
ชุมชน กสบ.พัฒนา ซอยพหลโยธิน 54/1 แยก 2-2 แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนหนึ่งในการพัฒนาคลองลาดพร้าวที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและการปรับปรุงที่อยู่อาศัย จำนวน 56 ครัวเรือน การไล่รื้อและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ทำให้สมาชิกในชุมชนมีภาระหนี้สินในการสร้างบ้าน มีความขัดแย้งจากการการสร้างบ้านมาโดยตลอด เมื่อชุมชนเริ่มย้ายเข้ามาอยู่บ้านใหม่ได้ไม่นาน ก็เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19


ซึ่งในช่วงนั้นชุมชนได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสวนผักคนเมืองในการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่า เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ขนาด 400 ตารางเมตร ซึ่งชุมชนวางแผนจะทำเป็นสวนสาธารณะและที่ตั้งสหกรณ์ชุมชน แต่เนื่องจากยังขาดงบประมาณในการพัฒนา พื้นที่ดังกล่าวจึงถูกปล่อยทิ้ง กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงของเด็กๆ แกนนำชุมชนกว่า 10 คน รวมตัวกันพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนผักชุมชน ช่วยกันปรับปรุงดินจากที่คุณภาพต่ำมากให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ตามชุดความรู้ และวิทยากรพี่เลี้ยงที่ลงไปคลุกคลีทำงานร่วมกับชุมชน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน สวนผักแห่งนี้ก็ผลิตผักจำนวนมากกระจายให้กับสมาชิกในชุมชนได้นำไปบริโภค ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนในชุมชนพูดคุยกันมากขึ้น ทำงานร่วมกันมากขึ้น ความขัดแย้งเบาบางลงจากกิจกรรมทำอาหารที่ได้จากผลผลิตรับประทานร่วมกัน

สวนผักริมคลอง เข้าร่วมในการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ปี2565 -2566) อีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาระบบการผลิตอาหารให้เพียงพอกับการบริโภค ยกระดับไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ตกงาน เนื่องจากนายจ้าง สถานประกอบการปิดกิจกรรม และด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้ไม่สามารถกลับเข้าสู่การจ้างงานได้ และยังต้องแบกรับภาระในการดูแลบุตรหลาน และการมีตลาดชุมชนริมน้ำ เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชน

ปีนี้ทางสวนผักริมคลอง จึงเปลี่ยนการทำสวนผักจากการปลูกบนดินมาเป็นแปลงผักยกพื้น เพื่อให้เหมาะกับการทำสวนของผู้สูงอายุ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังไปในตัว ทำปัจจัยการผลิต เช่น ดินหมัก ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ฮอร์โมน และต้นกล้าเองให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนเกี่ยวกับปัจจัยการผลิต การทำเกษตร


สูตรเตรียมดินสวนผักริมคลอง
1. สูตรเตรียมดินสำหรับแปลงดิน เนื่องจากดินเดิมที่มีในแปลงเริ่มเสื่อมสภาพ ไม่มีธาตุอาหารเพียงพอ หลังจากใช้ปลูกผักมา 2-3 รอบ ซึ่งสังเกตได้จากเนื้อดินเริ่มแข็ง ผักไม่โต ใบเหลือง ใช้วิธีเติม ขี้วัว + แกลบดิบ อัตราส่วนอย่างละ 1 กระสอบ/ 2 ตารางเมตร
2. สูตรเตรียมดิน สำหรับแปลงผักยกพื้น ใช้สูตรดิน 2 ส่วน ขี้วัว 1 ส่วน แกลบดิบ 1 ส่วน กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน คลุกรวมกัน รดด้วยน้ำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หมักทิ้งไว้ 1 เดือน หรือสังเกตว่าหมักได้ที่หรือยัง จากการจับดูแล้วดินไม่ร้อน แกลบดิบเปลี่ยนเป็นสีดำก็สามารถนำใส่กระถางหรือแปลงปลูกได้

จัดแบ่งโซนการเพาะปลูกออกเป็น 2 โซนหลัก ได้แก่
1.โซนปลูกพืชยืนต้นและสมุนไพร เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ พืชผักท้องถิ่นหายากไว้ให้ลูกหลานได้รู้จัก เป็นผักที่ดูแลง่าย ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ยิ่งตัดยิ่งแตก ปลูกครั้งเดียวเก็บกินได้ตลอด จึงสามารถแบ่งปันให้สมาชิกในชุมชนทั้ง 56 ครอบครัวได้ตลอดทั้งปี เช่น มะนาว มะกรูด สะเดา ยอ ตะลิงปิง พุทรา มะม่วง มะยม มะกอก มะกอกน้ำ ชะอม มะรุม มะม่วงหิมพานต์ ข่า ตะไคร้ ขิง เก๊กฮวย มะตูมแขก มะเขือพวง กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า

