‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) ตอนที่ 4

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ น้ำ กัลยา เชอมื่อ ผู้ร่วมก่อตั้ง Seeds Journey จ.เชียงราย เรื่องราวการเดินทางของเมล็ดพันธุ์ที่นำพวกเขาไปรู้จักข้าวท้องถิ่นในชุมชนชาติพันธุ์ของตนเอง Seeds Journey คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่บอกว่า “เราไม่ได้เป็นเกษตรกรหรือปลูกข้าวเอง แต่เราเป็นกลุ่มคนจัดกระบวนการให้ตัวเองได้ไปเรียนรู้ เพื่อส่งต่อความรู้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ อาหารท้องถิ่น เพื่อให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่สูญหายไป และช่วยให้คนภายนอกเข้าใจเรื่องราวของคนในท้องถิ่น”

จุดเริ่มต้นการเดินทางของคนรุ่นใหม่  น้ำ-กัลยา เล่าถึงความเป็นมาว่า ก่อนหน้านี้ เธอทำงานเรื่องอาหาร กับมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย​) มาก่อน​ ทำ​ food truck กับพี่แอน ศศิธร คำฤทธิ์ ที่เชียงใหม่​ เรื่องกินเปลี่ยนโลก​ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียน และได้ร่วมทำรายการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก​

หลังจากนั้นก็มีโอกาสนำเสนอเรื่องอาหารผ่านการประกวดนวัตกรรมของ​ UNDP ที่ไทยในปี 2018 ​ นำเสนองานที่ทำเรื่องความยั่งยืน ผ่านเรื่องราวการกิน​ของคนในชุมชน และการประกวดในครั้งนั้นก็ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ได้รับสัญชาติพอดี​ หลังจากนั้นก็ได้ทำงานในเรื่องอาหาร ได้เดินทางต่อในเส้นทางนี้ จน​เกิดเป็นเพจ​การเดินทางของเมล็ดพันธุ์​(Seeds Journey) ​ร่วมกลุ่มกับเพื่อน ๆ​ 4 – 5​ ชาติพันธุ์​  โดยไม่มีองค์กรใดที่สนับสนุนเป็นหลัก

“Seeds Journey เราไม่ได้เป็นเกษตรกร​ หรือปลูกข้าวเอง ​เราเป็นกลุ่มคนที่จัดกระบวนการเพื่อให้ตัวเอง ได้ไปเรียนรู้กับผู้รู้​ ในขณะเดียวกัน​เราก็ชวนเพื่อน​ ๆ​ พี่ ๆ​ หรือว่าร้านอาหาร​ที่สนใจในการส่งเสริมให้เกิดความหลาก​หลาย​ของพันธุ์พืช​ พาคนนอกที่สนใจเข้าไปในชุมชนด้วย​ หรือถ้าไม่ได้เข้าไปในชุมชน​ ทีมเราก็จะจัดกระบวนการสื่อสารในเมืองผ่านช่องทางอื่น ๆ​ เพื่อส่งต่อความรู้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ อาหารท้องถิ่น เพื่อให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่สูญหายไป และช่วยให้คนภายนอกเข้าใจเรื่องราวของคนในท้องถิ่น”

การเดินทางของเมล็ดพันธุ์(Seeds Journey) มาเจอกับข้าวพื้นบ้าน ข้าวท้องถิ่นได้อย่างไร จริง ๆ​ ข้าว เป็นเรื่องที่เราไม่ได้พูดถึงเท่าไหร่ในแง่มุมอาหารในช่วงที่ผ่านมา​ แต่เมื่อช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เรา​ได้กลับมาอยู่บ้านที่เชียงราย​ ได้เจอผู้รู้เรื่องอาหารอาข่า​ พี่น้องลีซู​ และพี่น้อง ปกาเกอะญอ​ และมีโอกาสก็ได้นำเสนอวัตถุดิบใหม่ พร้อมข้าวท้องถิ่นให้ร้านอาหารได้ลองกินด้วย​ ก็เลยทำให้เราได้กลับมาขลุกกับเรื่องข้าวมากขึ้น​ และเรารู้สึกว่าข้าวกับอาหารมันต้องมาคู่ กัน​ ในเรื่องการรักษาความหลากหลายของพันธุ์​ท้องถิ่น​”

การจัดกระบวนการ​แต่ละครั้ง​ หรือบางทีก็ทำการสื่อสารเอง มีทุนบ้างไม่มีทุนบ้าง ​แต่สิ่งที่ได้มากกว่า ตัวรายได้​ สิ่งที่ทำให้เรายังคงอยู่ได้​ คือ​ เราได้เดินทาง​ ได้รู้ที่มาที่ไปของอาหารเหล่านี้ ว่ามันเป็นยังไง​ เรารู้สึกว่ามีความสุขเกิดขึ้นระหว่างทาง​ เวลาที่เราไปเจอชุมชน เจอคนที่เขาอยู่กับภูมิปัญญา ได้ฟัง​ ได้ทำอะไรร่วมกันกับเขา​ ได้กินข้าวกับเขา​ บรรยากาศ​ตอนทำอาหาร​ ตำน้ำพริก​ หุงข้าวแบบอาข่า​ สิ่งต่างๆ​ เหล่านี้มันมีคุณค่า​เป็นสิ่งที่เราหลงรัก

