ฤดูกาล ‘ข้าวใหม่’ ช่วงเวลาสะท้อนสายใยระหว่างท้องนา ชีวิต และจิตวิญญาณ

ตั้งแต่มนุษยชาติเริ่มเพาะปลูกเป็นหลักเป็นแหล่งเมื่อราว 12,000 ปีก่อน ชีวิตของมนุษย์ก็ผูกสัมพันธ์กับการทำเกษตรอย่างแนบแน่นเรื่อยมา ยิ่งเมื่อวิถีการปลูกข้าวก่อกำเกิดขึ้น มันก็ผันให้ชีวิตเราทั้งหลายกลายเป็นสัตว์สังคมอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยท้องนานั้นเป็นจุดตั้งต้นของชุมชน หมู่บ้าน ที่บ่มเพาะให้เกิดระเบียบกติกาทางสังคม ต่อยอดกลายเป็นวัฒนธรรมอันละเอียดลึกซึ้งที่หลอมรวมให้เราอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นมานับพันปี เรียกว่าผืนนาเป็นเหมือนห้องเรียนทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติก็คงไม่ผิด ยิ่งเมื่อพิจารณาลงลึกไปในวัฒนธรรมของแต่ละดินแดน ก็จะพบแก่นแกนอันสะท้อนความสำคัญของนาและข้าวคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะในฝั่งเอเชียที่ข้าวเป็นพืชพรรณที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการดำรงชีพ ท้องนาจึงไม่ใช่เพียงพื้นที่การผลิต ทว่าเป็นพื้นที่ที่มีมิติของจิตวิญญาณแฝงเร้งอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน


.
ความผูกผันในระดับจิตวิญญาณนั้นปรากฏชัดผ่านความเคารพท้องนาและธรรมชาติที่คนในยุคสังคมเกษตรกรรมยึดถือ อาทิ ความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติที่สถิตอยู่ตามท้องนาป่าเขา มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ คำหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือ ‘ขวัญ’ ซึ่งชาวจีนกวางตุ้งมีคำพ้องเสียงว่า ‘หวั่น’ อันหมายถึงจิตวิญญาณที่สถิตอยู่กับนานาสรรพสิ่ง หากขวัญหนีหายจากไป สิ่งมีชีวิตนั้นก็อาจบุบสลายจนถึงแก่ความตายในที่สุด

ขวัญจึงเป็นที่มาของระบบความเชื่อและเรื่องเล่าที่เกี่ยวโยงกับความเคารพศรัทธาธรรมชาติของชาวเอเชียมานาน โดยเฉพาะในสังคมเกษตรกรรมที่มี ‘ข้าว’ เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต จึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับขวัญข้าวแพร่หลายกระจายอยู่ในหลากพื้นที่ อาทิ ไทยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับย่าขวัญข้าวและแม่โพสพ ซึ่งอินโดนีเซียเรียก เทวีศรี มาเลเซียเรียก ซามันกัท ญี่ปุ่นเรียก อินาริ และเหล่านี้เองที่สะท้อนถึงสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์และท้องนาที่เรามีร่วมกัน
.
มากไปกว่านั้น ฤดูกาลเก็บเกี่ยวยังเป็นช่วงเวลาที่ทุกวัฒนธรรมให้ความสำคัญอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเป็นช่วงเวลาแห่งความยินดีเมื่อพืชพรรณที่ลงแรงเพาะปลูกมานานหลายเดือนนั้นผลิดอกออกผลให้ชื่นใจ ในทุกๆ สังคมจึงมักมีเทศกาลที่เก็บเกี่ยว (harvesting festival) เทศกาลข้าวใหม่ หรือผลผลิตใหม่ (new corps festival) ด้วยกันทั้งสิ้น อย่างในอเมริกาเองปัจจุบันก็ยังคงไว้ซึ่งเทศกาล Thanks Giving ที่ผูกโยงกับการขอบคุณพระเจ้าที่ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้กับฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีเทศกาลฉลองฤดูกาลเก็บเกี่ยว (inori Okami) ซึ่งพระจักรพรรดิจะเสด็จมาทำพิธีถวายข้าวใหม่และชิมข้าวใหม่ด้วยพระองค์เอง หรือในอินเดียตะวันตก ก็มีการถวายข้าวใหม่แก่พระนางลักษมีผู้เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน


.
และแน่นอนว่าในบ้านเราซึ่งมีข้าวเป็นพระเอกในสำรับ ย่อมมีเทศกาลฉลองฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่น่าสนใจ ด้วยเป็นเทศกาลที่เชื่อมโยงกับความเชื่อท้องถิ่น พุทธศาสนา และวิถีชีวิตอย่างละเอียดลึกซึ้ง อาทิ การนำข้าวสารไปถวายวัดที่เรียกว่า ‘บุญข้าวใหม่’ หรือ ‘ทานข้าวใหม่’ ที่ทางภาคอีสานเรียก ‘วันคุ้มข้าวใหญ่’ ซึ่งคนในชุมชนจะพากันนำข้าวสารไปกองรวมกันที่วัด เพื่อทำบุญกับพระศาสนาและเป็นทานแก่ผู้ยากไร้บ้านใกล้เรือนเคียง เทศกาลข้าวใหม่จึงไม่เพียงเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองผลผลิตเท่านั้น แต่หลอมรวมไว้กิจกรรมรวมกลุ่ม การแบ่งปัน และการสืบสานวัฒนธรรมทางสังคม มากกว่านั้นยังเป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยในอีกทาง โดยเฉพาะในท้องนาไทยที่แต่เดิมเคยมีสายพันธุ์ข้าวนับหมื่นสายพันธุ์ อาหารจากข้าวจึงหลากหลาย อร่อย และอุดมด้วยคุณค่าทางสารอาหารเป็นพิเศษ
.
การฟื้นคืน #เทศกาลข้าวใหม่ จึงไม่เพียงเป็นการฟื้นฟูเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง ทว่าเป็นการฟื้นคืน ‘คุณค่า’ ของข้าวไทยที่หลอมรวมไว้ซึ่งจิตวิญญาณและความหลากหลายของพันธุกรรมและวัฒนธรรมพื้นถิ่น กว่านั้น ยังเป็นการฟื้นคืนศักดิ์ศรีของชาวนาผู้เป็นต้นทางของข้าวหอมกรุ่นในจานของเราทั้งหลาย ว่านอกจากหยาดเหงื่อแรงงานที่รดลงในนาแล้ว ชาวนายังมีบทบาทในมิติสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในสังคมอันซับซ้อนที่บางครั้งถูกหลงลืม


.
ฤดูเก็บเกี่ยวคราวนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่เราอยากชวนมากินข้าวกินปลา พบหน้าเครือข่ายชาวนาอินทรีย์ที่เดินทางมาจากทั่วทุกถิ่นไทย เพื่อลองลิ้มข้าวและเรียนรู้เรื่องราวในท้องนาไปพร้อมกันใน #เทศกาลข้าวใหม่65 ที่กำลังจะมาถึง
.
.

เทศกาลข้าวใหม่65

15-16 มกราคม 2565
9.00-18.00น.
สถานที่: มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ไทรม้า นนทบุรี