โครงการสร้างอาหารกลางตำบลสุเทพ เชียงใหม่ กับเป้าหมายที่ไปไกลกว่าเรื่องปากท้อง

วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกันทุกวันนี้ คือชนวนสำคัญที่ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นอย่างเทศบาลตำบลสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ นำโดยนายกเทศบาล นายพศิน อัคเดชธนโชติ เริ่มต้นตั้งคำถามถึงความมั่นคงด้านอาหารในพื้นที่ ยิ่งเมื่อมีโอกาสลงชุมชนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชากรในตำบลและทำให้รู้ต้นทุนค่าอาหารซึ่งต้องซื้อวัตถุดิบจากพื้นที่ห่างไกล ทำให้อาหารมีราคาแพงและลดทอนคุณภาพของวัตถุดิบลงหลายระดับ การเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องยาก ทว่าก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายในการจะสร้างระบบอาหารชุมชนขึ้นมา


.
“ช่วงที่ต้องลงไปแจกอาหารชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสุเทพ ทำให้รู้ต้นทุนอาหารว่ามันแพงมาก ราคาข้าวกล่องต่อหัวคือ 50 บาทต่อมื้อ รวมๆ แล้วเทศบาลใช่งบประมาณในการแจกอาหารช่วงโควิดประมาณ 5-6 แสนบาท ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่าต้นทุนพวกนี้มันจะลดลงได้ยังไง ถ้าอยากให้อาหารมีคุณภาพดีขึ้นด้วย ก็พบว่าอาจต้องสร้างอาหารบางส่วนขึ้นมาเอง แต่การสร้างอาหารในครัวเรือนมันก็มีอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งเรื่องแรงงาน ที่คนในชุมชนส่วนมากเป็นคนแก่กับเด็ก เรื่องต้นทุน เรื่องความรู้การเกษตร เลยกลับมาคิดถึงการสร้างพื้นที่กลางในการสร้างอาหาร ประกอบกับตำบลสุเทพมีพื้นที่ที่เช่าต่อเนื่องอยู่ 70 ไร่ โครงการพัฒนาพื้นที่สร้างอาหารเลยเกิดขึ้น”

นายกเทศกาลตำบลสุเทพอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดการเปลี่ยนที่นาหลายสิบไร่ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างอาหารของชุมชน ทว่าเป้าหมายของโครงการนี้ยังมีรายละเอียดมากกว่านั้น เพราะปลายทางคือการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรปลอดสารเคมีที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และเติบโตเป็นเครือข่ายการสร้างอาหารระหว่างเทศบาลใกล้เคียง เพื่อให้อาหารเดินทางสู่คนกินในระยะทางที่ใกล้ที่สุด


.
“การทำแปลงปลูกผักเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ แต่ในพื้นที่จะมีทั้งแปลงดอกไม้ ที่ตอบโจทย์เรื่องการท่องเที่ยวชุมชน และมีส่วนแปลงเรียนรู้เรื่องเกษตร ที่ทำให้ครัวเรือนเข้ามาเรียนรู้ทักษะเพื่อเอากลับไปต่อยอดทำเองที่บ้านได้ เป็นการสร้างเครือข่ายคนทำเกษตรในตำบลสุเทพจากการดึงคนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน” นายกเทศบาลเสริม

และเมื่อเราถามถึงความยั่งยืนของพื้นที่แห่งนี้ เทศบาลตำบลสุเทพก็ขยายให้เห็นภาพว่า ความยั่งยืนจะมีได้ก็ต่อเมื่อเกิด ‘ตลาด’ ในความหมายว่า เกิดสถานที่แห่งการแลกเปลี่ยนทั้งสินค้า ความรู้ และเครือข่าย ขึ้นในพื้นที่

“ในอนาคตเราอยากให้พื้นที่เติบโตไปสร้างวิสาหกิจชุมชนได้ ทั้งการใช้พื้นที่ในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และสร้างรายได้จากการขายผลผลิตจากแปลงผักปลอดภัย ซึ่งสามารถขายในราคาต่ำกว่าอาหารปลอดภัยอื่นๆ ในท้องตลาด เนื่องจากต้นทุนเราต่ำกว่า ทำให้คนเข้าถึงอาหารปลอดภัยที่คุณภาพดีได้มากขึ้น และสุดท้ายคือการเป็นพื้นที่ในการสร้างเครือข่ายกับเทศบาลอื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกระจายความคิดและทักษะในการสร้างอาหารปลอดภัย และเมื่อเรามีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ความมั่นคงด้านอาหารของเชียงใหม่ก็คงดีขึ้น”

นายกเทศบาลตำบลสุเทพทิ้งท้ายให้เราติดตามผลลัพธ์ที่จะผลิดอกออกผลจากแปลงเกษตรแห่งนี้ในอนาคตอันใกล้ ผ่านการร่วมงานกับเครือข่าย “เขียว สวย หอม” กลุ่มนักพัฒนาในจังหวัดเชียงใหม่ และ “สวนผักคนเมืองกรุงเทพฯ” ในการพัฒนาพื้นที่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
.
.
#สวนผักคนเมือง #ปลูกเมืองปลูกชีวิต