อีกสิ่งที่เรารักก็คือ​ ผู้คนที่เราชวนมา​เดินทางด้วย​ คนที่อยากให้เราจัด​ อยากให้เราพาเข้าไป​ในชุมชน ซึ่งเรารับรู้ได้ว่ามีผู้คนที่น่ารักอยู่รอบตัว​ ทำให้เรารู้สึกว่าจริง ๆ​ แล้ว ความรักในอาหาร ความรักในข้าว​ และสิ่งที่เราทำอยู่​ มันไม่ใช่แค่ตัวเราที่หลงรักในภูมิปัญญา​ หรือสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์​ แต่ว่าคนรอบข้าง​ หรือคนที่มาเจอเรา​ เขาก็​หลงรักในอาหาร รักในข้าวพื้นบ้าน​ รักสิ่งที่เราทำด้วย​ในภูมิปัญญานี้ด้วย​เช่นกันก็เลยรู้สึกว่า นี่แหละ​คือสิ่งที่เราจะต้องส่งต่อ​ ต้องมีการรักษาไว้ให้นานที่สุด​ ให้มันอยู่ในชีวิตประจำวัน”

เมื่อถามถึงความท้าทายด้านการผลิต – บริโภคในกลุ่มชาติพันธุ์ คนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านอาหารอย่าง Seeds Journey เห็นความท้าทายอะไรบ้าง “ผู้เฒ่าอายุ​ 80​ – 90​ พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศค่อนข้างเยอะ จะบอกเลยว่า​ หลังจากนี้จะมีวิกฤติ​เรื่องผลผลิตในชุมชน ​ตั้งแต่เรื่อง ผลผลิตที่อาจจะได้น้อยมาก​ เรื่องการติดดอกแต่ไม่ติดผล​ ซึ่งเจอหนักมากในชุมชน​ตอนนี้​ และผู้เฒ่า​บอกว่า​ อีก​ 5 ปี หลังจากนี้​ เรื่องข้าวก็ต้องตุนเหมือนกันนะ​ เพราะไม่รู้ว่าในปีถัดไป เราจะได้ข้าวไร่ ข้าวนาเท่าไหร่​ ไม่รู้ว่าจะพอกินไหม​ เป็นปัญหาที่ชุมชนของเราถกกันมา ตั้งแต่ปีที่แล้ว​ และกำลังอยู่ในแผนของกระบวนการถอดองค์ความรู้ในพื้นที่ช่วงต้นปีหน้า”

“เราเจอว่าคนในชุมชนไม่ได้ปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิมแล้ว​ เพราะเขาคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้อยากกินข้าว แบบนี้หรอก​ ข้าวบางพันธุ์​รุ่นพ่อรุ่นแม่ยังปลูกอยู่​ แต่พอลูก ๆ​ ไม่อยู่ในชุมชน ก็คงไม่มีใครกินแล้ว​ ไม่มีใครอยากจะปลูก​ เขาคิดว่า ซื้อข้าวในเมืองกินง่ายกว่า

แต่ทีมเรากลับไปทำให้เขารู้สึกว่า​ จริง ๆ​ ข้าวพันธุ์ดั้งเดิมนี้ เราอยากกินนะ​ เราอยากรู้นะ​ ว่ามันหุงยังไง​ มันกินแบบไหน​ ส่วนคนที่เขายังปลูกข้าวพันธุ์​ดั้งเดิม​ เขาบอกว่าเขาชอบพันธุ์​ข้าวของตัวเอง​ เพราะว่ากินข้าวในเมืองไม่อร่อย​ กินข้าวบนดอยของเรามันอร่อย​ และถ้าปลูกข้าวไร่​ก็ปลูกอย่างอื่นได้ด้วย​ อยากปลูกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ​ เท่าที่ยังทำได้

และข้าวพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชนชาติพันธุ์อาข่าเรานั้น ก็มีวิธีการหุงอีกแบบหนึ่ง​​ หุงแล้วต้องพรมน้ำ​ แล้วเอาลงจากเตา​ เอามาพรมน้ำอีก​ น้ำต้องพอดี​ ข้าวถึงไม่แข็ง​ ไม่แฉะ อันนี้ก็เป็นชุดความรู้ที่เป็น ภูมิปัญญา​ และมันอร่อยด้วยนะ​ ปกติถ้าไม่มีพิธีกรรม​ หรือว่าไม่มีงานในชุมชน​ หรือไม่ได้บอกแม่ ๆ​ ว่างานนี้อยากให้หุงแบบนี้​ เราก็จะไม่ได้กินข้าวที่หุงด้วยวิธีแบบนี้​ ​ เพราะพอมีไฟฟ้าเข้า​ มีเตาแก๊ส​ ก็ไม่ได้ใช้วิธีหุงแบบนี้แล้ว​ เพราะทุกคนเร่งรีบ​ สิ่งที่เราทำได้ เพื่อให้เกิดการรักษาและอนุรักษ์​ภูมิปัญญานี้ไว้​ คือใช้กระบวนการเรียนรู้ของเราเข้าไปในชุมชน​ และต้องบ่อยด้วยนะ​ ไม่ใช่ปีนึงไปครั้งนึง​ ก็อาจจะลืม”

