‘ตู้ปันผัก’ @สวนผักปลอดสาร ชุมชนคลองลัดภาชี

นวัตกรรมบ้านๆ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการกระจายและเข้าถึงผักปลอดสาร จากพื้นที่อาหารส่วนกลางของชุมชน  กิจกรรมปลูกผักซึ่งทุกคนอาจจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ แต่ทุกคนก็สามารถเข้าถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น เพียงแค่เมื่อมาเก็บผักช่วยนำผักไปชั่งน้ำหนัก จดบันทึกน้ำหนักเท่านั้น หรือใครจะร่วมหยอดกล่อง มากบ้าง- น้อยบ้าง -หรือถ้าไม่มีก็ไม่ต้องหยอด เพราะพื้นที่อาหารนี้ เป็นอาหารดีๆ จากพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน จากความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ที่ต้องการยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของทุกคน

ชุมชนคลองลัดภาชี แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งได้รวมกลุ่มแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเมื่อปี พ.ศ.2548 และได้จดทะเบียนจัดตั้งชุมชนเมื่อปี พ.ศ.2555 โดยปัจจุบันมีครัวเรือนทั้งหมด 79 หลังคาเรือน มีสมาชิกในชุมชน 327 คน ด้วยความมุ่งมั่นและความสนใจประเด็นเรื่องการพัฒนาชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมาโดยตลอด ทำให้ชุมชนคลองลัดภาชีมีโอกาสในการเข้าร่วมโครงการพัฒนา โครงการศึกษาวิจัยร่วมกับหน่วยงานวิจัย หน่วยงานทางวิชาการ หน่วยงานรัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นการทำสวนผักปลอดสาร ชุมชนคลองลัดภาชี ร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนาชุมชน (ศวพช.) สำนักงานเขตภาษีเจริญได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางประมาณ 240 ตารางเมตร ในการปลูกผักสวนครัวปลอดสารโดยการให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และลงมือทำเรื่องของการปลูกผักปลอดสารพิษตลอดจนร่วมกันดูแลรักษา เพื่อให้ประชาชนในชุมชน เยาวชน บุคคลทั่วไป กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยและเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

แต่อาจด้วยยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการออกแบบ การวางระบบของการทำเกษตรในเมือง แบบสวนผักชุมชนที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมาช่วยกันดูแลและบริหารจัดการ จึงทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมาสวนผักปลอดสารยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ บางช่วงผักไม่โต ไม่มีผลผลิต บางช่วงต้องหยุดทำสวน และในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แกนนำและคณะกรรมการชุมชน เห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องในชุมชน ทั้งกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด – 19 กลุ่มผู้คนตกงาน และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ จึงต้องระดมความช่วยเหลือจากภายนอกมาเพื่อจัดทำครัวกลางเมืองภาษีเจริญ วันละ 300 ชุด เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางนั้น

ชุมชนคลองลัดภาชี จึงประกาศเอาจริงกับการพัฒนาสวนผักชุมชนเพื่อเป็นพื้นที่อาหาร พื้นที่ผลิตผักปลอดสารให้เพียงพอกับความต้องการของชุมชน สามารถดูแลเรื่องการเข้าถึงอาหาร ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนอาหารของกลุ่มเปราะบางในชุมชนให้ได้ รวมถึงการยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหาร ศักยภาพภาพในการผลิตอาหาร สร้างคลังอาหารของชุมชนให้ได้ เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต  จึงเข้าร่วมกับโครงการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ดำเนินงานโดยโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)  ซึ่งชุมชนคลองลัดภาชี มีแนวทางสำคัญดังนี้

  1. การปรับปรุง พัฒนาพื้นที่เพาะปลูก สวนผักชุมชนที่มีอยู่เดิมให้พร้อมกับการทำเกษตรในเมืองที่มีระบบ มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่การทำเกษตรในเมืองไปยังพื้นที่ว่าง พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่อาหารของชุมชน
  2. การเติมพลังความรู้ ทักษะความสามารถของสมาชิกในกลุ่มและชุมชนให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำเกษตรในเมือง หลักการพื้นฐานสำคัญที่ต้องเรียนรู้อย่างเข้าใจ ที่สำคัญคือต้องลงมือทำ เพื่อพิสูจน์ว่ารูปแบบการปลูกผักแบบไหนเหมาะกับชุมชน  การปลูก การดูแล รวมถึงกระบวนการในการบริหารจัดการแปลงผักที่เหมาะสม ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง
  3. การเพิ่มจำนวนสมาชิก คนปลูกผัก และคนดูแลพื้นที่อาหารให้เพียงพอ สำหรับกิจกรรมการทำเกษตรในเมือง โดยเริ่มจากการดึงคนที่มีความสนใจ ความชอบเข้ามาทำงานก่อน แล้วค่อยขยายไปคนอื่นๆ ที่เขาอาจจะได้เห็นข้อดี เห็นรูปธรรมของสวนผักชุมชนที่เกิดขึ้นว่ามีประโยชน์ต่อชุมชนมากเพียงใด
  4. การบูรณาการ การเชื่อมโยงทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน กิจกรรมพัฒนาต่างๆของชุมชน รวมถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการทำเกษตรในเมือง หรือการสร้างพื้นที่อาหารของชุมชน เพื่อเติมเต็มความสามารถ ศักยภาพ รวมถึงทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชุมชนมีการทำเรื่องการจัดการขยะ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะอาหารด้วยหนอนแมลงวันลาย ก็นำปุ๋ยหมัก น้ำหมักที่ได้จากกิจกรรมการจัดการขยะมาใช้เป็นปัจจัยในการปลูกผัก  เป็นต้น

