปัจจัยที่ยังไม่ได้กล่าวถึง อาทิ การเตรียมดิน การเลือกวัสดุที่เหมาะสมต่อการเพาะต้นพืชในแต่ละระยะ การออกแบบแปลงปลูก การเลือกภาชนะ การวางแผนการเพาะปลูกให้ตรงตามช่วงจังหวะชีวิตของพืช การดูแลพืชในแต่ละระยะ การจัดการวัชพืชและศัตรูพืช ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวพืช ทั้งหมดนี้ล้วนอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่

องค์ความรู้จาก
นคร ลิมปคุปตถาวร (ปริ๊นซ์)
ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก (ลาดพร้าว 71)