‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) ตอนที่ 8

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์  พี่ภา สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ในโอกาสการจัดงานเทศกาลข้าวใหม่ 2567: ‘ข้าวอาหารแห่งรัก(ษ์) เทศกาลแห่งปีเพื่อการเฉลิมฉลองข้าวใหม่ร่วมกันของชาวนาและผู้บริโภคในพื้นที่เมืองซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ปะเทศไทย) ในวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 – 16.30 .

คงเป็นเรื่องน่าแปลกมาก ถ้างานเทศกาลข้าวใหม่ปีนี้เราจะไม่ได้พูดคุยกับพี่สุภา พี่ใหญ่แห่งวงการเกษตรกรรมยั่งยืน และยังเป็นกำลังสำคัญในการร่วมฟื้นเทศกาลข้าวใหม่ ชูความหลากหลายพันธุ์ข้าวไทย ชูศักยภาพของข้าวพันธุ์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่เมือง นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งในทุก ๆ ปี เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาไล่เรียงจากพื้นที่เหนือสุดสู่ใต้สุดของประเทศ พี่สุภาก็จะเริ่มชวนเราเตรียมจัดงานเทศกาลข้าวใหม่ ซึ่งพี่สุภาพูดเสมอว่า “อยากให้มีการจัดเทศกาลข้าวใหม่ต่อเนื่องทุกปี เพราะเปรียบเสมือนการต้อนรับสิ่งใหม่ ที่นำมาซึ่งความปีติยินดี ความปรารถนาดีต่อกันของผู้คนในสังคม เทศกาลข้าวใหม่ นับเป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่”

ภาพชินตาที่เกิดขึ้นในทุกครั้งของเทศกาลข้าวใหม่ที่จัดขึ้น คือ ภาพพี่สุภาเดินหอบหิ้วข้าวใหม่จำนวนมากจากบูธของพี่น้องชาวนาที่มาร่วมงานในหลากหลายพื้นที่ และช่วงท้ายก่อนจบงานพี่สุภาก็จะเดินไปสอบถามพี่น้องทุกคนว่า ขายข้าวได้ไหม? เหลือเยอะไหม? และหากว่าเครือข่ายไหนขายข้าวไม่หมด หรือเหลือเยอะ พี่สุภาก็มักจะเดินมาชวนเราให้ช่วยหาวิธีช่วยอุดหนุนข้าวของพี่น้องเพิ่มขึ้น ไม่อยากให้พี่น้องต้องขนข้าวกลับ ทั้งซื้อข้าวไว้หุงกินกันที่สำนักงาน ทั้งรับซื้อข้าวที่เหลือไว้ช่วยขายในงานอื่น ๆ ที่จะจัดช่วงใกล้ ๆ นี้  ซึ่งเมื่อก่อนเราก็จะไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องช่วยซื้อข้าวที่ขายไม่หมดไว้ด้วย แต่ถึงตอนนี้พอเราได้มานั่งทบทวนภาพชินตาที่เกิดขึ้นนั้น เราก็พบว่า สิ่งที่พี่สุภาทำนั้นคือ การให้กำลังใจพี่น้องชาวนา สิ่งเล็ก ๆ ที่คนกินข้าวจะช่วยส่งกำลังใจให้ชาวนามีความภูมิใจ หลังจากเหน็ดเหนื่อยตลอดฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา

ชวนไปสัมผัสมุมมองความรักที่มีต่อข้าวและชาวนาของพี่สุภา คนที่เราเชื่อว่าเกือบทั้งชีวิตของพี่สุภานั้นเป็นการทำงานเพื่อข้าวและชาวนาอย่างแท้จริง

>>ช่วยอธิบายประเด็นงาน​ หรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับชาวนา​ ทำอะไรบ้าง​ มีพื้นที่การทำงานอยู่ที่ไหนบ้าง

