รั้วกำแพง ‘กินได้’ @ ชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทอง

หลายๆ ชุมชนมักจะมีการสร้างกำแพง สร้างรั้วกั้นพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยต่างๆ ทั้งโจรผู้ร้าย ผู้บุกรุก เป็นแนวกันลม แนวกันไฟ กันน้ำท่วม เพื่อทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย

แต่จะดีแค่ไหนหากรั้วกำแพงของบ้านและชุมชนนั้น จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และเป็นพื้นที่อาหารปลอดภัยของสมาชิกในชุมชนได้ด้วย

สวนผักคนเมือง ชวนไปเดินชมรั้วกำแพง ‘กินได้’ ของชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทอง เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร หนึ่งในสมาชิกโครงการสวนผักคนเมืองปีนี้ โดยชุมชนได้ทำโครงการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จากการเริ่มสนใจในเรื่องสุขภาพ เพราะคนในชุมชนเพิ่งพาอาหารจากตลาดสด และรถพุ่มพวง เป็นพืชผักที่มีความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้าง แกนนำชุมชนชุมชนจึงได้เริ่มทำโครงการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีผัก 5 บาท ที่มีแรงบันดาลใจจากการได้เดินตลาดก็เห็นผักสวนครัวที่ทำเป็นมัด มัดละ 5 บาท ถ้าชุมชนมาร่วมกันปลูกผักปลอดสารเคมี เพื่อไว้บริโภคก็จะช่วยทั้งลดความเสี่ยงจากสารเคมี และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกด้วย

แต่เนื่องจากขนาดพื้นที่ของชุมชนมีไม่มากนัก พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการสร้างบ้าน สมาชิกในชุมชนจึงใช้พื้นที่รอบกำแพงของชุมชนมาใช้ในการปลูกผัก โดยมีการก่ออิฐบล็อคสำหรับปลูกผักขนานไปกับรั้วกำแพง และด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และการดูแล สมาชิกจึงเน้นแนวทาง เพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นดังนี้

✅ปลูกผักยืนต้น ปลูกครั้งเดียวกับกินได้นาน ดูแลง่าย

✅พืชผักต้องมีสรรพคุณทางยา เป็นพืชสมุนไพรที่สามารถใช้ร่วมกับการปรุงอาหาร ใช้ในการดูแลสุขภาพของชาวชุมชนร่วมด้วย

✅สามารถนำไปแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น น้ำสมุนไพร

และเพื่อให้สมาชิกสามารถร่วมกันดูแลได้สะดวก คณะกรรมการ ได้วางท่อประปา กระจายเป็นจุดๆ ให้สมาชิกสามารถช่วยกันรดน้ำ ดูแลแปลงผักที่อยู่ในบริเวณบ้านของตนเองได้ ขณะที่เรากำลังเดินสำรวจรอบๆ ชุมชน ก็มีสมาชิกแต่ละบ้านเดินมาแนะนำ พืชผัก ต้นไม้ สมุนไพรต่างๆ ที่ปลูกอยู่บริเวณนั้น แนะนำเราว่าปลูกอย่างไร กินอย่างไร รวมถึงให้ความรู้เรื่องสรรพคุณทางยากับเราด้วย

สำหรับบ้านไหนที่อยากทานพวกผักใบ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดขาว ก็จะหาอุปกรณ์ในบ้าน เช่น กล่องโฟม กะละมัง ขวดน้ำพลาสติก มาใช้ปลูกไว้บริเวณหน้าบ้าน หรือพื้นที่ว่างๆ รอบบ้าน เพราะเป็นพืชผักที่ต้องดูแลทุกวัน ถ้าปลูกไว้ใกล้บ้านก็จะสามารถดูแลได้ทั่วถึง

นอกจากรั้วกำแพงกินได้แล้ว ชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทองยังมีกิจกรรมดีๆ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารในครัวเรือนของสมาชิก ในชื่อ “อิ่มละ 10 บาท” โดยมีการทำครัวกลางอาหารราคาถูก ให้กับคนในชุมชน เดือนละ 1 ครั้ง เพราะด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา สมาชิกหลายคนตกงาน รายได้ลดลง และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในขณะนี้ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่บางครอบครัวก็ยังไม่มีงานทำ โครงการอิ่มละ 10 บาท จึงถือเป็นอีกกิจกรรมที่ถือว่า เป็นสวัสดิการอาหารให้กับคนในชุมชน ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารลงไปได้ 1 มื้อ

การเข้าร่วมกับโครงการสวนผักคนเมืองในครั้งนี้ คณะกรรมการและสมาชิกในชุมชนมีเป้าหมายสำคัญ ที่อยากจะเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านการทำเกษตรในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำดินหมัก ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร เพื่อให้มีดินที่มีคุณภาพ มีธาตุอาหารเพียงพอสำหรับการปลูกผัก เพื่อจะได้มีผลผลิตผักที่มีคุณภาพ มีความต่อเนื่องมากขึ้น สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคแมลง โรคพืชต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้การทำดินหมัก ปุ๋ยหมักได้เองในชุมชน ยังสามารถช่วยลดค่าใช้เรื่องปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เพราะการทำสวนผักของชุมชนวิมานทองที่ผ่านมา ในแต่ละปีจะต้องใช้เงินในการซื้อดิน ซื้อปุ๋ยคอกไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 บาท ขยายกลุ่มสมาชิกในการปลูกผักจาก 40 ครอบครัว เป็น 142 ครอบครัว

พร้อมด้วยการลดต้นทุนจากการซื้อผักจากนอกชุมชนมาทำโครงการอิ่มละ 10 บาท โดยวางเป้าหมายว่า การทำโครงการอิ่มละ 10 บาท ในครั้งต่อๆ ไป ชุมชนวิมานทอง จะต้องลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อผักข้างนอกในการปรุงอาหาร มาใช้พืชผักที่ลูกได้ในชุมชน ไม่น้อยกว่า 500 บาท/ครั้ง ซึ่งกิจกรรมอิ่มละ 10 บาทครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันเด็ก สวนผักคนเมืองจึงชวนชุมชนมาเพาะถั่วงอกสำหรับเมนูก๋วยเตี๋ยว และยังสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ สามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้อีกด้วย

การทำเกษตรในเมือง จึงเป็นเหมือนการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะทุกๆ อย่างล้วนมีการเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เป้าหมายที่จะมุ่งไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมือง จึงต้องอาศัยการเรียนรู้ การพัฒนา การทดลอง การปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์อยู่เสมอ หรือการมีแนวทางการปรับตัว การรับมือกับวิกฤตต่างๆ ได้นั่นเอง

#สวนผักคนเมือง #ปลูกเมืองปลูกชีวิต #พื้นที่อาหารของเมือง