สำรวจธรรมชาติ = สำรวจตัวเอง ใน #พื้นที่สบายใจ @สวนผักบำบัดสีชา

สำหรับผู้เขียนในฐานะเจ้าหน้าที่โครงการสวนผักคนเมือง ที่มีบทบาทในการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานเกษตรในเมือง และทำงานร่วมกับทีมสวนผักบำบัดศรีราชามาตั้งแต่ปี 2554 เครือข่ายนี้เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สวนผักที่ผนวกเรื่องการบำบัดเยียวยาจิตใจ ขยายให้เกิดเครือข่าย พื้นที่สวนผัก และพื้นที่บำบัดจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดชลบุรี รวมถึงสวนผักบำบัดสีชาแห่งนี้ด้วย ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2562

เวลามีคนถามว่า #สวนผักบำบัดสีชา เป็นพื้นที่แบบไหน?? คำตอบคือ… เป็นพื้นที่ “สบายใจ” เป็นพื้นที่ “ปลอดภัย” ซึ่งคำตอบนี้ไม่ใช่มาจากเราเพียงคนเดียว แต่หากทุกครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมสวนผักแห่งนี้ ได้พูดคุยกับคนที่มีโอกาสไปสัมผัส ก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “สบายใจ” และหลายครั้งมากที่โครงการสวนผักคนเมืองพยายามจะล้วงลับเอาวิธีการ เทคนิค เคล็ดลับสำคัญๆ ที่หมอจิ๊บ ญาดา, พี่จิต สุดใจ, พี่ตุย, ป้าพิศ, พี่สุพัฒน์, รวมถึงเพื่อนพ้องในเครือข่ายใช้สำหรับทำกิจกรรมบำบัดเยียวยาให้กับคนที่เข้ามาใช้บริการในสวน ว่าทำอะไร? แบบไหน? ถึงทำให้คนที่เข้ามารู้สึกสบายใจ จากตอนแรกที่เดินเข้ามาในสวนหน้าตาพวกเขาดูเศร้าหมอง ทุกข์ใจ แต่พอเดินกลับออกไปพวกเขาดูยิ้มแย้มสดใสขึ้นมาได้

แน่นอนว่า เราไม่เคยได้คำตอบที่ชัดเจน วิธีการ หรือกระบวนการวางกิจกรรมของสวนผักบำบัดแห่งนี้แบบเป็นลำดับขั้นตอน เพราะหมอจิ๊บ และแกนนำหลักๆ จะบอกว่า “ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ให้ธรรมชาติได้จัดสรรของมันเอง เดี๋ยวมันจะลง ให้เชื่อมั่นในสิ่งที่จะเกิดขึ้น” เราก็เลยพยายามพาตัวเองเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติที่ว่านั้น ลองสังเกต เฝ้าดู ซักถามกับหมอจิ๊บเพื่อนำมาสรุปเป็นเคล็ดลับที่พอจะเล่าให้ฟังได้

1) “ธรรมชาติของการทำสวนผักและคนปลูก” จริงๆแล้ว การพัฒนาพื้นที่ในทางกายภาพก็มีความเป็นธรรมชาติที่เราจะต้องเข้าในและยอมรับ เพราะการจะทำสวนผักหรือพื้นที่สวนบำบัดขึ้นมาสักแห่ง มีองค์ประกอบหลายอย่างมาก ตั้งแต่ธรรมชาติของพื้นที่ ธรรมชาติของผู้คนที่จะมาร่วมปลูกผักซึ่งมีความหลากหลายมาก ถ้าคนทำงานไม่เข้าใจธรรมชาติของผู้คนที่เข้ามาทำงานร่วมกันก็จะทำงานยากมาก ยกตัวอย่าง “ธรรมชาติของการทำสวนผัก” ที่เราต้องเข้าใจ

การทำสวน การปลูกผักของคนแต่ละคนแตกต่างกัน มีทั้งเหมือนและแตกต่างกัน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจและยอมรับ บางคนชอบปลูกต้นไม้ บางคนชอบปลูกดอกไม้ บางคนชอบปลูกผัก บางคนชอบขุดดิน ชอบรดน้ำ ชอบเก็บผัก การทำงานร่วมกันในพื้นที่จึงต้องจัดสรรให้เหมาะสมกับความชอบ ความถนัด และธรรมชาติของแต่ละคน

