ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารคือความมั่นคงทางอาหาร จริงหรือ ?!?!

               “ถ้าเราสนใจแต่ความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร แต่ไม่สนใจเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อาจจะเป็นอันตรายได้” พระไพศาล วิสาโล กล่าวในการแสดงสัมโมทนียกถา ในงานทอดผ้าป่าเพื่อพื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

               พระไพศาลได้กล่าวถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ความมั่นคงนี้กำลังลดน้อยถอยลง เนื่องจากระบบนิเวศน์กำลังถูกทำลาย ดินแข็ง น้ำเป็นพิษ ปลาหดหาย อากาศก็เป็นพิษ ในเดียวกันความสามารถในการผลิตของคนเล็กคนน้อยก็กำลังถูกทำลาย โดยอำนาจการผลิตถูกผูกขาดอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ มีคนเล็กคนน้อยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทั้งดิน ทั้งน้ำได้

               หลายคนอาจคิดว่าระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม การผลิตเชิงเดี่ยว แบบใช้สารเคมี จะนำมาซึ่งการได้ผลผลิตมากๆ และปริมาณผลผลิตมากๆนี้เองก็คือความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารที่จะทำให้เรามีกินอย่างสมบูรณ์ แต่พระไพศาลกล่าวว่าถ้าเราสนใจแต่ความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร แต่ไม่สนใจเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อาจจะเป็นอันตรายได้ เพราะความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารนั้นได้มาจากระบบการผลิตที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการผลิตที่สร้างทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ คือมองว่าธรรมชาติเป็นเพียงทรัพยากรที่เราจะตักตวง เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตัวอย่างอย่างไรก็ได้ จะโค่นต้นไม้ จะทำลายสัตว์เพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างไรก็ได้ ทำให้ระบบนิเวศน์เปราะบางมาก และระบบนิเวศน์ที่ไม่ยั่งยืน ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางอากาศได้นี้ จะนำมาซึ่งความมั่นคงและยั่งยืนของอาหารให้ชาวโลกได้อย่างไร

               ถามว่าความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริงคืออะไร พระไพศาลได้ให้ข้อคิดสำคัญที่เราควรคำนึงถึงไว้อย่างน่าสนใจว่า ความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริงนั้น เราต้องเคารพธรรมชาติ สัตว์ต่างๆมีสิทธิที่จะอยู่ในโลกนี้เช่นเดียวกับเรา  เมื่อก่อนเวลาทำนา เขาก็จะไม่คิดถึงว่าจะได้ผลผลิตมากแค่ไหน แต่จะคิดถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อยด้วย หรือในการกลบดินปลูกต้นไม้ เขาก็จะมีคาถาว่า “พุทธัง ผลาผล นกเกาะเป็นบุญ คนกินเป็นทาน ธัมมัง ผลาผล นกเกาะเป็นบุญ คนกินเป็นทาน สังฆัง ผลาผล นกเกาะเป็นบุญ คนกินเป็นทาน” แสดงให้เห็นว่าคนโบราณจะปลูกอะไรก็ตาม เขายังเผื่อแผ่ให้ทั้งนก และคนอื่นด้วย  ไม่ได้นึกถึงแต่ตัวเอง ไม่นึกถึงแต่กำไรจากการผลิต

               นอกจากการเคารพธรรมชาติแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริงก็คือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีน้ำใจให้กันและกัน พระไพศาลกล่าวว่า อาหารถ้าเรากินคนเดียว ผ่านไป 1 วัน ก็กลายเป็นอุจจาระแล้ว แต่ถ้าเรารู้จักแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้คนอื่น อาหารนั้นก็จะอยู่ในใจเขานาน ดังเช่นเรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณยายคนหนึ่งที่ถือปลามาพวงหนึ่ง แล้วถามว่าทำยังไงให้ปลานี้กินได้นานๆ หลายคนก็บอกวิธีถนอมอาหารต่างๆนานา แต่คุณยายท่านนี้กล่าวว่า วิธีที่จะทำให้ปลากินได้นานๆก็คือต้องแบ่งให้เพื่อนบ้านอย่างทั่วถึง เพราะถึงแจกวันนี้หมด พรุ่งนี้เพื่อนบ้านมีปลาก็จะยังเอามาแบ่งให้กิน เป็นความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง

ท่านเน้นย้ำให้ฟังอีกครั้งว่าความมั่นคงทางอาหารนั้นถ้าคิดอย่างจริงจังก็เป็นเรื่องของการเคารพธรรมชาติ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีระบบโครงสร้างการผลิตที่มีน้ำใจไมตรี ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และมีการกระจายอำนาจการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม อันจะนำมาซึ่งความผาสุกของระบบนิเวศน์ ความยั่งยืนของธรรมชาติ และความเอื้อฟื้อเผื่อแผ่ในชุมชน

“ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่ไม่แยกออกจากธรรมะ หากเรายังไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงของสิ่งเหล่านี้ เราก็ยังมองเรื่องความมั่นคงทางอาหารในระดับที่แคบมาก” พระไพศาลกล่าว