เริ่มต้นนับหนึ่งด้วยการ “ลงมือทำทันที” การปลูกผักเพื่อเข้าสู่ครัวกลางก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริง……………..@โรงพยาบาลบางโพ

ความมุ่งหวังดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างครบวงจร เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจน่าจะเป็นความฝัน ผ่านการเข้าถึงอาหารปลอดภัย และการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ อาหารที่มีคุณค่าตามโภชนาการ น่าจะเป็นต้นทางสำคัญ ซึ่งในปี 2562 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดเป็นโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย 100%  ด้วยการคัดสรรวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย ปรุงอาหารให้ผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ ผ่านการส่งเสริมเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เปิดตลาดสีเขียวขายผักปลอดภัย โดยให้มีการคัดสรรวัตถุดิบที่ปลอดภัยมาปรุงอาหาร มีร้านจำหน่ายอาหารปลอดภัย และปรับแก้กฎระเบียบให้สามารถซื้อพืชผักปลอดสารในราคาที่สูงกว่าเดิม สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรทำเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ เพิ่มรายได้เกษตรกร และเปิดตลาดสีเขียวขายผักปลอดภัย

และในปีนี้โครงการสวนผักคนเมือง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ได้ร่วมขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่สีเขียว(กินได้) ให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร เชื่อมโยงสู่ครัว และส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะในกลุ่มคนเมืองด้วยเกษตรในเมือง 7 แห่ง  เพื่อทำให้คนเมืองและผู้เกี่ยวข้องเห็นว่า การทำเกษตรในเมือง การผลิตอาหารของเมืองจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับระบบของเมืองและผู้คนทุกกลุ่มของเมืองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะศักยภาพในการผลิตอาหารของเมือง การใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้าง พื้นที่สาธารณะมาสร้างเป็นพื้นที่สีเขียว การหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ให้คุ้มค่า สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการทำเกษตรในเมือง

สวนผักพอเพียงริมระเบียงบางโพ โรงพยาบาลบางโพ เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่มีวิสัยทัศน์ ด้านการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย โดยได้เริ่มทำแปลงผักปลอดสารโรงพยาบาลบางโพ เริ่มลงมือทำแปลงผักประมาณ เดือนสิงหาคม 2563 ใช้พื้นที่บริเวณข้างตึก พื้นที่ 12 ตร.ม. ปลูกผัก เช่น กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน คะน้า กะเพรา โหระพา หมุนเวียนสลับกัน แต่เนื่องจากขาดความรู้ในการเพาะปลูก ในพื้นที่เมืองที่มีข้อควรระวังหลายอย่าง ทำให้ต้องเจอสวนผักโรงพยาบาลแห่งนี้กับสภาพปัญหา ผักโตช้า แคระแกรน ไม่สมบูรณ์ มีศัตรูพืช หนอนกินใบ และหอยทาก ใบเหลือง เฉาตาย

จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการสวนผักคนเมือง เพื่อการสร้างพื้นที่สีเขียว(กินได้) ให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร เชื่อมโยงสู่ครัว และส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยมีวิทยากรพี่เลี้ยงในการลงพื้นที่ให้ความรู้ จัดอบรมพื้นฐานการทำเกษตรในเมือง  เพื่อเริ่มต้นเรียนรู้ และนับหนึ่งไปด้วยกัน ผ่านแนวทางการทำงาน ได้แก่

  • การเรียนรู้ พัฒนาความรู้ในการปลูกผักให้กับบุคลากรในองค์กรทั้งในเรื่องการออกแบบพื้นที่ การทำแปลง รูปแบบการปลูกผักที่เหมาะสม การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิต
  • การพัฒนาระบบการขยะอาหารในโรงพยาบาล เพื่อเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักสำหรับใช้ในแปลงผัก หมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ลดการสร้างมลภาวะ และที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนการผลิตผักปลอดภัยของโรงพยาบาลได้อีกด้วย
  • การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตอาหาร ช่วยเพิ่มปริมาณผักปลอดสารเข้าสู่ครัวโรงพยาบาลบางโพ สำหรับนำมาปรุงอาหารให้ผู้ป่วย รวมถึงบุคลากรต่างๆ ในโรงพยาบาล

ความรู้สำคัญพื้นฐาน เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว(กินได้) ให้เป็นแหล่งอาหารของเมือง ดังนี้

