การทำเกษตรในเมือง เป็นย่างก้าวสำคัญที่ผลักดันให้คนเมือง มีทักษะ ความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง(วิกฤตอาหาร)

ชุมชนสินทรัพย์มั่นคง เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในย่านอุตสาหกรรม  ที่เกิดจากรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนบางสำราญ ที่ถูกไล่รื้อจากพื้นที่ธนารักษ์ จึงรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ในปี 2549  มีสมาชิก 107  หลังคาเรือน  ในที่ดินที่สมาชิกรวมกันซื้อที่ 5 ไร่ในนามสหกรณ์  ที่ต้องการ “สร้างบ้านให้มากกว่าคำว่าบ้าน” 

และในช่วงวิกฤตโควิด-19 สมาชิกในชุมชนต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่รุนแรง โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านรายได้ เศรษฐกิจ เนื่องจากส่วนใหญ่มีอาชีพ เป็นพนักงานโรงงาน  แม่ค้า รับจ้างรายวัน มาตรการปิดเมืองส่งผลกระทบอย่างมากต่ออาชีพของคนในชุมชน ขาดรายได้ แต่ภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายพุ่งสูงขึ้น เพราะสมาชิกยังมีภาระในการชำระค่าที่ดินและค่าบ้าน ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ทางชุมชนได้ทดลองปลูกผักสวนครัวกันกับสมาชิก 18 ครัวเรือน  เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน แต่เป็นรูปแบบการปลูกผักในกระถาง ต่างคนต่างปลูกที่บ้านของตนเอง  และในช่วงวิกฤตรอบแรกช่วยให้บ้านสมาชิกดังกล่าวพอมีผักไว้ปรุงอาหารที่บ้าน แต่ก็ไม่เพียงพอ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนอาหาร ต้องอาศัยการรับบริจาคอาหารเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน

และจากวิกฤตนี้เอง ทำให้สมาชิกในชุมชนได้มีพื้นที่ของการแลกเปลี่ยน ปรึกษาหารือกัน เพื่อหาทางออกสำหรับอนาคต ที่ต้องการสร้างให้เกิดการบริหารจัดการด้านอาหารเพื่อดูแลกันในชุมชน การปลูกพืชผักสวนครัวที่ทำอยู่จะต้องทำให้ เป็นระบบ ขยายพื้นที่การเพาะปลูก และสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้สมาชิกในชุมชนตระหนักร่วมกัน  ออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง  พื้นที่หน้าบ้าน/ข้างบ้าน  นำมาใช้เป็นที่เพาะปลูกพืชสวนครัว เพื่อเป็นการลดรายจ่าย ซึ่งถ้าทำกันเต็มพื้นที่ๆมีอยู่ อาจจะทำเพื่อมีรายได้ในอนาคตได้

ชุมชนได้เริ่มต้นรวมพลังกาย พลังใจกัน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางความมุ่งหวังที่จะสร้างความมั่นคงทาองหารของชุมชน ให้สามารถรับมือกับวิกฤตอาหารได้

การปรับพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร การทำสวนผักชุมชนในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ที่เคยถูกทิ้งร้างมานาน ต้องอาศัยแรงกายเป็นอย่างมาก สมาชิกรวมตัวกันกว่า 10 คน ใช้เกือบ 2 สัปดาห์ในการพัฒนาพื้นที่ รื้อขยะชิ้นใหญ่ ตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ ให้พื้นที่รับแสงแดดได้เต็มที่ ปรับพื้นดินให้เสมอกัน  วางผังแปลง ขุดแปลงปลูกผักตามที่วิทยากรพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ

ช่วงเริ่มต้นสมาชิกอยากทำการเพาะปลูกได้เร็วๆ จึงซื้อดินพร้อมปลูก ปุ๋ยคอกมาเติมในแปลง แล้วลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์เลย ผลปรากฏว่า พืชผักที่ปลูกนั้นไม่ค่อยงอก ต้นที่งอกขึ้นมาก็ไม่สมบูรณ์ แคะแกร็น ไม่ได้ผลผลิตเหมือนที่ตั้งใจไว้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความท้อใจให้กับสมาชิกได้เพียงชั่วครู่ เพราะเป้าหมายสำคัญคือ ต้องปลูกผักให้ได้ เพื่อให้คนในชุมชนมีอาหารกิน สมาชิกจึงเริ่มต้นลงมือกันหใม่อีกครั้ง และครั้งมีพี่เลี้ยงได้ลงพื้นที่มาจัดอบรม ให้คำแนะนำเรื่องการปรับปรุงดิน การเตรียมปัจจัยการผลิตต่างๆ การทำจุลินทรียังเคราะห์แสง การเพาะต้นกล้า รวมถึงการปลูก และการดูแล