คนแต่ละคนมีประสบการณ์ วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เราไม่รู้หรอกว่าเมื่อวานหรือเมื่อเช้าก่อนที่เขาจะเดินทางมาถึงสวนผัก เขาต้องพบเจอกับปัญหา ความกังวล เหนื่อยล้ากับอะไรมากบ้าง ดังนั้นเราจะต้องเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้คนแต่ละคนได้เป็นอิสระ สำรวจตัวเองก่อน ว่าวันนี้เมื่อมาถึงสวนแล้วเขาอยากทำอะไร เขาพร้อมจะทำอะไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางคนอาจจะอยากนอนพักให้ลมพัดเย็นๆ ให้สบายใจก่อนจะลงมือทำสวน ทำงานของตัวเอง บางคนอาจจะอยากขุดดินเพื่อระบายความโกรธบางอย่างที่เก็บไว้ บางคนอยากเพาะกล้า ย้ายกล้าเพื่อสัมผัสดิน และทำสมาธิให้ตัวเองได้อยู่นิ่งๆ ก่อน หรือบางคนอาจจะอยากพูดคุย ระบายกับเพื่อน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ พื้นที่แห่งนี้ และสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้จะต้องมีพื้นที่มีช่วงเวลาในการการสำรวจธรรมชาติของตัวเอง พร้อมกับการเข้าใจและยอมรับในธรรมชาติของผู้อื่น แต่เทคนิคสำคัญพื้นฐานที่อาจะมีมีเพิ่มเติมคือ การเป็น “ผู้รับฟัง”

ธรรมชาติของดิน น้ำ อากาศ และฤดูกาล ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐาน เรื่องธรรมชาติของการทำเกษตรกรรมที่เราจะต้องเข้าใจว่า การเติบโตงอกงามของพืชผักและต้นไม้นั้น ไม่ได้อาศัยแต่การดูแลเอาใจใส่ แต่ยังต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติด้วย ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้และเข้าใจฤดูกาล เข้าใจว่าพืชผักแต่ละชนิดชอบดินแบบไหน ชอบน้ำมากน้ำน้อย ชอบอากาศ ชอบแสงแดดแบบไหน และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจคือธรรมชาติของการปลูกผัก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ต้นไม้ หรือพืชผักที่เราปลูกจะเหี่ยวเฉาหรือตาย แต่ต้องเรียนรู้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น และหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น

2)“ธรรมชาติของกิจกรรมบำบัดและเครือข่าย” เวลาไปร่วมกิจกรรมสวนผักบำบัดแห่งนี้ กิจกรรมที่จัดขึ้นแต่ละครั้งมีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเมื่อเราถามหมอจิ๊บว่า วันนี้มีกิจกรรมอะไรบ้าง หมอจิ๊บก็จะบอกเพียงว่า วันนี้เตรียมกิจกรรมนี้ไว้ๆ แต่ทั้งหมดไว้ประเมินข้างหน้าอีกทีว่าคนที่เข้ามาเขาจะทำอะไร อยากทำอะไร บางครั้งสิ่งที่เตรียมไว้ก็อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เข้าเป็น และตบท้ายว่า “เอาไว้ให้ธรรมชาติจัดสรร ให้ทุกอย่างดำเนินไปตามธรรมชาติที่จะนำทางไป”

การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นพื้นที่ที่เหทาะสมกับการบำบัดเยียวยา จริงๆ แล้วมีงานวิจัยจำนวนมากที่ให้ข้อมูลสำคัญว่า การได้ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่สีเขียว อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้สัมผัสดิน สัมผัสต้นไม้ หรือการได้ขุดดิน ทำสวน ได้ออกกำลังกายก็ถือว่าได้บำบัดเยียวยาแล้ว

กิจกรรมต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยนำทางให้เขาได้เข้าไปอยู่กับธรรมชาติ สัมผัสกับธรรมชาติ การมีช่วงเวลาได้นิ่งเงียบอยู่กับตัวเอง ได้ลงไปสำรวจตัวเอง ซึ่งหมอจิ๊บบอกว่า จริงๆ แล้วธรรมชาติของการบำบัดที่เครือข่ายสวนผักบำบัดสีชาใช้ คือ

