วิถีทางเลือกของเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้ใช้กาแฟสื่อสารความยั่งยืน

บ้านไม้หลังกะทัดรัดล้อมรอบด้วยสวนเขียวชอุ่มในอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ คือบ้านของอำนวย นิยมไพร หรือกวิ้ เกษตรกรรุ่นใหม่ชาวปกาเกอะญอ ที่ปัจจุบันครองอาชีพทั้งการทำเกษตรและการเผยแพร่องค์ความรู้ ทั้งเรื่องการทำเกษตรและแนวคิดในการพึ่งพาตนเอง ผ่านพื้นที่ตรงนี้ที่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดย่อม และผ่านผลิตภัณฑ์ที่เขาตั้งใจทำขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตในท้องถิ่น และเพื่อเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน

หนึ่งในนั้นคือ ‘กาแฟ’ ในนามของ ‘Lapato Organic Coffee’ ที่เมล็ดกาแฟทั้งหมด มาจากต้นกาแฟที่เติบโตอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ของป่าต้นน้ำไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านของเขาคนนี้
.
หากถ้าย้อนถามถึงต้นทางในการเลือกทำเกษตรยั่งยืน และการเลือกลงหลักปักฐานอยู่บ้านของกวิ้ ก็อาจต้องท้าวความถึงบริบทของอำเภอแม่วางในอดีต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประเด็นซับซ้อนหลายมิติ ทั้งการบุกรุกสัมปทานป่าและเหมืองแร่ ที่ทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร เรื่อยไปถึงความพยายามแยกคนออกจาป่า ที่ทำให้คนในชุมชนต้องต่อสู้เพื่อพิทักษ์ที่อยู่อาศัยของตน กว่านั้น การทำเกษตรเชิงเดี่ยวก็เริ่มเติบโตและทำให้วิถีชีวิตเชิงวัฒนธรรมของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป
.
ปัจจัยเหล่านั้นทำให้กวิ้กลับมาพิจารณาต้นทุนของชุมชน และเริ่มศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ก่อนจะลงมือทดลองในพื้นที่ของตัวเอง ด้วยการปลูกข้าว ปลูกผักพื้นถิ่นหลากหลาย รวมถึงบ๊วยและกาแฟ ซึ่งเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงเขากับสังคมสมัยใหม่ได้ไม่ยาก

โดยเฉพาะกาแฟ ที่นอกจากจะสร้างรายได้ ยังช่วยเปิดพื้นที่ให้เกิดบทสนทนาว่าด้วยความยั่งยืน ซึ่งขยายกลายเป็นเครือข่ายคนที่สนใจทั้งมิติของกาแฟรักษาป่า และคนที่สนใจการใช้ชีวิตทางเลือกเช่นเดียวกัน
.
“เราอยากให้ป่าอยู่ได้ ทรัพยากรอยู่ได้ ระบบดิน ระบบน้ำดี ระบบอาหารในชุมชนดี คนในชุมชนก็มีสุขภาพที่ดี มีความสุข ไม่ใช่เน้นแต่ปลูกเพื่อขาย แล้วคนทำก็เป็นหนี้ เป็นมะเร็ง เพราะใช้สารเคมี” เขายืนยันเช่นนั้น
.
.
ที่มา: ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ ตามหาหัวใจและตัวตนคนเกษตรรุ่นใหม่ (2563), โครงการสวนผักคนเมือง
.
ติดตามกาแฟ Lapato Organic Coffee ได้ทาง: https://www.facebook.com/Lapato-Organic-Coffee-519566831542062
.
.
#สวนผักคนเมือง #ปลูกเมืองปลูกชีวิต