  1. การเลือกพื้นที่เพาะปลูก ควรเลือกพื้นที่เพาะลูก ที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ เต็มวัน หรือในบริเวณที่ได้รับแสงแดดมากที่สุด (โดยเลือกบริเวณที่ได้รับแสงแดดครึ่งวันเช้าก่อนพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดครึ่งวันบ่าย) พื้นที่ที่เลือก ต้องเหมาะสมต่อการทำงาน สะดวกต่อการจัดการเรื่องน้ำ
  2. การออกแบบพื้นที่เพาะปลูกเบื้องต้น การออกแบบพื้นที่เพาะปลูก การวางผังแปลงเพาะปลูก ส่วนใหญ่ขึ้นกับสภาพของพื้นที่เป็นหลัก โดยมีหลักการเบื้องต้นง่ายๆ คือ
    • แปลงเพาะปลูกพืชผัก ควรขวางแนวตะวัน หรือ แปลงเพาะปลูกควรอยู่แนวในทิศเหนือ-ใต้ เพื่อให้พืชผักได้รับแสงได้ทั่วถึง สม่ำเสมอกัน ไม่บังแสงซึ่งกันและกัน 
    • ขนาดความกว้างของแปลงไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร หรือ ไม่ควรเกินระยะแขน เพื่อให้สะดวกต่อการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยว
    • ทางเดินควรกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร หรือกว้างพอสำหรับคนสองคนนั่งทำงานแบบหันหลังชนกัน หรือ กว้างพอสำหรับเข็นรถเข็นเพื่อบรรทุกวัสดุปลูก ปุ๋ยหมัก หรือพืชผักต่างๆ
    • ความยาวของแปลงเพาะปลูก สามารถยาวได้ตามขนาดความยาวของพื้นที่
  3. การเตรียมดิน เตรียมปัจจัยการผลิต อาทิ  วัสดุเพาะ ปุ๋ยหมัก ต้นกล้า น้ำหมัก ฮอร์โมน สารไล่แมลงศัตรูพืช

3.1 การเตรียมวัสดุเพาะปลูกแบบง่าย คือใช้อินทรียวัตถุแห้งในกลุ่มพวก กิ่งไม้ใบไม้แห้ง (ทำให้มีขนาดเล็ก หรือมีชิ้นเล็ก) กากกาแฟ นำมาหมักร่วมกับขี้วัวแห้ง (มูลสัตว์แห้ง) โดยใช้เทคนิคเดียวกันกับการทำปุ๋ยหมัก และทำการหมักจนกระทั้งวัสดุหมดสิ้นความร้อน ซึ่งใช้เวลาในการหมักนานประมาณ 30 วัน

3.2 การเตรียมปุ๋ยหมักแบบง่ายๆ คือ ใช้ขยะอินทรีย์สด เช่น เศษผักผลไม้ เศษอาหาร เศษกิ่งไม้ใบไม้สด(ควรทำให้มีขนาดเล็กลง) นำมาหมักร่วมกับมูลสัตว์แห้ง (เป็นมูลสัตว์ประเภทกินหญ้า หรือมูลสัตว์ปีก เป็ด ไก่ ไม่ใช้มูลสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมว)

4. แบ่งพื้นที่การทำงาน สร้างวงรอบการเพาะปลูก เพื่อให้การเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับการบริโภคและการจำหน่าย  อย่างสม่ำเสมอ การเพาะปลูกแต่ละสัปดาห์ จะทำการแบ่งพื้นที่เพาะปลูกออกเป็น  5 ส่วน และดำเนินการเพาะปลูกพืชผักชนิดต่างๆ สัปดาห์ละ 1 ส่วนและทำการเพาะปลูกหมุนเวียนพื้นที่ไปเรื่อยๆ หลังการเพาะปลูกครบ 4 สัปดาห์ ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้บางส่วน และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลตได้เต็มที่ เมื่อทำการเพาะปลูกครบ 8 สัปดาห์

และด้วยความมุ่งมั่นของเพื่อนพนักงานในโรงพยาบาล ที่เริ่มต้นเรียนรู้การเป็นคนปลูกผักในเมือง อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ทั้งการเตรียมแปลง เตรียมดิน ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร การเพาะกล้าผัก กล้าสมุนไพร การปลูกและการดูแล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 5 เดือน  สวนผักพอเพียงริมระเบียงบางโพ มีพืชผักเติบโตงอกงาม สามารถแก้ไขปัญหา พืชผักแคระแกรน ไม่สมบูรณ์  ปัญหาโรคแมลง ศัตรูพืชได้มากขึ้น ขยายพื้นที่การเพาะปลูกผักไปอีกหลายจุด ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากแปลงผักเข้าสู่ครัวกลางของโรงพยาบาลได้อย่างต่อเนื่อง

  แม้ว่าผลผลิตจะยังมีไม่มาก และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของครัวกลาง แต่ทุกครั้งที่พี่ๆ น้องๆ ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง เราสัมผัสได้ถึงความสุข ความภูมิใจของพวกเขา ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพของพี่น้องประชาชนที่มาใช้บริการ และสุขภาพของบุคลากรที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่ต้นทาง เราเชื่อว่าการเริ่มต้นเข้าถึงอาหารปลอดภัย จากการเป็นผู้ผลิต จะสร้างการเรียนรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของระบบอาหารยั่งยืน จากผู้ผลิตสู่การเป็นผู้บริโภคที่ตระหนัก และเห็นความสำคัญต่อการสนับสนุนระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน

เมื่อเริ่มปลูกผัก คนเมืองได้สัมผัสพื้นดิน  คุณค่า ที่มาของอาหาร และเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงความรักในธรรมชาติ เชื่อมระหว่างคนเมืองกับชนบทได้ ทำให้คนเข้าใจ เข้าถึง วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ มากกว่าการปลูกผัก คือ การปลูกเมือง และปลูกชีวิต คนเมืองรู้ว่า พวกเขาสามารถผลิตอาหารได้ สร้างพื้นที่อาหารได้ และเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง และเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมืองให้เกิดขึ้นได้

หากใครมีโอกาสได้ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลบางโพ ก็สามารถสอบถามรายละเอียด และเยี่ยมชมสวนผักของโรงพยาบาลแห่งนี้ได้นะคะ