‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) ตอนที่ 7

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์  พี่เป้ รัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายงานอนุรักษ์ องค์การกองทุน สัตว์ป่าโลกสากล (WWF ประเทศไทย)

หลังจากทีมงานเทศกาลข้าวใหม่ 2567 : ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) มีโอกาสได้พูดคุย ตั้งคำถามแบบล้วงลึกกับชาวนา นักแปรรูป และผู้บริโภคถึงมุมมองความรัก(ษ์)ที่มีต่อข้าวมาแล้ว แต่ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มที่เราคิดว่ามีความสำคัญ มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนงานเรื่องข้าวพื้นบ้าน ความหลากหลายทางชีวภาพ ความเข้มแข็งของเกษตร รายย่อย สร้างสังคมการบริโภคแบบยั่งยืน เป็นพลังทางสังคมแบบเกื้อกูลระบบอาหารที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้น นั่นคือ “กลุ่มคนทำงานสนับสนุน”  “กลุ่มคนทำงานส่งเสริม” องค์กรชาวนาและเกษตรกรรายย่อย นั่นเอง

เทศกาลข้าวใหม่ปีนี้ เรามีโอกาสได้จับมือทำงานกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF ประเทศไทย) ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองข้าวใหม่ เพื่อชวนคนเมืองมาทำความรู้จักข้าวแบบลึกซึ้ง ผ่านมุมมองความรักและการอนุรักษ์ของคนปลูกข้าว สู่คนกินข้าวแบบชิดใกล้  มาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยว่า องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เกี่ยวข้องอย่างไรกับชาวนา? หรือการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน? อย่าเก็บความสงสัยเอาไว้ ชวนร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา 

>>ช่วยอธิบายประเด็นงาน​ หรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับชาวนา​ ทำอะไรบ้าง​ มีพื้นที่การทำงานอยู่ที่ไหนบ้าง

“จริง ๆ​  WWF​ โดยภาพรวมเราไม่ได้ทำงานโดยตรงกับชาวนา หรือทำงานกับชาวนาเป็นหลัก​ แต่ว่าเราพยายาม​จะทำเรื่องการอนุรักษ์​ทรัพยากรธรรมชาติ​และสิ่งแวดล้อม ​ที่มีความสอดคล้องหรือไปเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพ​ชีวิต​ของคน​ เพราะเราเชื่อว่า ทั้งสิ่งแวดล้อม ความหลากหลาย​ทางชีวภาพ​ และความเป็นอยู่​ของคน​มีความสัมพั​นธ์ซึ่งกันและกัน​”

ดังนั้น​ เราก็มีการดำเนินงานอยู่​ 2 โครงการ ที่พูดได้ว่าเข้าไปมีส่วนสนับสนุน​และผลักดันในชุมชน​ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​ได้หันมาให้ความสนใจ​ และสนับสนุน​เรื่องการจัดการพื้นที่ทำการเกษตร ​โดยเน้นระบบวนเกษตร​  ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน​ รวมถึงการปรับปรุงระบบการผลิตให้สอดค​ล้อง กับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

โครงการแรก คือ​ โครงการเสริมสร้างสังคมคาร์บอน​ต่ำ​ผ่านการบริโภค​และการผลิตที่ยั่งยืน​ โครงการนี้ มุ่งเน้นการทำงานเพื่อปรับปรุงระบบการผลิต​ ตั้งแต่ต้นน้ำในพื้นที่ที่มีการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว มาเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน​ เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงของระบบนิเวศ การฟื้นฟูสมรรถภาพ​ของดิน และการเพาะปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น​  ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว​ รวมถึงไม้ยืนต้น​ โดยทำงานร่วมกับเกษตรกร​ในอำเภอแม่แจ่ม​ จังหวัดเชียงใหม่​ เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดน่าน​ และเครือข่าย​อีกหลายพื้นที่ รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น​ กรมป่าไม้​  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ​และกลุ่มธุรกิจที่ทำเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน​ แล้วก็ทำงานร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)ด้วย​ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเมล็ดพันธุ์​ท้องถิ่น