“หลังจากที่เราทำกิจกรรมนี้มา​ 4-5 ปี เรามองเห็นชุมชน​ที่สามารถออกแบบการท่องเที่ยวของตัวเองได้ด้วย​ น้อง ๆ​ ในทีมก็เริ่มมีโปรเจคที่ทำเองในชุมชน​ วางแผนพัฒนาชุมชนของตัวเอง​ด้วยองค์ความรู้ของเขา​ บางคนเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ​ ก็กลับมาอยู่กับพ่อแม่ที่เป็นผู้รู้เรื่องสมุนไพร​ ออกแบบร่วมกับ แกนนำชุมชนได้​ และอีกอันที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือ​ ชุมชนหันมาปลูกพืชอาหารของ ตัวเองมากขึ้น​ และนำเข้าของอาหารในเมืองน้อยลงเยอะมาก​”

อยากให้คนรุ่นใหม่ เชิญชวนให้ผู้บริโภคหันมาสนใจข้าวท้องถิ่น ข้าวพื้นบ้าน และเทศกาลข้าวใหม่ที่จะจัดขึ้นนี้

“จริงๆ​ แล้ว ข้าวพันธุ์​ท้องถิ่น​ น้ำว่ามันอร่อยหมดเลย​ การกินของผู้บริโภค​ก็สำคัญ​ด้วย​ ทำให้การ ส่งต่อหรือว่าการอนุรักษ์​พันธุ์ข้าวดั้งเดิมมันคงอยู่​ อยากเชิญชวนว่า​ 1 ปี มี​ 12​ เดือน​ ทำไมเรา ไม่ลองกินข้าวพื้นบ้านอีสาน​ ข้าวพื้นบ้านทางเหนือ​ ข้าวของของใต้ด้วย ใน 12​ เดือน​ เราไม่ต้องกินแค่หอมมะลิอย่างเดียวก็ได้​ เราไม่ได้รู้สึกว่าหอมมะลิเป็นตัวร้ายนะ​ แต่เรารู้สึกว่าทำไมพวกเรากินข้าวที่มีความหลากหลายน้อยจัง​ 12​ เดือน​ เราอาจจะกินข้าวซัก​ 12​ สายพันธุ์​ก็ได้​ ลองดูสิ​ พันธุ์​ข้าวที่มันอร่อยมีตั้งเยอะแยะ”

“น้ำ คิดว่าการรักษาพันธุ์ข้าวให้คงอยู่​ หรือรักษาภูมิปัญญา​เหล่านี้​ มันไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคน​ ทั้งคนที่ปลูกเอง​ ที่เขาทำหน้าที่ต้นทางแล้ว​ คนที่กินเอง​ อาจจะอยู่ตรงกลางหรืออยู่ปลายทางก็ได้​ เราทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของไทย”

“ข้าวใหม่ เป็นช่วงที่เข้าเพิ่งเก็บเกี่ยวมา​ใหม่ ๆ​ มันจะหอมอร่อย​ เราจะทำพิธีกินข้าวใหม่​ ขอบคุณผลผลิต​ และให้ผู้เฒ่าผู้แก่​ในชุมชนได้ชิมข้าวที่หอมอร่อยก่อน​ และทุกบ้านจะทำอาหารต้อนรับไว้เป็นสำรับ​ ไปบ้านไหนก็ได้กินข้าว​ใหม่ของแต่ละบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านปลูกไม่เหมือนกัน​ เราก็จะได้กินข้าวใหม่ของแต่ล้าน แต่ละพันธุ์​ เฉลิมฉลองด้วยกัน”

พบกับ น้ำ กัลยา เชอมื่อ  ที่บูธ ‘การเดินทางเมล็ดพันธุ์ (Seeds Journey)’ ชวนเดินทางไปเรียนรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ อาหารท้องถิ่น ชวนเด็ก ๆ ได้ลอง ตำน้ำพริก ตำถั่ว งาต่างๆ ทานกับข้าวใหม่ หรือจะลองกินวัตถุดิบแปลกตาจากพื้นที่ก็ได้

งานเทศกาลข้าวใหม่ 2567: ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) วันที่ 23 ธันวาคม 2566  เวลา 9.00 – 16.30 น. ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ไทรม้า นนทบุรี

ขอบคุณผู้สัมภาษณ์  ใหม่  นันทนิตย์ อนุศาสนะนันทน์ เจ้าของเพจ ว่าง space & anything