วันนี้เป็นวันประชากรโลก หรือ World Population Day โดยสหประชาชาติได้ประกาศในปี 2532 ให้วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันประชากรโลก
หลังจากที่สองปีก่อนหน้านั้น ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2530 โลกมีประชากรครบ 5,000 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 4,000 ล้านคน ในปี 2518 หรือใช้เวลาเพียง 12 ปีในการเพิ่ม 1,000 ล้านคน
การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม หรือในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กลายเป็นประเด็นสำคัญไปทั่วโลก สหประชาชาติจึงประกาศวันประชากรโลกขึ้น เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงปัญหานี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ต้องไม่เกินกำลังของทรัพยากรที่มีอยู่บนโลก
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมาประชากรโลกก็ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีประชากรครบ 8,000 ล้านคน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และสหประชาชาติคาดว่าจะครบ 9,000 ล้านคนภายในปี 2580 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า แล้วครบ 10,000 ล้านคน ภายในปี 2601
การเพิ่มจำนวนของประชากรทั่วโลก ทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง ในปี 2550 นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองมีจำนวนมากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท ข้อมูลของสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 พื้นที่โลกจะแบ่งเป็นเขตเมือง 2 ใน 3 ส่วนชนบทเหลือ 1 ใน 3 และโลกจะมีประชากรคนเมืองเพิ่มขึ้นถึง 2.4 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของประชากรโลก
อัตราการเติบโตดังว่านี้ จะเกิดขึ้นในทวีปเอเชียกับแอฟริกามากถึง 90% ซึ่งประเทศในทวีปเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารอยู่แล้ว
ข้อมูลจากรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2567 จัดทำโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ โครงการอาหารโลก และสหภาพยุโรป พบว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา ประชากรโลกกว่า 281.6 ล้านคนใน 59 ประเทศและเขตแดน ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ไนจีเรีย ซูดาน อัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย เยเมน สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และเมียนมาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเดียวกันกับที่เกิดวิกฤตอาหารในปี 2565 ยกเว้นบังคลาเทศที่มาแทนที่ยูเครน
ส่วนปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารในปี 2567 ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ฉนวนกาซา ที่ทำให้ประชากรโลก 135 ล้านคน ใน 20 ประเทศประสบกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลัน
อีกปัจจัยหนึ่งคือสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ซึ่งทำให้ประชากรโลก 77 ล้านคนใน 18 ประเทศและเขตแดน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูง ซึ่งเพิ่มจากปี 2565 ที่มี 57 ล้านคน ใน 12 ประเทศ
ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลให้ประชากรโลกกว่า 75 ล้านคน ใน 21 ประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารระดับสูง สาเหตุจากการที่ต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในระดับสูง รวมถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่ ทั้งปัญหาค่าเงินอ่อน ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคยังคงปรับตัวสูงขึ้น และภาวะหนี้สูง
ในรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลกปีปัจจุบันยังระบุด้วยว่า เด็กและผู้หญิงคือประชากรด่านแรกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตนี้ โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากกว่า 36 ล้านคน ใน 32 ประเทศ ขาดสารอาหารอย่างรุนแรง และยังพบว่า ประชากร 705,000 คนประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุด และมีความเสี่ยงต่อความอดอยากในระดับภัยพิบัติ ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า นับแต่ปี 2559
นี่ถือเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่มีการจัดทำรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก!
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกประจำปีนี้ จากรายงานของสหประชาชาติประเมินว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงต่อไป จากประมาณ 2.7% ในปี 2566 เป็น 2.4% ในปี 2567 ซึ่งยังคงต่ำกว่าอัตราการเติบโตก่อนเกิดการระบาดของโควิด 19 ที่ 3%
การจัดการกับปัญหาที่เกิดจากทั้ง 3 ปัจจัยอันเป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์อาหารโลกเป็นเรื่องที่ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขและรับมือกับความมั่นคงทางอาหาร เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่เปราะบาง และส่งเสริมการพัฒนาทางการเกษตร เช่น การผลิตอาหารของเกษตรกรรายย่อย
รายงานยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้มแข็งขึ้น เพื่อกระตุ้นการเติบโตและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อแก้ปัญหาและหยุดยั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง
ดังนั้นจึงทำให้เกิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่สหประชาชาติและประเทศสมาชิกรวม 193 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้ร่วมกันลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าภายใน 15 ปีต้องบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2573
ในจำนวน 17 เป้าหมายของกรอบการพัฒนาที่สำคัญคือ การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารทั้งในเรื่องของปริมาณที่เพียงพอและคุณภาพที่ดีของอาหารเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน
สำหรับประเทศไทย ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ปี 2566 ไทยมีประชากรที่ 66.5 ล้านคน เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีประชากรมากที่สุด 5.47 ล้านคน ขณะที่สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่า จะมีประชากรไทยที่อาศัยในเขตมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 74.3 ในปี 2040 หรือ พ.ศ. 2583
ถึงแม้โดยภาพรวม ไทยยังห่างไกลจากสถานการณ์วิกฤตความมั่นคงทางอาหารมาก แต่ปัจจุบันภาพของข้าวถุง แกงถุงที่ตั้งเรียงรายจัดวางเป็นแถวซ้อน ๆ กันในร้านค้า หรือบนแผงค้า กลายเป็นภาพเจนตาสำหรับอาหารมื้อหลักที่ผลิตป้อนคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมือง เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงความหลากหลายในการบริโภคและคุณภาพของอาหารด้วยข้อจำกัดของรายได้ ความไม่มั่นคงของการจ้างงานของผู้ใช้แรงงานในเมือง และค่าครองชีพที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
หลายปีมานี้ จึงเกิดการเคลื่อนไหวของผู้คนในเมืองกับแนวคิดพึ่งพาตนเองในการใช้พื้นที่อย่างจำกัดของเมือง รังสรรค์สวนผักคนเมืองที่สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรขนาดเล็กในอนาคต สำหรับผลิตอาหารในแต่ละมื้อและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับตัวเอง ซึ่งมีรูปแบบที่สามารถเริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเองได้อย่างง่าย ๆ พบเห็นได้โดยทั่วไป ตั้งแต่การจัดสวนลงในภาชนะต่าง ๆ เช่น กระถาง ถัง วางเรียงในพื้นที่ขนาดเล็กบริเวณระเบียงหรือลานบ้าน การทำสวนบนดาดฟ้า การรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนที่อาศัยในเขตเมืองเพื่อร่วมกันทำ “สวนผักคนเมือง”
…เป็นทางเลือกที่ทำได้ก่อนโดยไม่ต้องรอให้วิกฤตมาเยือน