พื้นที่มีจำกัด แปลงผักสองชั้นช่วยได้

สวนผักคนเมืองขอแชร์ไอเดียแปลงปลูกผัก ของศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองชุมชนทรัพย์สินมั่นคง จ.สมุรปราการ ที่ลุงๆ ป้าๆ ไม่ยอมจำนนในข้อจำกัดของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะกับการทำสวนผักปลอดสาร เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับคนในชุมชนนั้นค่อนข้างมีน้อยมาก  ขนาด 90 ตารางเมตร

แต่จากประสบการณ์ จากการลงมือปฎิบัติจริงของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ช่วงวิกฤติโควิด-19 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง ได้พัฒนาพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนที่ถูกปล่อยรกร้างมานาน ให้กลายเป็นพื้นที่ผลิตอาหารสำคัญของชุมชนเพื่อรับมือวิกฤติอาหารที่เกิดขึ้น

แม้จะล่วงเลยวัยเกษียณกันมาแล้ว แต่ลุงๆ ป้าๆ ก็บอกว่า แทบไม่มีประสบการณ์ ความรู้เรื่องการปลูกผักหรือทำเกษตรเลย จึงเริ่มนับหนึ่งกันตั้งแต่เรื่องการปรับพื้นที่ ออกแบบพื้นที่  เตรียมดิน เตรียมปัจจัยการผลิต และการปลูกพืชผักที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล ซึ่งใช้เวลาเกือบ 4 เดือน จึงเริ่มเห็นพืชผักเจริญเติบโต และใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี ในการค่อยๆ เรียนรู้  ค่อยๆ ทดลอง ค่อยๆ แก้ไขปัญหาที่พบเจอในการปลูกผักในเมือง เพื่อให้พื้นที่อาหารที่มีอยู่จำกัดนี้ มีศักยภาพในการผลิตอาหารปลอดสาร ปลอดภัย มีคุณภาพให้กับคนในชุมชนได้มากขึ้น

มีผลผลิตผักเก็บไปแบ่งปันสมาชิกในชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง

บางฤดูกาลผักชนิดไหนเก็บเกี่ยวได้มาก ก็นำมาแปรรูป ทำผักดองให้สามารถเก็บกินได้นาน ช่วงหน้าฝนปลูกผักยาก ได้ผลผลิตน้อย ไม่เพียงพอ ก็เสริมด้วยการเพาะเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า ไปจนถีงทำแหนมเห็ดแสนอร่อยกินกันในชุมชน

ในแต่ละรอบการเก็บเกี่ยว ป้าติ๋ม ป้าแมว และสมาชิกกลุ่มก็จะนำผักจากสวนทำปรุงอาหารทั้งผัด ทั้งแกง ให้แต่ละครัวเรือนได้ทานอาหารจากแปลงผักส่วนรวมของชุมชน

แน่นอนว่า การทำเกษตรในเมืองนั้นไม่ได้สวยงามเสมอไป ในช่วงหน้าฝน ปัญหาและอุปสรรคใหญ่ๆ เลยที่ทุกสวนผักชุมชนเมืองต้องเจอ คือ ปัญหาน้ำท่วมขัง ทำงานในแปลงค่อนข้างยาก ฝนตกหนักทำให้พืชผักเสียหาย ดินแน่นผักเติบโตได้ไม่ดี  ได้ผลผลิตน้อย  แถมพืชผักในตลาดก็จะมีราคาสูงในช่วงเวลานี้ด้วย

แต่สำหรับคนปลูกผักในเมืองที่เคยผ่านสมรภูมิการขาดแคลนอาหารมาแล้วนั้น พวกเขามีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะงัดเอาทุกวิธีการมาใช้ มาพัฒนาเพื่อมาทำให้พื้นที่อาหารเหล่านั้นสามารถดูแลคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งในหลายๆ วิธีการ หลายๆ เทคนิค เราเองก็ทึ่ง

#ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองชุมชนทรัพย์สินมั่นคง  เมื่อถึงหน้าฝนแปลงผักบางส่วนจะมีน้ำท่วมขัง  ปีนี้ ลุงๆ ป้าๆ ก็เลยปรับพื้นที่แปลง ยกขอบแปลงผักให้สูงขึ้น โซนใกล้ริมคลองก็ทำแปลงผักยกพื้นให้สูงขึ้น ปรับพื้นทางเดินให้สูงขึ้น นอกจากจะช่วยให้การทำงานในแปลงสะดวกขึ้นแล้ว ยังแถมด้วยความสวยงาม และเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนของคนในชุมชนได้อีกด้วย

ที่สุดเจ๋งก็คือ พื้นที่มีอยู่แค่นี้ แต่อยากปลูกผักให้ได้มากขึ้น แปลงผักสองชั้นก็มาจ้า

แปลงปลูกชั้นที่หนึ่ง คือ แปลงเดิมที่ใช้ปลูกผักเป็นพื้นฐานของสวนผักชุมชนแห่งนี้ สมาชิกจะหมุนเวียนชนิดผักปลูกปบบไม่ซ้ำชนิด เพื่อป้องกันโรคพืชและแมลง เก็บเกี่ยวผักแล้วแต่ละรอบก็จะพักดิน เติมดิน เติมปุ๋ยหมักเพิ่มธาตุอาหารในดิน

แปลงปลูกผักชั้นที่ 2 คือ พื้นที่ปลูกผักที่เพิ่งเสริมขึ้นมา โดยการทำแครปลูกผักคร่อมแปลงชั้นที่หนึ่ง หรือการทำแปลงผักยกพื้นเติมขึ้นไปด้านบน เราจะสังเกตเห็นว่า ทำไมแปลงผักชั้นที่ 2 ถึงมีขนาดเล็กปลูกผักได้แค่ 2 แถว ทำทั้งทีทำไมไม่ทำใหญ่ๆ ไปเลย จะได้ปลูกได้เยอะๆ  ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ลุงๆ ป้าๆ อยากปลูกผักกินใบ ผักอายุสั้น ซึ่งผักชนิดนี้ต้องการแสงแดดอย่างน้อย 60 % หรือในช่วงครึ่งวัน ถ้าทำแปลงผักคร่อมเต็มพื้นที่ผักที่ปลูกอยู่ด้านล่างก็จะไม่ได้รับแสงแดดเลย แถมยังอาจจะเกิดปัญหาเรื่องความชื้นที่มากเกินไป เกิดปัญหาโรคเน่าโคนเน่าได้  จึงทดลองทำแปลงผักยกพื้นที่มีขนาดเล็ก เพื่อปันแสงแดดให้กับผักได้รับแสงอย่างเพียงพอ

ต้องมารอลุ้นกันว่า เทคนิค วิธีการของลุงๆ ป้าๆ นี้จะได้ผลอย่างไร  เพราะทุกอย่างต้องอาศัยการทดลอง เพื่อให้แต่ละชุมชนได้มีชุดความรู้ ชุดประสบการณ์ของตนเอง ภายใต้บริบทที่เหมาะสม

ใครที่สนใจเรียนรู้เทคนิคนี้ อยากพูดคุย อยากสอบถาม รวมถึงมาชิมผักดอง แหนมเห็ด และผลผลิตจากสวนผักชุมชนทรัพย์สินมั่นคงแห่งนี้  ก็มาเจอกับป้าแมว ป้าติ๋ม พี่คิด และเหล่าสมาชิกสวนผักคนเมืองได้ที่งาน

เทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 8  ‘พื้นที่อาหารของเมือง’

วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน 2566 เวลา 9.00- 17.00 น.

ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) นนทบุรี