สาระสำคัญจากวงเสวนา ‘ออกแบบอนาคตเมืองด้วยพื้นที่อาหาร’

สวนผักคนเมืองเก็บประเด็นวงเสวนา ออกแบบอนาคตเมืองด้วยพื้นที่อาหาร ในเทศกาลสวนผักคนเมืองครั้งที่ 8 พื้นที่อาหารของเมือง ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มาฝากทุกคนกัน!

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะประเทศไทย เราเจอวิกฤตตั้งแต่น้ำท่วมปี 2554 และช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ลากยาวถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ไหนจะทางภาคอีสานที่มีน้ำท่วมหนักในปี 2565 และตอนนี้เราเองก็กำลังเผชิญกับโลกร้อน ที่เรียกว่าโลกเดือดจะถูกเสียกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบทางด้านอาหารก็หนีไม่พ้นคนเล็กคนน้อย หรือกลุ่มคนเปราะบางนั่นเอง

ปัจจุบันถ้าเรายังคิดว่าพื้นที่ในเมืองเป็นเพียงพื้นที่รับอาหารเท่านั้น ก็อาจไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เมืองควรมีพื้นที่อาหารของตัวเอง และออกแบบให้มีประโยชน์ที่หลากหลาย เช่นเป็นพื้นที่ให้เด็กและคนทั่วไปได้เรียนรู้ระบบอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร เราเองจึงจะสามารถหยุดยั้งและแก้ปัญหาวิกฤตได้ ไม่ใช่แค่รอรับผลจากวิกฤตที่จะเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว

เสวนาออกแบบอนาคตเมือง ด้วยพื้นที่อาหารของเมือง จึงจะชวนทุกท่านมาเปิดโลกใหม่ ฟังประสบการณ์ที่หลากหลายของแต่ละพื้นที่ทั้งในเมืองและรอบเมือง ว่าแต่ละพื้นที่สามารถสร้างพื้นที่อาหารของตนเองได้อย่างไร แม้ว่าหลายคนไม่ได้เป็นเกษตรกรด้วยซ้ำไป

“คนในชุนชนของเราส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านสินทรัพย์มั่นคงกว่า 107 ครัวเรือน ตอนแรกเราสนใจเฉพาะเรื่องที่อยู่เท่านั้น แต่จากวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดขึ้น เราไปตลาดไม่ได้ การหาอาหารยากขึ้น พวกเราไม่เคยมีความคิดว่าจะต้องมาปลูกผักกินเองเลย แต่พอถึงวิกฤตเราประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารหลายครัวเรือน พอเครือข่ายสวนผักคนเมืองมาแนะนำให้เราลองลงมือปลูกผักกินเอง เราก็เห็นประโยชน์และความสำคัญของการมีพื้นที่อาหารในชุมชนของเราเองทันที และช่วยกันลงมือทำ”
.
“เมื่อเราได้รับการสนับสนุนจากโครงการสวนผักคนเมือง และ สสส. เราเริ่มทำแปลงผักด้วยพื้นที่ 90 ตารางเมตร พื้นที่ตรงนั้นตอนแรกมีแต่ขยะที่คนเอามาทิ้ง เราก็ปรับพื้นที่และเริ่มปลูกผักสวนครัว พอเริ่มได้ผลผลิตเราก็เริ่มขายในชุมชนบอกเขาว่าเป็นผักปลอดสารพิษนะ นอกจากขายแล้วเราก็เอามาทำกับข้าวแจกในช่วงโควิด 19 เรียกว่าช่วงแรกผลผลิตที่ออกมาดีมาก แม้ในยามที่เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร แต่ผู้เปราะบาง คนป่วย เด็กได้กลับมากินอาหารที่ปลอดสารเคมี ที่เราปลูกและดูแลกันเอง แทนที่จะไปซื้อจากตลาด ปัจจุบันแปลงผักขนาดเล็กของเราต่อยอดโดยมีแนวคิดว่าถ้าเราแค่ปลูกผักวนไปเรื่อย ๆ อาจจะไม่ยั่งยืนพอ เพราะขนาดพื้นที่ปลูกมีไม่มาก แต่หากเราอยากสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ชุมชนเราต้องเพิ่มมูลค่าผลผลิต”
.
“เราต่อยอดเป็นการทำผักดอง ให้เก็บได้นานขึ้น เริ่มจากทำให้คนในชุมชนชิม และสอนให้ทุกคนทำเป็น เวลามีผลผลิตเราก็มาทำร่วมกัน ต่อยอดไปเรื่อย ๆ มีโรงเห็ดเพาะเห็ด เราก็เอามาแปรรูปเป็นแหนมเห็ด ทำเป็นเห็ดกรอบให้เด็ก ๆ ได้กิน ทำให้คนในชุมชนเริ่มตระหนักว่าเราจำเป็นต้องยกระดับสู่การแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างเป็นอาชีพได้”
.
“และกำไรที่มากกว่าเงินคือน้ำใจที่เกิดขึ้นในชุมชนของเรา ผู้ป่วย ผู้เปราะบางได้ทานอาหารที่ดีขึ้น จากเด็กที่ไม่กินผักก็กลับมาเปิดใจกินผักมากขึ้น แถมเป็นผักที่เราปลูกเองปลอดสารเคมี ทุกคนจากที่ต่างคนต่างไปทำงาน เรากลับมาช่วยกัน มีเวลาก็มาช่วยรดน้ำผัก ผู้สูงวัยมีพื้นที่ได้มาเดินออกกำลังกายโดยการปลูกผัก แปรรูปผัก ทุกคนมีความสนิมสนมและช่วยเหลือกันมากขึ้น”