2.อีกโซนเป็นพืชอายุสั้น ผักกินใบ ผลผลิตที่มีราคา เช่น ผักสลัด กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว ผักชี ต้นหอม พริก ขึ้นฉ่าย กุยช่าย เคล มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือเทศ เห็ดนางฟ้า โซนนี้ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุในชุมชน 5 ครอบครัว ที่เข้ามาทำงานสวนและมีรายได้จากการเก็บผักจำหน่ายให้กับสมาชิกในชุมชน เพาะต้นกล้าจำหน่าย ขายผลผลิตแปรรูปอื่นๆ และทริปศึกษาดูงาน เป็นต้น


ดึงเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมในสวนผัก ทั้งเรียนรู้เรื่องการเตรียมดิน ปลูกผัก ให้เด็กๆได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยนช์ เรียนรู้ทักษะการพึ่งตนเองให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเด็กๆในเมืองไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ กลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการดึงเด็กๆ เข้ามาเรียนรู้ในสวน คือ ต้องเลือกกิจกรรมที่ไม่ยากเกินไป เด็กๆทำได้ และมีค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ให้กับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเงินค่าขนมจากการช่วยเพาะกล้า รดน้ำผัก หรือขนมและอาหารอร่อยๆ หลังจากทำงานในสวนเรียบร้อยแล้ว


สร้างเศรษฐกิจอาหารของชุมชน การทำสวนผักชุมชนรวมคลองแห่งนี้ ในเบื้องต้นจากการสรุปบทเรียนร่วมกันของสมาชิกกลุ่ม พบว่า
1.สวนผักชุมชนช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารในครัวเรือนของสมาชิกได้ประมาณ 50 – 100 บาท/สัปดาห์ จากผลผลิตผักพื้นบ้าน ผักสวนครัวที่ทุกครอบครัวสามารถเก็บผลผลิตไปกิน ไปปรุงอาหารได้
2.สวนผักชุมชนช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปซื้อผักได้อย่างมาก สมาชิกกลุ่มต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วยลดค่ารถที่ต้องไปตลาดได้ครั้งละ 40 บาท เวลาที่ลืมซื้อผัก หรือขาดผักเล็กๆ น้อยๆที่จำเป็นต้องใช้ ก็เดินมาที่สวนได้ ไม่ต้องไปตลาดทุกครั้งเหมือนที่ผ่านมา
3.สวนผักชุมชนช่วยให้สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าถึงการบริโภคผีกปลอดสาร/ผักอินทรีย์ได้ในราคาย่อมเยา 10 – 20 บาท ก็มีผักอินทรีย์บริโภค ทำเมนูอาหารจานอร่อยได้แล้ว
4.สวนผักชุมชนช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ที่เข้ามาทำสวน ทางกลุ่มได้แบ่งแปลงผัก และปัจจัยการผลิตให้กับคนกลุ่มนี้ปลูกผัก และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในแปลงของตนไปจำหน่ายสร้างรายได้
5.สวนผักชุมชนเชื่อมโยงผลผลิตผักไปสู่การสร้างพื้นที่เรียนรู้การปลูก ปรุง กินของสมาชิกในชุมชน จากสวนผัก ไปสู่การแบ่งปันผลผลิตให้สมาชิกในชุมชน แต่ละครัวเรือนนำไปปรุงอาหารแล้วนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน จนทำให้รู้ว่าแต่ละบ้านมีฝีมือการปรุง การถนอมอาหารที่หลากหลาย พัฒนาเป็นการแปรรูป ถนอมอาหารจากผลผลิตในแปลง
6.สวนผักชุมชนสร้างโอกาสทางอาชีพและรายได้ใหม่ๆ ให้กับคนในชุมชน นอกจากจะมีรายได้จากการจำหน่ายผักแล้ว ด้วยความเชี่ยวชาญของสมาชิกที่สามารถทำวัสดุเพาะกล้า และเพาะกล้าผักได้อย่างดีเยี่ยม จึงนำความรู้และเทคนิคมาถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนที่สนใจจนสามารถเพาะกล้า ทำวัสดุเพาะกล้าจำหน่ายได้ รวมถึงส่งเสริมการปลูกผักในภาชนะ ผักในกระถางสำหรับจำหน่ายอีกด้วย
7.สวนผักชุมชน พัฒนาไปสู่ตลาดนัดชุมชนริมคลอง จากการสนับสนุนให้สมาชิกในชุมชนมีทักษะความสามารถในการปลูกผัก ทำปัจจัยการผลิต ทำอาหาร ทำขนม ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาร่วมกันจำหน่ายในช่วงวันหยุด หรือมีกิจกรรมอบรม ศึกษาดูงานจากภายนอก ช่วยสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจในชุมชน
📌หากใครสนใจไปเรียนรู้ ศึกษาดูงาน หรือสั่งกล้าผัก ผลิตภัณฑ์ของชุมชน สามารถติอต่อได้ที่
☎️พี่น้อย 083-279-0340