เวลาพูดถึงการพัฒนาเมือง คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก โดยมองข้ามเรื่องอาหาร ซึ่งแท้จริงแล้วอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต จะว่าไป บางทีอาจเป็นเพราะคนไทย ได้รับการปลูกฝังมานานว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรา นี่แสนอุดมสมบูรณ์” ทว่า หลายคนยังไม่ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม การลดน้อยลงของพื้นที่เกษตรกรรม อายุเฉลี่ยของเกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้น ไปจนถึงการเร่งใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งล้วนนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหารทั้งสิ้น และผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นแน่นอน
.
บทบาทของเกษตรในเมือง เกิดขึ้นในสังคมไทย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการปลูกผักในเมืองหรือสวนผักคนเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้านอาหารของคนเมือง โครงการสวนผักคนเมืองมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) เป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มให้เกิดการปลูกผักในเมือง โดยมีต้นทุนการทำงานที่ผ่านมาจากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นับตั้งแต่ปี 2553 ด้วยตระหนักถึงปัญหาของคนเมืองในด้านอาหาร ทั้งเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของเมือง เราจึงมุ่งยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมือง และผนวกเรื่องการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีและการพึ่งตนเองด้านอื่นๆให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนเมือง พร้อมทั้งมุ่งยกระดับความคิด สร้างความตระหนักถึงบทบาทของเกษตรในเมืองในฐานะที่มีส่วนช่วยพัฒนาระบบอาหารและวิถีชีวิตทางเลือกที่เกื้อกูลธรรมชาติ สร้างสังคมการอยู่ร่วมกันทั้งในเมือง ระหว่างคนเมืองกับชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เมืองมีความยืดหยุ่นต่อการขาดแคลนอาหารได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พบกับภัยพิบัติ และมุ่งสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของเมืองที่ให้ความสำคัญกับเกษตรในเมืองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง
.
เพราะเราเชื่อว่า “เมื่อเริ่มปลูกผัก คนเมืองได้สัมผัสพื้นดิน คุณค่า ที่มาของอาหาร และเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงความรักในธรรมชาติ เชื่อมระหว่างคนเมืองกับชนบทได้ ทำให้คนเข้าใจ เข้าถึง วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ มากกว่าการปลูกผัก คือ การปลูกเมือง และปลูกชีวิต คนเมืองรู้ว่า พวกเขาสามารถผลิตอาหารได้ สร้างพื้นที่อาหารได้ และเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง พัฒนาเมืองและผู้คนในสังคมเมืองอย่างมีพลวัต และเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมืองให้เกิดขึ้นได้”
.
สำหรับคนที่มีโอกาสได้อ่าน ‘วารสารวาระสวน’ ฉบับที่ 1 (และอีก 3 ฉบับ ที่เราคาดหวังว่าจะได้บอกเล่าประสบการณ์ รูปธรรม และบทเรียนสำคัญมาแบ่งปัน) ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใดของเมือง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องราวที่ร้อยเรียงมาบอกเล่าจะมีส่วนช่วยจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาเป็น ‘นักปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต’ ร่วมกัน
.
.
ทุกท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ วารสาร วาระสวน ฉบับที่ 1 ได้ตามหลังจากกรอกแบบสอบถามเสร็จตามลิงก์ด้านล่างนี้
https://forms.gle/doumB5UZdd4NVTi48
หลังจากกรอกแบบสอบถามเสร็จและส่งเรียบร้อยแล้วจะมีข้อความลิงก์ดาวน์โหลดขึ้นมาอีกครั้งนะคะ
ขออภัยในความไม่สะดวก แต่เราอยากให้ทุกท่านช่วยกับตอบแบบสอบถามนี้สักเล็กน้อยเพื่อเป็นประโยชน์ในเขียนเนื้อหาหรือสร้างคอนเท้นท์ต่าง ๆ ที่จะตอบโจทย์ในการเรื่องการปลูกผักของทุกท่านมาก ๆ ยิ่งขึ้นไปค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ 🙂