กรุ่นกลิ่นเทศกาลข้าวใหม่

อาหารหลักของคนเอเชีย โดยเฉพาะชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างบ้านเรานั้นหนีไม่พ้น ‘ข้าว’ กระทั่งเกิดวลีว่าเมืองไทยนั้นเป็นดินแดน ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ด้วยสภาพแวดล้อมแบบดินดำน้ำชุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูก จำนวนสายพันธุ์ข้าวในบ้านเราจึงหลากหลายในระดับหลายร้อยสายพันธุ์ มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัย เพราะปัจจุบันข้าวที่ปรากฎตัวอยู่ตามท้องตลาดนั้นมีจำนวนนับนิ้วได้ มากกว่านั้น ส่วนมากยังขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ข้าวเก่า’ ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าแล้วแบบไหนคือ ‘ข้าวใหม่’ กันแน่?

.
การตอบคำถามนี้อาจต้องย้อนกลับไปสำรวจทั้งในเชิงวัฒนธรรมและนิเวศวิทยา ด้วยเดิมสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีการทำนาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ข้าวจึงเป็นส่วนสำคัญสำรับอาหาร และข้าวที่อร่อยที่สุดในรอบปีนั้นก็ว่ากันว่าคือข้าวในฤดูกาลหลังเก็บเกี่ยว เนื่องจากเมล็ดข้าวยัง ‘มีชีวิต’ ในนิยามว่า ยังอุดมด้วยวิตามินและเก็บกักความหอมอร่อยเอาไว้ และในอีกแง่คือเป็นเมล็ดข้าวที่สามารถนำไปหว่านเพาะให้งอกงามเป็นคนกล้า ซึ่งข้าวเก่าหรือข้าวที่เกี่ยวเก็บไว้นานจะไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว
.
เมื่อก้าวเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวช่วงปลายปี จึงเกิดเทศกาลข้าวใหม่ขึ้นทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร และเป็นการขอบคุณธรรมชาติที่มอบของขวัญเป็นข้าวหอมอร่อยที่สุดในรอบปี เรื่องน่าสนใจกว่านั้น คือ รายละเอียดของเทศกาลข้าวใหม่ในแต่ละพื้นที่ล้วนมีสีสันต่างกันตามบริบททางวัฒนธรรม ภาคเหนือและอีสานมีข้าวต้มมัด ข้าวหนุกงา ภาคกลางมีบรรดาขนมข้าวใส่กะทิ ส่วนภาคใต้นั้นไม่น้อยหน้า มีข้าวต้มทำจากข้าวไร่ข้าวเหนียวเนื้อหนึบเช่นเดียวกัน
.

สวนผักคนเมือง #เทศกาลข้าวใหม่ #ปลูกเมืองปลูกชีวิต