– ป้าติ๋ม-วรรณา ประสาทเขตการ : โครงการสวนผักชุมชนทรัพย์สินมั่นคง พื้นที่อาหารของเมืองเติมเต็มคำว่าบ้าน ลดความเปราะบางบ้านมั่นคง

“เราเองต้องขอบคุณโควิด ในปี 2563 ธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เราเป็น SME เล็ก ๆ ที่มีพนักงาน 30-35 คน เริ่มแรกไม่มีใครเคยปลูกผักมาก่อนเลย เรียกว่าเป็นภาคบังคับ เรามีแต่วัยแรงงานที่น่าสงสาร อย่าว่าแต่การปลูกผักเลย แค่ทำอาหารก็ยังทำไม่เป็น พวกเขาจะมุ่งหาแต่เงิน ความสามารถเขาคือการแกะอาหารออกจากถุง ค่านิยมเหล่านี้เองริดรอนความสามารถในการพึ่งตนเองด้านอาหารของพวกเขาอย่างมาก”
.
“เมื่อเกิดวิกฤต เราหาอาหารกินยาก เราเลยชวนน้อง ๆ มาปลูกผักกินเอง แรก ๆ เขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร เพราะธรรมชาติของเขาจะรับคำสั่งจากหัวหน้า ไม่รู้จะต้องเริ่มทำอะไร เราเลยเริ่มต้นจากการจัดเวลาในช่วงวันเสาร์ให้เขาเลิกงานเร็วขึ้นสักชั่วโมง แล้วมาทำแปลงผัก ยกแปลง จากปีแรกบนพื้นที่ 800 ตารางเมตร เราได้ผลผลิตไม่ถึง 100 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันเราเพิ่มพื้นที่ มีการปลูกพืชผักที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า เกิดเป็นโครงการปลูกปันวันละมื้อ เรามีเป้าหมายว่าทุกคนต้องสามารถเก็บผักไปกินได้ตามอัธยาศัย ทั้ง 30 คน 19 ครัวเรือน นอกจากปลูกผักแล้ว เราให้น้อง ๆ เรียนรู้การนำมาทำอาหาร การแปรรูปที่หลากหลายเพิ่มเติม”
.
“ผลลัพธ์ 3 ด้านของเราที่เกิดขึ้นคือ 1. ต่อตัวเองและครอบครัว เขาสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 200-300 บาท/เดือน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการบริโภคผักปลอดภัย 2. ต่อองค์กร เราได้พนักงานที่มีคุณภาพมากขึ้น พนักงานทำงานหลายอย่างร่วมกันได้มากขึ้น เพราะเขาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน รู้จักและสนิทสนมกัน ช่วยเหลือกันมากขึ้น เราเชื่อว่าในทุก ๆ กระบวนการมันสามารถพัฒนาคนได้ และ 3. ต่อชุมชน เราเป็นแหล่งอาหาร เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สามารถแบ่งปันความรู้กับชุมชนได้ เครื่องมือที่เราใช้ในการทำงานคือ การวางผังแปลงที่มีสถานะของแปลง ปฏิทินการดูแล การใส่ปุ๋ย เติมธาตุอาหาร และบันทึกผลผลิต บันทึกผลสำรวจความพึงพอใจ ทำให้ทุกวันนี้เรามีพื้นที่อาหารของตัวเองเกิดขึ้นภายในโรงงานได้”

