ประกาศข้อความสำคัญของผืนดิน

เมื่อเกษตรกรชาวแอฟริกันออกมาเปลี่ยนดินให้เป็นข้อมูลเพื่อประกาศข้อความสำคัญไปทั่วโลก นี่สินะที่เขาเรียกว่า Field Report ของจริง!!

ท่ามกลางกระแสการเจริญเติบโตของเมืองที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ ความเจริญได้ไปกระจุกตัวอยู่เพียงแต่ในสังคมเมือง และส่งผลให้เกิดผลพวงที่ตามมาคือ หลายๆ ปัญหาเกิดขึ้นจากการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์เข้าสู่สังคมเมือง ด้วยเหตุผลไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการประกอบอาชีพ หรือมุ่งหวังที่จะยกระดับมาตรฐานชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นเหล่าคนรุ่นใหม่จากชนบทหันเหเข้าหาเมืองกรุง ด้วยเหตุผลประการฉะนี้

ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีพื้นที่สามารถทำการเกษตรได้ถึง 1 ใน 4 ของโลก แต่พวกเขากลับสามารถผลิตอาหารเลี้ยงโลกได้เพียง 10% เท่านั้น นั่นเป็นเพราะว่า พวกเขากำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกษตรกร เนื่องจากลูกหลานของเกษตรกรย้ายเข้าไปทำงานในเมืองกันหมด เพื่อไปหางานทำ ทั้งที่อาชีพเกษตรกรก็เป็นอาชีพหนึ่ง ที่ไม่เพียงแค่สร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่สามารถช่วยแก้ปัญหาวิกฤติโลกอย่าง “ความยากจนขั้นรุนแรง” (Extreme Poverty) ได้

เกษตรกรและชาวบ้านจำนวนหนึ่งในประเทศแซมเบีย ได้ร่วมกันขุดแปลงดินเพื่อบอกกล่าวให้กับโลกได้รับรู้ถึงปัญหานั้น พวกเขาใช้เวลาร่วมกว่า 5 วัน ในการไถพื้นดินให้กลายเป็นอินโฟกราฟิค แสดงข้อมูลสถิติที่สื่อถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรมต่อปัญหาโลกอย่างความยากจนข้นแค้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา ตัวเลข “11” คือจำนวนเท่าที่ภาคเกษตรกรรมสามารถทำได้ ในการลดภาวะความยากจนรุนแรงเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ รู้แบบนี้แล้ว ทำไมถึงยังไม่มีใครสนใจล่ะ

เกษตรกรและชาวบ้านเหล่านี้เพียงต้องการบอกให้เรารู้ว่า ภาคเกษตรกรรมมันทำได้มากนะ พวกเขาสามารถปลูกเพื่อทดแทนรายจ่ายในการนำเข้าอาหาร (ปัจจุบันทวีปแอฟริกานำเข้าอาหารเป็นจำนวนเงิน 35 พันล้านเหรียญ) อีกทั้งยังสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในทวีปได้ พวกเขาเพียงต้องการความช่วยเหลือและการลงทุนในส่วนการพัฒนาศักยภาพการผลิตของเกษตรภาคชนบทและเทคโนโลยีที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ ตลาด และแหล่งเงินทุนด้วยตัวเองได้ เพื่อที่พวกเขาและเกษตรกรรุ่นหลัง จะสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงจากอาชีพนี้ เกษตรกรรายย่อยนับ 500 ล้านครัวเรือนจึงจะหลุดพ้นจากความยากจนและความไม่มั่นคงทางอาหาร และยังเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพ “agripreneurs” หรือผู้ประกอบการทางการเกษตรของคนรุ่นใหม่ได้

เกษตรกรออกมาเอ่ยปากเองขนาดนี้แล้ว ถ้าหากสังคมยังคงไม่ใส่ใจกับภาคเกษตรกรรมกันอยู่ต่อไป แน่นอนว่าในอนาคตก็คงมีเด็กรุ่นใหม่ที่เลือกประกอบอาชีพเกษตรกรน้อยลง แม้กระทั่งลูกหลานของเกษตรกรเองก็คงหันหน้าเข้าหาเมืองกันหมด แล้วแบบนี้ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตใครจะปลูกอาหารให้เรากิน หรืออาจจะต้องเป็นเราที่หันมาปลูกอาหารทานเอง? ไม่รู้ว่าเห็นแบบนี้แล้วจะมีหน่วยงานไหนหันมาใส่ใจภาคเกษตรกรรมและการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นหรือเปล่า ภาครัฐ? ภาคเอกชน? ภาคสังคม? หรืออาจจะต้องเป็นประชาชนอย่างเราๆ ที่ควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขอขอบคุณเกษตรกรและชาวบ้านกลุ่มนี้ ที่ออกมาพูดให้พวกเราได้รับรู้ผ่านการสื่อสารที่แหวกแนวสุดๆ และพวกเราจะทำอะไร อย่างไร ต่อไป