สมาชิกต่างตั้งใจเรียนรู้ และลงมือทำในสิ่งที่พี่เลี้ยงแนะนำทันที โดยการหมักดินในแปลง เพื่อปรับปรุงดินให้มีความสมบูรณ์ มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชผัก ซึ่งต้องอาศัยเวลา ประมาณ 30 วัน

ระหว่างนั้น สมาชิกก็เตรียมเพาะกล้าสำหรับย้ายลงแปลง ทำน้ำหมักต่างๆ ไว้สำหรับการหมักดินในรอบต่อไป และใช้สำหรับการบำรุงพืชผักเพื่อย้ายกล้าผักลงแปลงแล้ว

การเรียนรู้พื้นฐานสำคัญ การรอคอยให้ดินหมักเกิดกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุต่างๆ ให้สมบูรณ์เป็นเวลา 30 วัน การเพาะกล้า และคัดเลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์ย้ายลงแปลง  สมาชิดต่างตระหนักว่าคุ้มค่ากับการรอคอย เพราะการปลูกผักในรอบนั้นให้ผลผลิตที่ดีมาก พืชผักทุกชนิด ทุกแปลงต่างเติบโต งอกงาม และแข็งแรง เห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากผลผลิตแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเด่นชัดอีกอย่าง คือ ความภูมิใจ ความมั่นใจของสมาชิกในชุมชนในด้านการทำสวนผักชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองด้านอาหาร เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวกแบบก้าวกระโดด

สมาชิกสนุกสนานไปกับการเรียนรู้เทคนิค วิธีการใหม่ๆ ที่พี่เลี้ยงอบรมให้ การทดลองใหม่ๆ ที่มาจากการสังเกต การตั้งคำถามว่า ทำแบบนี้จะได้ผลดีกว่าไหม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นให้สวนผักชุมชนแห่งนี้ มีเทคนิค รูปแบบใหม่ๆ ของการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกพืชผักมากขึ้น ทั้งการทำแปลงยกพื้นริมคลอง การทำสวนแขวนจากภาชนะเหลือใช้  โรงเพาะเห็ดนางฟ้าขนาดเล็ก การทำสวนผักแนวตั้ง

สวนผักชุมชนสินทรัพย์มั่นคง เป็นต้นแบบการทำเกษตรในเมืองที่สำคัญอีกแห่ง ที่ชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้ และการลงมือทำทันที เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ชุมชนเมืองที่เคยมีความเปราะบางด้านอาหาร สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านอาหารในภาวะวิกฤตได้มากขึ้น  

                เพราะในช่วงเดือนกันยายน ที่ผ่านมาพื้นที่บางปู ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน แปลงผักของชุมชนถูกน้ำท่วมเป็นเวลา 2 วันเต็ม ทางพี่เลี้ยงได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อน้ำลดแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ พืชผักจะเริ่มใบเหลือง ยืนต้นตาย และสิ่งที่ชุมชนควรทำคือ ต้องพักแปลง ปรับปรุงดินใหม่อีกครั้ง ใช้เวลาประมาณ 30 วัน จึงจะเริ่มต้นปลุกผักใหม่ได้อีกครั้ง

                เมื่อสมาชิกฟังข้อมูลนี้ พวกเขาไม่ได้ท้อใจกับความเสียหาย แต่ปฎิบัติตามสิ่งที่พี่เลี้ยงแนะนำ ตากดินให้แห้ง ปรับปรุงดินใหม่ต่ามสูตรเดิม เพาะกล้าผักรอ อีก 30 วัน จึงเริ่มปลูกผักใหม่  แต่ระหว่างนี้สมาชิกไม่ได้ยอมจำนนต่อปัญหา และรอเคยผลผลิตจากแปลงเพียงอย่างเดียว สมาชิกชวนกันเพาะเห็ดนางฟ้า ทำเห็ดฟางในตะกร้า เพื่อให้ช่วงเวลารอปลูกผัก พวกเขายังสามารถมีผลผลิตอื่นๆ สามารถเข้าถึงอาหารได้ในวิกฤตนี้

