เทศกาลข้าวใหม่ 2567: ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์)

เทศกาลข้าวใหม่  เทศกาลแห่งปีเพื่อการเฉลิมฉลองร่วมกันของชาวนาและผู้บริโภคเวียนมาถึงแล้ว เปรียบเสมือนการต้อนรับสิ่งใหม่ ที่นำมาซึ่งความปีติยินดี ความปรารถนาดีต่อกันของผู้คนในสังคม

แม้ว่าในรอบปีของการเพาะปลูกข้าวที่ผ่านมา เราจะได้ยินข่าวคราวของชาวนาที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาดในนาข้าว นกกินข้าวจนไม่ได้ผลผลิต  ผลผลิตข้าวตกต่ำ ราคาข้าวไม่ดี  ข้าวปีก่อนยังระบายไม่หมด วิกฤตของชาวนาเกิดขึ้นมาโดยตลอด จนต้องตั้งคำถามว่า “เมื่อปัญหาของการทำนา การปลูกข้าวมีมากมาย ทำไมถึงไม่หยุดทำนา” หลังจากได้ลองค้นหาคำตอบจากชาวนาหลากหลายกลุ่ม ก็พบว่า เพราะมีความรักซ่อนอยู่ ชาวนาทำนาด้วยความรัก รักในผืนดิน รักในอาชีพ รักในวิถีวัฒนธรรมการทำนา/ปลูกข้าว รักในรสชาติ/ผลผลิตข้าวที่จะเดินทางไปสู่คนกิน สู่การรักษาอาชีพชาวนา มรดกที่พ่อแม่มอบให้ไม่ให้สูญหาย รักษาที่ดินไว้ให้คนรุ่นหลัง รักษาข้าวให้คงอยู่คู่จานอาหารของคนไทย  อนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน อนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาเรื่องข้าวและการกินตามวัฒนธรรม ปกป้องความมั่นคงทางอาหารให้คงอยู่

‘ข้าว’ จึงเป็น อาหารแห่งรัก(ษ์)  ที่เราอยากชวนกินข้าวใหม่ของฤดูกาลนี้ ชวนมาทำความรู้จักข้าวแบบลึกซึ้ง ผ่านมุมมองความรักและการอนุรักษ์ของคนปลูกข้าว สู่คนกินข้าวแบบชิดใกล้ ในงานเทศกาลข้าวใหม่ 2567: ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 9.00 – 16.30 น. ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ไทรม้า นนทบุรี

ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองในปีนี้ จึงเป็นโอกาสดี ที่อยากชวนทุกท่านมากินข้าวใหม่อย่างลึกซึ้ง ผ่านมุมมองความรักและการอนุรักษ์ของคนปลูกข้าวสู่คนกินข้าวแบบชิดใกล้ เพราะเราเชื่อว่าหากคนไทยได้มาเรียนรู้เรื่องข้าวมากขึ้น และเห็นคุณค่าของข้าว มากกว่าอาหารการกิน จะทำให้เกิดการเคารพกันและกันมากขึ้น เคารพข้าว เคารพภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรมชุมชน วิถีการผลิตแบบยั่งยืน เชื่อมโยงกับการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมต่อชาวนา ซึ่งผู้บริโภคก็มีบทบาทในการช่วยเฉลิมฉลองร่วมกับชาวนา เพราะลำพังเพียงชาวนาฝ่ายเดียว ไม่อาจรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมข้าวไว้ได้

พบกับ กิจกรรมน่าสนใจตลอดทั้งวัน อาทิ

  • เสวนา ‘กว่าจะเป็นข้าวใหม่ให้เรากิน’ ชวนล้อมวงพูดคุยแบบชิดใกล้กับชาวนาตัวจริงเสียงจริง จากหลายภูมินิเวศจากภูเขาถึงทะเล ชวนมาคุยกันแบบเรียบง่าย แต่อบอุ่นหัวใจ
  • กินข้าวพื้นบ้านหลากหลายพันธุ์จาก 4 ภูมิภาค ทั้ง เหนือ กลาง อีสาน ใต้  ซึ่งเทศกาลข้าวใหม่ปีนี้เราได้คัดเลือกข้าวพื้นบ้านจำนวนมากจากหลายจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ  มาหุงให้กิน และยังมีจำน่ายให้ได้เลือกซื้อไปไว้ทาน หรือจะนำไปมอบเป็นของขัวญปีใหม่ให้กับคนที่เคารพรักก็เป็นสื่อแทนใจที่ดี
  • ชวนลองเมนูอาหารจากหลายภูมินิเวศ ที่เหมาะทานคู่กับข้าวใหม่  เพราะข้าวแต่ละชนิดมีรสชาติและสัมผัสที่แตกต่างกัน จึงมีการกินข้าวที่หลากหลาย เช่น ข้าวที่หุงร่วนเหมาะกับกินราดแกง ส่วนข้าวที่หุงแล้วนุ่มก็จะเหมาะสำาหรับกินคู่กับอาหารแห้งๆ เช่น น้ำพริก ปลาแห้ง หรือบางชนิดอาจเหมาะสำหรับทำเส้นขนมจีน บางชนิดก็เหมาะสำหรับทำขนมหวาน เป็นต้น
  • เรียนรู้(จัก)พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมเพื่อการปรับตัวในสถานการณ์โลกเดือด กับชาวนาตัวจริงและนักวิชาการที่มุ่งมั่นพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับความท้ายของปัจจัยต่างๆ ที่กระมทบกับการปลูกข้าว สำหรับชาวนา หรือคนที่สนใจจะเริ่มต้นเป็นชาวนา การรู้จักพันธุ์ข้าวและเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสม ถือเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ
  • เวิร์กชอปเรื่องข้าว การปลูกผักฉบับคนเมือง การแปรรูป ทำอาหารเพื่อการกิน-อยู่ ที่ร่วมสร้างความยั่งยืน การปลูกผักฉบับคนเมือง  ทำซูชิจากข้าวพื้นบ้าน  ทำพิซซ่าแป้งข้าวพื้นบ้าน และกิจกรรมเรียนรู้อีกมากมาย
  • ชวนมาช็อปกระจาย กับ City Farm Market และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก พบร้านค้าโดยผู้ผลิต ผู้แปรรูป จากเครือข่ายสวนผักคนเมือง และเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยจากหลากหลายระบบการผลิตแบบยั่งยืน ที่พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ของกิน ของใช้เปี่ยมคุณภาพ อย่าลืมหิ้วตะกร้าใบเก่ง สะพายถุงผ้าใบโต มาหอบหิ้วของดีกลับบ้าน

เทศกาลข้าวใหม่ นับเป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์และการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสถาพภูมิอากาศ  วิกฤตอาหารและพลังงาน การขยายตัวของการเปิดเสรีทางการค้า ที่อาจจะดูเหมือนว่าเป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเราจะแก้ไขได้  แต่เชื่อไหมว่า การกินข้าวแบบเข้าใจวิถีชีวิตของชาวนา สนับสนุนวิถีการผลิตแบบยั่งยืน กินข้าวให้หลากหลายโดยเฉพาะข้าวพื้นบ้าน ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป และถือเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของคนไทยทุกคน

เทศกาลข้าวใหม่ปีนี้ เรามีองค์กรและภาคีร่วมจัด : มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) // เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก// โครงการสวนผักคนเมือง // City Farm Market // มูลนิธิรักษ์ไทย // สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)// โครงการเสริมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำผ่านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (ระยะที่ 2) (SCP) ภายใต้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF THAILAND)