“เรามองว่า​ การที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจและเห็นความสำคัญ​ของเรื่องนี้ อาจจะต้อง​เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา ต้องสื่อสารให้ตรงกลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มเป้าหมาย​ เพื่อจะได้ตอบสนองได้อย่างตรงจุด ตรงกับปัญหาและสาเหตุ ตรงความต้องการสำหรับกลุ่มที่สนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ​”

โครงการที่สอง เราทำเกี่ยวกับการปรับปรุง​และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ​ให้เอื้อต่อระบบการผลิตแบบยั่งยืน​ ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี​ และจังหวัดนครพนม​ ซึ่งสองพื้นที่นี้มีความเสี่ยง​จากภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง​ ซึ่งเป็น ปรากฏการณ์​ธรรมชาติ​ แต่พอช่วงหลัง ๆ​ มันมีความเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง​ ทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศ​ที่ เปลี่ยนแปลง​จากภาวะโลกร้อน​ และจากโครงสร้างพื้นฐานที่อาจจะไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดี​ หรือมีการควบคุมที่ดี​ ทำให้การเปลี่ยนแปลงของ​ระบบน้ำแบบฉับพลัน ซึ่งทาง WWF​ ได้ทำงานร่วม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​โดยตรง​ คือ กรมชลประทาน​ องค์การบริหาร​ส่วนท้องถิ่น​ และชุมชน​ ให้การสนับสนุนทั้งเครื่องมือ​ เทคโนโลยี​ ส่งเสริมการแปรรูป​ และวางรากฐานเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยน​พฤติกรรม​ของเกษตรกร​ ลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมี​มาใช้ปุ๋ยอินทรีย์​ พร้อมกับการจัดการอย่างเป็นระบบ​ในระบบอุทกศาสตร์​ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่​

ในขณะเดียวกันก็มีการทำงานร่วมกับอีกหลายภาคส่วน​ ในการจัดกิจกรรม​รณรงค์​ต่าง ๆ​  เช่น​ เทศกาลข้าวใหม่ที่จัดขึ้นในวันที่​ 23​ ธันวาคม​นี้​ ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วย

>>ถ้าพูดถึงข้าวกับความรัก​ รักษา​ หรืออนุรักษ์​ ประสบการณ์​จากการทำงาน มีความรักเกิดขึ้นตรงไหนบ้าง​ กับใครหรือสิ่งใดบ้าง​ อย่างไร

“ข้าวมันเป็นมากกว่าการค้าขาย​ มันเป็นเรื่องของวัฒนธรร​ม​ มันเป็นเรื่องของ ความมั่นคงทางอาหาร​ ข้าวกับปลา​ สมัยก่อนเขาใช้เพื่อการแลกเปลี่ยน​ เป็นความมั่งคั่งและมั่นคง​”

แม้ปัจจุบัน​เกษตรกร​หลายคนที่้เป็นหนี้ แต่ก็ยังมีข้าว​ เขาก็ยังมีความพอใจและภูมิใจ​ เพราะว่ายังมี ความมั่นคงทางอาหาร​ การทำนา การปลูกข้าวมันเป็นความพอใจ​ เป็นจารีต​ เป็นวัฒนธรรม​ที่เขาทำแล้วเขามีความสุข​ โดยเฉพาะที่ในส่วนที่เขาทำเพื่อบริโภค​ จะเห็นได้ว่าเขาใส่ใจในการทำนา​ ทำด้วยความประณีต​ เป็นวิถีวัฒนธรรม​การแลกเปลี่ยนแรงงาน​ ในอดีตการทำนามันช่วยให้ สังคมมีความเป็นสังคม​ มีความเป็นพี่เป็นน้อง​ เอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่​ แต่ว่าในปัจจุบันที่ชาวนาเปลี่ยนเป็นผู้จัดการนา​และผู้รับจ้าง​ แต่ถึงกระนั้นเองมันก็ยังมีมิติความสัมพันธ์​ตรงนี้ให้เห็น