– คุณนิ่ม-อารยา ชูผกา : โครงการสวนผักถาวรปลูกผักปันวันละมื้อ พื้นที่อาหารสร้างทักษะชีวิตในโรงงาน

“การสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนเราไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เพราะเป็นการยากที่จะไปอธิบายหลักการให้กับชาวบ้านได้เข้าใจ แต่สิ่งที่เราทำคือการทำให้เห็น ทำตามความพึ่งพอใจของทุกคน ใครสอนอะไรมาเราก็ทำตาม เราเป็นพื้นที่ว่างใต้ร่มไม้ใหญ่ พื้นดินเป็นทราย เราก็ปลูกไปตามที่เครือข่ายสวนผักคนเมืองสอนมา เราทำกันอยู่แค่ 10 คน เป็นกลุ่มผู้หญิงและผู้สูงวัย ผลผลิตก็ไม่ได้ดีมาก เรียกว่าไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น แต่สิ่งที่เราทำคือเราต้องมีกำลังใจ ไม่ล้มเลิก ไม่อยากทำก็ต้องทำ ปลูกไม่ขึ้นก็ลองปลูกอะไรที่ง่าย ๆ พยายามทำให้คนในชุมชนเห็นผลลัพธ์ที่ดีให้ได้”
.
“เมื่อได้ผลผลิตที่ดี เราเพิ่มศักยภาพให้ผู้หญิง และผู้สูงวัยในคลองเตยได้พัฒนาด้านการออกแบบพื้นที่อาหารร่วมกัน แบ่งหน้าที่การเข้าไปดูแล ลงมือทำ เจอปัญหาก็ขอความรู้จากเครือข่าย แล้วแก้ปัญหากันไป เราเริ่มมีใบกะเพราปลอดสารเคมีให้ทุกคนได้เห็นว่ามันงาม มันเยอะ หลายคนเห็นก็ขอบ้าง มาซื้อบ้าง เขาเองก็เริ่มอยากทำแบบเราบ้าง เราก็ให้ความรู้เขาไปปลูกในกระถางของตัวเองหน้าบ้าน สอนเขาดูแลดิน บำรุงดินเป็นเทคนิคเล็กน้อยที่ทำได้ง่าย ๆ จากที่เขาแค่เดินผ่าน วันนี้หลายครัวเรือนทำตามแล้ว”
.
“เราอาจไม่ได้มีสเต็ปชัดเจน เราก็ใช้วิธีการแบบลูกทุ่ง ทั้งการทำเกษตร ทั้งการสื่อสารให้ชุนชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ปัจจุบันผลผลิตที่ปลูกได้ที่แปลงเรา ไม่ว่าออกมามากแค่ไหนก็ขายหมด ไม่พอกับความต้องการในชุมชนเลย”

คุณลิ- มนัสนันท์ สุริยะตุลานนท์ : โครงการพืชผักปลอดพิษคนปลอดภัย พื้นที่อาหารชุมชนแออัดคลองเตยเพื่อสุขภาวะผู้สูงวัย

