วันแรกพบของสมาชิกสวนผักคนเมือง 2565 เพื่อร่วมสร้างพื้นที่อาหารของเมือง

การรวมตัวของตัวแทนสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง กว่า 100 คน จาก 28 โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน #การสร้างพื้นที่อาหารของเมือง เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 65 ที่ผ่านมา

ถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการเตรียมความพร้อมของสมาชิก เพื่อจะร่วมขับเคลื่อนให้เกิด

รูปธรรมพื้นที่อาหารของเมือง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตอาหาร การเข้าถึง และการกระจายอาหารปลอดภัยในเมือง ด้วยการทำสวนผักชุมชน สวนผักโรงงาน สวนผักโรงเรียน สวนผักบำบัด ซึ่งนอกจากการส่งเสริมการทำเกษตรในเมืองเพื่อการบริโภคในครัวเรือนแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ และรายได้ของกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากการส่งเสริมการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าของผลผลิต การยกระดับให้มีตลาดอาหารปลอดภัยในชุมชน รวมถึงการมีสวัสดิการอาหารปลอดภัยราคาเป็นธรรมที่พี่น้องในชุมชนสามารถเข้าถึงได้

การส่งเสริมความรู้ เทคนิค นวัตกรรมการทำเกษตรในเมือง เพื่อสร้างระบบอาหารของชุมชนเมืองตลอดห่วงโซ่ อาทิ การผลิต การบริโภค การกระจายอาหาร และการจัดการของเสีย เชื่อมโยงประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพื้นที่อาหารของเมืองให้ขยายวงกว้างมากขึ้น

ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแกนนำกลุ่ม/ชุมชน และกลุ่มคนเปราะบางให้มีความรอบรู้ด้านการเงินและสุขภาพ เชื่อมโยงการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้

กิจกรรมวันแรกพบ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ในการเปิดพื้นที่

รู้จักกัน ระหว่างสมาชิกโครงการ ทีมเจ้าหน้าที่โครงการ ทีมวิทยากร และทีมพี่เลี้ยงซึ่งเป็นทีมเสริมทัพการทำงานของสวนผักคนเมืองในปีนี้ โดยทีมพี่เลี้ยงก็มาจากสมาชิกโครงการปีที่ผ่านมา ยกระดับทักษะมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงทำงานร่วมกับสมาชิกโครงการในพื้นที่

ร่วมคิด ร่วมออกแบบกการทำงานในพื้นที่ รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดของการขับเคลื่อนงานเกษตรในเมือง ที่เราเชื่อว่า “เกษตรในเมืองมีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วยเปลี่ยนแปลงเมือง และชีวิตผู้คนในเมืองได้ ที่สำคัญคือเชื่อว่าเกษตรในเมืองจะมีบทบาทสำคัญที่สามารถช่วยให้เมืองและผู้คนในเมืองสามารถปรับตัว รับมือกับสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร”

รับทราบแนวทางการเรียนรู้ร่วมกันตลอด 1 ปี ประกอบด้วย

การออกแบบและวางแผนการรใช้ประโยชนที่ดินเพื่อทำเกษตรในเมือง เรียนรู้การเปลี่ยนพื้นที่ ทั้งพื้นที่ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ พื้นที่รกร้าง พื้นที่สาธารณะเพื่อทำเกษตร โดยใช้หลักการวางแผนการใช้ที่ดิน รวมไปถึงการวางแผนการผลิตพืช ให้ถูกต้องตามฤดูกาล

การจัดการดินและเตรียมปัจจัยการผลิต การศึกษาลักษณะของดินในพื้น การจัดการดินให้เหมาะสม การเตรียมปัจจัยในการผลิตพืช ได้แก่ การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ที่ส่งเสริมและป้องกันโรคและแมลง ซึ่งผลิตจากวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อเป็นการจัดการขยะอาหารของชุมชน และเมืองได้อีกทาง

การรปลูกและดูแลรักษา การรู้จักลักษณะนิสัยของพืช ระยะปลูก ระยะเวลาเก็บเกี่ยว การจัดการน้ำ โรคและแมลงที่พบในแต่ละฤดูกาล การป้องกัน การทำให้ผลผลิตเพิ่มและมีคุณภาพ ในแต่ละฤดู

การประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพเบื้องต้น

หลักการบริหารจัดการโครงการย่อย และการบริหารจัดการด้านการเงิน การบัญชี

ทั้งนี้ก่อนเดินทางกลับ วิทยากร Katsirin Sangmanee ยังได้มอบหมายงานให้สมาชิกทุกโครงการ ไปเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่การปลูกผักของกลุ่ม ทั้งเรื่องลักษณะดิน ทิศทางแสง น้ำ สิ่งแวดล้อมรอบๆ พื้นที่ รวมถึงเป้าหมายของการใช้ประโยชน์พื้นที่ของสมาชิกแต่ละคน พืชผักที่สมาชิกชอบทาน คนในชุมชนชอบทาน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ วางแผนการปรับปรุงดิน และวางแผนการเพาะปลูกที่คำนึงถึงเป้าหมายและการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่ม และชุมชนให้มากที่สุด

สวนผักคนเมือง อยากชวนไปดูภาพบบรรยากาศในวันแรกพบ และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของสมาชิกที่ได้นำความรู้กลับไปศึกษาพื้นที่ของตนเอง ที่จะเป็นพื้นที่ในการสร้างพื้นที่อาหารของเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น

ฝากติดตาม และให้กำลังใจสมาชิกทั้ง 28 โครงการ ในการพัฒนาพื้นที่อาหารของเมืองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อสนับสนุนให้คนเปราะบางและชุมชนในพื้นที่เมืองสามารถยกระดับความมั่นคงทางอาหารจากการทำเกษตรในเมืองด้วยนะคะ