ชวนไปเรียนรู้ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า ชุมชนสินทรัพย์มั่นคง

วัสดุอุปกรณ์สาหรับการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก

1. วัสดุเพาะเห็ดฟาง ได้แก่ ฟางข้าว แห้งสนิท ไม่เปียกฝนมาก่อน

2. อาหารเสริม เช่น ผักตบชวาสด หรือแห้ง เปลือกถั่วต่างๆ ผักบุ้ง มูลวัว/ควายแห้ง รา เศษฝ้าย ไส้นุ่น ก้อนเชื้อนางรม/นางฟ้าเก่า เป็นต้น

3. อุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ ตะกร้า พลาสติก บัวรดน้ำ เชื้อเห็ดฟาง

วิธีการเพาะเห็ดฟาง

1. แช่ฟางข้าวในน้ำสะอาดค้างไว้ 1คืน

2. นำฟางข้าวที่แช่น้าไว้มาอัดลงก้นตะกร้ากดให้แน่น สูง 1ฝ่ามือ

3. นำอาหารเสริมต่างๆ เช่น เศษฝ้าย ผักตบชวาแช่น้าพอชื้น แล้วโรยชิดขอบตะกร้า

4. โรยเชื้อเห็ดฟาง 1 ส่วนทับบนอาหารเสริม เสร็จชั้นที่ 1 ทำชั้นที่ 2 และ 3 เหมือนชั้นที่ 1โดยหัวเชื้อเห็ดฟาง 1ก้อน แบ่งเป็น 3กอง เพาะได้ 3 ตะกร้า

5. ชั้นบนสุด โรยอาหารเสริมเต็มหน้าตะกร้า โรยเชื้อให้ทั่ว กลบด้วยอาหารเสริมอีกครั้ง

การดูแลรักษาสาหรับการเพาะเห็ดฟางในตระกร้า

1. สถานที่ควรเป็นพื้นดิน ใต้ร่มไม้หรือร่มสนิท

2. ซ้อนตะกร้า เป็นรูปสามเหลี่ยม แนวยาว 1แถว หรือ 2แถว

3. รดน้ำที่พื้นดินให้เปียกแฉะ จะได้ความชื้นจากการระเหยของน้ำที่ดิน

4. คลุมด้วยพลาสติก ทับด้วยฟางแห้ง หรือแสลน ปล่อยทิ้งไว้ 3 คืน

5. ครบ 3 คืน เปิดระบายอากาศตรงกลาง แล้วคลุมไว้เหมือนเดิม อีก 3 – 4 วัน เก็บผลผลิตได้

เคล็ดลับและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น

**ผลผลิต 1 ตะกร้า 1 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับอาหารเสริม ยิ่งใส่มาก ผลผลิตยิ่งสูงตาม อาหารเสริมจะใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ร่วมกันหลายๆอย่างก็ได้

*อุณหภูมิที่จะทำให้ได้ผลผลิตดี ต้อง 36-37 เเต่ที่ทำมาอุณหภูมิ 28-29 อากาศเย็นจากฝนตก ทำให้เห็ดไม่โต

.

นอกจากเห็ดฟางแล้วในสวนผักของชุมชนสินทรัพย์มั่นคงก็ยังมี “เห็ดนางฟ้า” ที่สมาชิกกลุ่มก็ผลิตได้เช่นกัน และนำมาแปรรูปเป็นแหนมเห็ดนางฟ้าเก็บไว้รับประทานกันยาว ๆ ในช่วง
โควิดระบาดแบบนี้ได้อีกด้วย

การเริ่มต้นลงมือทำ สังเกต  เก็บข้อมูล เปรียบเทียบความแต่งต่าง/ การเปลี่ยนแปลง  และไม่หยุดยั้งที่จะเรียนรู้ พัฒนาพื้นที่อาหารของตนเองให้สามารถผลิตอาหารได้ต่อเนื่อง แก้ไขปัญหา ข้อจำกัดต่างๆ คือสิ่งสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ให้คนเมืองมีทักษะ ความรู้ ความสามารถในการพึ่งตนเองด้านอาหาร และเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะวิกฤตด้านอาหาร