“มูลนิธิ​เกษตรกรรมยั่งยืน​ จริง ๆ​ เราทำงานกับเกษตรกร​รายย่อย​อยู่แล้ว​ ทั้งชาวนา​ ชาวไร่​ ชาวสวน​ แต่ว่าเบื้องต้นต้องมีชาวนา​ และก็ทำงานเรื่องข้าวมายาวนาน​ในทุกภูมิภาค​ แต่อาจจะไม่ได้ทุกจังหวัด​ เพราะว่าทำร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก โดยส่วนใหญ่ของเกษตรกรในประเทศไทยก็คือปลูกข้าว​ เมื่อไปถึงพื้นที่หรือว่าไปถึงชุมชน​ เราก็เรียนรู้เรื่องปัญหาของชาวนา​ ปัญหาของเกษตรกร​รายย่อย​ และข้าวเป็นเศรษฐกิจ​ของเขาด้วย แต่มันไม่ได้เป็นเศรษฐกิจ​อย่างเดียว​ มันเป็นเรื่องวิถีของชาวนาด้วย​

เพราะว่ามูลนิธิ​ฯ​ ทำเรื่องเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบเกษตร​ จากการใช้สารเคมีไปสู่การไม่ใช้สารเคมี​ แล้วตอนนี้ก็ทำเรื่องเกษตรนิเวศ​ เราคิดว่า ข้าวมันมีบทบาทสำคัญ​ เรื่องพันธุ์​ข้าวก็มีบทบาทสำคัญ ด้วย​ เพราะฉะนั้นเราก็เลยทำงานกับชาวนา​ ทั้งเรื่องการสนับสนุน​ที่จะให้ชาวนามีสายพันธุ์​ข้าวของตัวเอง​ รวมทั้งเรื่องการพัฒนา​ระบบ​การปลูกข้าวไปสู่ข้าวอินทรีย์​ หรือข้าวในระบบ เกษตรนิเวศในปัจจุบัน​ ทำเรื่องความหลากหลาย​ทางพันธุกรรม​ของข้าว เพื่อลดความเสี่ยง ทั้งหลาย​ และเราก็สนับสนุน​ให้เกิดห่วงโซ่ตั้งแต่การผลิต​ แปรรูป​ และตลาด”​

>>ถ้าพูดถึงข้าวกับความรัก​ รักษา​ หรืออนุรักษ์​ ประสบการณ์​จากการทำงาน มีความรักเกิดขึ้น ตรงไหนบ้าง​ กับใครหรือสิ่งใดบ้าง​ อย่างไร

“พี่คิดว่าเวลาเราเจอข้าวที่ชาวนาทำโดยไม่ใช้สารเคมี​ แล้วก็มีความหลากหลาย​ของสายพันธุ์​ มันก็เป็น เสน่ห์​อย่าง​หนึ่ง​นะ​ แล้วมันก็เปลี่ยนวิถีการกินของพี่ไปด้วย​ คือ​ จากเดิมที่กินข้าวโดยไม่สนใจว่ามัน จะเป็นข้าวสายพันธุ์​ไหน​ ก็เปลี่ยน​มาดูข้อมูลมากขึ้น​ว่า​ สายพันธุ์​นี้มันข้าวอะไร​ เราชอบไม่ชอบ​ อันไหนดี​ อันไหนถูกกับตัวเราเอง​ เพราะว่าที่บ้านก็จะมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์​มาก​ สิบสายพันธุ์​ได้ที่ทานอยู่​ ตั้งแต่ข้าวบนที่สูง​ ข้าวไร่​ ข้าวนา​ ข้าวในภูมิภาค​ต่างๆ​ แล้วเราก็สามารถมาผสมพันธุ์​ข้าวในหม้อหุงข้าว เราได้​ มันทำให้เรามีความสุขที่เราเรามีข้าวหลากหลายไว้กิน

แต่ว่าสิ่งที่เห็นว่าเกิดขึ้นกับชาวนาก็คือว่า​ ชาวนาเขาพยายาม​พัฒนา​ตัวเองในด้านศักยภาพ​ เรื่องการ ปรับปรุงพันธุ์​ก็ดี​ หรือการปรับเปลี่ยนระบบ​การผลิต ทำให้ข้าวมันเป็นข้าวอินทรีย์​มากขึ้น​ เห็นความพยายาม​ของชาวนาที่จะผลิตข้าวที่มีคุณภาพ​ทั้งให้ตัวเขาเองและให้กับผู้บริโภค​ หรือบางทีเขา ก็ค่อนข้างใส่ใจกับผู้บริโภคที่สนับสนุน​เขา​ พี่ว่ามันเหมือนกับเห็นความสัมพันธ์​ แล้วก็เห็นว่าเขาไม่ใช่ จะค้าข้าวอย่างเดียว​ แต่สามารถจะอธิบาย​และก็ให้ความรู้กับผู้บริโภคได้ด้วย