สวนผักปลอดสาร ลดรายจ่าย สร้างงาน สร้างรายได้ ชุมชนคลองลัดภาชี จึงเริ่มจาก

  • รวบรวมคนทำงาน เครือข่ายการทำงาน จำนวน 30 คน ที่รวมทั้งคณะกรรมการชุมชน ผู้สูงอายุ แม่บ้าน และเยาวชน จากคนที่มีความสนใจ ชอบ และมีความฝันที่อยากจะเห็นการพัฒนาพื้นที่อาหาร เพราะอยากเห็นพืชผักสีเขียว  อยากเห็นการมีส่วนร่วม  อยากมีสุขภาพที่ดี อยากลงมือทำด้วยตัวเอง รู้จักวิธีการบริหารการวางแผนด้านการเงิน รายรับและรายจ่าย อยากให้ชุมชนมีโครงสร้างคณะทำงานและปฏิทินการดำเนินงานเรื่องสวนผักปลอดสารของชุมชนอย่างจริงจัง จึงชวนมาร่วมทำงาน วงแลกเปลี่ยน พูดคุยเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของคณะทำงาน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายทำแปลง ฝ่ายผสมดิน ฝ่ายปลูก ผู้รับผิดชอบดูแลผักในเบื้องต้น
  • พัฒนาทักษะความรู้ และการลงมือปฎิบัติจริง โดยมีทีมวิทยากรจากโครงการสวนผักคนเมืองเป็นผู้ถ่ายทอดทั้งในรูปแบบออนไลน์ และการลงพื้นที่ไปช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษา วางระบบ ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ที่เน้นให้ชุมชนเป็นผู้ลงมือทำเอง
  • หลักการวางผังแปลงผัก เช่น ทิศทาง ขนาดแปลง ระยะห่างของการปลูกผัก เยาวชนจึงได้นำหลักการไปออกแบบผังแปลง ในพื้นที่ 240 ตารางเมตร จนได้แปลงปลูก 18 แปลง ขนาดแปลงกว้าง 1 ดร.ม. ยาว 8 ตร.ม.
  • วิธีการการปรับปรุงดิน และการเตรียมปัจจัยการผลิตที่จำเป็น โดยสวนผักชุมชนลัดภาชีใช้ส่วนผสมของดิน +  ปุ๋ยคอก +กากมะพร้าว + น้ำหมักจุลินทรีย์ ในการหมักดิน  และมีปุ๋ยหมักใบไม้  ปุ๋ยหมักจากหนอนแมลงวันลาย และฮอร์โมนนม เป็นตัวเสริมในการบำรุง ดูแลพืชผักในแปลงอีกด้วย
  • เตรียมเมล็ดพันธ์ เพาะกล้าเตรียมลงแปลงปลูก โดยเนินการปลูกผักแบบหลากหลายอยู่แปลงเดียวกัน โดยผักแต่ล่ะอย่างดูตามความเหมาะสมว่าผัดอะไรควรปลูกด้วยกัน

ผักคู่หู ที่ปลูกในแปลงเดียวกัน หรือปลูกใกล้กัน จะส่งผลให้ผักเจริญเติบโต จากงานวิจัยในต่างประเทศที่ทดลองปลูกผักคู่หู พบว่าผักเหล่านี้จะเป็นทั้งร่มเงาให้กัน ช่วยไล่ศัตรูพืชให้กันและกัน ไม่แย่งธาตุอาหารทั้งยังช่วยผสมเกสรให้ออกผลได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศ ซึ่งตรงข้ามกับพืชคู่อริโดยสิ้นเชิง มีผักชนิดใดที่เป็น ผักคู่หู ควรปลูกใกล้กันบ้าง