จากกรณีศึกษาของเกษตรกรชาวแอฟริกันออกมาเปลี่ยนดินให้เป็นข้อมูล เพื่อให้เห็นความสำคัญของการผลิตอาหารให้รอดพ้นจากความอดอยาก และยังมีโอกาสพัฒนาไปสู่การสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอีกด้วย ทำให้เรานึกถึงข้อเสนอนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองที่กำลังระดมหาเสียงในสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยเมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา มี เวทีนโยบายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจัดขึ้นโดย สภาเกษตรกรแห่งชาติ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับ 101 PublicPolicy และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

11 พรรคการเมือง ได้เสนอนโยบายที่น่าสนใจหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต การเพิ่มพื้นที่เกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ รัฐสวัสดิการที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการเกษตรได้ง่ายขึ้น รวมทั้งบางพรรคที่สานต่อการลดการใช้สารเคมี และการแบนสารเคมีอันตราย ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญที่น่าติดตามเพื่อประกอบการตัดสินใจ และเป็นข้อมูลในการติดตามสัญญาที่ให้ไว้หลังจากได้รับเลือกตั้ง เพื่อกำหนดอนาคตความมั่นคงทางอาหาร และการอยู่รอดของเกษตรและอาหาร ดังรายละเอียดนี้ https://www.biothai.net/policy/green-economy/5631…

สำหรับการขับเคลื่อนประเด็นเกษตรในเมือง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า ตอนนี้ก็มีการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของคนกรุงฯ ในหลายๆ มิติ โดยเฉพาะมิติด้านเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสวนผักคนเมืองเมืองเห็นโอกาสของ “เกษตรในเมือง” ที่จะบูรณาการการพัฒนาและขับเคลื่อนในหลายๆ นโยบายไปอย่างสอดคล้อง และเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ส่งเสริมแนวคิดการจัดรูปที่ดินในบริเวณที่เหมาะสม
  • พื้นที่สาธารณะเอนกประสงค์ทั่วกรุง
  • สวน 15 นาที ทั่วกรุง
  • แปลงเกษตรอินทรีย์ 2,000 แห่ง
  • สนับสนุนการแปลงที่ของประชาชนและเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว
  • ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
  • พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area)
  • เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ พื้นที่รับน้ำให้กรุงเทพฯ
  • วางแผนแนวคิดเมืองใหม่ที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ชานเมือง
  • มุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า
  • สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร
  • ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเขต
  • ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผ่านการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในกรุงเทพฯ
  • ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง
  • พัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม
  • ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ (Active Aging)
  • ฯลฯ

จากประสบการณ์การขับเคลื่อนงานเกษตรในเมือง ที่เน้นให้เกิดสวนผักชุมชน จากการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเมืองมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่ผลิตอาหารร่วมกันของคนเมือง แบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีใดๆ พื้นที่เกษตรไม่ได้ใช้เพียงแค่เพื่อผลิตอาหาร แต่ยังเป็นพื้นที่ของการสานสัมพันธ์ เปิดพื้นที่ให้คนเมืองได้มาเรียนรู้ทักษะพื้นฐานของชีวิต(การเป็นผู้ผลิต พึ่งตนเองด้านอาหาร) การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อด ดิน น้ำ แสงแดด สิ่งมีชีวิต เมล็ดพันธุ์ ที่ถือเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการเกษตรและอาหาร เรียนรู้ระหว่างคนในครอบครัว ชุมชน และองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการไว้เนื้อเชื่อใจกัน สังคมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งต้องอาศัย

💚การเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชน คนในพื้นที่ได้มีโอกาสกำหนดความต้องการ เลือกแนวทางการทำงาน หรือการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการ ความชอบ ความถนัด หรือสิ่งที่ต้องการแก้ไข

💚สวนผักในบ้านหรือสวนผักชุมชน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่การมอบเมล็ดพันธุ์ หรือให้ความรู้เท่านั้น แต่การสนับสนุนที่ตรงจุด ตรงความต้องการของชุมชนต่างหากที่จะช่วยให้สวนผักชุมชนเกิดขึ้นได้ และมีแนวโน้มยั่งยืน ต้องสนับนันและเอื้ออำนวยทั้งความรู้ ปัจจัยการผลิต และสร้างปฎิบัติการให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อสร้างการเรียนรู้ และรูปธรรมจากการบริหารจัดการของคนในพื้นที่และชุมชนนั้นๆ ที่มีบริบทที่แตกต่างหลากหลาย