แต่ที่รู้สึกมากก็คือปีที่แล้ว​ ที่พื้นที่ราษีไศล​น้ำท่วม​ มีชาวนาบอกว่า​ จวนจะเกี่ยวข้าวแล้ว​ เห็นรวงข้าวชูสวยงามมาก​ และกะว่าอีกไม่กี่วันจะเกี่ยวอยู่แล้ว​ แต่พอน้ำท่วมมา ชาวนารู้สึก ว่ามันไม่มีศักดิ์ศรี​มาก ๆ​ เหมือนกับว่าเป็นชาวนาแท้ ๆ แต่ไม่มีข้าวกินเลยในช่วงนั้น พอฟังแล้วเรารู้สึกว่า​ โอ้โห​ ความผูกพันของชาวนากับข้าวมันลึกซึ้งกว่าที่เราคิด​

เพราะว่าชาวนาคนนั้นก็ไม่ได้คิดเรื่องว่าจะเอาไปขายนะ​ คิดเรื่องกินก่อนเลย​ แต่พอไม่มีข้าวกินแล้ว จะทำยังไง​ ชุมชนเองก็ไม่มีสำหรับข้าวกินกัน​เลยช่วงนั้น แต่เขาก็ลุกขึ้นมาเรียนรู้​ กำหนดแนวทางร่วมกันใหม่ว่า​ เขาจะสร้างกองทุนเมล็ด​พันธุ์​ เขาจะช่วยเหลือกันเองยังไง​ ถ้าปีนี้เขาได้รับบริจาคมาแล้ว​ ครั้งหน้าเขาจะไม่รับอีก​ เขาต้องสร้างตัวเองให้ได้​ พึ่งตัวเองให้ได้ด้านเมล็ดพันธุ์​

อันนี้ทำให้พี่รู้สึกว่า​ สิ่งที่หลายคนอาจจะมองชาวนา​เป็นปัญหามากกว่าจะรู้สึกว่าชาวนาผลิต อาหารให้กิน​ แต่สิ่งที่เจอ​ เหมือนเราเห็นความพยายาม​ของชาวนาที่จะลุกขึ้นมา​ แม้มันจะไม่ใช่ ทุกคนนะ​ แต่เราเห็นว่ามันมี​ และมันไม่ได้มีที่เดียวหลายกลุ่มเขาพยายามที่จะช่วยตัวเองมากขึ้น​ ในขณะที่เขาไม่ได้ร่ำรวย​ และเขาต้องดิ้นรน​

พี่คิดว่า​ เวลาเราพูดเรื่องข้าว​ มันมีชีวิตคนอยู่เบื้องหลังของคำว่าข้าวเต็มไปหมด​ มันก็เลย เหมือนกับว่ามีความผูกพันอยู่กับชาวนา​ และชาวไร่​ ชาวสวนที่เราทำงานด้วย​ เพราะแต่ละ กลุ่มก็จะมีภูมิปัญญา​ มีความคิด​ความอ่าน​ ความรู้สึกที่คล้ายคลึงกัน​ในแง่ของการรักใน สิ่งที่ตัวเองทำ”

>>มุมมองของคนทำงาน เมื่อพูดถึงสถานการณ์​ความท้าทายเรื่องข้าวและชาวนามีอะไรบ้าง​ รุนแรงขนาดไหน​ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะเกิดอะไรขึ้นกับชาวนา

“อาจจะมีหลายเรื่อง​ ทั้งโครงสร้าง​เศรษฐกิจ​ที่มันไม่เอื้อ​ อาจจะต้องแก้ปัญหา​เร่งด่วน ​เพราะถ้ายังเป็น อย่างนี้อยู่ต่อไป​ แรงจูงใจ​ในการ​ปลูกข้าว​มันอาจจะลดลง​ ในขณะที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลง​สภาพภูมิอากาศ​ด้วย​ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ​ พฤติกรรม​การบริโภค​ก็เปลี่ยนแปลง​ไป​ ชาวนาเองก็ต้อง มาคิดว่าตัวเองจะปรับตัวยังไง ชาวนาต้องเผชิญ​ภาวะหลายด้าน​ที่มันเปลี่ยนแปลงไป​ มันพูดด้านใด ด้านหนึ่งไม่ได้ มันเปลี่ยนทั้งด้านเศรษฐกิจ​ ด้านนิเวศ​ ภูมิอากาศ​ ทั้งเรื่องสังคม​ ความนิยมชมชอบ​ พฤติกรรม​ ทัศนคติ​ เพราะฉะนั้น​เวลาแก้ปัญหา​ ก็แก้เพียงด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้​ อาจจะต้องแก้ปัญหา หลายเรื่องหลายด้านพร้อม ๆ​ กัน

