#สวนผักฯสัญจร ชวนลงใต้เยี่ยมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน กลุ่มกรีนชินตา และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตข้าวปลอดสารพิษ ตำบลท่าสะบ้า

สาวเท้าเข้าไร่ไปเกี่ยวข้าวไร่สายพันธุ์พื้นถิ่น มาปรุงเปลี่ยนเป็นข้าวเม่าตำรับชาวตรัง


.
ข้าวนากับข้าวไร่เหมือนจะคล้ายแต่มีความต่าง…ทั้งในมิติของสายพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยว และรสชาติ โดยเฉพาะดินแดนทางใต้นั้น ‘ข้าวไร่’ นับเป็นธัญญาหารหลักที่พี่น้องชาวใต้กินกันมารุ่นสู่รุ่น สายพันธุ์ของข้าวไร่ที่ปลูกแซมอยู่ในเรือกสวนทางใต้ของไทยจึงมีนับร้อย ทว่าอาจลดน้อยลงเรื่อยๆ จากการเติบโตของอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบัน
.
วันนี้สวนผักคนเมืองจึงอยากชวนเดินเข้าไร่ไปคุยกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตข้าวปลอดสารพิษ ตำบลท่าสะบ้า จังหวัดตรัง ที่ลงแรงอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวไร่และส่งเสริมการบริโภคให้กระจายสู่วงกว้าง ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดตรัง อาทิ กลุ่มกรีนชินตา ที่จับมือทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่นมานานหลายปี

.
บ่ายวันแดดดี เราจึงมีโอกาสตามเหล่าสมาชิกกลุ่มฯ เดินเท้าเข้าไร่ใกล้กับสวนยาง ที่ๆ มีข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านยืนต้นพร้อมเก็บเกี่ยวอยู่สุดสายตา อาทิ ข้าวไร่พันธุ์ช่อไม้ไผ่และข้าวเหนียวดำดาด โดยใช้ ‘แกะ’ อุปกรณ์เกี่ยวข้าวไร่จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทำจากไม้เหลาติดเข้ากับใบมีดคมกริบ การเกี่ยวข้าวจึงต้องอาศัยทักษะในการออกแรงกดและตวัดรวงข้าวอย่างชำนิชำนาญ เรียกว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ทางการเกษตรก็คงไม่ผิด จากนั้นเมื่อเกี่ยวข้าวเรียบร้องจึงนำรวงข้าวมา ‘เรียง’ หรือมัดเป็นพวงรอนำไปฝัดและสีจนได้เป็นข้าวไร่พร้อมหุงขึ้นโต๊ะ
.
ถัดจากการใช้เวลาในนาข้าวไร่ เราจึงได้โอกาสเรียนรู้การทำข้าวเม่า ด้วยการนำข้าวเปลือกมาคั่วจนหอมฟุ้งและเปลือกข้าวร่อนกระเทาะง่าย แล้วจึงนำข้าวมาตำด้วยครกไม้ที่ต้องช่วยกันลงแรงตำอย่างตรงจังหวะ กระทั่งได้ข้าวคั่วเมล็ดแบนส่งกลิ่นหอมกรุ่น พร้อมนำไปคลุกเคล้ากับเนื้อมะพร้าวอ่อนและน้ำมะพร้าวสดๆ จากสวน จากนั้นรอเพียงอึดใจให้เนื้อข้าวดูดซับน้ำมะพร้าวจนอิ่มดี เพียงเท่านี้ก็ได้เป็นข้าวเม่าตำรับชาวตรัง ที่วัตถุดิบทุกอย่างเดินทางตรงมาจากเรือกสวนไร่นาร้อยเปอร์เซ็นต์

และคงไม่เกินไป หากเราจะนิยามว่าสายพันธุ์ข้าวไร่นับร้อยเหล่านั้นเป็นเหมือนมรดกของผืนดินเมืองตรัง ที่ทั้งน่าค้นหาและน่ารักษาให้อยู่คู่ครัวไทยสืบไป
.

สวนผักคนเมือง #urbanfarming #ข้าวไร่พื้นบ้าน #สวนผักคนเมืองสัญจร #กรีนชินตา