เยียวยาคิทเช่น ห้องครัวที่ขอดูแลให้อิ่มสบายทั้งกายและใจ

สำหรับหลายคน อาหารไม่ใช่เพียงปัจจัยยังชีพทว่ากินความหมายลึกซึ้งกว่านั้นหลายระดับ เหมือนอย่าง พลอย-กษมา แย้มตรี สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ openspace ซึ่งทำงานในประเด็นการออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชนมานานนับสิบปี โดยอีกมุมพลอยยังมีความสนใจเรื่องอาหารชนิดลงลึก ทั้งเรื่องการกินอย่างรู้ที่มาเพื่อเยียวยาเกษตรกรไทย และการทำอาหารและการกินเพื่อเยียวยาหัวใจของตัวเธอเอง
.


“ช่วงเวลาการทำอาหารสำหรับเรามันเป็นจุดที่ได้อยู่กับตัวเองจริงๆ การเคลื่อนไหวในครัวมันทำให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้า ด้วยกลิ่น ด้วยรสชาติ ด้วยบรรยากาศ มันค่อนข้างเยียวยาเราได้” พลอยเล่าถึงการทำอาหารในนิยามของเธอตั้งแต่ครั้งแรกที่เราพบกัน ก่อนแนะนำว่าเธอกำลังจะเปิดห้องครัวเป็นคลาสบำบัดเล็กๆ ทำนองว่ากินกันไป คุยกันไป ใช้บทสนทนาในห้องครัวสร้างความเข้าใจทั้งข้างในตัวเองและคนอื่น
.
แล้ววันแห่งการเยียวยาก็มาถึง ห้องครัวแสงสลัวกางย่านลาดพร้าวของพลอยต้อนรับผู้มาเยือน 5 ชีวิตด้วยกลิ่นซุปปูกลิ่นหอมอบอวล จากนั้นไม่นานวงสนทนาก็เริ่มต้นขึ้นด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พลางแม่ครัวทยอยส่งอาหารมาวางกลางวงสนทนา ในอีกมุมเสียงจากเครื่องดนตรี Handpan ส่งเสียงนุ่มคลอเพิ่มสีสันของบรรยากาศ ก่อนบทสนทนาจะดำเนินสู่มิติของชีวิต ความรู้สึก ขุดลึกลงไปในเรื่องราวของแต่ละคน

.
“ไก่ตะเพาทองอินทรีย์อบใบข่า เป็นสูตรขอนแก่นบ้านเกิดเรา จะเข้มข้นหน่อย และเราชอบกลิ่นของใบข่ามาก แต่น้อยคนจะหยิบมันมาใช้งาน” แม่ครัวอธิบายถึงความพิเศษของไก่อบตรงหน้า อาหารจานที่ทำให้เราเห็นถึงต้นกำเนิดชีวิตของเธอผ่านกลิ่นรสของใบข่าและสมุนไพรพื้นบ้านหลากชนิดเหล่านั้น “กินคู่กับบะหมี่ใบมะรุมลวกคลุกน้ำมันงาเยอะๆ แล้วเข้ากันมาก” แม่ครัวเลื่อนจานบะหมี่ลวกมาเสิร์ฟคู่กัน

“บะหมี่ใบมะรุมเป็นผลิตภัณฑ์ของพี่ที่เคารพคนหนึ่ง เขาตั้งใจทำมัน และมันก็ออกมาอร่อยมาก” และจริงอย่างที่เธอว่า เพราะรสของมะหมี่ใบมะรุมเข้ากับรสเข้มข้นของไก่อบอย่างลงตัว

.

มื้ออาหารเดินทางมาถึงครึ่งทาง ส้มตำหลวงพระบางรสจัดจ้านหอมกลิ่นกะปิก็มาถึงโต๊ะ แม่ครัวเสริมว่าเธอเป็นคนกินรสจัด อาจด้วยพื้นเพเป็นคนอีสาน อาหารที่เธอรักจึงมีส่วนผสมของพริกมากเป็นพิเศษ


.
เช่นกันกับไฮต์ไลท์ของวันอย่างซุปปูม้าหอมกลิ่นสมุนไพร ที่เธออธิบายถึงต้นทางไว้อย่างน่าฟัง “ชามนี้เป็นปูจากพี่น้องประมงเรือเล็กจากชุมพร มั่นใจได้ว่าสดและปลอดภัย เราเอามาต้มใส่สมุนไพร ใส่เห็ด รสนัวๆ” แม่ครัวเล่าถึงต้นทางของอาหารที่เธอไว้ใจ ก่อนชวนให้พวกเราชิมซุปปูเพื่อรับรู้ความใส่ใจที่ส่งต่อจากทะเลชุมพรมาถึงเรา


.
บทสนทนาในวงอาหารเดินทางมาถึงช่วงเวลาสุดท้าย พร้อมกับเค้กกล้วยน้ำว้าและกูสเบอร์รี่เนื้อนุ่มที่เสิร์ฟมาพร้อมโยเกิร์ตและสตรอเบอร์รี่สดส่งตรงจากฟาร์มอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นของหวานรสขมติดปลายที่ส่งท้ายบทสนทนาในวงได้ลงตัว… เป็นรสชาติส่งท้ายเรื่องราวที่เราต่างแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจ ทั้งตัวเองและผู้ร่วมล้อมวงอาหาร ซึ่งเยียวยาและทำให้ใจของเราทุกคนพองโตได้จริงๆ
.
.
ติดตามความเคลื่อนไหวของเยียวยาคิทเช้นท์ได้ทาง: เยียวยาคิทเช่น Healing Kitchen
.
.
#สวนผักคนเมือง #ปลูกเมืองปลูกชีวิต