อย่างเช่น ​ช่วงที่ราคาข้าวมันตกต่ำมาก​ พี่เห็นชาวนาหลายพื้นที่เขาปรับตัว​กันหลากหลายมากขึ้น​ นอกจากปลูกข้าว​ ก็ปลูกผักด้วย​ ปลูกไม้ผลด้วย​ หรือว่าเอาที่ดินไปเลี้ยงสัตว์​เพิ่มขึ้น​ คือเราจะเห็นอาการ แบบนี้เมื่อข้าวมันราคาไม่ดี​

พอมาเจอการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ​ ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไป​ แล้วไม่แก้​ มันก็จะยิ่งไปซ้ำเติมชาวนา​ บวกกับการที่คนกินข้าวลดลง​ ชาวนาก็อาจจะพูด​ถึงว่า​ จริงๆ​ แล้วโครงสร้างทางเศรษฐกิจ​ที่​ชาวนา เขาอยู่ภายใต้โครงสร้าง​แบบเดียว​ คือ​ ถูกกำหนด​โดยตลาดโลกก็ดีหรือตลาดหลักก็ดี​ ถ้าหากว่ามันมี การช่วยกันในกลุ่มผู้บริโภค​ หมายถึงว่า​ เข้าใจว่าสิ่งที่ชาวนาทำอยู่​ ว่าเป็นการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ​ ราคาข้าวอินทรีย์​มันอาจจะสูงกว่าราคาข้าวในตลาด​ ถ้าเราไม่ถึงขั้น​มีปัญหา​ด้านการเงิน​ ก็อาจจะ​สนับสนุน​เพื่อให้ชาวนาอยู่ได้​ เพราะการผลิตอาหารที่ดี​ ไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัย​ด้านสุขภาพ​หรืออาหารปลอดภัย​อย่างเดียวนะ​ มันรวมไปถึงการรักษาระบบนิเวศ​และสิ่งแวดล้อม​ และมันก็ช่วยเรื่องการลดภาวะที่จะส่งผล ต่อการเปลี่ยนแ​ปลงสภาพภูมิอากาศ​ไปด้วย”

>>ใครบ้างที่ควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหา​นี้​ และควรมีบทบาท​อย่างไร​

“จริงๆ​ คนที่ต้องมีบทบาท​หลักเลยก็คือรัฐบาล​ ทีนี้เวลาแก้ปัญหามันไม่ได้แก้ปัญหาแบบเรื่องเดียว​ มันต้องดูปัญหา​ที่ล้อมรอบตัวชาวนาอยู่​  รัฐในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย​ อาจจะต้องมีนโยบาย​ มีการพัฒนา​โครงสร้าง​ที่ช่วยสนับสนุน​ชาวนาให้เขามีความเข้มแข็งมากขึ้น​ ทั้งในด้านการผลิตและด้านตลาด

สถาบันวิชาการอาจจะช่วยพัฒนาความรู้​ ซึ่งมันมีความต้องการมากขึ้นในปัจจุบั​น​ เพราะว่าพอมีเรื่อง การเปลี่ยนแปลง​ภูมิอากาศ​แบบนี้​  ชาวนาก็ต้องการความรู้ใหม่บวกกับภูมิปัญญา​เดิม​ ตอนนี้มูลนิธิ​ฯ​เอง ก็ประสานนักวิชาการหลายคนที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้านเข้ามาช่วย​ ไม่ว่าจะเชี่ยวชาญ​เรื่องข้าว​นา​ ข้าวไร่​ หรือระบบนิเวศเกษตร​ เข้ามาช่วยให้การพัฒนาหรือการปรับตัวของชาวนาให้เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