  • เป็นพื้นที่สบายใจ ให้รู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจเป็นธรรมชาติ และสบายใจที่ยอมรับและเข้าใจตนเอง
  • ให้เวลาตนเองมากพอ ที่จะได้สำรวจ และอยู่กับตัวเอง
  • เปิดพื้นที่ความเป็นเด็กและความเป็นธรรมชาติ
  • อบอุ่น เปิดกว้าง อิสระ และเป็นตัวเองได้ตลอดเวลา
  • เปิดโอกาสให้หัวใจได้แปรเปลี่ยน

เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เป็นครูของกันและกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อเราเดินเข้าไปในพื้นที่สวนผักบำบัดนี้ ทุกคนจะเรียกขานคำว่า “ครู” นำหน้าชื่อของทุกคนก่อน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน หรือวัยผู้สูงอายุ เพราะเชื่อว่าคนแต่ละคนมีศักยภาพในตัวเอง ทุกคนมีความเก่ง ความถนัด เป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ให้กันและกันได้ ด้วยความเชื่อเช่นนี้เรื่องราว หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้จึงไม่ใช่เป็นเป็นการจัดกิจกรรมโดยใคร…. หรือเพื่อใคร…. แต่ถือว่าทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่ทุกคนมีส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยน สร้างการเรียนรู้ และเป็นครูให้กันทั้งหมด สวนผักแห่งนี้จึงเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้คนที่หลากหลาย ใครถนัดเรื่องไหน ชื่นชอบเรื่องไหนก็มาแบ่งปัน มาถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ที่นี่จึงมีกิจกรรมตั้งแต่ จิ๊บชาสมุนไพร สอนปรุงดิน สอนปลุกผัก สอนเลี้ยงไส้เดือน สอนโยคะ สอนร้องเพลง สอนรำไทย สอนศิลปะ สอนการเล่นกับธรรมชาติ การเล่นแบบเด็กๆ ฯลฯ การเปิดโอกาสให้คนได้เห็นศักยภาพ เห็นคุณค่าในตนเอง ถือเป็นเรื่องสำคัญการบำบัดเยียวยา

เคล็ดลับที่พอสรุปได้จากการพูดคุย แลกเปลี่ยน การการพาตัวเองเข้าไปทดลองสำรวจธรรมชาติ สำรวจตัวเอง ใน #พื้นที่สบายใจ @สวนผักบำบัดสีชา หลายต่อหลายครั้ง ทำให้นึกถึงบทสนทนากับหมอจิ๊บครั้งหนึ่ง เคยถามว่า จริงๆ แล้ว สวนผักบำบัด มีหน้าหน้าที่อะไร ซึ่งหมอจิ๊บก็สรุปสั้นๆ ว่า

“สวนผักบำบัด คือ การเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิต เข้าใจข้างในของตนเอง ดังนั้นการทำงานของเรา การทำสวนผักของเรา ทุกคนต้องเข้าใจการทำสวนเพื่อตัวเราเองก่อนใครๆ เพราะถ้าเราไม่มีความสุข คนใกล้ตัวก็จะไม่มีความสุขไปด้วย และเข้าใจความสำเร็จที่แท้จริง คือความสุขระหว่างทาง.. คือความสุขของทุกๆ คน ความสุขของเราอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สังคมคาดหวัง หรือเรื่องใหญ่โต แต่สิ่งที่เราไม่ควรละเลย คือ การดูแลจิตใจตัวเราเอง เป็นอันดับแรก ซึ่งพื้นที่ของสวนผัก หรือสวนผักบำบัดเป็นจุดเชื่อมโยงสัมพันธภาพอันดีและความไว้วางใจ ระหว่างธรรมชาติในตัวเราและธรรมชาติรอบๆตัวเรา”

ชวนไปทดลองสำรวจธรรมชาติ สำรวจตัวเอง ในพื้นที่สบายใจ มีกิจกรรมและตลาดนักผักอินทรีย์ทุกวันเสาร์ และสามารถติดตามข่าวสาร กิจกรรม ได้ที่ เพจ สีชา การกาแฟ

และข่าวดีที่อยากให้ติดตาม สวนผักบำบัดสีชาจะเปิดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการทำสวนผักบำบัดให้กับเครือข่ายที่สนใจด้วยน้าาาาา ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

#สวนผักคนเมือง#สวนผักบำบัด#ปลูกเมืองปลูกชีวิต

https://www.facebook.com/cityfarmthailand