ฟังทอง ปลูกร่วมกับ ผักกินหัว แครอท ไชท้าว //ผักชี ปลูกร่วมกับ แครอท กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี//สะระแหน่ ปลูกร่วมกับ มะเขือเทศ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี// พริก  ปลูกร่วมกับ มะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว กะเพรา ทานตะวัน// มะเขือ ปลูกร่วมกับ ผักชีลาว มินต์ เป็นต้น

ผักคู่อริ ในการปลูกผักบ่อยครั้งเราปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน แต่ไม่ใช่ว่าผักทุกชนิดจะปลูกร่วมกันได้ พืชหัว จะไม่นิยมปลูกไว้ใกล้กัน บางชนิดก็แย่งอาหารกัน บางชนิดก็เป็นเป็นพืชที่มีศัตรูพืชชนิดเดียวกัน เช่น เราจะไม่ปลูกถั่วฝักยาว มะเขือ พริก และแตงกวาในบริเวณเดียวกัน เพราะจะทำให้ศัตรูพืชเข้ามาทำลายผักได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องใช้วิธีแก้ด้วยการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ คั่นกลางพืชเหล่านี้ หรือแยกแปลงปลูกให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 50 เซนติเมตรขึ้นไป

1. คู่อริน้อย ไม่ค่อยระรานใคร

– กุยช่าย ปลูกให้ห่าง ถั่วฝักยาว

– หัวหอมใหญ่ ปลูกให้ห่าง ถั่วฝักยาว

– แตงกว่า ปลูกให้ห่าง มันฝรั่ง

– ฟักทอง ปลูกให้ห่าง มันฝรั่ง

2. คู่อริมีพอประมาณ

– ผักชี ปลูกให้ห่าง ผักชีล้อม

– ผักสลัด ปลูกให้ห่าง ขึ้นฉ่าย พาร์สลีย์

– ถั่วฝักยาว ปลูกให้ห่าง กุยช่าย กระเทียม

– หน่อไม้ฝรั่ง ปลูกให้ห่าง หัวหอมใหญ่ กระเทียม มันฝรั่ง

3. ศัตรูเยอะ ปลูกให้ห่างหลายชนิด

– ขึ้นฉ่าย ปลูกให้ห่าง มันฝรั่ง ข้าวโพด ผักสลัด ผักกาดหอม

– พริก ปลูกให้ห่าง คะน้า กะหล่ำปลี ถั่ว มะเขือ แตงกวา

– มะเขือเทศ ปลูกให้ห่าง ข้าวโพด พริก มันฝรั่ง บีตรู้ต โรสแมรี่ ตระกูลกะหล่ำ ทั้งกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก

– มันฝรั่ง ปลูกให้ห่าง ขึ้นฉ่าย แตงกวา แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง

  • การแบ่งปัน และกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึง รวมถึงการจดบันทึกข้อมูลที่เป็นระบบ เพื่อให้สามารถมีข้อมูลมาอ้างอิงผลลัพธ์ ประโยชน์ของการทำงาน รวมถึงจะเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการทำงานให้ดีมากขึ้น ซึ่งผลผลิตจากพื้นที่อาหารใน 2 รอบแรกเน้นแบ่งปันให้กับสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง โดยการปลูกใน 2 รอบแรกนั้นสมาชิกนั้นเป็นการทดสอบคุณภาพของดินว่ามีความเหมาะสม มีธาตุอาหาร มีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับการปลูกผักหรือยัง หลังจากการใช้เทคนิคการหมักดิน ผักที่ปลูกจึงเป็นผักบุ้งจีน เพราะปลูกง่าย อายุสั้น ใช้เวลาในการทดสอบดินไม่นาน หลังจากนั้นก็เริ่มวางแผนการปลูกผักที่หลากหลายตามความชอบ ความต้องการของสมาชิกในชุมชน ผลผลิตบางส่วนกลุ่มก็นำไปทำงาน จัดเลี้ยงเวลาที่มีคนเข้ามาศึกษาดูงาน ช่วยสร้างอาชีพเสริม และรายได้เสริมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มแม่บ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย

โดยใช้ ‘ตู้ปันผัก’ มาเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล ผลผลิต จำนวนคนที่เข้าถึงประโยชน์ และรายได้ที่เกิดขึ้น  เนื่องจากสวนผักชุมชนไม่มีคนดูแลตลอดทั้งวัน เวลาที่คนในชุมชนต้องการผัก ก็สามารถมาเก็บผักไปทำอาหารได้ตลอด แต่จะต้องช่วยจดบันทึกข้อมูลให้กับกลุ่มด้วย โดยไม่ว่าจะเก็บผักชนิดไหน มากน้อยเพียงไร เมื่อเก็บแล้วขอให้นำไปชั่งน้ำหนักตรงตาชั่งที่ร้านค้าชุมชน โดยให้ช่วยบรรทุกว่า วันที่เก็บ……ใครเก็บ…..ผักอะไร……. น้ำหนัก…….. และจำนวนเงินที่หยอดกล่อง ซึ่งการหยอดกล่องนี้ก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจ ใครมีกำลังที่จะจ่ายก็หยอดกล่อง ใครไม่มีก็ไม่ต้องหยอด  ด้วยเครื่องมือง่ายๆ และความร่วมมือของคนในชุมชน ทำให้ตอนนี้กลุ่มมีฐานข้อมูลจำนวนผลผลิตที่เกิดขึ้น ผลผลิตผักปลอดสารได้กระจายไปสู่จานอาหารของสมาชิกในชุมชนกว่า 70 คนแล้ว และรวมรายได้จากการจำหน่ายผักเป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับการทำสวนผักชุมชน และการนำไปขยายพื้นที่อาหารของชุมชนเพิ่มเติมแล้วกว่าสี่พันบาท

กระบวนการ

การสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ไม่เพียงช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างพื้นที่อาหาร ยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารได้เท่านั้น แต่กระบวนการทำงาน และการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกทั้ง 38 แห่ง ตลอดจนทีมพี่เลี้ยง ทีมวิทยากร ได้สร้างให้เกิดชุดความรู้ ชุดบทเรียนร่วมกัน เพื่อจะเป็นต้นทุนในการไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของคนเองให้มากขึ้น จากกิจกรรมถอดบทเรียนร่วมกันของชุมชนลัดภาชี และสมาชิกโครงการในเครือข่ายบ้านมั่นคง พบว่า พื้นที่อาหาร นำไปสู่  การปลูกผัก ปลุกคน ปลูกชุมชนที่ยั่งยืน ได้ โดยต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของ ‘คน 3 วัย’ ต้องค้นหาคุณสมบัติความสามารถของคนในพื้นที่ และจัดงานให้ตรงกับความสามารถของเขา  เช่น ผู้สูงวัย ถนัดการปลูก วิธีการรับประทาน การปรุงอาหาร เยาวชน ถนัดเทคโนโลยี การจัดการข้อมูล ระบบดิจิทัล วัยทำงาน คิดเชิงยุทธศาสตร์ ดึงงบประมาณ องค์ความรู้ หน่วยงานเข้าพื้นที่ 

บทเรียน

1.ทำงานกับเยาวชนต้องมีความเร็ว สามารถยอมรับความรวดเร็วของเขาได้ พร้อมคอยแนะนำการทำงานของเยาวชนให้เข้ากับคนสูงวัย โดยบางเรื่องต้องช้าลง ไม่เร็วเกินไป

2.สร้างวงการมีส่วนร่วมของคนทุกวัย ต้องให้เยาวชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกัน แม้กระทั่งคนที่อยู่วงนอก ไม่ค่อยมีส่วนร่วมแต่อยู่ในชุมชน ก็จะต้องหาโอกาสให้เขาได้มามีส่วนร่วม เช่น นอกจากกิจกรรมปลูกผัก เพิ่มกิจกรรมครัวกลาง

3.จัดการบริหารกองทุน จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีหลักธรรมาภิบาลกำกับ “อดทนที่จะติงทันที” ต้องให้เรียนรู้ผิดถูกและค่อยแนะนำ

4.คอยโน้มน้าว สร้างความเข้าใจของคนในกลุ่มอยู่เสมอ

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

  • อาหาร : ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนจากการซื้อผักจากตลาด
  • สุขภาพกาย ใจ : สุขภาพใจของคนสูงวัยมีความสุข ลดอาการซึมเศร้า ใช้เวลายามว่าง ไม่เหงาเพราะได้มารวมตัวกัน
  • เศรษฐกิจ : กองทุนหมุนเวียน สร้างความยั่งยืนโครงการปลูกผักในชุมชน
  • สังคม : คนทุกกลุ่มเกิดการแบ่งงานกันทำ รู้จักการจัดการบริหาร และยอมรับการทำงานกันและกันมากขึ้น คนทุกคนที่อยู่ในชุมชนมามีส่วนร่วมได้ ด้วยการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะกับคนแต่ละกลุ่ม
  • สิ่งแวดล้อม : พื้นที่สีเขียวของชุมชน เปลี่ยนขยะเศษอาหารนำมาหมัก และใช้ปรุงดินต่อไป

‘ตู้ปันผัก’ สู่ตู้ปันสุข ปันพื้นที่สุขภาวะ @ สวนผักปลอดสาร ชุมชนคลองลัดภาชี