💚การออกแบบสวนแบบกินได้ ไม่สามารถใช้เพียงการออกแบบเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่การออกแบบจะต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานของการเพาะปลูกพืชอาหาร การทำเกษตรกรรมธรรมชาติ เกษตรกรรมยั่งยืน และเกษตรกรรมในเมือง อาทิ ดิน น้ำ แสงแดด อากาศ ฤดูกาลของพืช ระยะห่างการปลูก ผักคู่หู -คู่อริ อายุการปลูก อายุการเก็บเกี่ยว เป็นต้น

💚สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับการทำเกษตรในเมือง หรือการผลิตอาหาร จริงๆ แล้วจากการทำงานเกี่ยวกับการแบ่งปันที่ดินเพื่อทำเกษตรในเมือง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราพบว่า มีเจ้าของที่ดิน เอกชน และพื้นที่รกร้างในชุมชนเมืองเป็นจำนวนมาก ที่ต้องการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ในการทำเกษตร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลนานาประการ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างพื้นที่อาหารได้จริง เพราะกลุ่มคน คนรุ่นใหม่ หรือชุมชนที่ต้องการทำเกษตรในเมืองแต่ไม่มีที่ดินทำกิน ก็ไม่มีเงินทุนในการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ ปรับปรุงให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ ดังนั้นหากฝั่งนโยบายเอาจริง สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อาหารของเมือง เช่น การเตรียมความพร้อมของพื้นที่ให้เหมาะสม มีน้ำ/แหล่งน้ำอย่างเพียงพอ แสงสว่าง ความปลอดภัย และการเดินทาง เป็นต้น ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญเลยก็ว่าได้

💚พัฒนานวัตกรรม หรือใช้มาตรการทางภาษี เช่น ลดภาษีสำหรับอาคารบ้านเรือนที่มีการจัดการขยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการจัดการขยะอินทรีย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 50% ของขยะทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับการผลิตอาหารในเมือง ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และการจัดการรวมของกรุงเทพมหานคร สนับสนุนปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวแก่สวนผักและพื้นที่ผลิตอาหารของเมือง และกลุ่มอื่นๆ

💚พัฒนาระบบสนับสนุนอื่นๆ เช่น การกำหนดผังเมืองที่ผนวกเกษตรกรรมและพื้นที่อาหาร คำนึงถึงการปกป้องรักษาพื้นที่ให้ปลอดภัยจากมลพิษ และความเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลต่อการผลิต และความปลอดภัยของอาหาร มีการกำหนดแผนการใช้ที่ดิน การจัดทำฐานข้อมูล พื้นที่ผลิต สำรวจและรวบรวมข้อมูลพื้นที่อาคารที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารในเมือง พื้นที่เชื่อมโยงและการกระจายผลผลิต/อาหาร ปริมาณอาหาร ข้อมูลการบริโภคทั้งในภาวะปกติและวิกฤต ฐานข้อมูลกลุ่มคนเปราะบาง สำหรับบริหารจัดการการช่วยเหลือด้านอาหารในภาวะวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว มีระบบ ทั่วถึง รวมทั้งการสื่อสาร และรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ และความตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของพื้นที่อาหารสำหรับเมือง ทั้งในด้านการผลิตอาหาร ตลาด และการบริโภค เพื่อสร้างเมืองที่ยั่งยืน

💚 จำเป็นต้องพัฒนางานด้านการส่งเสริมการบริโภค และการสร้างความรอบรู้ด้านอาหารให้กับผู้บริโภคด้วย ทั้งจากการรณณงค์เผยแพร่ การสื่อสารสาธารณะเพื่อให้ผู้บริโภคได้เรียนรู้และเข้าใจการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ การสนับสุนนการผลิตที่ดีสุขสุขภาพของคนกิน คนปลูก และสิ่งแวดล้อม การบริโภคอย่างรู้คุรค่า ไม่สร้างขยะ การกินตามฤดูกาล การกินอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารและพืชผักท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมและจัดการให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยอาหารอินทรีย์สำหรับศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาดเขียวของชุมชน ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร หรือภาคส่วนอื่นๆที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ เพื่อให้เด็กและกลุ่มเปราะบางได้รับผักผลไม้ และอาหารที่ปลอดภัย ทั้งนี้โดยจัดการในระบบ CSA (community supported agriculture) หรือการสร้างแรงจูงใจอื่น เช่น การเพิ่มงบประมาณต่อหัวเพื่อจัดซื้อผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ผลผลิตดังกล่าวอาจได้มาจากพื้นที่เกษตรในเมือง ชานเมือง ปริมณฑล หรือพื้นที่เกษตรอินทรีย์อื่นๆ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนเมืองกับเกษตรกรและผู้ผลิตอาหาร

ที่มาข้อมูล:

https://inhabitat.com/these-african-farmers-carved-an…/

https://www.biothai.net/policy/green-economy/5631…

https://www.chadchart.com/

รูปภาพประกอบจาก

IFAD และ สมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)