แล้วทั้งหมดนี้มันจำเป็นต้องให้ชาวนามีส่วนร่วม​ ให้เขาเป็นตัวตั้งโจทย์​ และให้เขามีส่วนร่วม​ในการหา คำตอบ หรือว่าคิดนโยบายร่วมกัน​ รวมทั้งอาจจะต้องกระจายอำนาจ​ให้ท้องถิ่นและชุมชนมีสิทธิ์​มากขึ้น

ส่วนผู้บริโภค​อาจจะต้องทำความเข้าใจชาวนามากกว่าเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร​ อาจจะต้องเข้าใจมากขึ้น​ว่า​ การผลิตของชาวนาตอนนี้มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วในฐานะคนเล็ก​คนน้อย ด้วยกันจะมีส่วนร่วม​กับชาวนาได้ยังไง​ ถ้าคนเล็กคนน้อยเอาใจใส่​ต่อกัน​ อย่างน้อยก็เป็น​กำลัง​ใจ​ แล้วก็สนับสนุน​ให้เขาอยู่ได้​ หรือช่วยอธิบาย​คนอื่นที่ยังไม่เข้าใจ​ ให้เข้าใจ​มากขึ้น​ เป็นปากเป็นเสียง​ให้กับชาวนาด้วยก็เป็น​เรื่องที่ยิ่งดีใหญ่”

>>ฝากเชิญชวนผู้บริโภค​ให้มาสนับสนุน​ข้าวพื้นบ้าน​ มากินข้าวด้วยความรัก(ษ์)​

จริงๆ​ งานเทศกาล​ข้าวใหม่เป็นงานที่ตั้งใจจะเชื่อมโยง​ระหว่าง​ผู้บริโภค​กับการสนับสนุน​ชาวนา​  อยากจะเชื่อมโยง​ความรู้​ อยากจะเชื่อมโยง​ความเข้าใจ​ระหว่าง​กัน​ ความรู้ก็คือ ให้รู้ว่ามันมีข้าว อีกหลากหลาย​สายพันธุ์​ โดยเฉพาะ​ข้าวพันธุ์​พื้นบ้านที่มีคุณภาพ​และอาจจะถูกปาก​ คือการกิน ข้าวของแต่ละ​คน​ อาจจะมีความชอบไม่เหมือนกัน​ มันก็มีหลากหลายให้สามารถเลือกได้

งานนี้ก็เปิดโอกาส​ให้ผู้บริโภค​ได้เข้ามาชิมดูว่า​ มันยังมีข้าวอีกหลากหลายสายพันธุ์​ ทั้งข้าวเหนียว​และข้าวเจ้าที่ยังมีอยู่ในประเทศ​ไทย​ และอันนี้ก็เป็นหลักประกัน​ความมั่นคงทางอาหารของทุกคนด้วย​ ก็อยากให้มาเรียนรู้ร่วมกัน​ แล้วก็มาเรียนรู้จากชาวนาด้วยกัน

นอกจากจะมาเรียนรู้เรื่องข้าวว่า ข้าวสายพันธุ์​ไหนมีรสชาติ​ยังไง​ เหมาะกับการแปรรูปหรือเหมาะกับ การไปทำอะไรบ้าง​ ก็อาจจะมาช่วยชาวนาสร้างสรรค์​นวัตกรรม​ใหม่ ๆ​ ด้วยก็ได้​ เพราะว่าผู้บริโภค​หลายคนก็มีความรู้​ เมื่อมารับรู้​เพิ่มเติม​มากขึ้น​ ก็อาจจะได้แลกเปลี่ยน​แบ่งปันกับชาวนาได้ด้วย”

ชวนมาเป็นครอบครัวเดียวกัน ชวนมากินข้าวหลากหลายสายพันธุ์  สนับสนุนชาวนาอย่างเข้าใจ เพราะเขาคือผู้สร้างหลักประกัน​ความมั่นคงทางอาหารของเราทุกคน

ในงานเทศกาลข้าวใหม่ 2567: ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) วันที่ 23 ธันวาคม 2566  เวลา 9.00 – 16.30 น.

ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ไทรม้า นนทบุรี

ขอบคุณผู้สัมภาษณ์  ใหม่  นันทนิตย์ อนุศาสนะนันทน์ เจ้าของเพจ ว่าง space & anything