“ในช่วงวิกฤตโควิด 19 เห็นได้ชัดว่าคุณภาพชีวิตของคนเมือง โดยเฉพาะเรื่องของอาหารนั้นวิกฤตมาก ๆ คนเมืองไม่มีพื้นที่อาหารของตัวเอง ปลูกไม่เป็นบ้าง มองว่าเป็นเรื่องของอดีตเป็นเรื่องของคนแก่บ้าง ไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่จริง ๆ ทั่วโลกเองกำลังให้ความสำคัญกับการหันไปพึ่งพึงวิถียั่งยืนมากขึ้น เขาพูดถึงการปลูกผักที่บ้าน มีพื้นที่อาหาร มากกว่าการพูดถึงการนำเข้า และการทำเกษตรเชิงเดี่ยว”
.
“กทม. เองอยากสนับสนุนการสร้างพื้นที่อาหารของเมือง โดยการการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาในสมการให้มากขึ้น เราจะเข้าไปต่อยอดเรื่องการศึกษาในโรงเรียนของ กทม. ที่มีอยู่ 437 โรงเรียน มีนักเรียนกว่า 250,000 คน เรามีโรงเรียนที่ทำเรื่องการนำการเกษตรมาบูรณาการกับการกินอาหาร เราสามารถเอามาขยายผลให้มากขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้”
.
“ประเด็นที่ 2 คือมิติด้านเศรษฐกิจ การลดรายจ่ายในครัวเรือน ปัจจุบันเรามีหน่วยงาน พอช. ที่เข้าไปช่วยจัดหาพื้นที่ที่อยู่อาศัย แต่เราจะไม่ได้มองแต่เรื่องบ้านเท่านั้น เราจะสนับสนุนการออกแบบพื้นที่แปลงผักของชุมชนร่วมด้วย การทำเกษตร การมีพื้นที่อาหาร พื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้ พื้นที่ตลาดเหล่านี้เพิ่มเข้ามาด้วย เราได้พูดคุยกับทีมงานสวนผักคนเมืองแล้ว เห็นว่าภาครัฐเองสามารถสนับสนุนเครื่องจักรหนัก ๆ ได้ ชุมชนสามารถยืมคืนได้ เช่นเครื่องทำปุ๋ย เครื่องอัดฟาง แล้วก็ทรัพยากรต่าง ๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ ด้านสังคม คนในเมืองมีสัดส่วนของผู้สูงวัยมากขึ้น คนในวัย 40 ต้น ๆ หลายคนรีสกิล อัพสกิลไม่ทัน กลายเป็นไม่มีอาชีพหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ถ้าเราสนับสนุนอาชีพด้านการเกษตรให้เป็นงานเพิ่มขึ้นในเมืองได้ก็จะช่วยลดปัญหาสังคมด้านนี้ได้”
.
“ประเด็นที่ 3 การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เรามีนโยบายที่จะสนับสนุนให้พื้นที่สีเขียวในเมืองไม่เป็นเพียงพื้นที่พักผ่อนที่ปลูกแต่ไม้ประดับเท่านั้น แต่เราสามารถเพิ่มการปลูกพืชผักกินได้เข้าไป เป็นพื้นที่เกษตรแปลงผักและวางแผนให้มีเครือข่ายที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปช่วยดูแลและต่อยอด”

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ : รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“เราเริ่มต้นจากการเข้าไปทำงานกับเทศบาลใน อ.ศรีราชา เราได้พูดคุย ได้เห็นภาวะทางจิตใจทั้งของเด็กเองและผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ไม่มีเวลาดูแลลูก กดดันเรื่องงาน ไม่ได้พักจริง ๆ มีภาวะเครียด แต่สถานที่เทศบาลเป็นเพียงห้องเล็ก ๆ สี่เหลี่ยมมองไปทางไหนก็ไม่ผ่อนคลาย สีชาเป็นคาเฟ่เล็ก ๆ ที่เราตั้งใจชวนผู้ปกครองและเด็กจากเทศบาลมานั่งพูดคุย หาทางจัดการภาวะความเครียด แต่พอได้เริ่มคุยไม่นาน บรรยากาศความเป็นสวน ความเป็นพื้นที่สีเขียวก็ทำให้เขาพรั่งพรูออกมาทันที นั่นทำให้เราคิดว่าการมีพื้นที่สีเขียวนี้สำคัญมาก”
.
“ส่งผลให้ความทุกข์ที่เคยมี มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เด็ก ๆ ได้ออกมาข้างนอก ได้สัมผัสเหยียบดิน นอนบนหญ้า ปรากฏว่าพื้นที่ธรรมชาติตรงนี้เหมาะกับการบำบัดผู้คนมากกว่า เมื่อมีผู้คนหลายกลุ่ม เราก็ออกแบบพื้นที่สีเขียวให้หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการมีพื้นที่สีเขียวที่สามารถปลูกผักได้ ฮีลใจคนได้ ป้า ๆ ที่เข้ามาดูแลปลูกผัก เขาเอาผลผลิตมาทำอาหารได้มากมายและหลากหลาย กลุ่มแม่ ๆ ก็มีการสนับสนุนให้พาเด็ก พาครอบครัวมาเชื่อมโยงกันที่สวนนี้ มาทำกิจกรรม มาดูมด เดินป่า เราเป็นไปตามธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการได้ดูแลพลังงานของตัวเอง ให้คนดูแลผัก และให้ผักได้ดูแลคน”