ถ้าพูดถึงเรื่องความรัก​ นาก็เปรียบเสมือนซูเปอร์​มาร์เก็ต​ของหมู่บ้าน​ เป็นตู้กับข้าวของหมู่บ้าน​ มันสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าถึงไม่มีเงิน​ ก็สามารถเกิดความมั่นคงในชีวิต​ สามารถยืนอยู่ได้​ ผมไม่ค่อยเห็นคนในชนบท​หรือคนที่อยู่นอกเมืองในประเทศไทย​อดอาหารแล้วเสียชีวิต​ ซึ่งต่างจากในต่างประเทศ​ ที่ไม่มีอาหารกินแล้วอดอาหารถึงขั้นเสียชีวิต

ส่วนใหญ่ถ้าเราพูดถึงการแบ่งปัน​ เราก็จะคิดถึง​ข้าวเป็นอันดับแรก​ ทักทายกันว่า กินข้าวมารึยัง​? หรือใส่บาตรก็ต้องใส่ข้าวหรือข้าวเหนียว​ เพราะฉะนั้น​ ข้าวมันบูรณาการ​เข้าไปในวิถีชีวิต​ ในความรัก ความห่วงใยของผู้คนในสังคมอยู่แล้ว​ นั่นคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ ทำไมข้าว ยังเป็นสิ่งที่ยังจำเป็น และยังต้องผลิต​ โดยเฉพาะ​ข้าวที่มีกระบวนการทำแบบประณีต​ ทำแบบอินทรีย์​ แบบปลอดสาร​ นั่นคือความรักที่คนอยากจะหันกลับมาทำให้กับตนเอง ให้กับชุมชน​ ​ ให้กับสังคม​ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย​”

>>มุมมองของคนทำงาน เมื่อพูดถึงสถานการณ์​ความท้าทายเรื่องข้าวและชาวนามีอะไรบ้าง​ รุนแรงขนาดไหน​ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะเกิดอะไรขึ้นกับชาวนา

“วิกฤติ​เรื่องการลดหายลงของสายพันธุ์​ข้าวนี่เป็นเรื่องที่น่าห่วง​ โดยเฉพาะ​อย่าง​ยิ่งเกษตรกรที่เป็นรายย่อย​ เพราะเมล็ด​พันธุ์​ท้องถิ่นมันมีความเสี่ยงต่อการเสียหายจากภัยธรรมชาติ​ แม้มันจะปรับตัวได้ดี​ มีความเหมาะสมกับพื้นที่​ แต่การเข้ามาของการเปิดนโยบาย​ต่าง ๆ​ เรื่องการจดทะเบียน​ต่าง ๆ​ มันมีความเปราะบาง​ ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์​ด้วย

สิ่งที่สำคัญก็คือ ความหลากหลาย​ของพันธุ์ข้าวที่เราจะได้บริโภคจะมีอยู่แค่ไม่กี่พันธุ์​ และเกษตรกรรายย่อยที่มีข้อจำกัดในเรื่องการปรับปรุง​ หรืออยู่ในภูมินิเวศที่อาจจะไม่ได้ปรับตัวได้ง่าย เหมือนอยู่ในที่ลุ่มจะมีปัญหา​ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่​ของประเทศด้วยซ้ำไป”

>>ใครบ้างที่ควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหา​นี้​ และควรมีบทบาท​อย่างไร​

อันที่หนึ่ง ต้องเข้าใจว่ามันเป็นนโยบาย​ที่ทุกส่วนต้องให้ความสนใจ​ โดยเฉพาะ​อย่าง​ยิ่งหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง​โดยตรง​ก็คือ​ กระทรวง​เกษตร​และสหกรณ์​ ในเรื่องสิทธิ​ที่ทำกิน​ ให้เขารู้สึกว่าเขามีความมั่นคง​ในพื้นที่​ทำกิน

