แผนรับมือ “น้ำท่วม” เพื่อรักษาพื้นที่อาหารของชุมชน @สวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 ดอนเมือง

น้ำท่วมขัง กลายเป็นเหมือนเทศกาลประจำปีของสวนผักชุมชนบูรพา 7 แห่งนี้ไปแล้ว เพราะในทุกๆ ปี ช่วงฤดูฝน จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังทุกปี เนื่องจากพื้นที่อาหารของชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่ต่ำสุดในชุมชน แต่หากก็มีความสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ว่าง เป็นพื้นดินที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมแห่งเดียวของชุมชน

แม้จะมีการแก้โจทย์ปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่อาหารนี้มาโดยตลอด 4 ปี ทั้งการปรับพื้นที่ให้สูงขึ้น การกั้นขอบแปลง ใช้รูปแบบการปลูกผักที่หลากหลาย ทั้งล้อยาง บ่อปูน และแคร่ปลูกผัก แต่ปีนี้ชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่อง และยาวนานกว่าทุกปี ทำให้นี้นี้คาดการณ์ว่าน้ำน่าจะท่วมสูง และท่วมขังนานกว่าทุกปี

สมาชิกในชุมชน และวิทยากรพี่เลี้ยง อาจารย์เติ้ล เกศศิรินทร์ แสงมณี จึงเตรียมการรับมือกับปัญหานี้ “น้ำท่วมเป็นสถานการณ์ที่เกินกว่าชุมชนจะควบคุมได้ แต่การมีพื้นที่อาหารของชุมชน สำหรับรับมือกับสถานการณ์วิกฤต เป็นเรื่องที่ชุมชนสามารถเตรียมการและควบคุมได้”

เตรียมแปลง เตรียมพื้นที่ปลูกผักให้พร้อม โดยการกั้นขอบแปลงให้สูงขึ้น และเลือกใช้การทำแคร่ปลูกผักเพิ่มเติม จากวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่ โดยเลือกขนาดความสูงของแปลง 2 ระดับ คือ ความสูงที่เหมาะกับการทำงานของผู้ชาย และความสูงที่เหมาะกับการทำงานของผู้หญิง

อาจารย์เติ้ล ได้กล่าวถึง ข้อดีของการทำแคร่ปลูกผัก/โต๊ะปลูกผัก คือ

  • ทำงานสะดวก ลดปัญหาการเมื่อยล้า ปวดหลังจากการก้มๆ เงยๆ เหมาะสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
  • ช่วยให้การจัดการดิน น้ำและปุ๋ยง่ายขึ้น เพราะใช้ดินผสมขึ้นมาใหม่ ระบายน้ำและอากาศดี
  • ป้องกันวัชพืชได้ดี
  • สามารถปลูกผักได้หลากหลาย ได้ทุกฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูฝน ไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำขังแปลง และโรครากเน่าโคนเน่า
  • สามารถเลือกใช้วัสดุได้หลากหลาย ตามความเหมาะสม และงบประมาณ
  • ในช่วงฤดูฝน อาจจะเน้นการปลูกผักในภาชนะเพิ่มเติม ใช้ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย ยกหนีน้ำได้
  • เตรียมดินหมัก ปุ๋ยหมัก ตลอดจนน้ำหมักชีวภาพ ฮอร์โมนบำรุงพืชให้พร้อม
  • เลือกชนิดผัก หรือวิธีการเพาะต้นอ่อน รับประทาน วิธีนี้จะสามารถมีผักให้ทานได้ง่าย และเร็ว ใช้เวลา 5 – 7 วัน ก็สามารถเก็บทานได้

หรือหากจะเลือกปลูกผักในแปลง หรือภาชนะ ในฤดูฝน หรือช่วงที่มีฝนตกหนักแบบนี้ก็ควรเลือกผักที่ชอบน้ำเยอะ เช่น ผักบุ้งไทยใหญ่หรือผักบุ้งแก้ว ผักเป็ดน้ำ ผักแพรว ผักแขยง ใบบัวบก ผักกะเฉด ผักกินยอด (ผักหวาน ชะอม ผักเหลียง มะตูมแขก มะม่วงหิมะพาน มันปู มันปลา) ขจร ผักกูด ผักที่ชอบแสงน้อย เช่น ผักที่กินเหง้า (ขิง ข่า ขมิ้น ไพร กระชาย) ชะพูล พริกไทย สะระแหน่ ผักอื่น ๆ ที่สามารถปลูกได้ทุกฤดู เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน คะน้า ผักกาดขาวใหญ่ ผักกาดเขียว ถั่วฝักยาว ถั่วพู ฟัก แฟง ฟักทอง บวบ

สิ่งสำคัญของการส่งเสริมการทำเกษตรในเมืองของเรา คือ การชวนคนเมืองกลับไปเรียนรู้ ฟื้นฟูทักษะพื้นฐานสำคัญของชีวิต ที่ต้องอาศัยการสังเกต เรียนรู้ เข้าใจพื้นที่อาหาร และระบบนิเวศในพื้นที่อาหารของตนเอง เพราะด้วยเมืองมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตร คนปลูกผักในเมืองจึงต้องอาศัยการเรียนรู้ การสังเกตระบบนิเวศต่างๆ ในพื้นที่ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศ แสงแดด และผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่อาหาร ในพื้นที่เป็นดินแบบไหน ต้องปรับปรุงดินอย่างไร ทิศทางและปริมาณแสดงแดดในพื้นที่ น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร ผักชนิดไหนที่สมาชิกชอบทาน ฤดูกาลไหนควรปลูกผักอะไร สังเกตลักษณะพืช โรคพืช โรคแมลงที่พบ ซึ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่คนปลูกผักในเมืองต้องเรียนรู้ ตามบริบทพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในแปลง

มากกว่าการปลูกผัก คือ “การปลูกเมือง และปลูกชีวิต คนเมืองรู้ว่า พวกเขาผลิตอาหารได้ สร้างพื้นที่อาหารได้ และเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง และเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมืองให้เกิดขึ้นได้”