สวนผักฯชวนต้อนรับ #เทศกาลข้าวใหม่65

.
“เพราะชาวนาเทียบได้กับช่างฝีมือ” ชวนลงนาไป ‘หาบข้าวขึ้นลาน’ กับกลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อู่ทอง


.
สำหรับใครบางคน ข้าว คือวิถีชีวิต คือวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงสินค้า และเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวเดินทางมาถึง นาข้าวก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง รวงข้าวที่อุ้มท้องผ่านกาลเวลาร่วมครึ่งปีถูกเกี่ยวมัดรวมอยู่ในนารอถึงเวลา ‘หาบข้าวขึ้นลาน’ กระบวนการที่ต้องอาศัยทั้งแรงใจและแรงกายของพี่น้องชาวนาละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงในการรวบรวมรวงข้าวขึ้นลานก่อนจะนำไปนวด ด้วยการฝาดข้าวอย่างเข้าจังหวะกระทั่งได้เมล็ดข้าวเปลือกพร้อมนำไปเข้ากระบวนการสีเป็นลำดับถัดไป


.
พูดมาถึงตรงนี้ บางคนอาจคิดว่าการหาบข้าวขึ้นลานนั้นเป็นของง่าย แต่เมื่อได้ลงนาไปพร้อมกับพี่น้องเกษตรกรกลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงรู้ว่ามีรายละเอียดที่น่ารู้อีกมาก โดยพี่โอเล่-กนกพร ดิษฐกระจันทร์ เกษตรกรผู้ลงมือพัฒนาคุณภาพข้าวพื้นบ้านมานานนับสิบปีและเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของกลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อู่ทอง เล่าถึงเหตุผลที่เธอและพี่น้องเกษตรกรในกลุ่มยังเกี่ยวข้าวด้วยมือ ที่ถือเป็นงานหนักและเหนื่อยกว่าการใช้เครื่องเกี่ยวข้าวตามสมัยนิยมเช่นปัจจุบันว่า

“เกี่ยวด้วยมือทำให้เมล็ดข้าวเสียหายน้อยกว่าเกี่ยวด้วยเครื่องมาก การเกี่ยวด้วยเครื่องผลผลิตที่ได้อาจเท่ากับที่เราหว่านเมล็ดไปนั้นหายไปเกือบครึ่ง”

โอเล่ไล่เรียงวิถีทางการผลิตข้าวที่เธอเชื่อมั่นว่า “ยิ่งลงรายละเอียดและใส่ใจกับทุกๆ กระบวนการมากแค่ไหน ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมออกมาดี” เหมือนขั้นตอนการหาบข้าวขึ้นลานที่ปัจจุบันมีให้พบเห็นน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยนวัตกรรมการเก็บเกี่ยวข้าวขั้นรวบรัดตัดขั้นตอนจนสิ้น
.
“เมื่อเกี่ยวข้าวเมล็ด เราจะตากข้าวไว้ในนาราว 2-3 แดด หรือจนกว่าข้าวจะแห้งสนิท วิธีสังเกตว่าข้าวแห้งหรือยังก็ดูง่ายๆ ด้วยการผลิกกองข้าวขึ้นดูความชื้น ถ้าด้านล่างกองแห้งสนิทก็แปลว่าถึงเวลาหาบข้าวขึ้นลานแล้ว”

เมื่อเวลาดังกล่าวมาถึง พี่น้องเกษตรกรบ้านใกล้เรือนเคียงก็จะมาร่วมลงนา มัดข้าวที่แห้งแล้วเป็นฟ่อน วางสุมไว้เป็นกองๆ ก่อนจะนำฟอนข้าวใส่ขึ้น ‘ไม้คันหลาว’ ไม้หาบลักษณะเรียวยาว (คล้ายกับไม้หาบของแม่ค้าหาบเร่ที่เราคุ้นตากัน) แล้วหาบข้าวขึ้นลานหรือพาหนะสำหรับพาข้าวขึ้นลานเพื่อรอเวลานวด
.


“นาตรงนี้มีข้าวด้วยกัน 3 สายพันธุ์ คือข้าวก่ำกาดำ ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอมมะลิ 105 เราไม่ได้ปลูกอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการกระจายความเสี่ยงจากปัจจัยด้านต่างๆ และรักษาความหลากหลายให้คนกินได้มีทางเลือกมากขึ้น” พี่โอเล่บอกแบบนั้น ก่อนทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า “ชาวนาละแวกนี้มีข้าวเก็บไว้กินทุกครัวเรือน ไม่ต้องซื้อต้องหาเลย และส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพดี ปลอดสารเคมี เรียกว่าเรามีพอกินกันทุกคน”
.
.

สวนผักคนเมือง #เทศกาลข้าวใหม่65 #กลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อู่ทอง