อันที่สอง​ เรื่องการสนับสนุน​องค์ความรู้และเทคนิคการจัดการ​ให้แก่เกษตรกร​ที่อยากปรับเปลี่ยน จากเกษตรแบบเชิงเดี่ยว​ ใช้สารเคมีเยอะ​ มาเป็นการทำนาข้าวอินทรีย์​ รวมถึงส่งเสริมเรื่องการตลาด​ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเชิงปริมาณอย่างเดียว​ แต่เน้นการสร้าง​ value added ผสมผสานกับเรื่องสังคมวัฒนธรรม​ ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลยุคนี้เขาพูดเยอะมาก​ คือเรื่อง​ soft power

อันที่สาม ภาคเอกชนควรให้การสนับสนุน​ความหลากหลาย​ของสายพันธุ์​เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง​ ผ่านการส่งเสริมการตลาด​ รวมถึงสื่อให้เห็นถึงคุณค่าของการทำนาข้าวอินทรีย์ ​มันช่วยเอื้อต่อการ ลดภาวะโลกร้อน​ การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน​รวม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและปรับเปลี่ยน พฤติกรรมต่าง ๆ​ ของผู้บริโภค​ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิต​สามารถ​ผลิต และมีผู้บริโภค​ที่มีความน่าสนใจอย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งหมดเป็นการเชื่อมโยงเรื่องการทำระบบอินทรีย์​กับความมั่นคงของระบบนิเวศ​ ที่เอื้อต่อประโยชน์ของสรรพสิ่งในสิ่งแวดล้อม​ ทั้งสัตว์และคน​ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การผลิตนั้นมีความยั่งยืน​ ตอบสนองความเป็นอยู่​ที่ดีของคน”

>>ฝากเชิญชวนผู้บริโภค​ให้มาสนับสนุน​ข้าวพื้นบ้าน​ มากินข้าวด้วยความรัก(ษ์)​

“ผมเชื่อว่าทุกคน​ ถ้าเป็นไปได้​ ถ้ามีทางเลือก​ ถ้ามีโอกาส​ เขาก็อยากจะสนับสนุน​และก็อยากบริโภค​สิ่งที่เป็นประโยชน์​ สิ่งที่มันดีต่อชีวิตตัวเอง​ ทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม​”

ถึงแม้ท่านจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง​ แต่ท่านสามารถ​สนับสนุน​ หรือส่งเสริม​ทางอ้อมให้กับกลุ่มเกษตรกร​ กลุ่มอาสาสมัคร​ กลุ่มเครือข่ายที่ทำงานเรื่องนี้ิ​ ให้สามารถขับเคลื่อนงาน และมีความมั่นคงในการทำ เกษตรอินทรีย์​ การทำข้าวอินทรีย์​ ให้มีความทัดเทียม​ มีมาตรฐาน​ สร้างการยอมรับได้มากขึ้นในวงกว้าง​

โดยเฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ การสนับสนุน​เกษตรอินทรีย์​ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ความสำคัญว่า คุณก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษา​โลก​ รักษาสิ่งแวดล้อม​ ทำให้ชีวิต​โดยภาพรวมดีขึ้น​ โลกเราก็น่าอยู่ขึ้น​ มีความรักที่ยั่งยืนตอบสนองซึ่งกันและกัน

มาส่งมอบความรัก เพื่อปกป้องความยั่งยืนไปด้วยกัน

เทศกาลข้าวใหม่ 2567: ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) วันที่ 23 ธันวาคม 2566  เวลา 9.00 – 16.30 น.

ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ไทรม้า นนทบุรี

ขอบคุณผู้สัมภาษณ์  ใหม่  นันทนิตย์ อนุศาสนะนันทน์ เจ้าของเพจ ว่าง space & anything