นางญาดา จำนงค์ทอง : โครงการสวนผักบำบัดสีชา พื้นที่อาหาร ฮีลใจผู้คนในสังคมเมือง

“แม้เราจะมีผลผลิตที่หลากหลายที่ผ่านมา แต่แค่เราประสบวิกฤตน้ำท่วมเมื่อปี 2565 ผลผลิตเราเสียหาย ข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยวหายไปในพริบตา เราทั้งขาดแคลนอาหาร ทั้งผลผลิตเสียหาย และวิกฤตไปจนถึงเราไม่มีเมล็ดพันธุ์ในการปลูกในฤดูกาลถัดไป”
.
“จากวิกฤตน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำมูล เราได้รับการช่วยหลือจากการระดมทุนของเครือข่ายเยอะมาก และหนึ่งในนั้นคือเครือข่ายสวนผักคนเมือง เราได้รับเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูกได้มากกว่า 680 ครอบครัว บ้านละ 1 กระสอบ ที่ใช้ทำนาได้ 1 ไร่ และเราได้ข้าวเปลือกมาประมาณ 1 ตัน เรายังได้กระจายเมล็ดพันธุ์ต่ออีกแบ่งปันต่อพี่น้องในเครือข่ายมากกว่า 1,000 ครอบครัว”
.
“แต่จากเหตุการณ์นั้น เราทบทวนว่าเจอน้ำท่วมจากการทำเขื่อนมานานกว่า 30 ปี ในปี 2565 เราก็เผชิญกับน้ำท่วมอีกซึ่งส่งผลกระทบมากกว่าเดิม เราเลยคิดว่าเราจะรอแต่การรับบริจาคระดมทุนเท่านั้นหรือ เราอยากจะทำนาแบบหนีน้ำท่วมให้ได้ เมื่อปรึกษาทางเครือข่ายจึงได้รับการช่วยเหลือที่มีค่ามาก ๆ เราได้อาจารย์จากกรมการข้าวมาให้ความรู้ เกิดการทำแปลงทดลองการนำข้าวสายพันธุ์ที่หลากหลายไปปลูกในพื้นที่ทาม พี่น้องเกิดการตื่นตัวว่าเราจะปลูกแต่ข้าวสายพันธุ์เดิมไม่ได้แล้ว พื้นที่ลุ่มน้ำจะไม่มีทางหนีวิกฤตน้ำท่วมได้ เราเริ่มเรียนรู้ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ภายใน 100 วัน 120 วัน และ 200 วัน เราทดลองปลูกข้าวหลายระยะมากขึ้น เราปรับตัวและสร้างรายได้จากพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น”
.
“เราคิดว่าการมีพื้นที่อาหารที่มั่นคงและยั่งยืนได้ เกษตรกรเองจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องพันธุกรรมของข้าว สายพันธุ์ข้าว เราถึงจะจะเผชิญกับวิกฤตได้อย่างไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เราเรียนรู้เรื่องนิเวศเกษตร เพื่อเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้”

นางสาวปราณี มรรคนันท์ : สมาคมคนทาม ระบบอาหารยั่งยืน เมือง-ชานเมือง-ชนบทต้องเกื้อกูลกัน

ท้ายที่สุดแล้วการออกแบบพื้นที่อาหารของตัวเองขึ้นมาของทุกชุมชน เชื่อมโยงกับทุกระบบนิเวศเกษตรนอกเมือง ถือเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายบ้าน หลายชุมชน รวมถึงหลายพื้นที่ ที่ยังไม่สามารถผลิตอาหารเองได้ ได้เห็นถึงความสำคัญ และเริ่มต้นสร้างพื้นที่อาหารของตนเอง

“เพราะระบบอาหารของประเทศไทยในปัจจุบัน เรียกว่าเปราะบางและไม่ยั่งยืนเป็นอย่างมาก เราไม่รู้เลยว่าอาหารเราเดินทางมาจากไหน มีระยะทางห่างไกลเท่าไร อาหารที่เราได้กินอยู่ในวิถีชีวิตนั้นน้อยมากที่มาจากพื้นที่การผลิตของเราเอง ถ้าวันนี้เรามีอาหารที่ผลิตในพื้นที่ของเราเอง เราจะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ เราจะสามารถลดค่าใช้จ่าย เราจะสามารถสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นได้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในพื้นที่นี้แน่นอนจะเป็นแรงคุ้มกันของวิกฤตที่จะเกิดขึ้น เป็นเกราะกันชั้นดีให้กับความเปราะบางนี้ได้”

พลาย ภิรมย์ : ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน WWF ประเทศไทย